กว่าจะมาเป็น..การจัดการความรู้


การจัดการความรู้ ไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่จะนำมาสนับสนุนการพัฒนาคน ทีมงาน องค์กร และสังคมรอบข้าง

           วันนี้ขอนำบทความที่ผมเคยเขียนไว้ และนำเสนอทางโฮมเพจของสำนักงานเกษตรังหวัดกำแพงเพชร  เขียนตามความเข้าใจนะครับ ลองอ่านดูเผื่อจะเกิดแนวคิดใหม่ๆแล้วนำมาสู่การพัฒนาการจัดการความรู้และงานส่งเสริมการเกษตรของพวกเราได้บ้าง...

กว่าจะมาเป็น...การจัดการความรู้                                                                                   
                ในยุคของข่าวสารข้อมูล และก้าวย่างเข้าสู่ยุคแห่งการเรียนรู้ จนกระทั่งทะลุถึงยุคของการใช้ปัญญา ตามมุมมองของผู้รู้ที่พยายามสื่อให้กับพวกเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จากคลื่นลูกที่สามจนถึงคลื่นลูกที่ห้า  แต่ในขณะที่ชีวิตจริงของเรากำลังดำเนินอยู่นี้   บางครั้งก็ไม่สามารถที่จะขีดเส้นกำหนดได้ว่า  เรากำลังอยู่ในยุคไหนกันแน่  อาจเป็นการยากที่เราจะใช้เหตุการณ์หรือสิ่งบ่งบอกต่างๆ เป็นตัวชี้วัด   แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าทุกท่านคงเห็นด้วยก็คือ ไม่ว่าจะเป็นยุคใดๆ ก็ตาม  เรายังคงต้องเรียนรู้ ปรับตัว ใช้ข้อมูลข่าวสาร ใช้ปัญญาในการตัดสินใจและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดอยู่ตลอดเวลา
                สิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักปรับตัวย่อมพบกับปัญหา และสูญสิ้นเผ่าพันธุ์… เป็นกฎของธรรมชาติ องค์กรใดไม่ปรับตัว ก็ยากที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในโลกที่มีแต่การแข่งขัน  ดังนั้นในปัจจุบันเราจึงมักจะได้ยินได้ฟังเสมอเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างองค์กร  การปรับปรุงหรือปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง   แม้แต่ภาครัฐที่ว่าเข้มแข้ง  ก็ยังต้องปรับโครงสร้างการบริหารจัดการสู่การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่เพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง    และวิธีการหนึ่งที่ทุกองค์กรมักนิยมใช้ในการพัฒนา ปรับองค์กรให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง   ก็คือ การบริหารหรือ การจัดการความรู้ (Knowledge  Management)
                การจัดการความรู้คืออะไร?  มีผู้รู้หลายท่านได้ให้ความหมายไว้  แต่จะขอยกความหมายที่อาจารย์พรธิดา  วิเชียรปัญญา (2547) ซึ่งได้ศึกษาจากผู้รู้หลายท่าน ได้สรุปว่า  การจัดการความรู้    หมายถึง    “ กระบวนการอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการประมวลข้อมูล  สารสนเทศ  ความคิด  การกระทำ ตลอดจนประสบการณ์ของบุคคล  เพื่อสร้างความรู้หรือนวัตกรรม  แล้วจัดเก็บไว้ในลักษณะของแหล่งข้อมูลที่บุคคลสามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ที่องค์การได้จัดเตรียมไว้ เพื่อนำความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งบันและการถ่ายโอนความรู้  และในที่สุดความรู้ที่มีอยู่จะแพร่กระจายและไหลเวียนทั่วทั้งองค์กรอย่างสมดุลย์ เป็นไปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลผลิตและองค์การ ”
                นอกจากความหมายที่ยกมากล่าวข้างต้นแล้ว  ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พาณิช  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ก็ยังเขียนไว้ชัดเจน (บนเว็บไซต์ของ สคส.) ว่าการจัดการความรู้เป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนและกว้างขวางไม่สามารถให้นิยามด้วยถ้อยคำสั้น ๆ ได้ ต้องให้นิยามหลายข้อจึงจะครอบคลุมความหมาย 
ที่สำคัญแม้ว่าเราจะศึกษาตำราเกี่ยวกับการจัดการความรู้มากมายเพียงใด  ความรู้ชัดแจ้งที่เราได้เรียนรู้ (บันทึกเป็นตำราไว้) ก็คงมีเพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นต้องปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการจัดการความรู้ จึงจะเกิดความรู้และเข้าใจ เพราะการจัดการความรู้ไม่เป็นรูปแบบที่ตายตัวหรือเป็นสูตรสำเร็จที่จะถ่ายทอดกันได้อย่างครบถ้วนหรือสมบูรณ์แบบ
                 เป็นที่น่ายินดีที่กรมส่งเสริมการเกษตร  ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการความรู้  หรือที่เรียกกันว่า KM ซึ่งได้ดำเนินการใน 9 จังหวัดนำร่อง  จังหวัดกำแพงเพชรที่ผมทำงานอยู่ก็เป็น 1 ใน 9 จังหวัดนำร่องด้วย  แต่จากการได้ปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้น  ผมขอเสนอข้อคิดเห็นไว้เพื่อการพัฒนาการจัดการความรู้ ที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้  (คือขอคิดด้วยคนครับ)
                 โดยผมใช้วิธีคิดเชิงมโนทัศน์ (Concepturl  Thinking) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์ (2546,70) ได้ให้ความหมายว่า การคิดเชิงมโนทัศน์ หมายถึง “ ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างไม่ขัดแย้ง  แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น”  และการคิดเชิงเปรียบเทียบ ฯลฯ  มาเป็นหลักในการคิดเบื้องต้น(คือผมสมมติว่าสวมหมวกหลายสีในการพิจาณา) ดังนั้นลองมาดูความคิดเห็นของผมที่จะขอเสนออีกมุมมองหนึ่ง  ตามที่ผมเห็นการจัดการความรู้ที่เรากำลังดำเนินการอยู่ คือ
           1.  เราทำเสมือนว่าการจัดการความรู้  สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง  ซึ่งเมื่อถึงเวลา  หมดงบประมาณหรือหมดความสำคัญแล้ว ก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป  
           2.  การที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการความรู้  เพียงการดำเนินการผ่านตัวแทนขององค์กรเพียงไม่กี่คนเพียงวิธีเดียว  ก็เพียงพอในการถ่ายทอดหรือดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในองค์กรได้ คือคิดและทำแบบแยกส่วน
           3.  การจัดการความรู้   เพียงทำความเข้าใจ และสร้างรูปแบบ กำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติให้เหมือนกัน  มองเหมือนว่าการจัดการความรู้เป็นเป้าหมาย แล้วต่างคนก็ต่างนำไปปฏิบัติ ก็เป็นการจัดการความรู้ที่สมบูรณ์แบบ
           ที่ยกมาเขียนทั้ง 3 ข้อข้างต้น เป็นเพียงมุมมองที่เห็นภาพของการปฏิบัติต่อการจัดการความรู้ที่เรากำลังทำอยู่  ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าทุกคนคงไม่ได้ต้องการให้ภาพเป็นเช่นนี้  แต่สิ่งที่เป็นอยู่ใน 3 ข้อนี้  คือตัวอย่างภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน 


            การจัดการความรู้ หรือการบริหารความรู้  นั้นในมุมมองของผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายสิ่งหลายอย่างเป็นกระบวนการ เพราะว่า
           1. การจัดการความรู้นั้นไม่สามารถดำเนินในองค์กรได้แบบแยกส่วน  คือทำการจัดการความรู้เช่นเดียวกับการดำเนินการโครงการโดยทั่วไป ไม่สามารถหวังผลแบบทันที  เพราะเป็นเรื่องแบบการเกษตร  การจัดการความรู้เป็นผลของการปลูกพืช   แต่ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เปรียบได้เหมือนกับการเรียนรู้ขององค์กร (วรภัทร์,2548) 
           ดังนั้นการจะจัดการความรู้ต้องดำเนินการไปควบคู่กับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning  Organization) จึงจะทำให้การจัดการความรู้เป็นจริงได้ในองค์กรของเรา เพราะการจัดการความรู้ไม่ใช่เป็นเพียงการค้นหาความรู้  จัดเก็บ และเผยแพร่เท่านั้น  ต้องมีการนำมาใช้และพัฒนายกระดับความรู้ เป็นกระบวนการระบบ เป็นพลวัต 
           2. การดำเนินการจัดการความรู้นั้น   เป็นกิจกรรมของทุกคนในองค์กร  ดังนั้นการที่จะให้การจัดการความรู้ประสบผลสำเร็จ ทุกคนต้องมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการความรู้ก่อนเป็นเบื้องต้น  ตั้งแต่ผู้บริหารทุกระดับ จนถึงผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนขององค์กร   ทุกคนต้องมีวิสัยทัศน์ร่วม (Vision) กำหนดเป้าหมายหรือมองไปที่เป้าหมายเดียวกันก่อน  แล้วจึงผนึกพลังร่วมกันเรียนรู้และฟันฝ่าจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย   การจัดการความรู้จึงจะดำเนินและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรอย่างแท้จริง  การกำหนดคนรับผิดชอบก็เป็นสิ่งดีเพียงแต่ปรับเปลี่ยนวัฒนาธรรมองค์กรเสียใหม่  ไม่ให้เข้าใจว่ารับผิดชอบเพียงคนเดียวหรือคณะเดียว เช่นเดียวกับโครงการตามปกติ  เพราะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความรู้  ที่จะต้องคอยอำนวยความสะดวก สนับสนุนและบริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ขององค์กร
           3. การจัดการความรู้คงไม่กำหนดรูปแบบที่ตายตัวได้   เพราะการจัดการความรู้ไม่ใช่ตัวเป้าหมาย แต่เป็นวิธีการ อาจมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมาย เราต้องไม่ยึดติดกับวิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียวสำหรับเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จในการจัดการความรู้   ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละองค์กร  และต้องยอมรับในความหลากหลายหรือความแตกต่างที่จะเกิดขึ้น
           4. ในกระบวนการจัดการความรู้ของเรา  อาจช้าหรือเร็ว อาจขยายวงกว้างหรือแคบลงเฉพาะส่วน   ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ เราคงต้องเรียนรู้และพัฒนากันต่อไป แต่การเริ่มต้น "ควรเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่  จากง่ายไปหายาก   ทำไป เรียนรู้และปรับปรุงไปไม่มีที่สิ้นสุด"
            การจัดการความรู้  เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงาน แต่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning  Organization)  เปรียบได้กับการที่เราปลูกต้นไม้หนึ่งต้น บุคลากรคือรากพืช   ลำต้นคือวิสัยทัศน์   กิ่งก้านใบเป็นพันธกิจของงานทั้งหมด  ลูกและผลก็คือผลงานและความรู้ที่เกิดขึ้น  ผู้บริหารทุกระดับคือผู้ดูแลตั้งแต่การเตรียมดิน   คอยรดน้ำพรวนดิน    สถานที่ทำงาน และบรรยากาศการทำงานหรือเครื่องมือต่างๆ ที่สนับสนุนการทำงานของเรา  ก็คือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชนั่นเอง


            การจัดการความรู้ในองค์กร  ควรเริ่มตั้งแต่การสร้างความรู้ความเข้าใจ ปรับมุมมองโลกทัศน์รอบตัวที่ถูกต้องของบุคลากร  สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีในองค์กร ทุกคนต้องรู้เป้าหมายที่แท้จริงของงาน มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ปฏิบัติงาน เรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา  องค์กรมีการเรียนรู้และเติบโต  มีระบบการทำงานที่ดี  ลูกค้าของเรามีความพึงพอใจต่อผลการปฏิบัติงานของเรา   ทุกคน……ทำงานอย่างมีความสุข
    .....ดังนั้นการจัดการความรู้จะมองข้ามทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ไปไม่ได้เลย.....
                                                                                                    
                                                                                                 วีรยุทธ  สมป่าสัก
                                                                                                               

หมายเลขบันทึก: 9237เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คุรวีรยุทธมอง KM ได้คมชัดมากครับ ...ยินดีด้วย และขอเอาใจช่วยครับ

ขอให้กำลังใจคุณวีรยุทธ และทีมงานจังหวัดกำแพงเพชร ให้ดำเนินการ KM ให้เป็นรูปธรรม เพื่อจะได้เป็น Best Practice ให้จังหวัดอื่นๆ ที่จะดำเนินการ KM ในปี 49 ต่อไป 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท