เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข 13 หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าเมืองไทยมาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ ต้องมาป่วย(ตอนที่๑)


เมื่อเวลาคนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก อย่างวิษณุเวลาที่มีความเจ็บป่วยทั่วไปก็จะไม่กล้าไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะแก้ไขความเจ็บป่วยของตนเองด้วยการซื้อยามากินเอง หรือ ไปหาหมอที่คลีนิก กระทั่งหากอาการหนักจนทนไม่ไหวจึงยอมเข้าโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะการปรากฎตัวต่อโรงพยาบาลรัฐ บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องที่ตนเองไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก และที่หนักหนามากกับคนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก คือ ไม่มีสิทธิในประกันสุขภาพ

เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข 13 หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าเมืองไทยมาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ ต้องมาป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ

  

“การปรากฎตัวของมนุษย์ผู้ไม่มีเลข ๑๓ หลัก  : ความเป็นจริง ในสังคม”

 

จากเรื่องราวของป้าเจรียง[๑] ซึ่งเป็นคนไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลย เนื่องจากออกจากบ้านไปตั้งแต่เด็ก หรือ เรานิยามคนที่มีบัตรอะไรเลยเช่นนี้ว่า บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นคนไม่มีเลข ๑๓ หลัก[๒]  ซึ่งคนกลุ่มที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก นี้พร้อมที่จะได้รับผลกระทบต่างๆ จากการไม่สามารถเข้าถึง หรือ ไม่ได้รับการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในการดำเนินชีวิตที่ผูกติดอยู่กับเลข ๑๓ หลัก ในกรณีของป้าเจรียง เห็นได้ชัดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ป้าเจรียงไม่ได้รับรักษาดูแลโรคร้ายในชีวิตอย่างเต็มที่ และต้องเสียชีวิตลงเพราะการไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก

  

“ป้าสันที: คนมอญในพม่า กับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของลูกทั้ง ๕ คน”

 

ในกลุ่มคนคล้ายๆ กัน เช่น เรื่องราวของครอบครัว ป้าสันที ชาวมอญที่เกิดในประเทศพม่า และเข้าเมืองไทยมาตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๐๖ ทางอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  แล้วก็ได้มาแต่งงานกับคนมอญที่มาจากฝั่งพม่าเช่นกัน จนมีลูกด้วยกัน ๖ คน

  

ป้าสันที เล่าว่าแกและครอบครัว เคยได้รับการสำรวจโดยทางการถึง ๒ ครั้ง ที่ อำเภอทองผาภูมิ และ อำเภอไทรโยค พร้อมกับชาวมอญคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว แต่เนื่องจากหลังจากนั้น สามีของป้าสันทีและลูกสาวอีกคนหนึ่งของแกตายเพราะโรคมาเลเรีย  ป้าสันทีซึ่งต้องทำมาหาเลี้ยงลูกอีกทั้ง ๕ คนด้วยตัวคนเดียว และ ลูกทุกคนกำลังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ  ป้าสันทีจึงอพยพย้ายไปย้ายมาในพื้นที่ของจังหวัดกาญจนบุรีในทุกพื้นที่ที่คิดว่าจะสามารถหารายได้ได้มากขึ้น จนในที่สุดก็ได้ย้ายออกจากป่ามารับจ้างทำงานในโรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการตามคำชักชวนของเพื่อนบ้าน

  

และด้วยเหตุเพราะความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่ป้าสันทีหอบลูกย้ายไปย้ายมานั่นเองทำให้ป้าสันทีไม่ได้รับบัตรประจำตัวที่ถูกสำรวจทั้ง ๒ ครั้งนั้น คงเหลือหลักฐานบางส่วนเช่น ทะเบียนรายชื่อของคนในครอบครัวและรูปถ่ายครอบครัวที่ถูกสำรวจ

  

“การไม่มีตัวตนทางกฎหมาย :  มรดกจากยายถึงหลานชายตัวน้อย”

 

ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมา ชีวิตของป้าสันทีและลูกทั้ง ๕ คน จึงไม่เคยมีมีสถานะบุคคลทางกฎหมายต่อประเทศไทย หรือ ประเทศใดเลยในโลก  ป้าสันทีและลูกใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และลำบากยากเข็ญในการดำเนินชีวิตมาก ซึ่งในเวลาต่อมาความยากลำบากเพราะการไม่มีตัวตนทางกฎหมายนี้ได้ตกทอดมาสู่เด็กชายวิษณุ หลานชายของป้าสันทีที่เกิดจากบุญมี ลูกสาวคนโต และ นายเล็ก สามีของบุญมีซึ่งเป็นคนมอญที่ไม่มีบัตรประจำตัวเช่นกัน แต่แม้จะลำบากอย่างไรก็ตาม บุญมีก็พยายามทุกอย่างให้เด็กชายวิษณุได้เข้าเรียนหนังสือเพื่อที่จะได้มีความรู้เหมือนเด็กคนอื่น และอนาคตอาจจะไม่ลำบากอย่างแม่ น้าๆ และยาย

  

“อีกครั้งกับการพยายามแก้ไขปัญหาของครอบครัวป้าสันที”

 

ภายหลังเมื่อต้นปี ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา อำพล ลูกชายคนหนึ่งของป้าสันทีร้องขอความช่วยเหลือเรื่องปัญหาสถานะบุคคลของตนเองและครอบครัวเข้ามาที่ “ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ซึ่งทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโครงการห้องเรียนกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ[๓] ภายใต้การดูแลของรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา สายสุนทร  จึงได้ทำการสอบประวัติ  สร้างกิจกรรมอันเป็นกระบวนการทำความเข้าใจ และให้ความรู้ในการแก้ไขปัญหาแก่ครอบครัวของป้าสันที

  

และทุกครั้งที่ครอบครัวป้าสันที มาเข้าร่วมกิจกรรมกับทางโครงการฯ เด็กชายวิษณุก็จะมาร่วมด้วยทุกครั้ง  ซึ่งเมื่อใครที่ได้รู้จักวิษณุก็จะรู้สึกทันทีว่าเป็นเด็กฉลาด พูดจาฉะฉาน มีความรักและห่วงใยแม่และยายมาก วิษณุไม่เคยโทษยายและแม่ ที่ทำให้วิษณุกลายเป็นเด็กที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักเหมือนเพื่อนๆ  แม้ด้วยวัยเพียง ๑๒ ขวบ วิษณุก็บอกกับทุกคนอย่างเสียงดังฟังชัดในเวทีครั้งหนึ่ง[๔]ว่า “โตขึ้นอยากเป็นหมอ และตนเองพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาให้แม่และยาย”  วิษณุได้เขียนจดหมายเล่าเรื่องปัญหาของแม่ที่ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก และวอนขอให้คนที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ [๕] และเสนอตัวที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในงานวันเยาวชนแห่งชาติที่กำลังจะมีขึ้น เพื่อทำกิจกรรมถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างตัววิษณุให้สังคมได้รับทราบ

  

“เมื่อเด็กชายวิษณุต้องเข้าผ่าตัดไส้ติ่งในโรงพยาบาล : ทุกข์ที่ต้องเผชิญของเด็กชายผู้ไม่มีเลข ๑๓ หลัก”

 

แต่เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙  ที่ผ่านมา วิษณุปวดท้องมาก แม่บุญมีจึงพานั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปหาหมอที่โรงพยาบาลบางจาก จังหวัดสมุทรปราการ หมอสงสัยว่าวิษณุจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ จึงบอกให้บุญมีกลับไปเก็บของที่บ้านและมาพบหมออีกครั้งตอน บ่ายสาม ส่วนวิษณุก็เป็นเด็กเข้มแข็งเช่นเคย ไล่แม่กลับบ้านและนอนให้หมอให้น้ำเกลืออยู่คนเดียวที่โรงพยาบาล

  

ในที่สุดเมื่อพบว่าวิษณุเป็นไส้ติ่งอักเสบ ทางโรงพยาบาลบางจากเป็นโรงพยาบาลเล็ก ไม่มีเครื่องมือผ่าตัด จึงส่งวิษณุไปเข้ารับรักษาตัวต่อที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ปากน้ำ แม่บุญมีจึงโทรศัพท์ มาแจ้งนักวิจัยในโครงการฯ และโดยขั้นตอนการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในกรณีที่ผู้ร้องประสบกับปัญหาผลกระทบด้านสิทธิขั้นพื้นฐานที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่นนี้ ทางโครงการคลีนิกกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ[๖] ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือดูแลการเข้ารับรักษาพยาบาลของเด็กชายวิษณุที่โรงพยาบาล

  

เพราะเมื่อเวลาคนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก อย่างวิษณุเวลาที่มีความเจ็บป่วยทั่วไปก็จะไม่กล้าไปหาหมอที่โรงพยาบาล จะแก้ไขความเจ็บป่วยของตนเองด้วยการซื้อยามากินเอง  หรือ ไปหาหมอที่คลีนิก  กระทั่งหากอาการหนักจนทนไม่ไหวจึงยอมเข้าโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะการปรากฎตัวต่อโรงพยาบาลรัฐ บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องที่ตนเองไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก  และที่หนักหนามากกับคนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก คือ ไม่มีสิทธิในประกันสุขภาพเหมือนคนอื่นๆ ที่มีเลข ๑๓ หลัก หรือ แรงงานต่างด้าว

  

ในครั้งนี้ บุญมีนำเงินเก็บทั้งหมดที่มีในบ้านที่เก็บไว้มานานแล้ว มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ลูก นับแต่ค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลบางจาก ค่าส่งตัวคนไข้  ค่าผ่าตัดและ ค่าใช้จ่ายในการนอนค้างรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการปากน้ำ  ซึ่งทั้งหมดตกเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  มากเกินกว่าที่คนไม่มีเลข ๑๓ หลักอย่างบุญมี ซึ่งทำการค้าขายผักเล็กๆ น้อยๆ จะสามารถหาได้ในเกือบทั้งปี 

  

อย่างไรก็ตามวิษณุได้รับการรักษาพยาบาลจนเสร็จขั้นตอน และ คุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้ และทางโรงพยาบาลได้สงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลส่วนที่บุญมียังค้างโรงพยาบาลอยู่ให้  โดยมีความเข้าใจและเป็นห่วงกับอนาคตที่ต้องดำเนินของเด็กชายวิษณุและครอบครัวนี้ 

  

นักวิจัยในโครงการฯ ได้เข้าไปประสานงานอย่างต่อเนื่องกับทางโรงพยาบาลจนถึงวันที่เด็กชายวิษณุจะออกจากโรงพยาบาล ในวันนั้นนักวิจัยพบว่าแม่บุญมีมีอาการจะร้องไห้เกือบตลอดเวลาตั้งแต่ก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลเพื่อขออนุมัติค่าใช้จ่ายที่ยังค้างชำระ แต่เมื่อนักวิจัยได้พูดคุยและให้กำลังใจ  บุมีก็ดูผ่อนคลายและลดความหวาดกลัวลง

  

“หัวใจของการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ความรู้และความเข้าใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเยียวยาปัญหาของมุนษย์ผู้ไม่มีเลข ๑๓ หลัก”

 

ในขั้นตอนการสอบประวัติของโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์นั้น  นักวิจัยได้มีโอกาสอธิบายสาเหตุ  ข้อเท็จจริงทางกฎหมาย และ ขั้นตอนการดำเนินการแก้ไขของครอบครัวนี้ให้ทางโรงพยาบาลได้เข้าใจมากขึ้นด้วย จนในที่สุดทางโรงพยาบาลก็อนุมัติสงเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่เหลือ และ ให้วิษณุกลับบ้านได้ หลังจากนั้นบุญมีก็ยังร้องไห้น้ำตาไหลอยู่อีกเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่เพราะความกลัวอย่างตอนแรก เป็นน้ำตาแห่งความดีใจของผู้เป็นแม่ และดูเหมือนจะไหลพรั่งพรูออกมาเพื่อระบายความอัดอั้นที่มีมาตลอด หลายวันที่วิษณุอยู่โรงพยาบาล

  

นักวิจัยพบว่าทุกคนในครอบครัวของป้าสันทีที่เฝ้าติดตามดูอาการวิษณุด้วยความเป็นห่วงนั้น นอกจากจะเป็นห่วงในอาการเจ็บป่วยของวิษณุแล้ว ยังมีความเป็นห่วงและกังวลใจมากในเรื่องที่วิษณุไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลจำนวนมากเพราะไม่มีระบบประกันสุขภาพรองรับ

  

และคนที่ดูจะเข็มแข็งที่สุดในบ้านครั้งนี้ ก็คือ วิษณุ เด็กชายวัยเพียง ๑๒ ขวบ ที่เพิ่งศึกษาอยู่ในชั้นป.๕ เพราะทุกครั้งวิษณุจะเป็นคนรับโทรศัพท์มือถือที่น้าทิ้งไว้ให้แม่ใช้  เล่าอธิบายสถานการณ์และข้อมูลต่างๆ เวลาที่นักวิจัยโทรศัพท์ไปหา แม้กระทั่งเวลาก่อนได้รับการผ่าตัด ที่เจ็บปวดจากอาการไส้ติ่งอักเสบก็ยังเป็นคนถือโทรศัพท์บอกทางให้กับนักวิจัย  วิษณุให้กำลังใจแม่เวลาแม่ไม่สบายใจ วิษณุยืนยันที่จะอยู่โรงพยาบาลคนเดียวได้ เจ้ากี้เจ้าการบอกให้แม่กลับบ้าน ให้แม่ไปลาป่วยกับครูที่โรงเรียน ดูแลการกินอยู่หลับนอนและเรื่องต่างๆ ที่โรงพยาบาล หรือบอกให้แม่ไปขายของเหมือนทุกวัน เพราะวิษณุรู้ดีว่าถ้าแม่อยู่เฝ้าตัวเองที่โรงพยาบาลทางบ้านก็จะขาดรายได้  เมื่อเวลาที่ถามวิษณุถึงเรื่องการผ่าตัด วิษณุก็ตอบอย่างมั่นใจว่าไม่กลัวการผ่าตัดเลย ไม่กลัวเข็มฉีดยา และไม่รู้สึกเจ็บเลยตอนที่ผ่าตัด เมื่อหมอบอกให้เดินออกกำลังกายบ้างก็มุ่งมั่นที่จะทำ และ อยากไปโรงเรียนเร็วๆ  เพราะห่วงเรื่องใกล้สอบ ไม่แสดงอาการงอแงอย่างที่เชื่อว่าเด็กหลายๆ คนจะเป็น นักวิจัยรู้สึกว่าทุกคำพูดและรอยยิ้มของวิษณุในช่วงเวลาทุกข์ยากของครอบครัวในครั้งนี้ เป็นการสร้างกำลังใจและความสบายใจอย่างมากให้กับครอบครัวของป้าสันทีและนักวิจัยเอง ความกังวลใจเดียวที่วิษณุมีอยู่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเงินที่จะต้องมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั่นเอง

  กับการเจ็บป่วยหนักของกรณีคนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลักในครั้งนี้ นักวิจัยได้เห็นภาพปัญหาและความเดือดร้อนของเวลาที่คนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก เจ็บป่วยหนักมากขึ้น

ต่อความเห็นของคุณหมอชาญวิทย์ ทระเทพ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบประกันสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งมีความคิดที่จะพัฒนาระบบรองรับประชาชนกลุ่มที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ เช่น กลุ่มคนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก[๗] เช่นนี้ นักวิจัยเองก็ยังยืนยันที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นมาใช้ได้ในเร็ววัน

  เด็กชายวิษณุ

 


[๑]

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ มติชน รายวัน ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๕๔๙   http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01way08090749&day=20

[๒]

การจดทะเบียนการเกิด - จาก ป้าเจรียงถึง ศุภกรณ์” ___ “หนูจะต้องไม่เป็นอย่างป้า  ดูแลกันด้วยนะมนุษย์ในยุคเลข ๑๓ หลัก” http://gotoknow.org/blog/chonruitai-legal-clinic/41814

[๓]

รับผิดชอบโดย นางสาวบงกช  นภาอัมพร นักวิจัยอาสาสมัครในกองทุนศาสตราจารย์ คนึง  ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โครงการวิจัยฯภายใต้ความร่วมมือของศูนย์นิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE)  โดยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย

[๔]

งานวันแม่ไร้สัญชาติ”วันเสาร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๗.๓๐ น.  ณ ห้องประชุมจิตติ  ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[๕]

อ่านจดหมายของวิษณุที่เล่าเรื่องแม่และยาย ได้ที่  http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/43890

[๖]

รับผิดชอบโดยนางสาวชลฤทัย  แก้วรุ่งเรือง  นักวิจัยอาสาสมัครในกองทุนศาสตราจารย์ คนึง  ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการวิจัยฯภายใต้ความร่วมมือของศูนย์นิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE) โดยการสนับสนุนขององค

หมายเลขบันทึก: 50238เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เขียนดีนะคะ แต่บทความอาจจะยาวไปนะคะ น่าจะแบ่งออกเป็น ๒ บันทึกได้  แยกเรื่องปัญหาความเจ็บปวดของวิษณุ ออกจากเรื่องทัศนคติเรื่องการจับคนที่มีปัญหาสถานะส่ง ตม.

และอีกอย่างที่เสนอคือ น่าจะ link ไปยังบันทึกอื่นที่พูดถึงวิษณุด้วยนะคะ

น่าจะมีอีกบันทึกที่เล่าถึงสิ่งที่คลีนิคจะทำให้วิษณุ (๑) การตามหา ทร.๑/๑ ให้วิษณุ และ (๒) การตามหาเลข ๑๓ หลักให้วิษณุ

รออ่านนะคะ

คำว่า UNICEF หายไปค่ะ คำสุดท้าย

กรณีเด็กชายวิษณุ ไม่มีนามสกุล : คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ
: รายงานกรณีศึกษาภายใต้โครงการห้องเรียน คลีนิค และสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติในสังคมไทย (Classroom, Clinic and Law Firm for Child, Youth and Family who face Statelessness and nationalityless in thai society or “CCL” )
รวบรวมโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙
๑.            สันที ลูกๆ และหลาน : จากมอญไร้รัฐแห่งทะวาย มาสู่คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทรhttp://gotoknow.org/blog/msa-by-law/30523 ๒.           ครอบครัวนายอำพล : ไร้เอกสารและไร้ตัวตนในสังคมไทย!!โดย นางสาวบงกช นภาอัมพร เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/30529 ๓.            "งานวันแม่ไร้สัญชาติ : จากใจลูกและหลาน (วิษณุ) เพื่อแม่และยายไร้สัญชาติ (แม่บุญมีและยายสันที)"โดย เด็กชายวิษณุ เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/43890 ๔.     เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข 13 หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าเมืองไทยมาตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ ต้องมาป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบโดย นางสาวชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙http://gotoknow.org/blog/undocumented-person/50238
 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท