ชีวิตที่พอเพียง : 169-2. ได้งาน


วิธีทำงานของรัฐบาลในภพภูมิใหม่นี้ จะสร้างความเข้มแข็งอย่างแท้จริงให้แก่ชาวบ้าน หรือระดับผู้ปฏิบัติ เพราะจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จที่ระดับปฏิบัติมีอยู่แล้ว

ชีวิตที่พอเพียง  : 169-2. ได้งาน

        ตอนเด็กๆ เรียนหนังสือประมาณ ม. ๔ (เท่ากับ ม. ๒ สมัยนี้) ผมริอ่านเป็นหมอดู     ใช้วิธีเอาตัวเลขปี เดือน และวันเกิด มาบวกกันแล้วปัดเศษ    เอามาดูกันเล่นสนุกๆ     เพื่อนคนหนึ่งชื่อจำลอง เกษสยม เรียนหนังสือเก่งรองๆ จากผม     แต่เล่นกีฬาเก่งมาก เป็นดาวฟุตบอล     และเป็นนักดนตรีประจำวงแตรวง (สมัยนั้นเรียกอย่างนี้) ด้วย      ในขณะที่ผมเรียนเก่งอย่างเดียว อย่างอื่นไม่เอาไหนเลย

        ตามตำรา (ผมดูดวงแบบลอกตำราทั้งดุ้น ไม่มีลูกเล่นเลย) ดวงของจำลองบอกว่า  "เศษหกจะยกญาติ    เป็นเชื้อชาติประเสริฐสรรพ์   ...... (ที่เหลือจำไม่ได้   แต่สรุปได้ว่า    ดวงของจำลองดีกว่าของใครๆ)"      ส่วนดวงของผมบอกว่า  "เศษห้าชะตากลับ    ทุนทรัพย์จะแสนเข็ญ     ภายหลังชะตาเป็น    เศรษฐีทรัพย์นับอนันต์"

         เมื่อ ๕ ปีที่แล้ว จำลองเกษียณอายุราชการในยศพลอากาศโท

        นับว่าตำราแม่นมากนะครับ     และตอนนี้ผมเองก็ตกอยู่ในฐานะเศรษฐี     มีแต่กำไร หรือรายได้มหึมาไม่เว้นแต่ละวัน

         อย่างเมื่อวันที่ ๙ - ๑๐ ธค. ๔๙ ไปงานประชุมวิชาการประจำปี ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย     ผมรับทรัพย์อื้อทีเดียว      เริ่มจากไปพบ ดร. มาลี สุวรรณอัตถ์ อดีต ผอ. คนแรกของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ     และเวลานี้เป็น NGO ใหญ่ คือประธานมูลนิธิสวิตา      และเป็นกรรมการบริหาร บวท. ร่วมกันกับผม     ท่านแก่กว่าผมหลายปี แต่ยังดูสาวกว่าความหนุ่ม (น้อย) ของผมมาก     พอเจอหน้าท่านก็บอกว่าอยากเอา KM ไปใช้ในกิจการของมูลนิธิฯ     เน้นกิจกรรมในชุมชนที่จังหวัดมุกดาหารหรือสกลนครผมก็จำไม่แม่น     ซึ่งมีชุมชนร่วมเครือข่ายกิจกรรมอยู่มาก     คุยกันไปคุยกันมา ออกเรื่องเห็ด     ท่านบอกว่ามูลนิธิสวิตามี collection ความรู้เรื่องเห็ดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย      และอยากได้คนมาทำต่อ     ผมได้โอกาส ที่ลาภลอยมาถึงตัว ในการที่จะเชื่อมโยงสู่พื้นที่หรือชุมชนในอีกช่องทางหนึ่ง คือทางมูลนิธิสวิตา      จึงนัดวันคุยทันที ในวันที่ ๑๔ ธค. ๔๙ โดยมีคุณอ้อมเป็นเจ้าของงาน     และชวนคุณอุทัย อันพิมพ์ KM Intern ที่กำลังฝึกวิทยายุทธอยู่ เข้าร่วมคุยด้วย     เพราะคุณอุทัย สนใจเรื่องเห็ดมาก และมีพื้นที่ทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบพอเพียงอยู่ในเขตอีสานล่าง     พอจะเห็นเค้าความร่ำรวยของผมไหมครับ     ไปทางไหนมีแต่คนเอาทรัพย์สมบัติมาให้

         พบหน้าท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์     ท่านก็บอกว่ากำลังต้องการความร่วมมือ     โดยได้นัดไว้แล้วในวันที่ ๑๔ ธค. ตอนเย็น    ผมงงไปเลยเพราะไม่รู้เรื่อง     ท่านบอกว่าท่านรัฐมนตรีไพบูลย์ (วัฒนศิริธรรม) เป็นผู้นัด  

        เย็นวันที่ ๙ ผมแอบพาสาว (น้อย) ไปกินข้าวต้มร้านประจำที่เธอชอบ     ท่าน รมต. ไพบูลย์ โทรมานัดว่า เช้าวันที่ ๑๐ กินข้าวด้วยกัน    ขอคุยเรื่อง KM นี่แหละ     และพอเช้าวันที่ ๑๐ จึงทราบว่าทางรัฐบาลต้องการเน้นเรื่องธรรมาภิบาล (Good Governance) ในทุกด้าน ทั้งราชการ  ธุรกิจเอกชน   ประชาคม   และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น     และต้องการใช้ KM เป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งของธรรมาภิบาลในสังคมไทย      ท่านบอกว่าได้นัดโดยตรงกับ ดร. ประพนธ์ ไว้แล้วผมในวันที่ ๑๔ ธค. เวลา ๑๗ น. ที่ทำเนียบรัฐบาล

         โอ้โฮ!    KM (ไม่ใช่ MK นะครับ) จะเข้าทำเนียบแล้วนะครับ   

         เรา (สคส. และ สจส.) ก็จะได้โอกาสร่วมมือกับทางรัฐบาล ในการเอา KM ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคม    ตามนโยบายเป้าหมายของรัฐบาล      ผมมองว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนภพภูมิของรัฐบาล หรือการเมืองเชียวนะครับ      ผมมองว่ารัฐบาล ดร. ทักษิณ ทำงานแบบใช้อำนาจสั่งการจากบนลงล่าง     ใช้กโลบายหลอกล่อสร้างคะแนนนิยม ที่เรียกว่านโยบายประชานิยม     ชาวบ้านนิยมชมชอบโดยไม่รู้ตัวว่าโดนวางยาพิษให้ตายทีละน้อย     ให้ต้องพึ่งพารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจคือตัวคุณทักษิณมากขึ้นเรื่อยๆ

      แต่ภพภูมิใหม่ของรัฐบาลนี้ คือบริหารงานแบบเอื้ออำนาจ (empowerment) แก่ชาวบ้าน หรือหน่วยงานทั่วๆ ไป     หาความสำเร็จในระดับปฏิบัติมายกย่อง และจัดให้มีช่องทางและเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการสร้างความสำเร็จนั้น     ซึ่งในกรณีของ ท่าน รมต. ทั้งสอง ก็คือความสำเร็จในการปฏิบัติด้านธรรมาภิบาล    

        วิธีทำงานของรัฐบาลในภพภูมิใหม่นี้ จะสร้างความเข้มแข็งอย่างแท้จริงให้แก่ชาวบ้าน หรือระดับผู้ปฏิบัติ     เพราะจะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จที่ระดับปฏิบัติมีอยู่แล้ว      รัฐบาลดำเนินกุศโลบาย ไม่ใช่กโลบาย

        ที่จริง KM เพื่อพัฒนาธรรมภิบาลในสังคมไทย   เป็นส่วนหนึ่งของ KM เพื่อพัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ที่กระทรวง พม. เตรียมจะลงนามความร่วมมือกับ สสส., สกว., และ สคส. ในการร่วมกันจัดกลไกขับเคลื่อนอยู่แล้ว  

         ยังไม่จบนะครับ  รายรับของผมในช่วงที่ไปงานประชุมวิชาการของ ทีดีอาร์ไอ ยังมีอีก    ดร. โคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เดินมานั่งติดกับผม     บอกว่ามารายงานตัวในฐานะลูกน้อง     ผมก็บอกว่าแล้วแต่ว่าท่านมาโดยสวมหมวกใบไหน     ถ้าสวมหมวกประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผมก็ต้องเป็นผู้คารวะก่อน     แต่ท่านบอกว่ามาคารวะผมในฐานะที่ผมเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และท่านเป็นผู้อำนวยการศูนย์สันติศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล     เราก็เลยคุยกันเรื่อง KM กับสันติศึกษา (Conflict Management)

         ที่จริง ดร. โคทม มาคุยและเชื่อมโยงกับผมในระดับ asset      แต่ผมรีบ "แปลงสินทรัพย์เป็นทุน" อย่างว่องไว     คนจะเป็น "เศรษฐีทรัพย์นับอนันต์" ได้ต้องชำนาญการนี้ครับ      ผมเรียนท่านว่า น่าจะสนใจเรื่องสันติศึกษาในระดับ micro คือระดับชุมชน     แล้วผมก็เล่าเรื่อง ต. แพรกหนามแดง  อ. อัมพวา  จ. สมุทรสงคราม  ที่ทำเรื่องจัดการความขัดแย้งเรื่องน้ำเป็นผลสำเร็จจนโด่งดังไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ     ผมเรียน ดร. โคทม ว่ามีกรณีตัวอย่างการจัดการความขัดแย้ง หรือป้องกันความขัดแย้ง ระดับชุมชน/ท้องถิ่นอีกมากมาย     ผมจะไปเชื่อมโยง ดร. สีลาภรณ์  ผอ. ฝ่ายชุมชนของ สกว. หาตัวอย่างความสำเร็จในการจัดการความขัดแย้งระดับชุมชน ให้     แล้วอาจร่วมมือกันจัดเวทีนวัตกรรมการจัดการความขัดแย้งระดับชุมชน    เพื่อส่งเสริมเชื่อมโยงให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวดีๆ เช่นนี้อย่างกว้างขวางในสังคมไทย

         ผมใช้ทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการเต็มตัวเลยนะครับ     คือค้ากำไรเต็มที่   ได้ใช้นามสกุล พานิช ก็คราวนี้เอง     ผมหวังยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว      คือชักชวนทั้งศูนย์สันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล  และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ    ให้เรียนรู้วิธีใช้ KM เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายระดับมหภาค     โดยเริ่มจากความสำเร็จ (Best Practices) ในระดับจุลภาค

         บ่ายวันที่ ๑๐ ธค. ๔๙ ผมขับรถกลับบ้านโดยมี "สาวน้อย" นั่งกำกับ ด้วยความสุข      ภาคภูมิใจในความ "ร่ำรวย" ของตนเอง      ที่ไปไหนก็ "ได้งาน"  "ได้กำไร" กลับมาเสมอ     เป็นกำไรจากการทำหน้าที่ "ช่างเชื่อม" เชื่อมโยงฝ่ายต่างๆ เข้ามาใช้เครื่องมือ KM เพื่อการพัฒนาสังคม    แล้วผมจะไม่เป็น "เศรษฐี ทรัพย์นับอนันต์" ได้อย่างไร   

วิจารณ์ พานิช
๑๑ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 66470เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2006 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ อาจารย์ เป็น"ช่างเชื่อม"แบบนี้ อาจารย์มีขุมทรัพย์อยู่ในสมองเยอะแยะที่จะเชื่อมโยงพวกเราเหล่าคนทำงาน ให้มาเกาะเกี่ยวเป็นเครือข่ายกันเองต่อไป อยากให้ท่านผู้บริหารทั้งหลาย ที่สามารถเป็นช่างเชื่อมได้ หันมามองภาพกว้างๆให้ได้แบบนี้นะคะ ไม่มีความสำเร็จอันไหนเป็นของตัวเอง แต่ทุกความสำเร็จต้องหันมาขอบคุณ"ด้วยใจ"จริงๆค่ะ

ในฐานะศิษย์เก่า TDRI ผมอดดีใจไม่ได้ถ้าการประชุมประจำปีของสถาบันสามารถต่อยอดแตกหน่อให้เกิดการพัฒนายิ่งๆขึ้นแด่ผู้เข้าร่วม นอกเหนือจากนำเสนอผลการวิจัย และ การประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ผมยังแอบหวังเล็กๆว่าในปีต่อๆไป TDRI จะใช้เวทีนี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสองทางมากขึ้น และมีบรรยากาศให้เกิดการต่อยอด และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรระหว่างผู้เข้าร่วม

หลายอาทิตย์ก่อน ผมได้มีโอกาสกลับมาทบทวนเรื่องเกี่ยวกับ KM และแนวคิดต่างๆที่ได้เรียนรู้มาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมพบว่าผมจะเรียก KM เสียใหม่ว่า K-Em ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับหน้าที่ของมันมากกว่า พอดีแนวคิดนี้สอดคล้องกับที่อาจารย์หมอกล่าวถึงใน blog นี้พอดี ผมว่าเราควรที่จะก้าวสู่ยุคของ Knowledge Empowerment มากกว่า Knowledge Management แล้ว 

"...........ให้เรียนรู้วิธีใช้ KM เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายระดับมหภาค     โดยเริ่มจากความสำเร็จ (Best Practices) ในระดับจุลภาค......." เป็นประโยคเด่นที่ผมแยกมาเตือนตัวเองครับ
ขอขอบคุณคุณหมอ ที่เป็น role model ในการนำ KM มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ดิฉันจำได้เสมอที่คุณหมอกล่าวว่า "เคล็ดลับของ KM อยู่ที่การต่อยอด และ หัวใจของ KM อยู่ที่การปฏิบัติ"

รู้สึกดีๆ  และกำไรไปด้วย ที่ได้อ่านค่ะ

รวิวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท