KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 216. KM เพื่อการพัฒนาสังคม


สจส. ควรทำงานนี้โดยใช้ KM นั่นเอง เป็นเครื่องมือในการทำงาน โดยใช้ "ยุทธศาสตร์ต่อยอด" ความสำเร็จที่มีอยู่แล้ว

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 216. KM เพื่อการพัฒนาสังคม

       ผมได้เล่าเรื่องว่ามีเค้าจะเกิด สจส. (ชื่อตั้งชั่วคราว) ไว้ใน http://gotoknow.org/blog/thaikm/64945     ขอเล่าที่มาที่ไปของ emergence สู่ new order นี้     และเล่าฝันของผมต่อ ในเรื่องการทำงาน จัดการความรู้เพื่อพัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

       เรื่องเริ่มจากการเปลี่ยนรัฐบาล และ อ. ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้รับเชิญไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์     และผมได้ติดตามมาตลอดว่าท่านสนใจใช้ KM เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำงานผลักดัน การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย ์ 
        ดังนั้นเมื่อพบกันในการประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ผมจึงถามท่านว่าอยากใช้เวลาของการประชุมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๓ ในการพูดแสดงเจตนารมณ์ กับประชาคมนักจัดการความรู้หรือไม่     ท่านตอบว่าอยาก    จึงได้ท่านมาเป็นผู้แสดงปาฐกถาพิเศษ เมื่อวันที่ ๒ ธค. ๔๙ เรื่อง "การจัดการความรู้ กับการพัฒนาสังคม  สู่สังคมอุดมปัญญา"    
        จากการแสดงปาฐกถา ก็นำไปสู่การพูดคุยหารือแนวทางปฏิบัติ ดังได้เล่าไว้แล้ว      และผมยังมองว่า เราต้องปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบอีกด้วย     คือ ทำเร็ว ทำต่อเนื่อง และยั่งยืน 

        ที่จริงยังสามารถสาวประวัติศาสตร์กลับไปไกลกว่านั้นได้     คือท่านได้เป็นกรรมการอำนวยการ สคส. อยู่ ๓ ปี     มาลาออกตอนไปเป็นรัฐมนตรี เมื่อเดือนกันยายนนี่เอง      ดังนั้นท่านจึงเห็นพลังของ KM เป็นอย่างดี     และจริงๆ แล้ว เมื่อ ๔ ปีก่อน พร้อมๆ กับการจัดตั้ง สคส. ท่านไพบูลย์ได้จัดตั้ง วจส. (วิทยาลัยการจัดการทางสังคม) เพื่อทำงานจัดการความรู้ในท้องถิ่น -  ชุมชน     โดยเป็นหน่วยงานลูกของ พอช.

         จะเห็นว่า "การผุดบังเกิด" ของ สจส. นี้มีที่มาที่ไปที่ซับซ้อนมาก     จะให้เล่าอดีตให้ยาวกว่านี้ก็ได้    แต่มันจะมากไป     ขอไปที่อนาคตดีกว่า

         สจส. จะทำงานเน้นที่ "การจัดการ"     คือทำงาน "จัดการการจัดการความรู้" ที่มุ่งเป้าเพื่อ พัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

        สจส. ควรทำงานนี้โดยใช้ KM นั่นเอง เป็นเครื่องมือในการทำงาน     โดยมีความเชื่อ หรือสมมติฐานว่า
          ๑. ในสังคมไทยมีหน่วยงาน  กลุ่มคน  ชุมชน  ประชาสังคม  ทำงาน "จัดการความรู้เพื่อ พัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน" อยู่แล้ว    โดยไม่รู้ตัว     หรือโดยมีเป้าหมายอื่น ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย "พัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน"
          ๒. ในสังคมไทย มีหน่วยงาน  และมีคนที่มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการจัดการความรู้อยู่แล้ว จำนวนหนึ่ง    
          ๓. ในสังคมไทย มีหน่วยงานที่ต้องการมีส่วนร่วมผลักดันสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน" อยู่มากมาย      โดยอาจทำงานในต่างสถานะ  ต่างประเด็น  ต่างมุมมอง  ต่างบริบท  ต่างวิธีคิด  ต่างวิธีดำเนินการ  
          ๔. จาก ๓ ข้อข้างบน  จะต้องมีเรื่องราวของความสำเร็จน้อยใหญ่ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อ "พัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน"  อยู่แล้วในสังคมไทย

        ทั้ง ๔ ข้อข้างบน คือ "สินทรัพย์" (assets) ที่มีอยู่แล้ว     รอให้ สจส. เข้าไป "จัดการ" ส่งเสริมให้มีการเข้าไปยกย่อง  ชื่นชม  แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดำเนินการต่อเนื่อง  เชื่อมโยง  และยกระดับผลสำเร็จให้สูงขึ้น  ขยายตัวยิ่งขึ้น     จนกลายเป็นการสร้างสรรค์สังคมใหม่  ที่เป็นสังคมแห่งความพอดี  สมดุล  มั่นคง และยั่งยืน
         คือใช้ "ยุทธศาสตร์ต่อยอด" ความสำเร็จที่มีอยู่แล้ว นั่นเอง

         สคส. มีทักษะในการทำงานแบบขับเคลื่อนภาคีอยู่แล้ว     สจส. เอาไปใช้ได้สบายมาก  ในการร่วมกับภาคีดำเนินการ "จัดการความรู้เพื่อพัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน" 

         ภาคีทั้งหลายคงจะเห็นโอกาสร่วมกันทำความดีให้แก่สังคมแล้วนะครับ

วิจารณ์ พานิช
๓ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 65002เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2006 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ตัวผมเองเห็นและตื่นเต้นกับปฏิบัติการครั้งนี้มาก ที่ มน. เรากำลังเริ่มต้นจะลงมือทำอะไรกันทำนองนี้ในเชิงพื้นที่ (เพื่อการบูรณาการการวิจัย การเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการสืบสานมรดกภูมิปัญญาไทย) พอได้แนวความคิดเพิ่มเติมจากท่าน รมต. และหลาย ๆ ภาคีในงานมหกรรม ทำให้เกิดความมั่นใจและเห็นโอกาสชัดเจนขึ้น เชิงพื้นที่ที่ว่ามีทั้งที่ที่เป็นระดับตำบล (สักหนึ่งตำบล) ไม่ไกลจาก มน. มากนัก (คัดเลือกไว้ได้แล้ว) และพื้นที่ระดับจังหวัด 9 จว. ในเขตภาคเหนือตอนล่าง + ลำปาง (เหนือบน) (รวมเป็น 10) โดยปีหน้าจะเริ่มคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ระดับ แต่ว่าจะเน้นที่ระดับตำบลก่อน เพื่อถอดบทเรียนไปสู่ จว. ทั้ง 10 ในอนาคต ไม่ได้ทำอยู่เฉพาะทีม มน. ครับ มีภาคีจากทั้ง สกว. จังหวัด (และภาคราชการอื่น ๆ) เอกชน ประชาชน เข้าร่วมจำนวนมาก ผมจะหาโอกาสเล่าเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมภายหลังครับ
  เหมือนได้ตื่นมาพบแสงสว่าง ที่จะสาดส่องให้สังคมไทยได้ค่อยๆ ก้าวพ้นจากการถูกจองจำ เสียทีครับ เอาใจช่วยและพร้อมที่จะเป็นกลไกช่วย ส่งเสริมการขับเคลื่อนครั้งนี้ อย่างเต็มที่ ในบริบทที่ตนเกี่ยวข้องอยู่ครับ

เรียนอาจารย์ที่เคารพ  ในการตีโจทย์"จัดการการจัดการความรู้" ตามลายแทงขุมทรัพย์แผนที่ความรู้ของประเทศไทย  โดยมีเป้าหมายที่ต้องการบรรลุสู่

"พัฒนาสังคมไทยสู่ สังคมที่ดีงาม และอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน"ซึ่งเป็น Knowledge Vision ที่ยิ่งใหญ่ในระดับชาติ นั้น หากจะพัฒนาให้ถึงเป้าหมายนั้นเราน่าจะต้องเข้าถึงในสังคมระดับครอบครัว ไต่เต้าไปสู่สังคมชุมชน องค์กร ทุกภาคส่วน  ทาง สคส มีภาคีเครือขายที่มีความเชี่ยวชาญมากมาย อาศัยพลังเครือขายช่วยกัน ร่วมคิด รวมวางแผนและดำเนินการขับเคลื่อนไปด้วยกัน   เชื่อในฝีมือและความสามารถของทีม สคส และ พลังเครือข่ายจะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว  หนูและทีมงาน 5สาว วิทยากรขออาสารับใช้ชาติในครั้งนี้ด้วยค่ะ

ไพฑูรย์  ช่วงฉ่ำ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท