KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : KM ประเทศไทยวันนี้


คุณสิงห์ป่าสักครับ ถ้ามีข่าวที่ทางโรงเรียนใน จ. กำแพงเพชรทำ KM เป็นเครือข่ายหลายโรงเรียน และเห็นผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน กรุณาแจ้งผมด้วยนะครับ เราจะไป "จับภาพ" เพื่อแสดงความชื่นชม และหาทางเชิญมาร่วมกิจกรรมต่อไป

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : KM ประเทศไทยวันนี้

        ผมอ่าน บล็อกของคุณ "สิงห์ป่าสัก" http://gotoknow.org/blog/yutkpp/44462 ด้วยความดีใจสุดขีด     ที่ได้เห็นพัฒนาการของ KM ประเทศไทยไปอีกระดับหนึ่ง      และเป็นปรากฏการณ์ที่ผมเฝ้ารอมานาน     คือการที่ผู้มีความรู้ในพื้นที่เรียนรู้เรื่อง KM จากกันและกันโดยไม่มีกำแพงสถาบันหรืออาชีพ หรือต้นสังกัด มาปิดกั้น   

        ครูมาขอเรียน KM จากนักส่งเสริมการเกษตร     ไชโย!

        เมื่อเดือนที่แล้วนักส่งเสริมการเกษตรและครูนอกโรงเรียนก็ไป ลปรร. ประสบการณ์การทำ KM กับนักส่งเสริมสุขภาพ (กรมอนามัย)     นี่คือความงดงามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้     เราเกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ไม่มีกำแพงกั้น     เรากำลังก้าวเข้าสู้สังคมเรียนรู้ โดยใช้กลไกเครือข่ายแบบ INN (Individual, Node, Network)

         นักส่งเสริมการเกษตร เรียนรู้ทักษะ ๒ ด้าน    คือด้านการส่งเสริมการ ลปรร. ความรู้ปฏิบัติของเกษตรกร (ทักษะด้าน process)     และด้านเนื้อหาความรู้ด้านเกษตรศาสตร์ (ทักษะด้าน content)

        ครูเรียนรู้ทักษะ ๒ ด้านเช่นกัน     แต่เป็นคนละทักษะกับนักส่งเสริมการเกษตร     ทักษะของครูคือด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ของศิษย์ (ทักษะด้าน process)     กับด้านเนื้อสาระวิชาการแต่ละด้าน  (ทักษะด้าน content)

        จะเห็นว่าครูเรียนรู้ KM จากนักส่งเสริมการเกษตรได้     แต่ลอกเลียนวิธีทำ KM ของนักส่งเสริมการเกษตรไปใช้ในโรงเรียนไม่ได้     ต้องคิด"หัวปลา"  "ตัวปลา" และ  "หางปลา" ขึ้นเอง ตามภารกิจและบริบทของตน

         แต่ในบางสาระวิชา ครูขอความร่วมมือจากนักส่งเสริมการเกษตรได้     เช่นวง ลปรร. การเกษตรไร้สารพิษในโรงเรียน    เชิญนักส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกรที่มี best practice ด้านนี้มา ลปรร. ได้สบาย

         ครูอาศัยนักส่งเสริมการเกษตรในการตรวจสอบหาผู้มีภูมิปัญญาในหมู่บ้านได้ด้วย      สำหรับเชิญมาเป็นครูสอนนักเรียน     หรือสำหรับให้นักเรียนไปเรียนรู้ในสภาพการปฏิบัติของจริง

         KM ประเทศไทย ต้อง ลปรร.  และทำ "เพื่อนช่วยเพื่อน"     ในลักษณะที่ไร้กำแพงต้นสังกัด    ไร้กำแพงวิชาชีพ     ไร้กำแพงชนชั้น     ผมฝันเห็นเครือข่าย KM ประเทศไทยเต็มพื้นที่     เป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นเอง  จากการเห็นคุณค่าของ KM     และจากการเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน

         คุณสิงห์ป่าสักครับ     ถ้ามีข่าวที่ทางโรงเรียนใน จ. กำแพงเพชรทำ KM เป็นเครือข่ายหลายโรงเรียน และเห็นผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน    กรุณาแจ้งผมด้วยนะครับ     เราจะไป "จับภาพ" เพื่อแสดงความชื่นชม    และหาทางเชิญมาร่วมกิจกรรมต่อไป

วิจารณ์ พานิช
๑๒ สค. ๔๙
วันแม่ 
ปรับปรุงเพิ่มเติม ๑๓ สค. ๔๙



ความเห็น (6)
    ขอบพระคุณ และขอร่วมชื่นชมด้วยครับ .. 
    ความงามในลักษณะนี้จะต้องมีให้เห็นเพิ่มขึ้นแน่นอน และ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยเร่งเวลาได้อย่างดียิ่งคือ GotoKnow นี่แหละครับ 
    ผมขึ้นบัญชีผู้คนข้ามเครือข่ายวิชาชีพไว้ในใจแล้วไม่น้อยครับ  เตรียมเชิญท่านเหล่านั้นมา และพร้อมข้ามกำแพงออกไปร่วม ลปรร.กับทุกวงการที่เห็นว่าจะช่วยกันทำประโยชน์อย่างมีบูรณาการร่วมกันได้ .. คุณชายขอบ  คุณโอ๋-อโณ  พี่เม่ย  คุณจตุพร  คุณขจิต ... และอีกหลายท่านครับ  ยังไม่ได้จังหวะ Join กับงานของผมโดยตรง  ก็พร้อม Recommend ให้ด้วยใจ  เพื่อความงดงามแบบที่ท่านอาจารย์อยากเห็นนั่นแหละครับ
      สพท.สุพรรณบุรี เขต 2 ก็เคยพาคุณครูไป ลปรร.กับ มูลนิธิข้าวขวัญและนักเรียนของโรงเรียนชาวนา เมื่อ วันที่ 10-11 พ.ค. 49 กินนอนคลุกกันอยู่กับข้าวขวัญ.....เราทั้งสองไปด้วยกันได้ดีค่ะ....กลุ่มที่คุณครูต้องการพัฒนา คือ "นักเรียน" ....กลุ่มที่ข้าวขวัญต้องการพัฒนา คือ "ชาวนา"

      เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะว่าเราเลียนแบบกันไม่ได้....แต่เราต่างเรียนรู้กันได้.....คุณครูโชคดีมากที่ได้ ลปรร. กับข้าวขวัญ ซึ่งเราเรียกเขาว่า "เพื่อนรุ่นพี่" ของพวกเรา เนื่องจากข้าวขวัญใช้ KM กันมาก่อน ตั้งแต่วันนั้น สุพรรณฯ 2 ก็มีกัลยาณมิตรเพิ่มขึ้นอีกค่ะ

      วันนี้เราเป็นหน่ออ่อนของ KM พาโรงเรียน KM ตอนนี้หลาย ร.ร. ทำได้น่าชื่นใจเพราะไม่ได้ KM กัน เฉพาะคุณครูเท่านั้น .... บางโรงเรียนพาลูกนักเรียน KM กันแล้ว เช่น ร.ร.บ้านสระกระโจม ให้เด็ก ๆ KM ว่าเรียนอย่างไรจึงจะเรียนเก่ง / ร.ร.วัดท่าไชย พาพ่อแม่ผู้ปกครอง KM ว่าเลี้ยงลูกอย่างไรลูกจึงไม่มีปัญหา เป็นต้น 

      สพท. สุพรรณบุรี เขต 2 ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันสร้างความงดงามค่ะ 

เรียน อาจารย์หมอวิจารย์

  •  ขออภัยที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นช้าไปบ้าง เพราะผมกลับจากการไปร่วม ลปรร.งาน KMของกรมทางหลวงที่เชียงใหม่เพิ่งมาถึงครับ
  • ผมก็ดีใจที่มีคนสนใจ KM โดยเฉพาะคุณครู ทำให้มองเห็นเครือข่ายการทำงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่วันที่อาจารย์ขอมาดูกระบวนการไว้แล้วว่าจะ ลปรร.เพื่อให้คุณครูเหล่านี้เป็นนักจัดการความรู้ในอนาคต (แบบไม่รู้ตัว)  และจะกระตุ้นให้มีการนำ KM ไปปฏิบัติในโรงเรียนด้วย
  • หากมีความก้าวหน้าประการใดจะบันทึกมา ลปรร. ต่อไปนะครับ

สนใจมากจนต้องเรียน ป.เอก และงานวิจัยที่กำลังค้นคว้า คือการพัฒนารูแบบการจัดการความรู้ในองค์กร (ขององค์กรศึกษาขั้นพื้นฐาน) เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้

อยากขอรับและแลกเปลี่ยนความรู้จากทุกท่านค่ะ

ขอชื่นชมกับภาพที่มีให้ได้ประดับจิตวิญญาณ

เมื่อวันที่ 18-22 สิหาคม 2008 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมที่ มูลนิธิข้าวขวัญ ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่ให้ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ และชีวภาพ เนื้อหาบทเรียนมีคุณค่าควรอนุรักษ์และในไปใช้งาน หลังจากเสร็จการอบรมผมได้เดินทางขึ้นเชียงใหม่ได้เข้ารับการอบรมในโครงการ Seed Project ที่มูลนิธิพันธกิจพระพร(ไทย) การเรียนรู้จากทั้งสองที่ เป็นบทเรียนที่ต่อเนื่องกัน ผมเดินทางกลับลงไปที่จังหวัดพังงา เริ่มกระบวนการหมักปุ๋ยชัวภาพ เริ่มจากสูตรปรับปรุงบำรุงดิน, สูตรบำรุงพืชผัก และผล ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจมากที่การหมักประสบผลสำเร็จ และเริ่มทดลองใช้ด้วยตัวเอง ที่หน้าสำนักงาน ผมทำแปลงผักขนาดเล็ก 1 X 2.50 เมตร เพื่อปลูกผักสวนครัว พริกขี้หนู,กระเพรา,โหระพา,นางรัก ผมหาดินในบริเวณหน้าสำนักงาน(เป็นดินที่ไม่มีปุ๋ย)มาใส่ในแปลงเพื่อปลูก และได้ใช้วิชาที่เรียนมา "ปรับปรุงบำรุงดิน" ผักที่ผมปลูกก็ใช้ได้ครับ แม้จะยังไม่สวยเหมือนใช้สารเคมี แต่ก็ใกล้เคียงครับ ผมเริ่มชักชวนคนใกล้ชิดให้หันมาใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในการเกษตรเพื่อสุขภาพของเราจะได้ยั่งยืนปลอดสารพิษ มีพี่น้องที่สนใจนำองค์ความรู้ไปใช้ในการทำสวนครัวข้างบ้าน ปรากฏว่าถัว มะเขือ พริก ที่พี่น้องปลูกเพื่อกินในครอบครัวสวยกว่าที่ผมปลูกอีกจนพี่น้องท่านนั้นได้แจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน และลูกชายตัวเล็กของท่านได้นำไปขายที่โรงเรียนด้วย(เป็นกิจกรรมที่คุณครูให้นักเรียนนำสินค้าในครัวเรือนไปจำหน่ายทุกวันศุกร์) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2008 ผมได้จัดอบรมหลักสูตรสั้นๆ (ทดลองครับ) สอนเรื่อง "เกษตรยั่งยืน" ด้วยการใช้จุลิทรีย์ ต้องขอบคุณ มูลนิธิพันธกิจพระพร(ไทย) และ มูลนิธิข้าวขวัญ ที่ได้ให้ความรู้ในเรื่องการเกษตร ผมเชื่อมั่นว่าจะมีโอกาส สร้างเครือข่าย และส่งเสริมการเกษตร เพื่อเกษตรกรจะได้ทำเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืนต่อไป.

081-5467128  อารมย์  มูลสาร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท