บันทึก สรส. หนุน KM ท้องถิ่น : 3. KM อบต. ท่าข้าม (3)


ต. ท่าข้ามมี "ทุนทั้งสาม" คือ คน เงิน และความรู้

ตอนที่ 1   ตอนที่ 2 

         ต่อไปนี้เป็นบันทึกของคุณปานนะครับ    เอามาลงไว้เพื่อให้ภาคี KM ท้องถิ่นในพื้นที่อื่นได้เห็นกิจกรรมของ อบต. ที่สงขลา

         การพูดคุยทำความเข้าใจภาพ “งานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของตำบล”วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๙ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ที่มาที่ไป

          หลังจากที่คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ และคุณสมโภชน์ นาคกล่อม ได้รับเชิญไปพูดคุยเรื่อง “องค์กรแห่งการเรียนรู้” ที่อบต.ท่าข้าม เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ ซึ่งเห็นความสนใจของอบต.ที่ต้องการเป็น “ศูนย์เรียนรู้ของตำบล”  ได้นำมาสู่การลงไปคลุกคลีเพื่อทราบข้อมูล สถานการณ์ในพื้นที่ของคุณสมโภชน์ นาคกล่อม เมื่อวันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ และการร่วมสังเกตการณ์การประชุมแกนนำกลุ่มสัจจะวันละบาทประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ ณ ที่ทำการอบต.

          จากข้อมูลในพื้นที่เบื้องต้น ทำให้เห็นว่าตำบลมีฐานและทุนทั้งคน เงิน และความรู้ต่างๆ ที่น่าสนใจ กล่าวคือ

          ๑) ทุนคน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารของอบต. ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคน การเรียนรู้ของคนในตำบล ฝ่ายสภาของอบต.ที่ทำหน้าที่ “เอื้ออำนวย” ช่วยสนับสนุนโครงการและแผนต่างๆของอบต. ฝ่ายข้าราชการท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ของอบต.ที่แตกต่างจากอบต.อื่นๆคือ “เป็นทีมทำงานหลักของตำบล” ที่น่าชื่นชม  ฝ่ายชาวบ้านที่มีกลุ่มต่างๆเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรการเงินชุมชน เช่น สหกรณ์ร้านค้าชุมชน ออมทรัพย์ สัจจะวันละบาท

          ๒) เงิน ท่าข้ามสามารถ “จัดการทุนของตัวเอง” (หาเงินเอง) เพื่อพัฒนางานด้านต่างๆ ทั้งระดมภายในชุมชนเอง และระดมจากองค์กรสนับสนุนภายนอก ทำให้เมื่อจะคิดอ่านดำเนินการเรื่องใด “เงินไม่ใช่ปัญหา แต่จะช่วยหล่อเลี้ยงการทำงาน”

          ๓) ความรู้ต่างๆ อบต.มีฐานการทำงานด้านต่างๆ และมีองค์ความรู้ในการทำงานอยู่ในอบต. ในชุมชน ในผู้คนต่างๆมาก หากมีการดึงออกมาใช้ชัด และจัดการใช้ประโยชน์ต่อ จะเอื้อต่อความสำเร็จของการเป็น “ตำบลแห่งการเรียนรู้” ได้ดี

          ฐานและทุนดังกล่าวนี้ นำมาสู่ประเด็นที่เป็น “จุดเข้า” ที่น่าสนใจของพื้นที่หลายเรื่อง ทั้งกลุ่มสัจจะวันละบาท ทีมงานในอบต. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและครอบครัว และการถอดประสบการณ์/ความรู้จากการทำงานที่ผ่านมาของตำบล

          เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นงานด้านการศึกษาที่ได้รับการถ่ายโอน และอยู่ในความรับผิดชอบของอบต.โดยตรง ตลอดจนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมด้วยช่วยกันระหว่าง พ่อแม่ ครู และอบต. ในการดูแลพัฒนาการ สร้างฐานให้แข็งแรงในเด็ก ซึ่งอยู่ในช่วง “โอกาสทองของชีวิต” จะเป็นช่องทางในการสร้าง “สถาบันครอบครัว” ให้เข้มแข็งได้อีกด้วย อบต.และสรส.จึงเห็นว่าน่าจะมีการพูดคุยเป็นกลุ่มเล็กๆ ระหว่างครูผู้ดูแลเด็ก ฝ่ายบริหารหรือปลัดอบต. ฝ่ายการศึกษา และสรส. เพื่อทำความเข้าใจภาพดังกล่าวร่วมกัน และนำไปสู่แผนการทำงานต่อไป

วัตถุประสงค์

๑)     เพื่อสร้างความเข้าใจในภาพการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ระดับตำบล ซึ่งเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ ทั้งอบต. ศูนย์เด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครอง และหน่วยงานหนุนเสริมต่างๆทั้งภายในพื้นที่และภายนอก

๒)    เพื่อทราบข้อมูล สถานการณ์ ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ สภาพปัญหา และความต้องการพัฒนาการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย จากครูศูนย์เด็กเล็กและบุคลากรของอบต.ที่เกี่ยวข้อง

๓)     เพื่อกำหนดทิศทาง วางแผนการดำเนินงาน และกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาศูนย์เด็กเล็กอย่างมีส่วนร่วมระหว่างครู ผู้ปกครอง และอบต.

 กำหนดการ

          วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๙ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

          เวลา ๑๓.๒๐ น.          เดินทางถึงสนามบินหาดใหญ่

          เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๕.๓๐  เยี่ยมชมศูนย์เด็กเล็กในตำบล ตามเส้นทางผ่านที่เหมาะสม

          เวลา ๑๕.๓๐ – ๑๗.๐๐  พูดคุยร่วมกันระหว่างครูผู้ดูแลเด็ก อบต. และสรส.

          เวลา ๑๗.๐๐ – ๑๘.๐๐  ร่วมพูดคุย ทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยน และวางแผนงานด้านการเรียนรู้ระดับตำบลระหว่างปลัด ฝ่ายการศึกษา และสรส.

 กลุ่มเป้าหมายที่ร่วมเรียนรู้

๑.      ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ๔ ศูนย์         ๗ คน

๒.     ปลัดอบต.และฝ่ายการศึกษา          ๓ คน

๓.     ทีมงานสรส.                              ๒ คน

 
หมายเลขบันทึก: 42951เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท