รายทางสู่ขอนแก่น


เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (29 กรกฎาคม 2549) พวกเราชาวพัฒนบูรณาการศาสตร์ได้มีโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่นครับ

การเดินทางเริ่มต้นขึ้นในเวลา 05.00 น.

รถตู้ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไปจอดรับเรา ณ บริเวณหน้าหอพักใหม่ของมหาวิทยาลัยฯ

 

สำหรับวันนี้ผมได้รับมอบหมายจากเพื่อน ๆ ให้ไปรับหน้าที่นั่งคุยกับโชเฟอร์ครับ

อันเหตุเนื่องมาจากผมเป็นคนพูดมาก อ้อไม่ใช่ครับ คุยเก่งครับ

นับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากครับ ที่คนต่างบ้านต่างเมืองอย่างผมได้มีโอกาสนั่งชมวิวทิวทัศน์ได้อย่างเต็มตาครับ

เพราะสองข้างทางมีบรรยากาศที่ร่มรื่นมาก ๆ ครับ

ระหว่างการเดินทางจากอุบลราชธานีถึงจังหวัดยโสธร

บรรยายกาศในช่วงรุ่งอรุณพร้อมกับสายฝนปรอย ๆ ช่างได้บรรยากาศจริง ๆ เลยครับ

7.00 น. พี่ดำรงเดช โชเฟอร์ของเราในการเดินทางครั้งนี้ก็พาเรามาถึงจังหวัดยโสธรครับ

เป็นครั้งแรกเลยครับที่ผมได้เดินทางผ่านมายังจังหวัดยโสธร เป็นเมืองที่น่าอยู่มาก ๆ เลยครับ

 

พอมาถึงสี่แยกผมก็ได้มีโอกาสคุยกับพี่ดำรงเดชถึงเรื่อง
"ตัวเลขแสดงสัญญาณเวลา" ไฟเขียวไฟแดงครับ
ว่าในฐานะที่พี่เขามีอาชีพหลักในการขับรถ พี่เขาคิดอย่างไรกับตัวเลขเหล่านี้
พี่ดำรงเดชตอบว่า
"ก็ดีครับ เพราะเราจะได้กะเวลาถูก ถ้าจะดื่มน้ำหรือทำธุระเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ"
ก็เลยทำให้ผมนึกถึงเมื่อสมัยก่อนที่ต้องนั่งรถตู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ไปสอนที่วิทยาเขตน่าน ผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับโชเฟอร์หลาย ๆ ครั้งถึงเรื่องตัวเลขแสดงสัญญาณไฟจราจรนี้ครับ
โชเฟอร์ที่ ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ก็ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเลยครับ
พี่เขาได้บอกว่า
"ส่วนใหญ่ตัวเลขพวกเนี๊ยะจะมีอยู่เฉพาะในเมือง แต่ถ้าให้ดีน่าจะมีอยู่บริเวณถนนสายหลัก ๆ สายใหญ่ ๆ เช่นสายเอเชีย โดยเฉพาะถนน 4 เลนส์ ซึ่งรถใช้ความเร็วสูงมาก บางครั้งขับมาเร็ว ๆ มาเจอไฟเหลือก็เบรคกันแทบไม่ทัน แต่ถ้ามีเลขแสดงเวลาว่าจะเหลือหรือแดงเมื่อไหร่ ก็จะได้กำหนดความเร็วถูก เวลาขับรถในเมืองส่วนใหญ่ใช้ความเร็วไม่มาก ทางหยุดรถก็ยากเหมือนขับรถทางหลัก ๆ หรือขับระหว่างจังหวัด"
อันนี้ผมเห็นด้วยกับพี่เขาอย่างยิ่งเลยครับ
เพราะครั้งหนึ่งตรงสี่แยกจังหวัดแพร่ ผมเจอรถคันหนึ่งตัดสินใจรวนเร ตอนแรกทำท่าจะเร่งให้พ้นไฟเหลือง แต่จะไปก็ไม่ไป จะหยุดก็ไม่หยุดครับ สุดท้ายก็เขาก็เบรคครับ
ทำให้รถตู้ของมหาวิทยาลัยที่ตามมาข้างหลังเบรคไม่ทัน ชนเข้าดังปึ้ก
ดีนะครับที่ไม่แรง ไม่งั้นผมคงจะแย่ เพราะตอนนั้นนั่งอยู่ข้างหน้าพอดีเลยครับ

จากนั้นเราก็ขับออกมาจากยโสธรมาเจอรถคันหนึ่งครับ
เป็นรถขนหญ้าครับ
ผมก็เลยถามพี่ดำรงเดชว่า เขาขนหญ้าไปไหนกันเหรอครับ
พี่ดำรงเดชได้ตอบว่า "เขาขนหญ้าไปขายกันครับ เป็นหญ้าที่เอาไปให้วัวกิน แพงนะครับอาจารย์ มัดนึงเนี่ยประมาณ 2 มือกำ มัดละ 10 บาทครับ"
ผมก็เลยถามว่า
อ้าว แล้วทำไมต้องซื้อหญ้าให้กินด้วยล่ะครับ หญ้าตามธรรมชาติก็ไม่ใช่มีครับ
พี่ดำรงเดชตอบว่า
"วัวที่กินหญ้าปลูกสมบูรณ์กว่ากินหญ้าตามธรรมชาริครับอาจารย์ แล้วอีกอย่างหนึ่งกินหญ้าปลูกปลอดภัยจากพวกโรคพยาธิครับ เพราะหญ้าธรรมชาติจะมีสิ่งสกปรกเล็ก ๆ ติดอยู่บนยอดหญ้ามากกว่าหญ้าปลูกครับ"
พี่ดำรงเดชก็เลยเล่าให้ฟังอีกว่า
"คนที่เคยปลูกข้าวขายได้เงินปีละ 3-4 หมื่นบาท แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาปลูกหญ้าขายได้ปีละ 6-7 หมื่นบาทครับ
และยิ่งตอนหน้าแรกที่หญ้าธรรมชาติมีน้อยหรือแทบไม่มีเลย ราคาดีมาก ๆ ครับ ตอนนี้ก็เลยมีคนหันมาปลูกหญ้ากันเยอะครับ"
ผมก็เลยถามว่า แล้วพี่ดำรงเดชเลี้ยงวัวด้วยไหมครับ
"เลี้ยงครับ ตอนนี้ทดลองเลี้ยงอยู่ 1 ตัว ทดลองเลี้ยงเพื่อหาประสบการณ์หาความรู้ครับ ช่วงนี้ผมก็ทดลองเอาหญ้าพันธุ์ต่าง ๆ ให้มันกินครับ แล้วก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่ครับ เพราะวัวก็มีชีวิตเวลาเลี้ยงเราต้องดูแลสุขภาพมันด้วยครับ"
ฟังพี่ดำรงเดชพูดแล้วอยากให้คนแถว ๆ บ้านผมคิดอย่างพี่ดำรงเดชจังเลยครับ
คนแถวบ้านผมส่วนใหญ่จะทำอะไรทีลงทุนกันเต็มที่ ไม่เคยเลี้ยงวัวมาก่อนก็ซื้อกันมาทีละ 10 ตัว 20 ตัว กะเลี้ยงทีให้รวยกันไปเลย
โดยเฉพาะเมื่อคราวที่จังหวัดส่งเสริมการเลี้ยงแพะ
เกษตรกรไม่เคยเลี้ยงกันมาก่อน แต่ทุกคนเมื่อคิดต้นทุนคำนวณรายได้ตามหลัก "ทุนนิยม" แล้ว ก็ตกลงจะเริ่มเลี้ยงกันที่ 30-50 ตัวกันเลยครับ
ผลปรากฏว่าเจ๊งไปตาม ๆ กันครับ
เพราะแต่ละคนไม่เคยเลี้ยงมาก่อน ขาดความรู้และประสบการณ์ แต่อยากจะเลี้ยงแบบที่ให้รวยไปเลยครับ
ถ้าเขาคิดอย่างพี่ดำรงเดช ทดลองเลี้ยงจากเล็กไปหาใหญ่ ประสบการณ์เพิ่มพูนมากขึ้นแล้วค่อย ๆ ขยายกิจการ ความมั่นคงและรากฐานทางด้านความรู้มีมาก ๆ ทำอย่างนี้น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่าครับ 

หลังจากที่คุยกันมานาน ตอนนี้เริ่มมีเสียง "จ๊อก ๆ ๆ " ดังมาจากท้องครับ
ก็เลยถามพี่ดำรงเดชว่า แถวนี้มีอะไรอร่อย ๆ กินบ้างครับ
 เพราะพี่มีเขามีความชำนาญการเส้นทางอย่างมากครับ น่าจะมีอะไรเด็ด ๆ มาแนะนำพวกเรา
"ไก่ย่างธวัชบุรีครับ" อร่อยมาก
ได้เลยครับพี่ ไม่มีปัญหาของอร่อย ๆ ผมชอบ
ไม่กี่อึดใจ พี่ดำรงเดชก็จอดรถหน้าร้าน "ลุงหนวดไก่ย่าง" ไก่ย่างบ้านแคน ธวัชบุรีครับ
ลุงหนวดครับ ไก่ย่างตัวละเท่าไหร่
"ตัวละห้าพัน"
ฮะ แพงจัง
ตัวนี้ครับ ตัวละห้าพัน
ลุงหนวดพูดไปก็หัวเราะไป
เห็นหนวดก็รู้แล้วครับว่า "ของแท้" ครับ
พี่ดำรงเดชเล่าว่า ร้านลุงหนวดเนี่ยไก่ย่าง ย่างใหม่ ๆ ครับ เพราะแกขายดี ขายหมดทุกวันจะไม่มีไก่ซ้ำข้ามวันครับ
พวกเราโชคดีมากครับที่ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารมาด้วยวันนี้ ก็เลยได้กินของอร่อย ๆ กันครับ
 
ระหว่างที่รอลุงหนวดสับหนวดไก่ อ้อไม่ใช่ครับสับไก่อยู่นั้น
ผมก็เผอิญได้เห็น "รถสามล้อ" ครับ
 
คนขับรถสามล้อตกใจนิดหน่อยครับที่เห็นผมเดินออกไปถ่ายรูป
แหม ไม่ต้องตกใจหรอกครับ
"ที่บ้านผมไม่มีครับ"
เห็นแล้วก็เลยอดเก็บภาพไม่ได้ครับ
จากนั้นไม่นาน พอได้ไก่ย่างอร่อย ๆ ของลุงหนวดกับข้าวเหนียวร้อน ๆ
หนังท้องตึงหนังตาก็เริ่มหย่อนครับ
ตอนนี้พี่ดำรงเดชขับไปคนเดียวก่อนนะครับ
ผมขอตัวพักสายตาเดี๋ยวครับ
พบกันอีกทีคราวหน้าที่ขอนแก่นเลยนะครับ.....
หมายเลขบันทึก: 42946เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2006 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
โอย ทรมานใจจริงๆ เป็นบันทึกการเดินทางที่ครบถ้วนมากๆ แล้วยังพูดเรื่องอาหารให้นาบบอนทรมานใจอีกด้วย ยอดเยี่ยมจริงๆ

ต้องบันทึกละเอียดหน่อยครับ

การเดินทางสายอีสานจากอุบลฯถึงขอนแก่นครั้งแรกในชีวิตครับ

ยโสธร ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม เป็นจังหวัดที่เกิดมานายรักษ์สุขเพิ่งเคยไปครับ

ก็เลยพยายามไม่หลับและเก็บมาให้ได้มากที่สุดครับ

           ขอบคุณที่ถ่ายภาพบรรยากาศในการเดินทางมาให้ดูทำให้เหมือนได้เดินทางไปด้วย

ยอดเยี่ยม...รับรุ่งอรุณเลยนะคะ...

แต่ดิฉันมีอีกเส้นทางที่...ใช้ประจำ...

เดี๋ยวนำรูป...มาแลกเปลี่ยนนะคะ...

....

แวะยโสธร...

เหมือนแวะบ้าน... Ka-Poom เลยนะคะ...

ยินดีต้อนรับนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท