เฉลย - คุณใช้ชีวิตคล้าย Einstein แค่ไหน?


ผมเล่าเกร็ดเกี่ยวชีวิตของไอน์สไตน์อย่างละเอียดพอสมควร เพราะเชื่อว่ามีแง่มุมบางอย่างที่อาจจะสะกิดใจเพื่อนๆ ชาว GotoKnow ครับ :-)

ก่อนอ่านบันทึกนี้ โปรดทำแบบทดสอบต่อไปนี้ก่อน จะอ่านแบบได้อรรถรสมากขึ้นครับ... ;-) 

 

คุณใช้ชีวิตคล้ายไอน์สไตน์แค่ไหน?

สำหรับเหตุผลเบื้องหลังคำเฉลยที่ให้ไว้นั้นมีดังนี้ครับ


ข้อ 1 : เมื่อครั้งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา คุณสนใจเข้าเรียนสม่ำเสมอ ไม่ค่อยโดดเรียน แถมยังอาจเคยได้รับคำชมจากครูผู้สอนว่าเป็นคนขยันอีกด้วย [ตอบ : ไม่ใช่]

หลักฐาน : เมื่อครั้งที่ไอน์สไตน์วัยหนุ่มเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ ETH (Eidgenossische Technische Hochschule) หรือ The Swiss Federal Polytechnic Institute ในเมืองซูริกประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น  เขา “โดดร่ม” เป็นประจำ แต่อาศัยเลคเช่อร์โน้ตจากเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการสอบ (เอ๊ะ! ไปโดนใจหลายคนเข้าบ้างหรือเปล่านี่) 

เพื่อนซี้ที่คอยช่วยเหลือไอน์สไตน์อยู่เสมอ ก็คือ มาร์เซล กรอสมันน์ (Marcel Grossmann) ซึ่งภายหลังกลับมาเป็นศาสตราจารย์ทางคณิตศาสตร์ที่ ETH แถมยังเป็นคนที่มีส่วนช่วยให้ไอน์สไตน์สามารถพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปได้สำเร็จ นอกจากนี้ พ่อของกรอสมันน์ยังเป็นคนหางานให้ไอน์สไตน์ทำเมื่อครั้งเรียนจบใหม่ๆ อีกด้วย

 

   

 ซ้าย :มาร์เซล กรอสมันน์ เพื่อนนักคณิตศาสตร์ของไอน์สไตน์

ขวา : แฮร์มันน์ มิงคอฟสกี นักคณิตศาสตร์ อาจารย์ของไอน์สไตน์

  
ในวิชาคณิตศาสตร์นั้น ไอน์สไตน์เคยได้รับสมญานามจากอาจารย์แฮร์มันน์ มิงคอฟสกี (Hermann Minkowski) ว่า lazy dog หรือ เจ้าสุนัขสันหลังยาว อีกด้วย แต่ต่อมา มิงคอฟสกีนี่เอง ที่เป็นคนแรกซึ่งผนวกอวกาศ (space) และเวลา (time) กลายเป็นหนึ่งเดียวเรียกว่า กาล-อวกาศ (space-time หรือจะสะกดว่า spacetime ก็ได้) 

ผมเองตอนเรียนอยู่ ม.5 ก็เคยโดนอาจารย์สอนชีววิทยาเขียนในสมุดแล็บว่า “ขยันน้อยเหลือเกิน” เหมือนกัน พออยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ก็มีรุ่นน้องมาแซวว่า อาจารย์ท่านหนึ่งฝากมาบอกว่า พี่น่ะหัวดีนะ แต่ขี้เกียจชะมัด ...ตอนนี้ก็เลยต้องมาเขียนเยอะๆ เพื่อไถ่บาปลบล้างความผิดอยู่นี่ไงครับ แหะ...แหะ ;-P

 


ข้อ 2 : คุณเคยเป็นติวเตอร์รับสอนพิเศษ เพื่อแลกกับเงินเล็กๆน้อยๆ เพื่อยังชีพ [ตอบ : ใช่]

หลักฐาน : มัวริซ โซโลวีน (Maurice Solovine) เพื่อนซี้คนหนึ่งของไอน์สไตน์ เขียนเล่าไว้ในหนังสือ Albert Einstein Letters to Solovine 1906-1955 ว่า ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ในปี ค.ศ.1902 หลังจากที่เขาซื้อหนังสือพิมพ์และเดินไปตามถนนกรุงเบิร์น ก็ได้พบกับที่แห่งหนึ่งซึ่งมีป้ายเขียนไว้ด้านหน้าว่า 

        “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเคยเป็นนักศึกษาที่ Zurich Polytechnical School (อีกชื่อหนึ่งของ ETH) รับสอนฟิสิกส์ โดยคิดค่าสอนชั่วโมงละ 3 ฟรังก์”

        น่าสนใจว่า สำหรับโฆษณาที่ไอน์สไตน์ลงในหนังสือพิมพ์มีข้อความว่า “ทดลองเรียนฟรี” อีกด้วย ;-) 

        โซโลวีนจึงคิดว่า “บางทีคนๆ นี้อาจจะช่วยอธิบายฟิสิกส์ทฤษฎีให้ฉันได้” เมื่อได้พูดคุยกันถูกคอ ทั้งสองคนนี้ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกันชั่วชีวิต

        ทำไมไอน์สไตน์ถึงต้องเป็นสอนพิเศษหลังเรียนจบใหม่ๆ เพื่อแลกกับเงินยังชีพ?

         มีคนอธิบายไว้ว่า จริงๆ แล้วไอน์สไตน์อยากจะเป็นอาจารย์ประจำสอนในมหาวิทยาลัย ETH ที่ตนเองจบมา แต่เนื่องจากเขาเป็นนักศึกษาที่ “ไม่เอาไหน” ในสายตาของอาจารย์ จึงต้องระเหเร่รอนหากินอย่างฝืดเคือง เช่น รับงานคำนวณให้กับนักดาราศาสตร์บ้าง เป็นครูสำรองบ้าง สอนพิเศษบ้าง จนกระทั่งได้งานประจำเป็นพนักงานตรวจสิทธิบัตรสวิส (Swiss Patent Office) ในกรุงเบิร์น โดยได้รับค่าตอบแทนเพียงปีละ 3,500 ฟรังก์
 



       
ข้อ 3 : คุณชอบเขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิท เพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เขาได้รับรู้ [ตอบ : ใช่]

หลักฐาน : นิสัยประจำตัวของไอน์สไตน์ข้อนี้มีหลักฐานมากมาย เช่น เมื่อครั้งที่ไอน์สไตน์เขียนถึงเพื่อนนักฟิสิกส์ชื่อ อาร์โนลด์ ซอมเมอร์เฟลด์ (Arnold Sommerfeld) ในราวปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2455 (ค.ศ.1912) ไอน์สไตน์ได้ “บ่น” ให้เพื่อนฟังว่า

        “ช่วงนี้ผมกำลังหมกมุ่นเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความโน้มถ่วง และเชื่อว่าจะสามารถจัดการกับความยุ่งยากซับซ้อนทั้งหมดได้ เพราะมีเพื่อนนักคณิตศาสตร์ที่นี่คอยช่วยอยู่ แต่อย่างหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ตลอดชั่วชีวิตของผม ผมไม่เคยต้องใช้ความพยายามมากเท่านี้มาก่อน ... เมื่อเทียบกับปัญหานี้แล้ว ทฤษฎีสัมพัทธภาพอันแรกกลายเป็นการเล่นของเด็กไปเลย”

        เพื่อนนักคณิตศาสตร์ที่ไอน์สไตน์พูดถึงก็คือ มาร์เซล กรอสมันน์ ส่วน ‘ปัญหานี้’ ก็คือ การพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป  อันเป็นผลงานชิ้นเยี่ยมที่สุดในชีวิตของไอน์สไตน์นั่นเอง

        อย่างไรก็ตาม กรณีที่คลาสสิคที่จับใจที่สุดน่าจะเป็นการเขียนจดหมายติดต่อกันระหว่างไอน์สไตน์กับมอริซ โซโลวีน เพราะนับแต่ทั้งสองอยู่ห่างไกลกัน ไอน์สไตน์กับโซโลวีนได้ติดต่อกันทางจดหมายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 1906 (ขณะนั้นไอน์สไตน์อยู่ที่กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์) จนถึงฉบับสุดท้าย คือวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1955 (ซึ่งไอน์สไตน์น่าจะอยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา)

รวมเวลาที่ติดต่อกันทางจดหมายนานถึง 49 ปี!

(น่าคิดเหมือนกันว่า GotoKnow ของเราจะอยู่ถึง 49 ปีไหม?)


หนังสือ Letter to Solovine 1906-1955

ซึ่งบันทึกจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนถึงมอริซ โซโลวีน ยาวนานถึง 49 ปี

 


 
ข้อ 4 : คุณเล่นเครื่องดนตรีอย่างน้อย 1 ชิ้น โดยมักเล่นยามว่าง หรือเล่นให้เพื่อนๆ ฟังตอนสังสรรค์กัน (หมายเหตุ : เล่นเทป หรือเล่น CD นี่ไม่นับนะครับ) [ตอบ : ใช่] <p align="left">หลักฐาน : แม่ของไอน์สไตน์ซึ่งเป็นนักเปียนโนเป็นคนสอนไอน์สไตน์ตอนเขาอายุได้ 6 ขวบ แต่ภาพที่เราเห็นกันบ่อยกว่า คือ ไอน์สไตน์เล่นไวโอลินนั้น ตามประวัติบอกว่า ไอน์สไตน์เริ่มหัดเล่นตอนอายุได้ 5 ขวบ แต่ก็ไม่ได้ติดใจมากนัก </p><p align="left">        อย่างไรก็ตาม ภายหลัง เขากลับเล่นไวโอลินบ่อยๆ ตลอดชีวิต และบางครั้งหากมีการสังสรรค์กับเพื่อนสนิท ไอน์สไตน์ก็จะบรรเลงไวโอลินให้ฟัง
        </p><p align="center">         </p><p align="center">ไอน์สไตน์กำลังเล่นไวโอลิน (ปี ค.ศ.1941)
        </p><hr><p>
ข้อ 5 : ในการศึกษาเรื่องๆ หนึ่ง คุณจะสืบค้นข้อมูลที่มีอยู่อย่างละเอียดยิบ เช่น มีใครเคยคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ยังไงบ้าง และคุณชอบต่อยอดความคิดที่คนอื่นเคยคิดไว้แล้วให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป [ตอบ : ไม่ใช่]</p><p>หลักฐาน : ในการทำงานวิจัย นักศึกษาและนักวิจัยสมัยนี้ “ถูกสอน” ให้ค้นคว้างานที่คนอื่นทำมาแล้วให้กว้างขวางและละเอียดถี่ถ้วน เพื่อต่อยอดหรือไม่ก็ฉีกแนวความคิดนั้นออกไป นี่คือที่มาของคำว่า research (รีเสิร์ช) ซึ่งมาจากคำว่า re (อีกครั้ง) + search (ค้นคว้าหาข้อมูล) ที่ภาษาไทยแปลว่า วิจัย นั่นเอง

        อย่างไรก็ตาม แม้ไอน์สไตน์เป็นนักอ่านตัวยง เพราะชอบศึกษางานของนักคิดนักเขียนคนสำคัญในยุคของเขา (และก่อนหน้านั้น) อย่างกว้างขวาง </p><p>         แต่หากพูดถึงการพัฒนาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์แล้ว ไอน์สไตน์กลับไม่ค่อยได้ศึกษาว่าคนอื่นทำอะไรมาก่อนอย่างละเอียดมากนัก ตรงกันข้าม เขาจะสามารถจับประเด็นที่เป็นแก่นสาระได้อย่างแม่นยำ และพัฒนาทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมาจากหลักการพื้นฐานแทบทั้งสิ้น </p><p>         นิสัยของไอน์สไตน์เช่นนี้ ดร.จอห์น กริบบิน (Dr. John Gribbin) นักวิทยาศาสตร์-นักเขียน ได้ล้อเล่นแบบแสบๆ คันๆ ไว้ว่า

        “ตลอดอาชีพของเขา ไอน์สไตน์ไม่ได้อ่านประวัติของเรื่องต่างๆ ที่เขาสนใจมากนัก เขาชอบหาวิธีแก้ปัญหาเองจากหลักการเบื้องต้น นี่เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมมากในการทำงานด้านฟิสิกส์ หากว่าคุณเฉลียวฉลาดเท่ากับไอน์สไตน์”

        พูดง่ายๆ คือ ไอน์สไตน์ไม่ชอบทำการ “research” (= ค้นคว้าของเดิมที่มีอยู่) แต่ชอบ “search” (ค้นหาด้วยตนเอง) นั่นเอง

        แนวทางการวิจัยที่ว่านี้ น่าเปรียบเทียบกับประโยคเด็ดของเขาประโยคหนึ่งที่ว่า </p><p align="center">“If we knew what it was we were doing, it would not be called research, would it?” </p><p>นั่นคือ “ถ้าเรารู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไอ้สิ่งที่ทำนั่นก็ไม่สมควรถูกเรียกว่างานวิจัย ใช่มะ?” (เอ้า! สกว. ว่าไงครับเรื่องนี้?)
        </p><p><hr> </p> <p> </p><p>ข้อ 6 : คุณยินดีรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ (แม้แต่คนแปลกหน้าที่เพิ่งรู้จัก) และวิจารณ์ความคิดดังกล่าวอย่างสร้างสรรค์อยู่เป็นนิจ [ตอบ : ใช่]
</p><p>หลักฐาน : ประเด็นนี้มีตัวอย่างหลายเรื่อง เล่าสัก 3 เรื่องก็แล้วกัน </p><p>          เรื่องแรก ในปี 1924 นักฟิสิกส์ชาวอินเดียชื่อ สัตเยนทรนาถ โบส (Satyendra Nath Bose) ซึ่งเป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยดักกา (University of Dacca) ได้ส่งบทความไปยังวารสาร Philosophical Magazine </p><p>          แต่บทความนี้ถูกปฏิเสธ โบสจึงเขียนจดหมายถึงไอน์สไตน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน พร้อมแนบต้นฉบับบทความไปให้ไอน์สไตน์พิจารณา โดยกล่าวในจดหมายตอนหนึ่งว่า </p><blockquote><p>“กระผมไม่มีความรู้ภาษาเยอรมันเพียงพอที่จะแปลบทความนี้ ถ้าท่านคิดว่าบทความนี้มีค่าพอลงพิมพ์ได้ กระผมจะขอบพระคุณอย่างยิ่งถ้าท่านจะกรุณาจัดการส่งไปให้ลงพิมพ์ในวารสาร Zeitschrift fur Physik ถึงแม้กระผมจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับท่าน กระผมก็ไม่ลังเลที่จะขอร้องรบกวนท่าน เพราะเราทุกคนต่างก็เป็นนักเรียนของท่านโดยเรียนจากผลงานที่ท่านตีพิมพ์ ...” </p></blockquote><p>เมื่อไอน์สไตน์ได้ศึกษาแนวคิดของโบสแล้ว ก็แปลบทความดังกล่าวด้วยตนเองในนามของโบส และให้ความเห็นวิจารณ์ไปด้วยว่า “ตามความเห็นของผม วิธีการคำนวณของโบสเกี่ยวกับกฎของพลังค์นับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งทีเดียว”</p><p></p><p align="center"> </p><p align="center">สัตเยนทรนาถ โบส</p><p>
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้น ชื่อคนที่เกี่ยวข้องน่าจะฟังคุ้นหูคนไทยไม่น้อยนั่นคือ คือ จอห์น แนช (John Nash) พระเอกในเรื่อง A Beautiful Mind นั่นล่ะครับ </p><p>คือเมื่อครั้งที่แนช ได้เข้าศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ซึ่งไอน์สไตน์พำนักอยู่ในบั้นปลายชีวิตนั้น แนชก็ขอเข้าพบไอน์สไตน์เพื่อนำเสนอไอเดียว่าด้วย “ความโน้มถ่วง แรงเสียดทาน และการแผ่รังสี” ว่ากันว่าไอน์สไตน์ตั้งใจฟังด้วยความอดทนจนจบ และในที่สุดก็บอกจอห์น แนชว่า “นี่แน่ะพ่อหนุ่ม คุณน่าจะไปศึกษาฟิสิกส์เพิ่มเติมให้มากกว่านี้ซะหน่อยนะ”</p><p>        </p><p align="center"> </p><p align="center">หนังสือ The Essential John Nash </p><p align="center">ซึ่งเล่าเกร็ดเล็กๆ ตอนที่แนชพบไอน์สไตน์
        

เห็นไหมว่า ไอน์สไตน์ยินดีรับฟังแนวคิดเห็นแปลกๆ ของคนอื่น ไม่ว่าความคิดเห็นนั้นจะเข้าท่าหรือไม่ โดยไม่เคยเรียก หรือดูถูกใครว่าเป็น ‘ปัญญาชนเก๊’ หรือ ‘ปราชญ์กำมะลอ’ (pseudo-intellectual) อย่างแน่นอน!
        </p><p align="center"> </p><hr><p align="left">
ข้อ 7: คุณมีก๊วนเพื่อนซี้ที่มักจะนัดพบกันเป็นประจำเพื่อพูดคุย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องที่สนใจร่วมกัน [ตอบ : ใช่]
      
หลักฐาน : ไอน์สไตน์ชอบถกเถียงกับเพื่อนสนิทที่สนใจในเรื่องหนึ่งๆ ร่วมกัน เช่น หลังเรียนจบใหม่ๆ ก็คุยกับก๊วน Akademie Olympia โดยนำหนังสือของนักคิดนักเขียนคนสำคัญในยุคนั้นมาใช้เป็นประเด็นในการสนทนา เช่น </p><ul>

  • Mills’ Logic (ตรรกศาสตร์ของมิลส์)
  • Mach’s Analysis of Sensations and Mechanics (การวิเคราะห์การรับรู้โดยประสาทสัมผัสและกลศาสตร์ของมัค)
  • Hume’s Treatise on Human Nature (ตำราว่าด้วยธรรมชาติของมนุษย์ของฮูม)
  • Spinoza’s Ethics (จริยธรรมของสปิโนซา) เป็นต้น 
  • </ul><p align="center"> </p> <p align="center">
    กลุ่ม Akademie Olympia ซึ่งนัดพบกันเป็นประจำเพื่อสนทนาและถกเถียงประเด็นต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน </p> <p align="center">จากซ้ายไปขวา : คอนราด ฮาบิชต์, มอริซ โซโลวีน และอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์</p>
    <p align="left">
    อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในช่วงที่ทฤษฎีควอนตัมกำลังถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ไอน์สไตน์ถกเถียงกับนีลส์ โบร์ (Niels Bohr)  โดยไอน์สไตน์ได้ใช้ “การทดลองในความคิด” เพื่อโต้แย้งและหักล้างหลักความไม่แน่นอนของไฮเซนเบิร์ก  </p><blockquote><p align="left">เมื่อโบร์ได้ฟังข้อโต้แย้งของไอน์สไตน์ครั้งแรกถึงกับอึ้ง และนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะเฝ้าครุ่นคิดว่าจะจับผิดไอน์สไตน์ได้ยังไง </p></blockquote><p align="left">แต่ในที่สุด ความเป็นจริงก็ย่อมชนะ เพราะถึงรุ่งเช้าโบร์ก็โผล่ออกมาพร้อมด้วยสีหน้าแจ่มใส (แม้จะอดนอนมาแทบทั้งคืน) และได้แก้เผ็ดไอน์สไตน์โดยใช้ผลลัพธ์จากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปมาหักล้างตรรกะ (ผิดๆ) ของไอน์สไตน์เอง! 8-P</p><hr><p align="left">        
          
    ข้อ 8: ในยามว่าง คุณมักจะทบทวนในเรื่องที่สนใจอยู่เสมอๆ เช่น หากคุณเป็นนักวาดภาพ ก็จะไม่เคยว่างเว้นการขยับปลายพู่กันกันมือแข็ง หรือหากคุณเป็นเซียนพระเครื่อง ก็จะอ่านหนังสือพระเครื่องหรือหยิบพระเครื่องขึ้นมาส่องทั้งวัน [ตอบ : ใช่]
          
    หลักฐาน : ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า </p><blockquote><p align="center">“เมื่อผมไม่มีปัญหาพิเศษอะไรอยู่ในสมอง ผมชอบที่จะนำการพิสูจน์ทฤษฎีทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ซึ่งผมรู้จักมานานแล้วกลับมาทำซ้ำอีก ไม่มีจุดมุ่งหมายใดๆ ในการนี้ เพียงแต่เป็นโอกาสให้ได้อยู่ในภวังค์อันรื่มรมย์แห่งการคิด”</p></blockquote><p align="left">ฟังประโยคสั้นๆ เพียงแค่นี้ ก็คงจะรู้สึกได้แล้วว่า ทำไมไอน์สไตน์ถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดนักคิดระดับโลก</p><hr><p align="left">              
    ข้อ 9: หากให้เลือกระหว่าง งานที่เกี่ยวข้องกับการค้นคว้าหาความจริงของธรรมชาติ กับตำแหน่งทางการเมือง คุณจะเลือกตำแหน่งทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องสำคัญกว่ามาก [ตอบ : ไม่ใช่]
          
    หลักฐาน : ในปี ค.ศ. 1952 ไอน์สไตน์เคยได้รับเชิญให้เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของประเทศอิสราเอล แต่เขาปฏิเสธ ส่วนวรรคทองที่ทำให้เราเข้าใจไอน์สไตน์ในเรื่องนี้ก็คือ </p><p align="center">“Politics is for the moment; an equation is for eternity” </p><p align="left">นั่นคือ </p><p align="center">“การเมืองเรื่องชั่วครู่อยู่ไม่นาน สมการสัจจะทรงคงนิรันดร์” </p><p align="left">(สำนวนแปลสุดแสนไพเราะและเฉียบคมนี้เป็นฝีมือของ อาจารย์ ดร.พัฒนะ ภวนันท์ แห่งภาควิชาฟิสิกส์ได้แปลไว้อย่างงดงาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ในวารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 33 เล่ม 6 หน้า 133)</p><p align="left">        คำว่า ‘สมการ’ ที่ไอน์สไตน์พูดถึงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวสูตรคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่น่าจะหมายถึง กฎเกณฑ์และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั่นเอง (อย่างเช่น สูตร E = mc^2 ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสสารและพลังงาน เป็นต้น)
           
     </p><hr>     
    ข้อ 10 : ลึกๆ แล้ว คุณคิดว่า วิชาปรัชญานั้นช่างน่าหลงใหล และมีเสน่ห์กว่าบรรดาศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ [ตอบ : ไม่ใช่]
          
    หลักฐาน : ไอน์สไตน์วัยโจ๋เริ่มศึกษาปรัชญาตั้งแต่อายุราว 13 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1724-1804 
            <p>อย่างไรก็ตาม ไอน์สไตน์พบว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้นหนักแน่นและน่าเชื่อถือกว่า เพราะนอกจากจะมีเหตุมีผลเป็นระบบ ดังเช่นที่ปรัชญาก็มีแล้ว วิทยาศาสตร์ยังให้น้ำหนักกับหลักฐานที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ทำให้เขาเบนความสนใจออกจากปรัชญา และมุ่งเน้นการศึกษาฟิสิกส์เพียงอย่างเดียว</p><p align="center">
           </p><hr><p>ประวัติของบทความ :</p><ul>

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Know How & Know Why หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ ไอน์สไตน์ : 1 ศตวรรษแห่งปีมหัศจรรย์, สนพ. สารคดี
  • ดัดแปลงเพื่อนำลงใน GotoKnow.org วันอังคารที่ 3 เมษายน 2550
  • </ul>

    คำสำคัญ (Tags): #einstein#ไอน์สไตน์
    หมายเลขบันทึก: 88323เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (16)

    ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ  

    เข้ามาอ่าน .... แต่อ่านไม่จบ พอเริ่มข้อสอง ก็ลากมาข้างล่าง....

    อาตมาขี้เกียจ ไม่เอาไหนแต่เด็กๆ แล้ว...

    ยกเว้น คณิตศาสตร์ หรือวิชาคำนวน มักเป็นติวเตอร์ให้เพื่อน... เวลาใกล้ๆ สอบ เพื่อนค่อนข้างจะห่วงเป็นพิเศษ (ความรู้สึกส่วนตัวว่า...เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนเรื่องนี้เท่านั้น นอกนั้นก็ตัวถ่วงกลุ่มตลอด) ...

    เพิ่งนึกขึ้นได้ ที่ขี้เกียจอ่าน ก็คงเพราะคิดว่า ฉันคงเป็นฉัน ฉันไม่อยากจะสำรวจแล้วว่าฉันเป็นอย่างไร ...ทำนองนี้

    เจริญพร

    อ่านได้ความรู้มากค่ะ อาจารย์  ขอบคุณ

     ในข้อที่เขาไม่ได้เป็นคนขยันเท่าไร    เห็นมาหลายคนแล้ว ที่ชอบท่องมากๆ ชอบจำบทเรียนมากๆ ไม่เคยขาดเรียนเลย  ไม่ได้ฉลาดกว่า คนบางคนเลย พวกท่องเก่งจะหนักในการ imitate  มากว่า จะคิดค้นได้เอง

    ขอขอบพระคุณอาจารย์บัญชา...

    • ก่อนอื่นขออนุญาตยกย่องให้เป็น "บันทึกโดดเด่น (บน Go2know) แห่งจตุมาส (1st quarter of the year หรือ 4 เดือนแรก... สาเหตุที่ไม่แบ่งแบบไตรมาส เพราะไม่ชอบทำอะไรแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำ)ที่ 1 ของปี 2550"...

    ปีนี้...

    • ปีนี้มีบันทึกที่โดดเด่นมากๆ (ในทัศนะของผม) 2 เรื่อง ซึ่งเป็นบันทึกของท่านอาจารย์ทั้ง 2 เรื่อง
    1. การทำปิระมิด
    2. ชีวิตแบบไอนสไตน์ ("เฉลย - คุณใช้ชีวิตคล้าย Einstein แค่ไหน?")
    • จุดเด่นของบันทึกทั้ง 2 สองอยู่ที่สำนวน สาระ และการเปิดประเด็น "สอนให้รู้จักคิด และคิดเป็น"... สาธุ สาธุ สาธุ

    ขอขอบพระคุณครับ...

    กราบนมัสการหลวงพี่พระมหาชัยวุธ

             เอาไว้ถ้ามีประเด็นสงสัยเกี่ยวกับไอน์สไตน์เมื่อไร ก็ลองแวะกลับมาอ่านในส่วนอื่นก็ได้ครับ

             จริงๆ แล้ว "แบบทดสอบ" ก่อนหน้านี้ ไม่ได้ต้องการบอกว่าเราคล้าย (หรือไม่คล้าย) ไอน์สไตน์ แต่เป็นวิธีการเล่าประวัติของไอน์สไตน์แบบหนึ่งเท่านั้นเองครับ

    จึงกราบเรียนมาด้วยความเคารพ

    สวัสดีครับ คุณ sasinanda

           ขอบคุณที่ให้เกียรติแวะมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆ นะครับ

           ผมว่าการที่ไอน์สไตน์คิดค้นอะไรได้มากมายนี่ ดูจากข้อ 8 ก็น่าจะพอเห็นนิสัยแล้ว คือ ยามว่าง ก็ทบทวนอยู่เรื่อยๆ 

           ยิ่งเสริมด้วยข้อ 7 คือ มีกลุ่มเพื่อนที่ "คอเดียวกัน" คุย-ถกเถียงกันสนุก ก็ยิ่งทำให้เรียนรู้ได้อย่างลุ่มลึก และมีความสุขครับ

           ส่วนข้อ 5 นั่น ผมถือว่าน่าจะเป็นการแสดงสัญญาณของอัจฉริยะอย่างแท้จริง คือ มี originality สูงมากนั่นเองครับ (เป็นความคิดเห็นส่วนตัว...เถียงได้)

    สวัสดีครับ อาจารย์หมอวัลลภ

            นับเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับข้อคิดเห็นของอาจารย์ครับ

            บันทึกเรื่องไอน์สไตน์นี่ เป็นผลพวงมากจากการค้นคว้าค่อนข้างมากเมื่อปี 2005 ครับ เพราะปีนั้นเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีแห่งปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์ (100 Years of Einstein Miraculous Year)

            ผมเองในฐานะที่ได้ใช้ประโยชน์จากวิชาฟิสิกส์ในตอนเรียนต่อ การหาเลี้ยงชีพ และในชีวิตประจำวัน....

            ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะคืนอะไรให้กับวิชาฟิสิกส์บ้าง (ตอนนี้กำลังทำพจนานุกรมศัพท์ฟิสิกส์ยุคใหม่อยู่นะครับ...ใช้งานได้เป็นเรื่องเป็นราวเมื่อไร จะนำมาโพสต์ให้ทราบกัน)

    ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งสำหรับกำลังใจครับ :-)

    สวัสดีค่ะพี่ชิว

    อ่านตั้งแต่บททดสอบมาจนจบบทเฉลย เลยรู้ว่าตัวเรานี้หนามิได้เกิดมาเพื่อเป็นไอน์สไตน์ ฮ่าๆๆๆ

    ขอบคุณสำหรับบทความและสวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ  :D

    ..ณิช.. 

    สวัสดีครับ ณิช

             ดีแล้วครับ ขืนเหมือนไอน์สไตน์ คงต้องไปไว้ผมทรงสิงโตหัวฟูๆ ด้วย...ยุ่งแน่ :-P

             ขอฝากคำคมของไอน์สไตน์ไว้ให้ ณิช และเพื่อนๆ ทุกท่านที่แวะมาทางนี้ด้วยครับ:

             "I know why there are so many people who love chopping wood.  In this activity one immediately see the results."

             "ผมรู้ว่าทำไมถึงมีคนจำนวนมากที่ชอบผ่าไม้ฟืน เพราะในกิจกรรมเช่นนี้ เขาจะเห็นผลงานได้ในทันที"

    พี่ชิว

    สวัสดีครับอาจารย์...

    • อ่านมันส์ดีครับ
    • คำว่า "space-time" หรือ "statiotemporal" นี่ ผมมองว่าน่าจะตรงกับคำว่า กาละเทศะ นะครับ

    สวัสดีครับ อาจารย์วิบุล

             พจนานุกรมฉบับมติชน ให้ความหมายของคำว่า กาละเทศะ ไว้ว่า 

             กาละเทศะ  น. เวลาและสถานที่; ความควรไม่ควร

             ในความหมายแรก คือ เวลาและสถานที่ เป็นการแปลที่ใกล้กับคำว่า spacetime ครับ เนื่องจาก space ในทางฟิสิกส์หมายถึง ที่ว่าง หรือตำแหน่ง แต่ทว่า...

             คำว่า กาละเทศะ ที่เข้าใจกันในภาษาไทย มักจะมีท่วงทำนอง (sense) ไปในความหมายที่สอง คือ  "ความควรไม่ควร" เช่น ทำอะไรให้ถูกต้องตามกาละเทศะ หรือ ทำอะไรไม่ถูกตามกาละเทศะ

             ผมจึงขอใช้ตามที่นักฟิสิกส์จำนวนหนึ่งใช้ คือ กาลอวกาศ หรือ กาล-อวกาศ ซึ่งแม้จะไม่ตรงเป๊ะตามความหมายในทางฟิสิกส์ แต่ก็ฟังแล้วรู้เลยว่าเป็นศัพท์ฟิสิกส์แน่ๆ เพราะมีคำว่า "อวกาศ" ซึ่งแปลกลับเป็น space ได้เหมือนกัน

             นอกจากนี้ยังฟังเสนาะหูด้วยครับ...จึงขอดื้อใช้ว่า กาล-อวกาศ ตามที่เขียนไว้ครับ :-P

    ท่านอาจารย์ P
    ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ...

    • ผมก็ไม่ได้เคร่งเครียดเรื่องการแปลหรอกครับ เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าเขาไม่ใช้เพราะไม่ได้นึกไปถึง หรือไม่ใช้เพราะเห็นว่าไม่ลงตัว
    • ขอบคุณครับสำหรับการอธิบายที่กระจ่าง
    ด้วยความยินดีครับอาจารย์วิบุล :-)

    ซักวันผมจะไปยืนอยู่ที่จุดนั้น

    สวัสดีครับ อาจารย์บัญชา

        อาจารย์สบายดีนะครับ..ที่กรุงเทพฯอากาศเป็นอย่างไร ที่เชียงใหม่อากาศเย็น คลื้มทั้งวันเลยครับ ..ไปดู2012กับดาวลูกไก่มาแล้ว ..ดีสมจริงมากเลยครับไปดูจอใหญ่ในโรงภาพยนตร์ ยิ่งใหญ่มาก และน่ากลัวจริงๆ ถ้เราไม่หยุดทำร้ายธรรมชาติ

    คุณพรเทพ

           ดีครับ...ว่าแต่ตอนนี้ยืนอยู่จุดไหนครับ? (ถามจริงๆ คือ หมายความว่า เรียน หรือทำงานอะไรอยู่เอ่ย)

    พี่วสุ สวัสดีครับ

            ดีจังครับ ควงพี่ต๋อยไปดู 2012 ด้วยกัน หนังแบบนี้ต้องดูโรงใหญ่ครับ อลังการดี

            ผมกับครอบครัวก็ไปดูมาแล้วครับเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เจ้าหนูนิ (คนเล็ก) อยากดูมากๆ

            ผมคิดว่าถ้าตัดฉากหายนะออกไป - หนังเรื่องนี้ถามคำถามพื้นฐานที่คาใจคนเรามาตลอด นั่นคือ

            "คุณจะทำอย่างไร หากคุณหรือคนที่คุณรัก กำล้งเผชิญกับความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

           นอกจากนี้ หนังเรื่อง 2012 ยังเต็มไปด้วย สัญลักษณ์ ที่น่าสนใจทั้งนั้นเลยครับ เรือ Noah ปฏิทิน 0001 น้ำล้นถ้วยจากเซน ฯลฯ

           ดีใจที่พี่วสุกับพี่ต๋อยได้ดูหนังเรื่องนี้ครับ ^__^

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท