กลยุทธหมูไม่กลัวน้ำร้อน: ไม่ง่ายอย่างที่คิด


คนที่จะใช้กลยุทธหมูไม่กลัวน้ำร้อนได้นั้น จะต้องมีทั้งใจ กาย และทรัพยากรที่พร้อมพอสมควร

หลังจากผมได้มานั่งทบทวนอุปสรรคและความก้าวหน้า(หรือไม่ก้าวหน้า) ในการทำงาน ทั้งของผม นักศึกษา และเพื่อนร่วมงานในกลุ่มกิจกรรมด้านต่างๆ ก็ได้พบสาเหตุของความสำเร็จ ความล้มเหลว และความผิดพลาด ทั้งในกระบวนการและวิธีการทำงาน ซึ่งมีสาระพอจะเล่าสูกันฟังได้บ้าง

สาเหตุใหญ่ของความไม่คืบหน้าของงาน น่าจะมาจากเป็นโรคปอดลอย ความไม่กล้าที่จะทำ (หรือเสี่ยง ในความหมายของคนทำงาน) สาเหตุที่ไม่กล้าเสี่ยง มีทั้งไม่รู้ ไม่แน่ใจ ไม่มีทรัพยากรสำรองป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่พลาด หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่ใช้กลยุทธที่สำคัญในการทำงานแบบ "หมูไม่กลัวน้ำร้อน"

คนที่จะใช้กลยุทธหมูไม่กลัวน้ำร้อนได้นั้น เท่าที่เห็นนะครับ จะต้องมีความแกร่งทั้งใจ กาย และทรัพยากรที่พร้อมพอสมควร แบบหัวใจเสริมใยเหล็กครับ

ดังนั้น ใครที่จะใช้กลยุทธนี้ จะต้องเตรียมการทั้งสามอย่างข้างต้นให้พร้อม

การเตรียมใจ ต้องพัฒนาจิตสาธารณะ ที่จะทำเพื่อทั้งตนเองและสังคมไปพร้อมๆกัน ผมขอเน้น พร้อมกัน เพราะเพียงอย่างเดียวไปยาก เหมือนขาเดียวเดินไม่ได้ ประมาณนั้น แต่พอพูดตรงนี้คนที่มองไม่ขาด ก็จะมองว่าเห็นแก่ตัว  ผมขอแจงตรงๆว่า ถ้าใครก็ตามที่ยังประคองตัวเองไม่ได้ อย่าหวังจะช่วยคนอื่นได้ มีแต่จะทำให้คนอื่นลำบากด้วยเท่านั้น แต่การสร้างตัวเองก็ต้องพอประมาณ ไม่ใช่ต้องมีแสนล้านเสียก่อนจึงจะบริจาคสักร้อยยี่สิบบาทพร้อมหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร อย่างที่เคยเห็นมา

การเตรียมกายก็เน้นสุขภาพที่จะลุยงานให้ได้ ทั้งความรู้ และทักษะในการทำงานที่ครบถ้วน ทั้งนี้ยังรวมถึงทั้งตัวเราและครอบครัวด้วยครับ ไม่งั้นจะสะดุดขาตัวเองล้มได้ง่ายๆเลยครับ

การเตรียมทรัพยากร ก็ต้องดูว่าทรัพยากรที่ต้องใช้ทั้งในการทำงาน ทั้งเงิน อุปกรณ์ เครื่องทุ่นแรง และยังต้องสำรองกันพลาดไว้ด้วย  ทรัพยากรเหล่านี้จะต้องเป็นทรัพยากรที่ใช้ทำงานได้จริง ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว

เห็นไหมครับ การจะเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนต้องฟิตเปรี๊ยะขนาดไหน ไม่ใช่เป็นกันได้ง่ายๆครับ

การเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องดีต่อตนเอง สังคม องค์กร และประเทศชาติ เพราะจะเป็นพลังแตกต่าง ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคที่มีอยู่ในระบบ ทำให้สังคมเห็นจุดอ่อนของตนเอง และตัวอย่างในการแก้ไข เมื่อจะแก้ไขก็จะรู้ทันทีว่าตรงไหน ควรทำอย่างไร แบบองค์กรเคออร์ดิค ของหมอวิจารณ์นั่นแหละครับ แต่ก็อาจกิดผลร้ายได้ถ้าหมูนั้นไมมีจิตสาธารณะ ทำแต่เพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว

แต่ การเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน มักจะทำให้หัวหน้าองค์กรแบบอนุรักษ์นิยมไม่ค่อยชอบ เพราะดูแลยาก มักจะแตกแถวอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะองค์กรที่มีความแข็งทื่อ ไม่อยากเปลี่ยนแปลง อยู่แบบเดิมๆง่ายกว่า ประมาณนั้น และหัวหน้าองค์กรมักมองหมูไม่กลัวน้ำร้อนว่าเห็นแก่ตัว และหาทางกำจัดออกไป

ดังนั้น เหล่าหมูไม่กลัวน้ำร้อนจะต้องเข้มแข็ง อดทน และมีของจริงให้เขาดูทุกครั้ง เขาฟันเราไม่ลงแน่นอน เพราะของจริงที่เราทำจะเป็นของขลังที่คุ้มครองตนเอง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ครับ

ขอให้หมูไม่กลัวน้ำร้อนที่ดีทั้งหลายจงเจริญครับ

หมายเลขบันทึก: 65696เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

  ผมเองชักไม่แน่ใจเช่นกันครับอาจารย์ ว่าจะเป็หมูที่กลัว หรือไม่กลัวน้ำร้อนดี เพราะตอนนี้ยังขาไม่แข็งพอ แต่ในใจลึกๆ ก็อยากจะเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อนเช่นกันครับ

ด้วยความเคารพ

Violin



ขึ้นกับน้ำร้อนมากร้อนน้อยแค่ไหน บางครั้งก็กลัว ๆ กล้า ๆ ค่ะ อ่านบันทึกอาจารย์แล้วได้ข้อคิดดี ๆ มากค่ะ แล้วจะพยายามเป็นหมูที่ไม่กลัวน้ำร้อนค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

คนต้มน้ำร้อนก็ตั้งใจลวกเต็มที่แหละครับ

แต่ใครจะลวกใครกันแน่ นี่คือคำตอบของคำว่าหมูไม่กลัวน้ำร้อนครับ

คนต้มน้ำร้อนอาจโดนหมูเขี้ยวตันขวิดตกบ่อน้ำร้อนของตนเองมานักต่อนักครับ

ผมจึงเรียกหมูเหล่านั้นว่าหมูไม่กลัวน้ำร้อนครับ

ที่ต้องมีผลงานพร้อม ไม่ใช่แค่เดินตัวเปล่าไปให้เขาเชือด ผมไม่ไปด้วยหรอกครับ

นอนอยู่บ้านสบายกว่าครับ

 

 ผมอ่านข้อความของอาจารย์แล้ว รู้สึกว่าอาจารย์เขียนได้ดีมากเลยครับ ผมจะพยายามไม่เป็นหมูกลัวน้ำร้อน ผมจะไม่พยายามหนีปัญหาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท