ใช้ KM พัฒนาครูโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนต่ำกว่า 120 คน


จุดเน้นที่เป็นความต้องการจำเป็นอันดับแรกของเด็กโรงเรียนอย่างนี้น่าจะทำให้เขาเกิดทักษะพื้นฐาน "อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น" ก่อน
       จากการร่วมกิจกรรม KM มาหลายๆแนว  ได้อ่านหนังสือ  อ่านบล็อก  เขียนล็อก ได้ไปดูงานที่หน่วยงานอื่นเขาทำกัน  ได้เป็นวิทยากรบรรยาย และได้ ร่วม Run CoP   โดยเฉพาะการไปร่วมงานมหกรรม KM ที่ สคส.จัดครั้งนี้ ทำให้ผมตกตะกอนในการบูรณาการ KM ไปสู่พัฒนาคุณภาพการศึกษาได้พอสมควร
       เมื่อวานนี้มีนิสิตปริญญาเอกสาขาบริหารการศึกษาที่ตั้งให้ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิการวิจัย  ได้นำเอกสาร "รูปแบบการพัฒนาครูเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการ ในบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก (นรต่ำกว่า 120 คน)"  มาให้ผมพิจารณา  ผมอ่านแล้วเห็นว่า ยังเป็นการใช้ยุทธศาสตร์เดิมๆ กว้างๆตามแบบที่กระทรวงเคยกำหนด และเคยล้มเหลวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน  เลยคุยกับเขาไปว่า
         "เรามาทบทวนหลักการพัฒนาครูโรงเรียนที่มีบริบทอย่างนี้กันใหม่จะดีไหม?  เพราะถ้าขืนเรายังเน้นการสอนตาม 8 กลุ่มสาระ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เหมือนโรงเรียนทั่วๆไป กับโรงเรียนที่ด้อยโอกาส  ขาดครู  ขาดนวัตกรรมอย่างนี้  คงยิ่งล้าหลังไปกันใหญ่  จุดเน้นที่เป็นความต้องการจำเป็นอันดับแรกของเด็กโรงเรียนอย่างนี้น่าจะทำให้เขาเกิดทักษะพื้นฐาน "อ่านออก เขียนได้  คิดเลขเป็น" ก่อนดีไหม?  เมื่อมีทักษะแล้วจึงค่อยสร้างแรงจูงใจให้เขาใฝ่รู้ใฝ่เรียน 8 กลุ่มสาระต่อไป  และเทคนิคการสอนก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย  จากที่เคยสอนแบบปูพรมทั้งห้อง  ก็ต้องเปลี่ยนมาสอนเป็นรายคนตามข้อมูลพื้นฐานของเขา(เหมือนหมอที่รักษาตามอาการของโรค)  โรงเรียนมีเด็กน้อยอยู่แล้ว  เหมาะจะทำอย่างนี้มากกว่า(เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญชัดเจนที่สุด)  และการทำแผนการสอนของครู(ไม่ใช่แผนการส่ง) ก็ต้องเป็นแผนการสอนรายบุคคล(IEP) เหมือนแผนการสอนเด็กพิการ  วิธีสอนก็อาจใช้การเคี่ยวเข็ญแบบครูโบราณบ้าง  ใช้กลุ่มเพื่อนนักเรียนติวกันเองบ้าง  ทำให้เกิดการแข่งขันกันก็ได้ใครสามารถทำให้เพื่อน/ให้น้องอ่านออกเขียนได้/คิดเลขเป็นได้ก่อนก็หารางวัลมอบให้  เป็นต้น
          ปรากฏว่านิสิตปริญญาเอกท่านนี้เกิดความสนใจ  ผมเลยเสนอแนะแนวทางการพัฒนาครูให้  ซึ่งอดไม่ได้ที่จะใช้ KM สอดแทรกเข้าไป สรุปย่อๆคือ
          1.คัดเลือกคนที่มีเทคนิคการสอน "อ่านออกเขียนได้  คิดเลขเป็น และบูรณาการเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มสาระ" ซึ่งมี Best Practices หลายๆแง่หลายๆมุม จากโรงเรียนอื่นๆ มา Storry Telling (เรื่องเล่าเร้าพลัง) ให้ครูโรงเรียนเหล่านี้ฟัง  แล้วให้ครูกลั่นความรู้ออกมา(คุณลิขิต)
           2.แบ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม (เหมือนการ Run CoP) เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้  ให้ร่วมกันวิเคราะห์ ปัญหา  สาเหตุของปัญหา  และแนวทางในการแก้ปัญหา/พัฒนา ในเรื่องนี้  โดยให้เชื่อมโยงหรือบูรณาการจาก Story Telling ที่ได้ฟังการเล่า  มาเทียบเคียงนำมาใช้ให้เหมาะกับบริบทของเรา
           3. ปฏิบัติการทำแผนการสอน(ไม่ใช่แผนการส่ง) นักเรียนเป็นรายคน(คล้าย IEP) ตามสภาพจริงของครูแต่ละคน  โดยไม่ยึดแบบฟอร์ม  แต่มุ่งนำไปสอนจริง  ที่มีกติกาว่า "เขียนในสิ่งที่ทำ  ทำในสิ่งที่เขียน  และจะปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง"
           4. ลงไปสอนจริง  ผู้บริหารต้องนำนิเทศภายใน ถ้าใช้การนิเทศแบบคลีนิคก็จะดี คือเน้นการสังเกตการสอน แล้วมาวิเคราะห์ปรับปรุงกันเพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่จับผิด  รวมทั้งมีการสนับสนุนส่งเสริม  สร้างขวัญกำลังใจกันด้วยกิจกรรมที่เหมาะสม
           5.ประเมินผลตามสภาพจริงจากมูลค่าเพิ่มที่เกิดกับนักเรียนเป็นรายคน  แล้วบันทึกปัญหา  ข้อเสนอแนะ  และนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง
            โดยผมสัญญาว่าถ้าจะทำตามแนวนี้ ผมจะมีเวทีให้ทดลองใน สพท.นบ.ข.1 และจะเป็นเพื่อนร่วมทางการทดลองให้ด้วย  ดูนิสิต ป.เอก ท่านนี้สนใจมาก
             ใครมีเทคนิค/แนวคิด/แนวทางดีๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ ช่วยเติมแต่งให้หน่อยนะ  เผื่อถ้าทำสำเร็จอาจเป็นแนวทางให้กระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศก็ได้
หมายเลขบันทึก: 65692เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท