กว่าจะเข้าใจ "สุนทรียสนทนา"


ยังจำได้ว่าเมื่อ 2 - 3 ปีก่อน ได้มีโอกาสเข้าร่วม workshop ฝึกปฏิบัติเรื่อง  "สุนทรียสนทนา" กับปรมาจารย์ด้านนี้โดยตรงคือ อาจารย์วิศิษฎ์ วังวิญญู  ครั้งนั้น สคส. ไปกันหลายคน ก็ไม่รู้ว่าคนอื่นมีจุดมุ่งหมายอย่างไร แต่สำหรับตัวเองคิดว่าเป็นเพียงการได้ไปเรียนรู้อีก 1 ทักษะ เท่านั้นเอง

แต่เชื่อไหม ผ่านไป 2 วัน จนกลับมาถึง สคส. ทำงานไปอีก 1 อาทิตย์  AAR เรื่องที่ไปฝึกก็แล้ว ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจหรอกนะว่า "สุนทรียสนทนา" คืออะไรกันแน่  ก็ภาษาอังกฤษใช้ว่า dialogue ที่เด็กภูธรอย่างเราเคยได้ยินในชั่วโมงภาษาอังกฤษเท่านั้นแหละ  แรกเริ่มก็คิดว่าสงสัยไปฝึกการพูด พูดในที่ชุมชน พูดในที่ประชุม ฯลฯ   พอเอาเข้าจริง  ทำไมมานั่งล้อมวง มองหน้าฉัน มองหน้าเธอ กันอยู่อย่างนี้ล่ะ  ใครไม่อยากพูดก็ไม่ต้องพูด เออเอากับเขาสิ แล้วก็ไม่มีคนพูดจริงๆ แหละ เงียบไปทั้งห้อง แทบได้ยินเสียงเข็มตกบนพรม จนช่วงสุดท้ายผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งสะท้อนว่า "ไม่เคยประชุมที่ไหน แล้วจำลายพรมกับโคมไฟได้แม่นยำขนาดนี้  เพราะไม่กล้ามองหน้าคนที่นั่งตรงข้าม จึงได้แต่มองพื้นกับเพดานสลับกันไป"

แม้กระทั่งไปทำ workshop อีกหลายๆ ครั้ง ที่ปากพูดปาวๆ ว่าให้เล่าเรื่องนะ ฟังอย่างลึกซึ้งนะ ใช้สุนทรียสนทนานะ   ก็ยังไม่เข้าใจ ยังคิดว่าเป็นเรื่องการฝึกพูด   ผ่านไปหลาย workshop ประกอบกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับหลายๆ คน ทำให้เริ่มเข้าใจว่า "สุนทรียสนทนา" เป็นการฝึกพูดจริงๆ ด้วยละ แต่พูดกับตัวเองนะ พูดห้ามตัวเองไม่ให้ตัดสินถูก ผิด พูดเตือนตัวเองไม่ให้แสดงอารมณ์ขุ่นมัว 

นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกการฟังด้วย ทนฟังคนอื่นพูดจนจบได้ไหม เชื่อไหมในสิ่งที่เขาพูด ถ้าไม่เชื่อจะซักถามอย่างไรให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

สรุปเองว่า เป็นการฝึก "สติ" นั่นเอง ฝึกให้รู้ตัว อยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้อารมณ์มาเป็นนายเรา รวมทั้งให้เชื่อว่าทุกคนมีเหตุผลที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน

เมื่อคิดย้อนกลับไปวันที่ฝึกปฏิบัติ  สิ่งที่ได้มากที่สุดและซ่อนอยู่อย่างแนบเนียนคือ อาจารย์วิศิษฎ์ ได้ทำ dialogue ให้ดูแล้ว ด้วยการแสดงออกของอาจารย์เอง คืออาจารย์ฟังอย่างตั้งใจ ใครจะพูดอะไร อาจารย์จะมองหน้าเขา ตั้งใจฟัง ไม่โต้แย้ง ไม่ขัดจังหวะ ไม่ตัดสินถูก ผิด   (ตอนนั้นยังคิดว่า อาจารย์ใจเย็นจัง ทนฟังอยู่ได้) โดยไม่ต้องมานั่งบอกว่า มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง 1 2 3  4...    ซึ่งหากคนที่ติดรูปแบบไปร่วม workshop คงหงุดหงิดพอสมควร เพราะ "ไม่เห็นบอกเลยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง" "ไม่เข้าใจเลย แล้วจะไปทำรายงานสรุปได้อย่างไร"  

นี่แหละ "สุนทรียสนทนา" ในความเข้าใจของฉัน

 

อ้อม สคส.

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สุนทรียสนทนา
หมายเลขบันทึก: 75505เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
ขอบคุณค่ะ ที่นำมาถ่ายทอด ทำให้เข้าใจคำว่า "สุนทรียสนทนา" ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
ขอบคุณค่ะ...ตามมาเรียนรู้ด้วยคน...เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจอยู่ค่ะ....
ผมนึกพูดกันเพราะๆด้วยเหตุด้วยผลไม่มุ่งร้ายทั้งกายใจเสียอีกครับ....ไม่นึกว่าจะเป็นการฟังเขาข้างเดียว งงนิดหน่อยครับ แล้วจะสนทนา dialoque กันตรงไหนครับ
  • ขอเรียนรู้ด้วยคน เดี๋ยวจะน้อยหน้าคุณเมตตาเธอ ครับผม

เป็นการพูดกับตัวเองค่ะ พูดกับความคิดตัวเอง ส่วนที่ครูนงให้ความเห็นมาก็ถูกค่ะ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อผ่านขั้นตอนการพูดคุยกับความคิดของตัวเองก่อน แล้วจึงถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดเพราะๆ ไม่มุ่งร้ายใคร แต่มุ่งชื่นชมจากใจ (ย้ำว่าจากใจ ไม่ใช่เพียงเพื่อมารยาท)

ถ้าคิดว่าเราคิดไม่ตรงกับเพื่อนๆ ในวง ก็สามารถแสดงออกได้นะคะ แต่ไม่ใช้การกระทบกระเทียบ ให้ขุ่นข้องหมองใจ เราอาจจะเริ่มด้วยคำว่า "ในความคิดของเรา เราคิดว่า................................  ซึ่งอาจจะผิดก็ได้นะ แล้วเพื่อนๆ ว่าอย่างไร"

 

 

get ขึ้นบ้างแล้วครับ ขอบคุณน้องอ้อมากๆครับ ที่นำมาแลกเปลี่ยน

ตกลงมันสุนทรีย ตรงไหนครับ นั่งเงียบ พูดคุยกับตัวเอง น่าจะเรียกว่านั่งสมาธิมากกว่านะ กำหนดลมหายใจ และเพ่งพินิจพิเคราะห์ถึงตัวเองน่าจะดีกว่าไหมครับ

สรุปแล้วผู้เรียนได้อะไรบ้างหรือเปล่าครับ อยากให้ share มากกว่านี้หน่อย ยังงงอยู่

ร่วมแจมค่ะ  dialogue นั้นนอกจากฝึกพูดแล้วสิ่งสำคัญคือ ฝึกฟัง ฝึกคิด ให้ติดเป็นนิสัย  ...ฝึกบ่อยๆก็จะไม่ต้องทนฟังจริงไหมคะ (ของอย่างนี้ต้องลองปฏิบัติดูเองค่ะ  ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ 555)

 

ประโยชน์ที่จะได้จากสุนทรียสนทนา  คือการฝึกฟังคนอื่นให้ได้ด้วยค่ะ  ฝึกการอยู่ในสังคม การทำงานเป็นทีม  

ซึ่งจะเป็นจริงตามที่คุณพิชชาบอกค่ะ คือ ต้องทดลองปฏิบัติด้วย จึงจะเข้าใจสุนทรียสนทนาได้ลึกซึ้ง

http://gotoknow.org/blog/ariyachon/82826 

                                                                   อ้อม สคส.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท