ชีวิตจริงของอินเทอร์น : สุนทรียสนทนาที่พารากอน


เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๐ ดิฉัน พร้อมด้วย ครูส้ม – วีณา และ ครูแคท –คัทลียา ได้มีโอกาสไปร่วมรับฟังการเสวนาเรื่อง “สุนทรียสนทนา” ที่สถาบันขวัญเมือง จากเชียงราย จัดขึ้นที่โรงเรียนสอนศิลปะสมุดไท ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน นำกระบวนการโดย คุณณัฐฬส วังวิญญู

กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้รู้จักกับหลักคิด และวิธีการเบื้องต้นของการ “สุนทรียสนทนา” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งในการจัดการความรู้ และเป็นไปเพื่อค้นพบการเรียนรู้ในตัวเอง อันเป็นวิธีที่จะทำให้ผู้คนได้ร่วมงาน ร่วมชีวิตกันได้อย่างสร้างสรรค์

คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ไอซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวถึงผลของการนำวิธีสุนทรียสนทนาเข้าไปใช้ในบริษัทว่า

“การได้พูดคุยกันอย่างผ่อนคลาย นำพาไปสู่ความลึกซึ้งของเรื่องราวที่ก่อให้เกิดการสัมผัสกัน การรู้จักกันได้มากกว่าภาพภายนอกที่พบเห็น เกิดการพูดคุยกันอย่างเท่าเทียม ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกได้ว่าเราเชื่อมโยงถึงกันได้

ในการสุนทรียสนทนานั้น ต้องการการรับฟังกันอย่างลึกซึ้ง การเคารพกัน การไม่ตัดสิน และ การพูดออกมา

ลักษณะของการพูดคุยที่มีใครสักคนรู้ดีที่สุด ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อะไรได้มากนัก แต่สิ่งที่เรียกว่าสุนทรียสนทนานั้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในที่ประชุม และก่อการเรียนรู้อย่างก้าวกระโดดได้

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคือการเปลี่ยนแปลงสำนึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย การจะเปลี่ยนแปลงสำนึกได้นั้น เราต้องอยู่ในภาวะหนึ่งที่พร้อมเปิดรับ และเมื่อเป็นเช่นนั้นได้การเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้น

กระบวนการนี้เป็นกระบวนการย้อนกลับมาดูแลตัวเราเอง เพื่อช่วยให้เราดูแลคนอื่นได้ดีขึ้น”

ดร.เอเชีย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า “ การเรียนรู้ปกติมีพลังไม่พอที่จะไปถึงการเปลี่ยนแปลงตัวตน ... สุนทรียสนทนาเป็นการทำงานกับตัวเองเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับที่คานธีพูดเอาไว้ว่า ให้เปลี่ยนโลกด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน”

คุณณัฐฬส วังวิญญู กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า “การฝึกชื่นชมตัวตนของกันและกัน ด้วยวิธีการของสุนทรียสนทนานี้ก็เพื่อให้ทุกคนมีอัตตาที่มีความสุข และเกิดภาวะที่จะกล้ามองเข้าไปในตัวเองว่าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรข้างในเรา”

การเสวนาในครั้งนี้ ช่วยพาให้ดิฉันค้นพบคำอธิบายที่เชื่อมโยงความคิดในเชิงหลักการ เข้ากับสิ่งที่เป็นพฤติกรรมของผู้คนว่า

ความคิด ทฤษฎีต่างๆ เป็นความรู้ที่อยู่ในระดับจิตสำนึกที่อาศัยการคิดเอา ไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้  ต่างจากการเรียนรู้ผ่านผัสสะ ที่เป็นประสบการณ์เชิงประจักษ์ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวตนได้จริง

หมายเลขบันทึก: 75500เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2007 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท