เผชิญความตายอย่างสงบ ตอน 6: การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย


การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

หลวงพี่ไพศาลพูดถึงบทบาทหน้าที่ญาติสนิทมิตรสหายในการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายไว้หลายประการ มีเขียนไว้ตามหนังสือ บทความ ผมขออนุญาต "เล่าแบบสด" ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้พูดคุย ณ สวนสายน้ำ ไว้ตรงนี้นะครับ อาจจะไม่ครบถ้วนเท่าในหนังสือ แต่เป็นอะไรที่ได้แลกเปลี่ยนกัน

บทบาท หน้าที่ หรือ "สิ่งที่พอทำได้"

  1. เป็นเพื่อน ดูแล ด้วยความรักเอาใจใส่ ความเมตตา สัญญาว่าจะอยู่ด้วยจนถึงที่สุด ประเด็นนี้ตรงกับ "คำขอ" ตายดีของส่วนใหญ่ก็คือ มีน้อยมาก (กลุ่มเรารู้สึกจะมีคนเดียว) ที่ขอตายคนเดียว ส่วนใหญ่จะขอตายโดยมีคนรัก คนเข้าใจ หรือครอบครัวแวดล้อม และบางคนถึงขนาดถ้าไม่มีนี่ จะเป็นเรื่องใหญ่ คอขาดบาดตายเลยทีเดียว
    • หลวงพี่ไพศาลบอกว่า ในกรณีของเด็กที่เป็นคนป่วย ยิ่งสำคัญ เพราะปมพรากจาก (separation anxiety) ของเด็กนั้นรุนแรง และ bonding กับสิ่งแวดล้อมของเด็กนั้น แสดงออกมาตามธรรมชาติมนุษย์มากที่สุด นั่นคือโหยหาความอบอุ่นจากมนุษย์อย่างยิ่ง (ยิ่งโตอาจจะยิ่งน้อยลง ผมเคยคิดว่า เอ... เรามีความเป็นมนุษย์อย่างที่ได้ถูกออกแบบมาน้อยลงรึเปล่า?) การช่วยเด็กก็สามารถเริ่มได้จากหาคนมาอยู่กับเขา ดีที่สุดก็คนที่เขารักและไว้วางใจมากที่สุด
    • เวลาที่เรามองเห็นความผูกพันกับมวลมนุษย์ของเด็กแล้ว บางครั้งผมก็รู้สึกอิจฉานะครับ มันช่างบริสุทธิ์ ไม่เสแสร้ง เต็มไปด้วยความไว้วางใจ เด็กจะแปลกใจและผิดหวังจริงๆจังๆเมื่อทราบว่าแม่กำลังจะต้องไปทำงาน ทิ้งเขาไว้กับพี่เลี้ยง เวลาพรากจากก็เสียใจจริงๆ ผิดหวังจริงๆ น่าสนใจว่า "อะไร" ที่ทำให้ความรู้สึก instinct อันบริสุทธิ์ที่สุด อันเป็นรากฐานแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์อันนี้กลับลดน้อยลงไปเมื่อเราโตขึ้นได้
    • แต่เมื่อเด็กมีคนอยู่ด้วย โลกแห่งความปลอดภัยก็ปรากฏขึ้นทันที (ตรงนี้รึเปล่า? เพราะผู้ใหญ่ "ปลอดภัย" จากสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่ความอบอุ่นของมนุษย์ เราจึงได้ทิ้งสัณชาติญาณมนุษย์ไป)
  2. เตือนใจให้รำลึกถึงแต่สิ่งดีงาม สิ่งดีงามที่ว่านี้มีทั้งในตัวและนอกตัว
    • นอกตัว ได้แก่ การนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ศรัทธาของตน ขอให้สิ่งนั้นเป็นที่พึ่ง
    • ในตัว ได้แก่ สิ่งที่เคยได้ทำ ได้ประสบความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ ตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ ความภาคภูมิใจของพ่อ ความภาคภูมิใจของแม่ ของการเป็นลูก ของการเป็นลูกศิษย์ ของการเป็นคนดี ของ ฯลฯ ได้ทั้งสิ้น
    • บางทีคนไข้ต้องการ คนเตือน เพราะว่าขณะที่ร่างกายกำลังเจ็บปวดทุกข์ทรมานนั้น เราจะนึกอะไรไม่ค่อยออก หรือนึกฟุ้งซ่าน นึกโน่น นึกนี่ และอาจจะเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้องใจ ไม่ปล่อยวาง การหวนรำลึกถึงสิ่งดีงามจะลดความกระวนกระวายลงได้ เพียงแต่บางทีถ้ามีคนนำ คนชี้แนะ ให้หันมาทางนี้ก็จะช่วยคนไข้ได้เยอะ
  3. การช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่คาใจ หรือที่เราเรียกว่า unfinished business ต่างๆนั้นเอง สิ่งเหล่านี้ที่จะเป็น "ห่วง" ที่ทำให้เกิดอาการพะว้าพะวง ไม่อาจจะละวางร่างกายที่กำลังสิ้นสุดลงได้ คนเรามีความค้างคาใจได้หลายมิติ หลากหลายไม่อาจจะคาดเดาได้เลย ญาติจะรู้ดีกว่าหมอ เพราะอยู่กับคนไข้มานาน สิ่งคาใจอาจจะเป็นการที่คนไข้ "อยาก" หรือ "ต้องการ" จะจัดการ ได้แก่ การให้อภัยใครสักคน การขออภัยใครสักคน การบอกรักใครสักคน การสั่งเสีย การแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงกับคนที่มีความหมายต่อเรามากที่สุด (ที่อาจจะไม่เคยแสดงมาเลยทั้งชีวิต) การได้พูดสิ่งเล็กๆน้อยๆ หรือแค่ได้เห็น พ่อ แม่ ลูก พี่น้อง ครู อาจารย์ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรมนายเวร ฯลฯ
  4. ปล่อยวางในเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น ได้แก่ปล่อยวางจากกรรม การยึดติด   ได้แก่กระบวนการที่จะเกิด สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
    • แพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาล รวมทั้งญาติพี่น้องมิตรสหาย บางทีแค่สร้าง บรรยากาศ ให้สิ่งต่างๆเหล่านี้ เอื้อำนวยโอกาส สถานการณ์ให้เกิดขึ้น ผู้ป่วยจะเป็นคนเลือกเวลาอันควรเอง ถ้าหากเราจัดบรรยากาศ บริบทต่างๆให้ดี ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นบุญอันประเสริฐอย่างยิ่ง ที่คนเราจะทำให้มนุษย์อีกผู้หนึ่งได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ

 กรณีศึกษา

คนไข้เป็นวัณโรคปอด เชื้อแพร่กระจายทั่วร่าง ไปสะสมที่เยื่อหุ้มหัวใจ จนหัวใจทำงานไม่ไหว วิธีการรักษาต้องผ่าตัดเยื่อหุ้มหัวใจ ปรากฏว่า case นี้เป็น case อนาถา รอคิวผ่าตัด และเหตุการณ์ได้ทำให้ถูกเลือนผ่าตัดหลายครั้ง คนไข้ก็เหนื่อยมากขึ้นๆ จนในที่สุดมีอยู่วันหนึ่งคนไข้ก็บอกหมอว่า "ไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาก" หมอก็รู้สึกผิด จัดหาคิวด่วนให้ แล้วเอาคนไข้ไปผ่าตัด ปรากฏว่ามาทราบทีหลังว่า ที่คนไข้บอกว่า "ไม่ไหวแล้วนั้น" คนไข้หมายความว่าเขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ เขาพร้อมที่จะจากไปให้พ้นทุกข์ทรมานแล้ว

สุดท้ายหลวงพี่ไพศาลทิ้งโจทย์ไว้ว่า

 

ทำอย่างไรให้ ถึงแม้ว่าความเศร้ายังมี แต่ความปลื้มปิติยินดีมีมากกว่า

 

หมายเลขบันทึก: 85335เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2007 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท