R2R from Patho OTOP (1)


หากโครงการพัฒนางานนั้น มีตัวชี้วัดชัดเจน มีการเก็บข้อมูลที่ดี รวมทั้งเป็นโครงการเชิงเปรียบเทียบ จะเรียกว่าเป็นโครงการวิจัยที่ดีเลยทีเดียว

อาจารย์วิจารณ์ได้รับทราบระหว่างการมาร่วมในงานสัมมนาของภาคฯ ว่า บางโครงการพัฒนางานที่เสนอใน Patho Otop เป็นงานที่เข้าข่าย R to R (routine to research) อาจารย์แนะว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาเผยแพร่  พอดีเมื่อเดือนที่แล้ว (วันที่ 17 มกราคม) ภาควิชาจักษุ มอ. จะทำโครงการ R to R  ก็ได้มาเชิญตนเองไปบรรยายในหัวเรื่อง “จะเริ่ม R to R อย่างไรดี”  ก็ได้นำโครงการ 2 โครงการใน Patho Otop ไปเล่าให้เขาฟังให้เป็นตัวอย่างในการทำอย่างไรให้เกิด R to R รวมทั้งได้ให้แนวทางในการประยุกต์บทเรียนของ Patho Otop ในการสร้าง R to R ในทาง clinic จึงถือโอกาสนำเนื้อหาที่พูดในวันนั้น มาถ่ายทอด ณ ที่นี้

การบรรยาย “จะเริ่ม R to R อย่างไรดี”  เมื่อวันที่ 17 ม.ค 2549

ที่จริงตัวเองก็ไม่ได้ทำวิจัยจากงานประจำเท่าไร ซึ่งก็เหมือนอาจารย์แพทย์อีกหลายๆ คน เพราะคิดแยกส่วนจากการทำงาน เรามองโรคเป็นตัวตั้ง แบ่งหัวข้อโรคเป็น etiology, การวินิจฉัย การ investigation พยากรณ์โรค การรักษา การป้องกันโรค วิธีการโดยการไป review literature ว่าเขาทำไปถึงไหนแล้ว หรือเขาทำอะไรกันบ้าง อันนี้เราน่าจะทำนำ บางครั้งก็เอาหัวข้อของเขามาเลย แล้วเราก็ใช้ข้ออ้างว่า เพราะเขาทำที่โน่น คนไม่เหมือนกัน น่าจะหาคำตอบจากตัวอย่างที่เป็นคนไทย อันนี้ ในความเห็นส่วนตัว หลายๆ ครั้งใช่ แต่หลายๆ ครั้งก็ไม่ใช่ แต่เป็นข้ออ้าง เนื่องจากเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรมากกว่า

การบรรยายแบ่งได้เป็น 2 หัวข้อ คือ 1) เล่าว่าที่พยาธิทำอะไร พร้อมตัวอย่าง 2) จะ apply เพื่อให้เกิด R to R ในทาง clinic อย่างไร

ที่พยาธิทำอะไร
ในปีที่ผ่านมา ภาควิชาพยาธิจัดกิจกรรม 2 กิจกรรมคู่ขนานไปด้วยกัน คือ 1. โครงการพัฒนางาน Patho Otop ตรงนี้เน้นระดับปฏิบัติการ พนักงานวิทย์ฯ  นักเทคนิครุ่นน้องๆ  2. จัดอบรมวิจัยให้บุคลากรสาย ข ค เพื่อให้สามารถสร้างงานวิจัยได้ กลุ่มเป้าหมายคือเน้นนักเทคนิคฯ ระดับกลาง เพื่อสร้างผลงานในการขอตำแหน่งชำนาญการ  แต่ปรากฏว่า ผลการดำเนินงานทั้ง 2 กลยุทธ์ ให้ผลใกล้เคียงกันคือเกิด R to R    ตรงการอบรมวิจัยคงไม่แปลก ตรงไปตรงมาว่าเป็นการอบรมให้รู้แนวทางขั้นตอนการทำวิจัย เพื่อให้เกิดงานวิจัย  ซึ่งคำถามวิจัย สังเกตว่าถ้าเป็นผู้ปฏิบัติงานสายอื่น ที่ไม่ใช่สาย ก (อาจารย์)  คำถามวิจัยก็จะมาจากหน้างานเป็นหลักอยู่แล้ว  ส่วนที่การทำโครงการพัฒนางานแล้วก่อให้เกิดเป็นงานวิจัย R to R ตรงนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ จึงอยากเล่าให้ฟังส่วนนี้

ในการทำโครงการ Patho Otop นั้น  ได้ให้แนวทางแก่ผู้ร่วมโครงการในการริเริ่มโครงการพัฒนางานคือ ให้เริ่มต้นจากการ “ทบทวน” โดยสามารถทบทวนที่ 3 จุด คือ
1. ทบทวนและวิเคราะห์กระบวนการปฏิบัติงาน (Input -> process-> output) โดยวิเคราะห์ย้อนศร จากการทบทวนว่า คุณค่าของผลผลิตที่ผู้รับบริการต้องการคืออะไร ? แล้วเราจะออกแบบกระบวนการอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ผู้รับบริการต้องการ? และจะควบคุมปัจจัยนำเข้าอย่างไร เพื่อเพิ่มคุณค่ากระบวนการ
2. ทบทวนข้อร้องเรียน หรือ อุบัติการณ์ (incidence)  ความสำคัญของข้อร้องเรียนเพราะถือเป็นจุดจุดหนึ่ง ที่เป็นผลจากความล้มเหลวของ ระบบ   ซึ่งหากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งไปถึงต้นตอ (root cause analysis) จะนำไปสู่การวางระบบ เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต วิธีการวิเคราะห์หาต้นตอ โดยการตอบคำถามว่า….
         ลักษณะ/รูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร
         ปัจจัยหลัก และ ปัจจัยร่วมที่ส่งผลต่อเหตุการณ์นั้น   มีอะไรบ้าง (What) 
         แต่ละเหตุปัจจัยส่งผลได้อย่างไร (How)
         หาทางออกได้อย่างไรบ้าง 1, 2, …
         พิจารณาทางออกที่ดีที่สุด
3. ทบทวนผลการดำเนินงาน โดยการประเมินตัวชี้วัด เปรียบเทียบกับ…
         เปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
         เปรียบเทียบดูแนวโน้มตามระยะเวลา
         เปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่น 
   แล้วพิจารณาว่าผลการประเมินเป็นอย่างไร:  ดี เหมือนเดิม  แย่ลง ? หากแย่ลง หรือต้องการทำให้ดีขึ้นอีก -> ทบทวนกระบวนการ -> วิเคราะห์หาสาเหตุต้นตอ -> ปรับปรุงงาน -> ประเมินตัวชี้วัด  ก็จะเป็นวงจรพัฒนาที่ไม่รู้จบ

ขั้นตอนการทำโครงการพัฒนางาน Patho Otop เทียบกับขั้นตอนการวิจัย
เมื่อได้ประเด็นปัญหาแล้ว ก็ดำเนินโครงการพัฒนางานตามขั้นตอน  ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับขั้นตอนการวิจัย ก็จะเห็นว่ามีกระบวนการคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะ หากโครงการพัฒนางานนั้น มีตัวชี้วัดชัดเจน มีการเก็บข้อมูลที่ดี รวมทั้งเป็นโครงการเชิงเปรียบเทียบ จะเรียกว่าเป็นโครงการวิจัยที่ดีเลยทีเดียว ผนวกกับที่มาปัญหา (ก็คือโจทย์วิจัย) มาจากการทบทวนงานประจำ โครงการพัฒนางานนั้น ก็จะเป็น  R to R ไปโดยปริยาย ซึ่งลักษณะ 2 ประการนี้ เป็นจุดเน้นสำคัญของโครงการ Patho Otop

ขั้นตอนโครงการพัฒนางาน                            ขั้นตอนวิจัย
โอกาสพัฒนา/ประเด็นปัญหา                          ตั้งคำถามวิจัย
จัดทำแผนงาน/โครงการ                               ทบทวนวรรณกรรม
เป้าหมาย/ตัวชีวัดผลงาน                               วัตถุประสงค์/สมมติฐาน
ดำเนินการ & เก็บข้อมูล                                ดำเนินการ & เก็บข้อมูล
วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน เทียบกับเป้าหมาย     วิเคราะห์ผลการวิจัย เทียบกับสมมติฐาน

ในบันทึกต่อไป จะเป็นตัวอย่างโครงการของหน่วยพันธุศาสตร์ ซึ่งจัดเป็น R to R เรื่องหนึ่งใน Patho Otop

คำสำคัญ (Tags): #พัฒนางาน#วิจัย#r2r
หมายเลขบันทึก: 16023เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2006 21:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยอดเยี่ยมครับ    ผมจะนำไปเล่าต่อ

วิจารณ์ พานิช

ดีจังเลยอย่างน้อยก็มี เว็บ ที่ดีๆๆๆๆๆๆๆๆไว้ให้อ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท