Mobile KM : ครั้งที่ 2/2550 บ้านระวิง เพชรบูรณ์


เนื่องจากก่อนออก Mobile KM คราวนี้ เตรียมตัวน้อยมาก ไม่ได้ติดต่อกับคุณวิภา (ผู้ประสานงานหลักของ Mobile Unit) โดยตรงด้วย เพราะตัวเองแบ่งเวลาไม่ถูกเอง โทษใครไม่ได้เลย ขอเล่าภาพรวม ๆ ดังนี้

วันแรกของการออกหน่วย ผู้นำชุมชน มากันเกือบ 10 โมง ซึ่งกว่าจะสกัดปัญหาชุมชนได้ ก็ใช้เวลาถึง 11.30 น. แล้วพามาชมการแก้ปัญหาของพิจิตร ในเรื่องผักปลอดสารพิษ (ทั้งที่ตามแผนต้องให้ชม “เสียงกู่จากครูใหญ่” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แต่แผ่นต้นฉบับดันเปิดไม่ได้ ทั้งที่ก่อนไปลองแล้วลองอีก และเป็นแผ่นที่ไม่เคยมีปัญหาเลยสักครั้ง จึงต้องเปลี่ยนแผนให้ชมเกษตรพิจิตรแทน) ยังไม่ทันได้สกัดความรู้ต่อ เนื่องจากอาจารย์คณะพยาบาล ให้พักทานข้าวกลางวันก่อน แล้วค่อยมาต่อกันช่วงบ่าย

ซึ่งจาก อ.ยุ้ย และอ.เดือน จากคณะพยาบาล ได้เล่าว่า ปัญหาชุมชนคราวนี้ ฉีกแนวจากทุกครั้งที่ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ แต่เป็นปัญหาสังคม ที่ส่วนมากเด็กหญิงมักเที่ยวเตร่ เกเร และไปหาเด็กชายก่อนวัยอันควร

ช่วงบ่ายทาง Mobile KM Team (อ.สมลักษณ์ ตูน และโอ) ก็เข้าไปที่ อบต. ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านระวิงที่ไปออกหน่วยราว 4 - 5 กิโลเมตร เพื่อไปแนะนำการใช้ GotoKnow สำหรับเป็นช่องทางในการติดต่อและแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน โดยแนะนำให้ 2 ท่านรู้จัก คือผู้ที่ทำเว็บไซค์โรงเรียน และครูสอนคอมพิวเตอร์ ซึ่ง Mobile KM Team ก็สามารถแนะนำได้ตัวต่อตัว

ผู้ที่ทำเว็บไซค์โรงเรียนบ้านระวิงนั้น อ.สมลักษณ์ได้สอน และให้สมัครสมาชิก GotoKnow เลย ส่วนครูสอนคอมพิวเตอร์นั้น ตัวเองได้มีโอกาสแนะนำการใช้ GotoKnow ให้ ซึ่งพอสอบถามแล้ว โอกาสที่ครูจะใช้ Internet นั้น น้อยมาก และคาดว่าโอกาสที่จะใช้ GotoKnow นี้ก็น้อยเช่นกัน จึงแนะนำได้เพียงว่า GotoKnow นี้คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และโรงเรียนสามารถติดต่อกับมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ โดยติดต่อได้ที่ blog ของ อ.วิบูลย์ ซึ่งท่านดูแลด้านนี้โดยตรง โดยแนะนำช่องทางการเข้ามาติดต่อทาง blog

วันที่สองของการออกหน่วยฯ มีโอกาสช่วยคณะพยาบาล ในการเข้ากลุ่มกับเด็กนักเรียน (เด็กนักเรียนประมาณ 35 คนชั้น ป.6 ม.1 - 3 ) มีภาพมาฝากด้านล่าง (คราวนี้เห็น อ.ยุ้ย และ อ.เดือน บอกว่า ทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ได้ผลน้อย ทำกิจกรรมกับเด็ก สนุกและได้ผลมากกว่า) เริ่มแรกทำกิจกรรม หัวเราะ สนุกสนาน ให้เด็กนิยามคำว่า “กิ๊ก แฟน สามี ภรรยา” ซึ่งฟังแล้วอึ้งมากสำหรับการนิยามของเด็กๆ เห็นได้ชัดว่า เด็กๆ (มัธยมต้น) ที่นี่ เห็นเรื่องการมีแฟน เรื่องการมีกิ๊ก เป็นเรื่องธรรมดามาก อันนี้เท่าที่เจอนะคะ (เด็กเข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 35 คน)

อ.ยุ้ย อ.เดือน จึงจัดกิจกรรมที่ออกแนวป้องกัน มากกว่าแนวห้ามปราม ตอนแรกให้เด็กๆ พูดเรื่อง กิ๊ก เรื่องแฟน จนขำกันพอสมควรแล้ว ก่อนพักกลางวัน ให้เด็กชม VCD เรื่อง “ยอดหญิงนักพัฒนา” เป็นเรื่องราวของแม่ที่ทำเพื่อลูก ต่อด้วยให้ฟังเพลง “แม่” ของพี่เสก โลโซ ทำเอาเด็กหลายคนน้ำตาไหลทีเดียว

ช่วงบ่ายมาต่อด้วยความมุ่งหวังของเด็กๆ ที่อยากทำในอนาคต สอนให้เด็กนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ จากนั้นสอนการใช้ถุงยางอนามัย ภัยจากการสำส่อนทางเพศ ภัยโรคเอดส์ และปิดท้ายด้วยการล้อมวงร้องเพลง “ดอกไม้เพื่อมวลชน”

 
ภาพกิจกรรม

บทเรียนที่จะฝากสำหรับ Mobile KM ครั้งต่อไป คือ

1. อยากให้ Mobile KM Team ออกไปสำรวจพื้นที่กันเองด้วย เพื่อ
            1.1 สอบถามความต้องการของผู้ที่จะเข้าร่วม Mobile KM ให้แน่ชัด 
            1.2 ควรบอกจุดประสงค์ที่จะออก Mobile KM ให้แน่ชัดด้วย

 

2. วางแผนกับคณะพยาบาลให้ดี แบ่งเวลาและกำหนดการให้ชัดเจน

 

3. ข้อนี้สำหรับตัวเองค่ะ คือ VCD ที่ต้องการเปิดให้ชม ให้นำ File ลงเครื่องคอมพิวเตอร์ไปเลย นำเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ จอภาพ และเครื่องขยายเสียงไปเองทุกครั้ง จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพได้ดีกว่า (เป็นการไม่รบกวนเจ้าของพื้นที่ ที่ต้องเตรียม TV และเครื่องเล่น VCD ไว้ให้ด้วย)

 

4. กำหนดการแนะนำการใช้ GotoKnow ว่าจะแนะนำให้ใครบ้าง กำหนดในตอนไปสำรวจพื้นที่ก่อนเลย เพื่อจะได้ไม่สะดุด และได้ผลมากขึ้นเวลาออกพื้นที่จริง

 

ตอบโจทย์ครั้งนี้ จาก KPI ที่ อ.วิบูลย์ตั้งไว้ (บทเรียน Mobile KM จากครั้งที่ 1/2550 สู่ครั้งที่ 2/2550)

เป้าหมายที่สำคัญของ Mobile KM ในแต่ละครั้ง (KPI) คือ


         1. ผู้นำชุมชนได้แรงบันดาลใจจาก “เสียงกู่จากครูใหญ่” ได้ KM concept จากกรณี KM ที่พิจิตร ที่ รพ. บ้านตาก และที่ รร. ชาวนา (อย่างน้อย 5 คน)

         อันนี้ไม่ได้ต่อยอดอีกครั้งหลังจากที่ผู้นำชุมชนมาดู VCD ของเกษตรพิจิตรเลยไม่ทราบผลค่ะ

         2. IT man ของชุมชนสามารถเป็นสมาชิกของ Gotoknow และสามารถติดต่อ ลปรร. กับ มน. และชาว Gotoknow ทั้งมวลได้ (อย่างน้อย 2 คน จาก อบต. 1 คน จากโรงเรียน 1 คน)

         จากโรงเรียนบ้านระวิง ผู้ที่ดูแลเว็บไซค์โรงเรียน น่าจะสามารถใช้งานได้ 1 คน

         3. ชาว มน. ที่ร่วม Mobile unit จะคุ้นเคยกับ KM concept มากขึ้นและสมัครเป็นสมาชิก Gotoknow มากขึ้น และนำความรู้ความเข้าใจกลับไปประยุกต์ใช้ที่คณะตนเอง (อย่างน้อย 5 คน)

         ข้อนี้น่าจะเห็นผลได้บ้าง จากการสังเกต ท่านอ. ภูคา (อ.ประสุข จากคณะวิทยาศาสตร์) พูดเรื่อง blog ในวงอาหารเย็น ทำให้อ.จากคณะเภสัชศาสตร์สนใจเรื่อง blog บ้าง

         4. NUKM Team (นำโดย QAU) เข้มแข็งขึ้น (อย่างน้อย 1 คน)

         ข้อนี้ขอใช้เวลาอีกสักระยะค่อยตอบดีกว่า


         ขอบคุณค่ะ
         รัตน์ทวี อ่อนดีกุล

หมายเลขบันทึก: 80728เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาอ่าน
  • เป็นกิจกรรมที่ดีมากครับ
  • ถ้าทุกๆมหาวิทยาลัยจัดแบบนี้จะเป็นประโยชน์มากครับผม
  • แวะมาเยี่ยมเยียนครับ
  • เขียนเรื่อง Mobile ไม่ค่อยมีใครเข้ามาให้ข้อคิดเห็นนอกจากพวกเดียวกันเอง
  • คราวนี้ อ.ขจิต แวะมาเยี่ยมอีกแล้ว
  • ส่วนของ Mobile-Km นี้ต้องอาศัยคนที่เข้าใจมาทำครับ...
  • เพราะต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
  • แต่การเตรียมความพร้อมนับว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อย..เท่ากันทำสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่งครับ

สวัสดีค่ะ คุณรัตน์ทวี ....RO...

           กว่าจะตัดสินใจเขียนข้อความนี้ก็ชั่งใจอยู่นานมาก....ตั้งแต่ อ.Beeman และคณะ สอนการเขียน blog ให้ ก็เข้าอ่าน blog  ต่างๆ ซึ่งให้ความรู้และแนวคิดมากมายแต่คงเป็นเพราะขาดความมั่นใจในการเขียนข้อความจึงไม่ได้เขียนต่อเนื่อง  แต่ก็ได้อ่านการทำงานของคุณ RO.. แล้ว รู้สึกประทับใจในความขยันและตั้งใจทำงาน  ขอให้กำลังใจนะค่ะ...

           ขอบคุณทีมงาน  Mobile  KM ครั้งที่ 2/2550  ที่ โรงเรียนบ้านระวิง อีกครั้ง ค่ะ

     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท