การเรียนรู้อิงถิ่นฐาน : ๕. รวมการบรรยายเสริมความรู้และให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาเครือข่าย


 

การอบรมเชิงปฏิบัติการสองวัน ได้มีการอภิปราย บรรยาย เสริมความรู้ เพื่อให้เกิดแนวคิดสามารถนำเอาทรัพยากรความรู้ ตลอดจนสื่อและทรัพยากรทางวิชาการต่างๆที่เครือข่ายของลูกหลานคนหนองบัว ตลอดจนเครือข่ายการเรียนรู้จากหลายแห่งทั่วประเทศ ได้ช่วยกันสร้างไว้ ทั้งในเวทีคนหนองบัวและแหล่งอื่นๆ มาขยายผล เสริมกำลังครูกับเครือข่ายโรงเรียน ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาแหล่งประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ทางสังคมในมิติใหม่ๆและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่เด็กและชุมชน ขณะเดียวกัน ก็ได้ลงมือทดลองฝึกปฏิบัติและบูรณาการการจัดการความรู้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อที่จะได้สามารถพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนในนครสวรรค์ พัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ให้บรรลุจุดหมายดังที่พึงประสงค์ต่างๆต่อไป ผมได้สรุปทั้งหมดมาไว้ในบันทึกนี้

อธิบายภาพบน : การเรียนรู้อิงถิ่นฐานกับการสร้างภูมิปัญญาเกี่ยวกับตนเองของพลเมือง เป็นช่องทางหนึ่งของการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับระบบและความเป็นส่วนรวมที่ใหญ่กว่าตนเองของปัจเจก ซึ่งเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างหลากหลายได้พอสังเขป คือ

  • วัฒนธรรมอำนาจแบบแข็ง : เกิดการเชื่อมโยงเนื่องจากระบบและโครงสร้างกำหนดให้เป็น เช่น เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นนายธนาคาร และมีหน้าที่จำเพาะอย่างต่อความเป็นส่วนรวม เพราะโครงสร้างและระบบสังคมกำหนดบทบาทหน้าที่ให้เป็น ซึ่งก็จะทำให้สังคมมีกำลังขับเคลื่อนตนเองไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อีกทั้งสังคมก็มักรับรู้สภาวการณ์โดยทั่วไปกันได้เป็นอย่างดีว่า หลายอย่างที่ไม่มีคนสั่ง ไม่ใช่งานที่ได้เงินเดือน ทำแล้วไม้ได้เงิน ตำแหน่ง หรือไม่ได้งานของตนเอง ผู้คนก็อาจจะไม่สนใจส่วนรวมและเรื่องราวของคนอื่น ดังนั้น สุขภาวะของสังคมจึงต้องสามารถเกิดจากเติมเต็มช่องว่างนี้ด้วยวิธีอื่นอีก 
  • วัฒนธรรมอำนาจแบบอ่อน : เกิดการเชื่อมโยงและจัดบทบาทความสัมพันธ์ด้วยความรู้และเหตุผล เช่น ได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ว่าในอำเภอหนองบัวมีเด็กๆยากจนและขาดโอกาสในการศึกษา รวมทั่้งขาดโอกาสในการพัฒนาสุขภาพเพื่อการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ทำให้เห็นภาพความทุกข์ร้อนของสังคมและเกิดความรู้สึกเป็นผู้ร่วมทุกข์ ร่วมชะตากรรม ทำให้สังคมมีพลังในการร่วมกันแก้ปัญหา ร่วมทุกข์กัน ซึ่งก็จะได้อีกส่วนหนึ่ง
  • วัฒนธรรมจิตใจ : เกิดจากความสำนึกและจิตใจผูกพัน การเรียนรู้ชุมชน เรียนรู้อิงถิ่นฐาน เป็นการเรียนรู้ความเป็นตัวของตัวเอง พัฒนาการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกภายนอกออกมาจากโลกด้านในของตนเอง ทำให้ปัจเจกและชุมชนสามารถพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง จัดความสัมพันธ์กับสังคมและความเป็นส่าวนรวมออกมาจากความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีรากเหง้า มีความภาคภูมิใจ มีวัฒนธรรมการพัฒนาทางจิตใจและใช้ใจเป็นตัวนำ 

การจัดความสัมพันธ์ในประการหลังสุดนี้ นับว่าเป็นการพัฒนาการเรียนรู้และส่งเสริมวัฒนธรรมจิตใจ เพื่อให้ปัจเจกและชุมชนเกิดการพัฒนาความสำนึกรู้เกี่ยวกับความเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งสามารถจัดความความสัมพันธ์และสร้างปฏิสัมพันธ์กับระบบต่างๆของสังคมที่งอกงามออกมาจากวัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นการริเริ่มและนำการปฏิบัติตนเองด้วยคุณภาพด้านในของจิตใจ เป็นพื้นฐานของการเกิดวัฒนธรรมการอาสาสมัครและอื่นๆที่สะท้อนออกมาจากใจ ให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางจิตใจและการมีความหมายต่อมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมไทยและสังคมโลกในอนาคต และเป็นบทบาทอันสำคัญของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า 'เป็นการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ที่จะทำให้ผู้คนกลับบ้านถูก'

อธิบายภาพบน : วิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน และแนวคิดเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ต้องมีความเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วน ต้องมุ่งทำให้เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีชีวิต มีผู้คน และมีความเป็นชุมชนผสมผสานอยู่ด้วย เช่น การเรียนรู้กระยาสารท หากแยกส่วนศึกษาเรียนรู้สูตรและวิธีทำกระยาสารทที่อร่อย เพียงในฐานะกระยาสารทเป็นขนมหวานชนิดหนึ่งเท่านั้น ก็จะไม่มีมิติชีวิต ไม่มีผู้คน และไม่มีมิติสังคม ศิลปวัฒนธรรม ธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการจัดระบบการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่อยู่ในนั้น ซึ่งสูตรการทำกระยาสารทที่อร่อยแบบสำเร็จรูปนั้นจะสามารถผลิตแบบอุตสาหกรรมและซื้อหาจากที่ใดในโลกก็ได้

แต่หากศึกษาเรียนรู้กระยาสารทในฐานะกระบวนการทำอาหารเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาในสารทเดือน ๑๐ ก็จะพบว่า การเกิดกระยาสารทเป็นการหิ้วสิ่งของมารวมกันของชาวบ้าน และการจะได้ใช้น้ำตาลปีบ หรือน้ำตาลอ้อย แบะแซ ซึ่งจะส่งผลให้ได้กระยาสารทที่เหนียว นุ่ม หวานมัน หรือกลายเป็นร่วนซุย ไม่ถึงน้ำตาล แบะแซ และกะทิ ตลอดจนการที่จะมีกล้วยไข่และมะพร้าวมาถวายพระพร้อมกับกระยาสารทด้วยหรือไม่นั้น จะไม่มีสูตรตายตัว แต่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปโดยขึ้นอยู่กับผลผลิตของชาวบ้านในแต่ละปี การทำกระยาสารทแบบพื้นบ้านจึงมีชีวิตที่อิงอยู่กับถิ่นฐาน เป็นสิ่งบันทึกความเป็นชุมชน และบ่งชี้สารทุกข์สุกดิบของชุมชนในแต่ละปีไปด้วย

หากมีความเข้าใจระบบความเชื่อมโยงกันของชีวิตและสิ่งแวดล้อมในลักษณะอย่างนี้แล้ว เมื่อเห็นลักษณะกระยาสารทและสิ่งของทำบุญในโอกาสต่างๆของชาวบ้าน ก็จะสามารถอ่านความเป็นชีวิตจิตใจของชุมชนให้เห็นกำลังศรัทธา เห็นความรักความสามัคคีกันของชุมชน เห็นความหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์และความอยู่ดีมีสุขของชาวบ้าน สามารถโน้มนำกำลังศรัทธา ให้ชาวบ้านได้ผ่อนพักใจ เจริญสติ และได้เสริมสร้างกำลังใจ เพื่อกลับออกไปขับเคลื่อนวงจรชีวิตชุมชน ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับเหตุปัจจัยต่างๆ ด้วยความตระหนักรู้และมีความร่วมทุกข์สุขกันไปอย่างพอเพียง มีความเป็นพลวัตรไปกับสภาวการณ์ต่างๆอยู่เสมอๆ

เช่นเดียวกันกับการศึกษาเรียนรู้และอนุรักษ์วัตถุ ตลอดจนสิ่งอื่นๆทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การศึกษาศิลปวัฒนธรรมด้านขนม อาหาร เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์และงานช่างฝีมือของชุมชน ตลอดจนศาสนสถาน แหล่งศิลปกรรมและโบราณคดี เหล่านี้ ก็ต้องไม่แยกส่วนออกจากระบบวิธีคิดและความเป็นชีวิตของชุมชน ต้องไม่เพียงมุ่งรู้แต่สูตรและวิธีปรุงขนม อาหาร และผ้า แต่ไม่เห็นชีวิตชุมชนและระบบสังคม ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อเกิดขนม อาหาร เสื้อผ้า ตลอดจนสถานที่และวัตถุทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการแยกส่วนอนุรักษ์เพียงสถานที่และสิ่งของ แต่กลับมักจะกีดกันผู้คนและชุมชนออกไป รวมทั้งจะก่อให้เกิดสังคมที่มุ่งความเป็นวัตถุนิยมจนเสียความสมดุล ไม่ส่งเสริมวิถีชุมชนที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้บูรณาการอยู่ในวิถีชีวิต

อธิบายภาพบน : การอบรมได้เชิญอาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ มาบรรยายแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินโครงการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยโครงการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้โรงเรียนหนองไผ่ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเป็นโรงเรียนดีประจำตำบลและเป็นเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ของสถานศึกษาและชุมชนต่างๆทั้งในระดับเขตและระดับประเทศ การเรียนรู้วิถีเศรษฐกิจและสังคมแบบพอเพียง เป็นการพัฒนาชีวิตและวิถีทำมาหากินเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงในระดับวัฒนธรรมที่มีโรงเรียนเป็นฐาน

แต่โครงการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หากเพียงแต่ทำตามๆกันไปอย่างขาดแนวคิดและขาดความเข้าใจเหตุผลเบื้องหลัง ก็จะได้แต่เพียงรูปแบบที่เหมือนกันไปหมด ทั้งอาจจะไม่มีความสมเหตุสมผลตามความสนใจและขาดความยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขแวดล้อมของท้องถิ่น ดังนั้น ต้องหาวิธีคิดและเรียนรู้ให้เห็นแง่มุมที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนและถิ่นฐานของตน จึงจะสามารถนำเอามาขับเคลื่อนการเรียนรู้อิงถิ่นฐานอย่างบูรณาการได้อย่างเหมาะสม

จากบทเรียนและวิธีคิดของความริเริ่มโครงการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียน ของโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ก็จะเห็นได้ว่า ความสะท้อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกมิตินั้น จัดว่าเป็นระบบความคิด ระบบความเชื่อ การพัฒนารากฐานชีวิตและวัฒนธรรมจิตใจ ซึ่งเชื่อมโยงได้กับการสร้างพื้นฐานของการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐานแบบไม่แยกส่วน ซึ่งรวมทั้งแง่มุมอื่นๆด้วย  ดังนี้เป็นต้น

ดังนั้น หากได้วิเคราะห์และทำงานเชิงความคิดพอสมควรแล้ว การทำงานในเชิงนโยบายที่สำคัญๆซึ่งเหมือนกับว่าจะเป็นคนละด้านและเป็นของคนละหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปครูและการเรียนการสอน การปฏิรูปสังคมและจิตสำนึกพลเมือง การสร้างสุขภาวะชุมชน การพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน เหล่านี้ แท้จริงแล้วก็จะสามารถดำเนินการให้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนและส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี ดังตัวอย่างที่ได้เรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงเข้าหากันในเครือข่ายของโรงเรียนในหนองบัวและนครสวรรค์ครั้งนี้

อธิบายภาพบน : นอกจากโรงเรียนและประสบการณ์ของโรงเรียนหนองไผ่แล้ว ก็ได้อาราธนาพระคุณเจ้าที่ได้ให้ความเมตตาเดินทางมาร่วมเป็นวิทยากรให้กับชาวหนองบัวในเวทีนี้ด้วย คือ ท่านพระอาจารย์มหาแล อาสโย จากวัดศรีโสภณ และพระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมบรรยายพิเศษแบ่งปันประสบการณ์หลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรมจิตใจ พระคุณเจ้าทั้งสองรูปเป็นพระนักพัฒนาที่ตื่นตัวต่อเรื่องราวของชุมชนอยู่เสมอ มีประสบการณ์ทั่วประเทศ สามารถเติมเต็มบทเรียนของโรงเรียนหนองไผ่ซึ่งดำเนินโครงการโดยมีโรงเรียนเป็นฐาน โดยได้นำเอาบทเรียนอีกมิติหนึ่งที่มีชุมชนนอกโรงเรียนเป็นฐาน มาถ่ายทอดให้เห็นถึงการทำงานที่กลมกลืนอยู่ในชุมชนและบูรณาการอยู่กับระบบความเชื่อความศรัทธาในวิถีชีวิตชาวบ้าน 

อธิบายภาพบน : หลังเสร็จสิ้นในวันแรก เครือข่ายครูผู้เข้าอบรมได้รับมอบหมายให้กลับไปหาข้อมูลสำหรับฝึกเขียนความรู้ บันทึก และเปิดบันทึกของตนเองเพื่อเป็นเครือข่ายชุมชนเรียนรู้ออนไลน์ตามที่ต้องการ โดยให้เลือกตามความสนใจ ๑ อย่างพอให้ได้ประสบการณ์ตรง และบางส่วน ในโรงเรียนที่มาด้วยกันหลายคน จะเปิดโอกาสให้ได้ฝึกนั่งสนทนากับคนเก่าแก่ของหนองบัวเพื่อเก็บข้อมูลและนำมาเขียนถ่ายทอด ซึ่งเรียกว่าวิธีเขียนเรื่องราวและประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (Oral History) คุณครูและเครือข่ายโรงเรียนให้ความสนใจและลงมือฝึกปฏิบัติกันอย่างได้ผล

อธิบายภาพบน : หลังเสร็จสิ้นการอบรมในวันที่สอง ได้สรุปผลการอบรมและได้ความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยทุกโรงเรียนและทุกคนสามารถเขียนบันทึก เก็บรวบรวมข้อมูลจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และส่วนใหญ่สามารถเปิดบันทึกออนไลน์หรือขอบันทึกในบล๊อกของวิทยากรทุกคนได้ทั้งหมด

ผมได้สรุปและให้ข้อเสนอแนะ พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพื่อการเชื่อมโยงการทำงานเชิงเครือข่ายในจังหวัดนครสวรรค์ที่จะสามารถบูรณาการไปกับบทบาทของศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้อิงถิ่นฐานได้เป็นอย่างดีหลายเครือข่าย รวมทั้งให้มุ่งบูรณาการยุทธศาสตร์การทำงานเพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาทางเลือก และการศึกษาตลอดชีวิตไปด้วยอยู่เสมอ เช่น การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การรักในการเรียนรู้ การศึกษาค้นคว้า ความรู้และความฉลาดเกี่ยวกับสื่อ ความฉลาดในการเข้าถึงและใช้เทคโนโลยี การมีวัฒนธรรมในการเรียนรู้จากผู้คน การสร้างและบันทึกความรู้ ซึ่งจะสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต

ในแต่ละปี เครือข่ายควรมุ่งไปนำเสนอและเผยแพร่แก่สาธารณะร่วมกันในงานเทศกาลประจำปี งานเจ้าพ่อเจ้าแม่และหลวงปู่ฤาษีนารายณ์ของหนองบัว ในเดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งจะทำให้สังคมท้องถิ่นเพิ่มพูนความมีกำลังในการฟื้นฟูชีวิตและจิตวิญญาณของตนเอง ทำให้สามารถริเริ่มและทำสิ่งต่างๆด้วยกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีอย่างเป็นทวีคูณทั้งต่อเครือข่ายโรงเรียนและเป็นปัจจัยหนุนเสริมการก่อเกิดสุขภาวะชุมชนที่พอเพียงแก่ถิ่นฐานตนเอง ได้มากยิ่งๆขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกัน ก็ขอเสนอแนะให้เครือข่ายมุ่งทำงานเชิงความคิดและเป็นหน่วยทางปัญญาของสังคม โดยนอกจากมุ่งปฏิบัติแล้วก็ควรพัฒนาเป็นเครือข่ายวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการรวมตัวกันและสร้างความเป็นเครือข่ายการทำงานด้วยกันด้วยวัฒนธรรมทางความรู้ เผชิญปัญหาด้วยวิถีการใช้สติปัญญาที่อิงอยู่กับทุนเดิมของสังคม เชื่อมโยงกันไปจากทุนเดิมที่มีอยู่ในชุมชนนครสวรรค์และมุ่งสู่เป้าหมายเพื่อสุขภาวะชุมชน สุขภาวะพอเพียง และสังคมที่พึงประสงค์ ด้วยการทำและเรียนรู้ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสมตลอดเวลา

  การบูรณาการในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน   

ในการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและมุ่งเคลื่อนไหวกระบวนการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐานนั้น โดยวิธีคิดแล้วจะมุ่งเน้นความเป็นองค์รวม ไม่แยกส่วนวัตถุกับจิตใจ ไม่แยกจุดหมายของมนุษย์ออกจากความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ไม่แยกความรู้ออกจากความเป็นจริงของสังคม ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความบูรณาการในการใช้สรรพวิทยาการ และการครอบคลุมสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอ ไม่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตกและทำมากแต่ไม่ครบถ้วนเลยนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วก็ก่อให้เกิดความสูญเสียอีกด้วย เช่น ติดเครื่องรถ เหยียบคันเร่ง แต่ไม่เข้าเกียร์ หรือทำในจังหวะที่ไม่สัมพันธ์กัน ต่อให้เราเหยียบคันเร่งต่อเนื่องจนน้ำมันหมดถังรถก็วิ่งไม่ได้ เพราะทำเหตุปัจจัยที่จำเป็นต้องทำไม่ครบหรือไม่บูรณาการ

ดังนั้น ในแง่มุมนี้ กระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ จึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการมุ่งเป้าหมายเชิงพื้นที่ และเมื่อดำเนินการเพียงส่วนที่เป็นการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นนั้น ก็เป็นระบบย่อยที่อยู่ในบทบาทของโรงเรียนและเป็นหลักสูตรอย่างหนึ่งเพื่อเติมเต็มช่องว่างจากหลักสูตรส่วนกลางนั่นเอง การพิจารณาในลักษณะนี้จะทำให้เราสามารถเห็นขอบเขตจำเพาะ และสามารถขยายการดำเนินงานให้เชื่อมโยงออกไปสู่การเรียนรู้ท้องถิ่นในความหมายที่กว้างต่อไปได้อีกตามกำลังความพร้อม 

อย่างไรก็ตาม ในการบูรณาการของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ที่เป็นหลักสูตรของเครือข่ายโรงเรียนและสถานศึกษานั้น การเป็นแกนนำโดยกลุ่มสาระทางการเรียนรู้สังคมศึกษาและขับเคลื่อนผ่านศูนย์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน จำเพาะข้อมูล องค์ความรู้ เรื่องราวท้องถิ่น ตลอดจนรูปวาดและสื่อต่างๆที่มีในเวทีคนหนองบัวนั้น ก็สามารถเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอย่างบูรณาการได้เป็นอย่างดีในทุกวิชา ซึ่งในเวทีอบรมครั้งนี้ ก็มีคุณครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รวมทั้งคุณครูที่ดูแลห้องคอมพิวเตอร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและเทคโนโลยี ก็ได้มาพูดคุยหารือและนำเสนอแนวความสนใจให้เห็นด้วยว่าทางโรงเรียนหนองบัวจะดำเนินการ เช่น การฝึกทักษะ IT เพื่อพัฒนาการศึกษาเรียนรู้และทักษะชีวิต ก็จะเชื่อมโยงกิจกรรมการฝึกประสบการณ์เข้ากับการใช้อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ศึกษาค้นคว้าเพื่อเรียนรู้ท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ได้ทักษะเทคโนโลยีและการเรียนรู้อิงถิ่นฐานไปด้วยกัน 

กลุ่มภาษาต่างประเทศก็มีแนวคิดที่จะแปลบทเรียนและทำสื่อจากองค์ความรู้ท้องถิ่นไปสู่ภาษาจีน ญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ เพื่อให้เด็กได้เรียนภาษาต่างประเทศกับสาระสังคมศึกษา สิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาอิงถิ่นฐาน และเรื่องราวต่างๆของท้องถิ่น

กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ก็สามารถพัฒนากิจกรรมและสาระการเรียนรู้ที่ผสมผสานไปกับการเรียนรู้สถานการณ์ กิจกรรม และการดำเนินชีวิตของท้องถิ่น สามารถพัฒนาสถานการณ์เพื่อพัฒนาการคิดและวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์จากวิถีชีวิตและเรื่องราวที่มีอยู่จริงในชีวิตประจำวันของชุมชน เหล่านี้เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ เห็นได้อย่างชัดเจนได้พอสมควรว่า จะช่วยเสริมกำลังคุณครูและเครือข่ายโรงเรียนให้สามารถพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี IT คณิตศาสตร์ รวมทั้งวิชาอื่นๆ ที่เป็นเรื่องราวของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนสามารถบรรลุจุดหมายของการดำเนินการหลักสูตรท้องถิ่น พัฒนาการเรียนการสอน ให้เด็กๆและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการเรียนรู้แบบอิงถิ่นฐานพร้อมกับสามารถใช้ประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิตประจำวันและสิ่งรอบตัวเพื่อทำความเข้าใจและต่อยอดความรู้กับสิ่งที่เรียนรู้ได้เป็นอย่างดี

 

ถ่ายภาพร่วมกันเอาไว้รำลึกถึงกลุ่มผู้บุกเบิกการเวิร์คช็อปนี้ในหนองบัวและนครสวรรค์ : ๔ ท่านที่นั่งกับพื้นด้านหน้าเป็นคณะทำงานจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาของโรงเรียนหนองบัวซึ่งเป็นเจ้าภาพหลังของโครงการนี้ แถวนั่งเรียงลำดับจากริมซ้ายสุดคือ อาจารย์พนม จันทร์ดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ อำเภอหนองบัว ทีมวิทยากร คุณกานต์ จันทวงษ์ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์วินัย ทองแย้ม ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว พระอธิการโชคชัย เจ้าอาวาสวัดพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พระมหาแล อาสโย(ขำสุข) วัดศรีโสภณ จังหวัดพิษณุโลก ทีมวิทยากร อาจารย์สมัคร รอดเขียน หัวหน้าหมวดสังคมศึกษา โรงเรียนหนองบัว ผู้ดำเนินโครงการนี้ อาจารย์สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนหนองบัว ผู้เป็นกำลังสำคัญในการประสานงานรวบรวมสื่อและชุดนิทรรศการเพื่อจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นของโรงเรียนหนองบัว อาจารย์ภูมิภัทร ลอยเจริญ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนหนองบัว อีกสองท่าน คุณครูสุภาพสตรีมาจากโรงเรียนตากฟ้า และคุณครูสุภาพบุรุษที่สวมเสื้อสีม่วงอ่อนมาจากโรงเรียนไพศาลี คือ คุณครูสุชาติ นุ่มมาก ในเช้าวันที่สองท่านหิ้วขนมโปงมาฝากผมด้วย ซึ่งทำให้ผมเพิ่งได้เคยกินขนมโปงเป็นครั้งแรกในชีวิต สมัยเด็กๆเมื่อเรียนอยู่หนองบัวนั้น โอกาสที่จะมีสตางค์ซื้อขนมหวานกินเองนั้นน้อยมาก

การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเหมือนกับว่ากลุ่มผู้เข้าอบรมด้วยกันและคณะผู้จัดทั้งหมดเป็นเพื่อนๆและพี่ๆน้องๆ ซึ่งให้บรรยากาศการทำงานแบบคนกันเองแบบค่อยทำค่อยปรึกษาหารือกันได้เป็นอย่างดีมาก ท่านผู้อำนวยการและทีมผู้บริหารก็ให้ความกันเอง เอาใจใส่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกทางด้านต่างๆให้ตลอดเวลา ทำให้เกิดบรรยากาศการช่วยกันคนละไม้ละมือเหมือนทุกอย่างเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ช่วยกันทำได้อย่างง่ายๆไปหมด จึงเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ได้ทั้งมิติวิชาการและได้สัมผัสกับสังคมการทำงานที่มีความร่วมแรงร่วมใจกันอย่างดียิ่ง.

หมายเลขบันทึก: 451693เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2011 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • มาด้วยความระลึกถึงนะคะ...
  • ท่านอาจารย์คงสบายดี...
  • บันทึกแต่ละบันทึกท่านบรรจงแต่งแต้มงดงามเสมอ พร้อมมอบคุณค่าสู่ผองชน

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
เพิ่งฟื้นไข้ครับ ทรุดไปหลายวันเลย แต่พอหายแล้วก็รู้สึกสดๆดีครับ
ขอบพระคุณมากเลยครับ ตอนนี้แถวต่างจังหวัดคงจะฝนตกและดูเขียวร่มรื่นทั่วไปหมด
ตอนกลับบ้านที่นครสวรรค์ ก็เห็นต้นไม้เขียว มีชีวิตชีวาดีมากเลยครับ

กราบสวัสดีค่ะอาจารย์.. หายจากไม่สบายแล้วนะคะเพราะว่าเห็นบันทึกที่เต็มไปด้วยสาระน่ารู้ น่าติดตามอ่าน ด้วยความสนใจในการนำเสนอค่ะ วันนี้ฝนตกทั้งวันเลยค่ะ อากาศ เย็นและน้ำเจิ่งขังตามถนนค่ะ ..ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน

ขอบพระคุณครับคุณครู Rinda ครับ หายเกือบเต็มร้อยแล้วครับ หากไม่ต้องคุยกับใครก็นั่งทำงานได้ครับ เพราะคงต้องจามและน้ำหูน้ำตาไหลใส่กันจนไม่เป็นอันรู้เรื่องแน่เลย

อันที่จริงบันทึกนี้ สรุปรวบที่บันทึกที่ ๕ ก็ด้วยผมจำต้องรวบรัดบันทึกรวมทั้งหมดไว้ในบันทึกเดียวกันนี้เสียเลย เพราะนั่งทำงานไม่ได้น่ะครับ แต่เดิมนั้น แต่ละรูปจะเขียน วางแผนว่าจะแยกอธิบายให้เครือข่ายคุณครูและเครือข่ายโรงเรียนรูปละ ๑ บันทึก ซึ่งจะได้ ๑๓ ตอน ตอนละสั้นๆ อ่านง่ายดี อยากอำนวยความสะดวกให้คุณครูได้นำไปใช้เองได้โดยไม่ยากนัก แถวหนองบัวและหลายแห่งในนครสวรรค์บ้านผมนั้น หลายโรงเรียนยังไม่มีคอมพิวเตอร์ให้คุณครูได้ใช้น่ะครับ

แต่ดูอาการแล้วคงจะทรุดหลายวันและพอหายก็คงต้องปั่นงานอื่นต่ออีก ครั้งจะย้อนกลับมาเขียนก็ไม่ได้ความสด เลยก็รวบและสรุปเป็นบันทึกเดียวเสียเลย เกรงว่าจะยาวและแน่นไปหน่อยเหมือนกันครับ กะว่าหากมีโอกาสจึงจะกลับมาแบ่งให้อีกทีหนึ่ง แต่คุณครู Rinda สะท้อนให้ก็เหมือนมีบรรณาธิการช่วยดูให้แล้ว เลยก็คิดว่าพอจะใช้เป็นแหล่งให้เครือข่ายผู้เข้าร่วมอบรมพอได้ใช้ทบทวนความจำและใช้เป็นสื่อขยายผลการทำงานของตนเองต่อไปได้บ้างแล้วนะครับ

  Ico48 พระมหาแล อาสโย ขำสุข Ico48 มหาศรีบรรดร  กราบนมัสการพระคุณเจ้าทั้งสองครับและขอกราบขอบพระคุณที่แวะมาโปรดครับ

Ico48 Rinda  Ico48 ขจิต ฝอยทอง Ico48 ✿อุ้มบุญ ✿ ขอสวัสดีและขอขอบพระคุณที่มาเยือนต่อคุณครู Rinda อาจารย์ขจิต และคุณอุ้มบุญครับ ฝนตกอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทุกท่านรักษาสุขภาพนะครับ มีความสุขครับ

ไม่แน่นหรอกค่ะอาจารย์ สนใจก็ตั้งใจอ่านได้

เป็นประโยชน์มากค่ะ อยากสร้างเครือข่ายเรียนรู้ชุมชนที่ตนเองทำงานอยู่

เริ่ม ๆ บ้างแล้วค่ะ...สนุกดี

สวัสดีครับคุณหมอครับ มีกำลังใจมากโขเลยละครับ
 จะตามไปเยือนเรื่องราวของสระไคอยู่เสมอนะครับ ชอบครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์ และคุณครูเครือข่ายโรงเรียนในฝันทุกท่าน

  • ได้รับวุฒิบัตรการเป็นวิทยากรฝึกอบรมการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเพื่อการเรียนรู้อิงถิ่นฐาน ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนหนองบัว เมื่อสัปดาห์ก่อน รู้สึกดีจังค่ะ
  • เป็นเวทีที่ให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างมีความหมายมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ / กานต์ l เริงวิชญ์ l ณัฐพัชร์

         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท