๑๗๕.บทบาทพระไทยในการฟื้นฟูวัฒนธรรมพุทธศาสนาในเมืองสิบสองปันนา


เมื่อพระไทยไปบิณฑบาต วันแรกได้ข้าวเหนียวรูปละหนึ่งก้อน และหัวมันรูปละหนึ่งหัว กว่าญาติโยมที่เมืองฮำจะเข้าใจพระไทยต้องไปบิณฑบาตโชว์ให้ดูก่อนเป็นเวลา ๑ อาทิตย์ บิณฑบาตได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ใช่สาระ แต่ที่ต้องการคือการเรียกวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธกลับคืนมา

 

     จากการติดตามนิสิตฝึกปฏิบัติศาสนกิจมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา จำนวน ๘ รูป ที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ส่งไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ เมืองสิบสองปันนา มลฑลยูนาน ประเทศจีน ระหว่างวันที่ ๒๕ มีนาคม -๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ทำให้เห็นว่า เมืองแห่งพระพุทธศาสนาเถรวาทหนึ่งเดียวในจีน  มีอะไรที่น่าสนใจอยู่มิใช่น้อย?

 

     ประการแรก พระนิสิตที่ส่งไป ทางการจีนให้ไปพักอยู่ ณ วัดป่าเจต์ก่อน ๑ สัปดาห์ เพื่อให้คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่และทัศนศึกษาหรือเตรียมกายใจไว้ก่อน  หลังจากนั้นได้ถูกส่งไปพักอยู่ ณ วัดบ้านถิ่น อำเภอเมืองฮำ ด้วยเหตุผลว่าโครงการนี้เป็นโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน ดังนั้น เมืองฮำจึงเป็นเมืองพิเศษทางวัฒนธรรมของจีนอีกแห่งหนึ่ง ประกอบกับเมืองฮำได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองธุรกิจทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยการชูหมู่บ้านไทลื้อเป็นตัวเอกแห่งการสร้างรายได้ ดูได้จากเมื่อเข้าประตูเมืองฮำต้องชื้อบัตรเข้าไปเที่ยวชมทุกคน

 

     การไปครั้งนั้นพระครูสมุห์สุวิทย์ กลฺยาณธมฺโม พระเถระผู้น้อย(สูงแค่ ๑๓๐ ซ. แต่น้ำหนักตัว ๖๐ กิโลฯ) เล่าให้ฟังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจว่า ไปอยู่ที่โน้นต้องทำภาระกิจประจำวัน ตลอด ๒ เดือน ดังต่อไปนี้

 

     เวลา ๐๔.๐๐ น.          ต้องตื่นนอน เนื่องจากที่นั้นเขาทำวัตรเช้าตอน ๐๔.๓๐ น.

 

     เวลา ๐๖.๐๐ น.          บิณฑบาต  ซึ่งการทำกิจวัตรนี้พระไทย เป็นผู้ริเริ่มขึ้นใหม่ เนื่องจากคนเมืองฮำและพระจีนห่างเหินการใส่บาตรและบิณฑบาตกันมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เนื่องจากวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นเปลี่ยนไป คือหลังจากชาวจีนสิบสองปันนานิยมทำสวนยาง ชาวบ้านต้องตื่นตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน-ตีหนึ่งเพื่อไปกีดยาง

 

     เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากวิถีชีวิตการตื่นนอนจะเปลี่ยนแล้ว พฤติกรรมการกินก็เปลี่ยนไปตาม คือไม่นิยมทำอาหารเช้า เหมือนไทลื้อทางภาคเหนือของไทย ด้วยวิธีชีวิตที่ต้องรีบเร่ง แข่งขัน จึงทำให้ต้องประหยัดเวลาในการทำอาหารการกิน

 

     ผลตามมาก็คือโดยมากนิยมอาหารที่สะดวกและรวดเร็วแทน เช่น มะหมี่ เป็นต้น จึงทำให้ร้านค้าเปิดขายอาหารเช้าเฉพาะแต่  "ข้าวซอย"  นอกจากนั้นแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการวิถีชีวิตพระภิกษุสามเณรต่างหาก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พระภิกษุสามเณรสิบสองปันนาต้องเข้าครัวทำอาหารฉันกันเอง ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งหนึ่งเปลี่ยน อีกสิ่งหนึ่งก็เปลี่ยนตาม แล้วไปกระทบกับอีกสิ่งหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกว่ากระแสโลกาภิวัตน์จะรุนแรงแค่ไหน ถ้าไทยไม่ตระหนัก?

 

     เมื่อพระไทยไปบิณฑบาต วันแรกทั้ง ๘ รูปได้ข้าวเหนียวหนึ่งก้อน และหัวมันต้มหนึ่งหัว กว่าญาติโยมที่เมืองฮำจะเข้าใจ พระไทยต้องไปบิณฑบาตโชว์ให้ดูก่อนเป็นเวลา ๑ อาทิตย์ บิณฑบาตได้บ้างไม่ได้บ้าง ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สิ่งที่ต้องการคือการเรียกวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธกลับคืนมาต่างหาก!

 

     เมื่อถามว่า ก่อนพระไทยจะไปอยู่ พระจีนฉันอย่างไร? ได้รับคำตอบว่า พระจีนจะให้เด็กวัดนำตะกร้าไปไว้ในจุดที่นัดหมาย เมื่อถึงเวลา ชาวบ้านก็จะนำพืชผักผลไม้ เช่น ผักกาด แตง ข้าว ฯลฯ ไปใส่ไว้ เมื่อถึงเวลาเช้ามา เด็กวัดก็ไปเก็บตะกร้านั้นมา เพื่อมาทำอาหารกันเอง ซึ่งตะกร้านี้ก็มีขนาดใหญ่พอสมควร จะมีการเวียนไปเป็นจุด ๆ ในแต่ละวัน เหมือนกับชนบทไทย ตอนเป็นเด็กวัด ผู้เขียนต้องไปตกปิ่นโตตามหมวดบ้านต่าง ๆ  เช่น ปิ่นโตเถาหนึ่งมี ๔-๕ ชั้น ก็แจกหลังคาละชั้น หมายความว่าเถาหนึ่งจะแจกได้ ๔-๕ หลังคา พอรุ่งเช้าก่อนไปเรียนหนังสือ เด็กวัดต้องไปเก็บตามบ้านแต่ละหลังๆ

 

     เวลา ๐๙.๐๐ น.          พระไทยต้องเรียนภาษาจีน โดยพระชาวจีนจากภาคกลางที่มาบวชในสายเถรวาทเป็นผู้สอน

     เวลา  ๑๓.๐๐ น.          พระทุกรูปต้องไปทำงานภายในวัด เช่น ปรับที่ ก่อสร้าง เก็บกวาด  ฯลฯ หนักบ้าง เบาบางขึ้นอยู่กับว่าวัดมีกิจกรรมอะไรให้ช่วยทำ?

     เวลา  ๑๘.๐๐ น.          ทำวัตรสวดมนต์เย็น

     เวลา  ๑๙.๐๐ น.          เป็นต้นไป พระไทย-พระจีน นั่งสนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การปกครองคณะสงฆ์ เปรียบเทียบการศึกษาของพระสงฆ์ไทยกับพระสงฆ์จีน โดยมีน้ำชาเป็นตัวเชื่อมในการสนทนา

 

     จากประเด็นนี้เองทำให้เห็นว่า พุทธสมาคมจีนนั้น มีบทบาทมากกว่าพุทธสมาคมไทย เนื่องจากพุทธศาสนาเถรวาทเป็นคณะสงฆ์ส่วนน้อยของประเทศ ดังนั้น ต้องอาศัยพุทธสมาคมซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายพระสงฆ์ ฝ่ายคฤหัสถ์ ฝ่ายบ้านเมือง เพื่อมีอำนาจในการต่อรองเรื่องสิทธิ  กฏหมาย ข้อระเบียบปฏิบัติ ซึ่งจะต่างจากพุทธสมาคมไทยที่โดยมากมีบทบาทสนองงานของคณะสงฆ์มากกว่าจะต้องไปต่อสู้เรื่องต่าง ๆ เพื่อคณะสงฆ์

 

     ประเด็นเรื่องการศึกษาสงฆ์ ทำให้ทราบว่ามีการเหลื่ยมล้ำกันมาก ยกตัวอย่างเช่น เมืองฮำซึ่งเป็นอำเภอรอบนอกพระภิกษุสามเณรต้องไปเรียนร่วมกับเด็กชาวบ้าน แต่ในตัวจังหวัดอย่างเมืองเชียงรุ้งมีโรงเรียนมัธยมสำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่แห่งเดียวที่สถานที่เรียนก็ดี ครูผู้สอนก็ดี ขาด ๆ เกิน ๆ ส่วนเมืองหลวงของมณฑลคือเมืองคุณหมิงกับทำอาคารเรียนอย่างดี มีวัสดุอุปกรณ์ครบ มีครูที่มีคุณภาพดีกว่า เป็นต้น  ยิ่งออกไปทัศนศึกษารอบนอกยิ่งทำให้ความห่างทางสังคมกันมาก ระหว่างตำบล อำเภอ จังหวัด มีความแตกต่างกันมากทั้งความเจริญ เศรษฐกิจ การศึกษา การคมนาคม ฯลฯ โชคดีแล้วที่เมืองไทยเราเมืองกับชนบทยังไม่ถึงกับแตกต่างกันมากนัก

 

     ประเด็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรม มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมไทยล้านนา แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ประเพณีสงกรานต์ เมืองสิบสองปันนาศูนย์กลางอยู่ที่วัดป่าเชต์ ต้องไปทำบุญและมีประเพณีก่อน เพราะที่โน้นมีแนวความคิดว่าจัดที่เดียว คนมาที่เดียวเที่ยวได้ตลอดงาน และอีกประการหนึ่งต้องการให้นักท่องเที่ยวมารวมตัวกันที่เดียว หลังจากนั้นจึงจะกระจายไปจัดวัดต่าง ๆ ต่อไป เข้าใจว่าวัดต่าง ๆ รอดูรูปแบบของการจัดทำก่อน หรือไม่ก็เพราะจำนวนพระภิกษุสามเณรน้อยต้องไปรวมในจุดเดียว แต่หลายคนก็ให้ทัศนะว่าตรงนี้เป็นงานโชว์เพื่อการท่องเที่ยวก่อน ประเด็นนี้ต้องหาข้อเท็จจริงต่อไป

 

     พิธีสืบชาตาจีนกับล้านนาพิธีกรรมจะไม่ต่างกัน แต่สิบสองปันนาจะมีละเอียดมากกว่า เช่น มีองค์ประกอบที่พิเศษกว่า คือ มีกองดิน กองทราย กองข้าวต้ม อาหาร กองข้าวเปลือก ฯลฯ อย่างละ ๑๒๘ กอง

     พิธีสืบชาตาทิดสึกใหม่ที่เมืองฮำ ต้องนำผ้าขาวเท่ากับส่วนสูงของผู้สืบชาตามาด้วย

     พิธีสืบชาตาในงานขึ้นบ้านใหม่ที่เมืองฮำ คล้ายกับการส่งเคราะห์ทางล้านนามากกว่า ซึ่งชาวบ้านจะนิยมนำเอาเสื้อผ้าของใครของมันมาสืบชาตาด้วย

 

     เมื่อถามว่าทำไมญาติโยมจึงนิยมชมชอบพระไทยมากกว่าพระจีน ได้รับคำตอบว่า เป็นเพราะการนุ่งห่มที่เรียบร้อย แต่งตัวดูดีมีสง่า สะอาด มีการศึกษา มีศีลาจริยวัตรที่ดีกว่า นอกจากนั้นแล้วพระไทยยังได้สอนให้พระจีนได้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว อาหารไทย การปลูกผัก ฯลฯ

 

     อย่างไรก็ตาม พระนิสิตไทยได้ไปอยู่เพื่อเรียนรู้ถึงสภาพการเป็นอยู่ วิถีชีวิต ตลอดจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของพี่น้องไตลื้อสิบสองปันนา แม้ว่าจะใช้เวลาแค่ ๖๐ วัน แต่ประสบการณ์ที่ได้ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อีกมากมาย ผู้เขียนพร้อมจะทะยอยนำเสนอในโอกาสต่อไป

    

หมายเลขบันทึก: 451691เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2011 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

กราบนมัสการค่ะพระคุณเจ้า

...............

ได้เปิดหูเปิดตามากยิ่งขึ้นค่ะ

ประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีมากจริงๆนะครับ

ในใจผม ผมอยากอ่านงานพระธรรมทูตที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งมีบทบาทมาก

งานเขียนแบบนี้มีชีวิตชีวาดี ได้ความรู้ เห็นความเคลื่อนไหว

แม้เป็นเรื่องเก่า(วัฒนธรรม ศาสนา) แต่ก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปพร้อมกันด้วย

เจริญพรคุณโยมบัวชมพู ที่ได้แวะเข้ามาทักทาย

อาตมาตั้งใจจะทำเรื่องพุทธศาสนาลุ่มน้ำโขงโดย ๕ ปีแรกทำงานในลุ่มน้ำโขงตอนบน

๕ ปีหลังจะทำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ดังนั้นจึงเก็บรายละเอียดไปเรื่อยๆ ก่อน

สวัสดีครับหลวงพ่อมหาแล อันที่จริงพระธรรมฑูตท่านมีข้อมูลเยอะมาก

แต่เสียดาย ขาดการจัดการเรื่องความรู้ KM เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองของกันและกัน

ถ้ามองแบบธรรมดาก็จะเป็นเรื่องธรรมดาไม่น่าสนใจ

แต่ถ้ามองในมุมอีกมุมหนึ่งที่เป็นแง่คิด ผมว่าได้อะไรเยอะมากจากการไปในแต่ละครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท