ไปเก็บสมุนไพรกับพ่อเฒ่าลีซู...กิจกรรมเก็บข้อมูลงานวิจัย


ผมได้เรียนรู้กับพ่อเฒ่าลีซูมากมาย อีกทั้งยังสนุกสนานในการบุกตะลุยป่าลึก ในการเก็บสมุนไพรในครั้งนั้น ...ที่สำคัญที่สุด นักวิจัยชาวบ้านลีซูที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญากับผู้อาวุโสชาวลีซูในครั้งนี้ด้วย

ในบันทึกก่อนหน้านี้ ผมได้เขียนบันทึก เกี่ยวกับงานศึกษา วิจัย ประเด็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น กับการดูแลสุขภาพตนเองของหญิงหลังคลอดชาวลีซู” ที่แม่ฮ่องสอน และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็จะไปเน้นตรงองค์ความรู้พื้นถิ่นในการดูสุขภาพตนเองของหญิงหลังคลอดและการดูแลสุขภาพชาวลีซูทั่วไป โดยมีตัวแสดงใน Thesis เล่านั้น คือ “หญิงหลังคลอด” ที่เป็นตัวแทนแสดงให้เห็นภาพรวมบริบทของชาวลีซู...

การเก็บข้อมูลกับหญิงหลังคลอดแบบเข้มข้นและสนใจเป็นพิเศษ ผมแทบจะเข้ากระโจมอบสมุนไพรหลังคลอดพร้อมหญิงลีซูเลยทีเดียว

หลังจากที่ทำงานชิ้นนี้แล้วเสร็จแล้ว ได้ทุนสนับสนุนการศึกษา วิจัยต่อ จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผมจึงได้มีโอกาสอีกครั้งที่จะนำข้อมูลที่เก็บได้ในงานชิ้นแรก มาแปรเป็นกระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยอยู่ในรูปแบบของ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ อันเป็นแนวทางการจัดการองค์ความรู้ดีๆเหล่านั้น

หลายคราที่ประทับใจ ก็คือ ภาพของสามีหญิงตั้งครรภ์ ไปเก็บสมุนไพรในป่าใกล้หมู่บ้าน หากไม่มีก็ต้องเดินทางเข้าป่าลึก เพื่อเก็บพืชสมุนไพรให้ครบถ้วน ๑๗ ตัวยา ทั้งหมดนำมาเป็นส่วนประกอบของสมุนไพร อบตัวหลังคลอดของภรรยานั่นเอง องค์ความรู้แบบนี้ ผมได้สนทนากับ ผู้เฒ่าชาวลีซู (โชโหม่โชตี) ก็ทราบว่ามีสมุนไพรลีซูมากมาย นอกจาก สมุนไพรหลังคลอด ...

 

ได้ไปเก็บข้อมูลในป่าพร้อม หมอยาลีซู (แนซึซือซู)ผู้อาวุโส ๓-๔ คน และนักวิจัยชาวบ้าน กลุ่มหนึ่ง บรรยากาศวันนั้นสนุกสนานมาก ผู้เฒ่าชี้ให้ดูสมุนไพรโน่นนี่ตลอดเวลา พร้อมบอกสรรพคุณในการรักษา ยิ่งเดินทางเข้าป่าลึก ก็จะพบเจอสมุนไพรที่หายากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่น่าสนใจ คือการเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ การเก็บสมุนไพร พ่อเฒ่าบอกว่า ก่อนจะเก็บสมุนไพรต้องมีพิธี “แนจึเดี๊ยะ” เป็นพิธีการขอยากับเทพ หากละเมิด หรือไม่เคารพเจ้าป่าก็จะเกิดอาเพศและเป็นการ ผิดผีได้ หลังจากนั้นจึงเก็บ ในการเก็บสมุนไพรจะไม่ดึง ถอนพืชสมุนไพรออกมาทั้งต้น แต่นำมาเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดที่ต้องการเท่านั้น ปล่อยให้พืชสมุนไพรนั้นเติบโตต่อในป่าเหมือนเดิม

สิ่งที่วิเคราะห์ได้ จากกระบวนการเก็บยาสมุนไพร ครั้งนี้เป็นภาพของการ พึ่งพาอาศัยป่า ของคนอยู่กับป่า ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ใช้ประโยชน์แต่ไม่ทำลาย พิธีแนจึเดี๊ยะเป็นการเคารพป่า แสดงความกตัญญูต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ให้ยาสมุนไพรรักษาผู้ป่วย อันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของคนลีซู ส่วนใหญ่หมอยาจะใช้สมุนไพรรักษา เยียวยาผู้ป่วยเป็นครั้งๆไปตามอาการที่เกิด หากมีผู้ป่วยรายใหม่ที่จะต้องรักษา แนซึซือซู ก็จะเดินทางเข้าป่าลึก มาเก็บอีก ปล่อยให้สมุนไพรนั้นได้เจริญเติบโตในป่าใหญ่ เพื่อที่ว่าจะเก็บใช้ได้นานๆ

ผมได้เรียนรู้กับพ่อเฒ่าลีซูมากมาย อีกทั้งยังสนุกสนานในการบุกตะลุยป่าลึก ในการเก็บสมุนไพรในครั้งนั้น

 

...ที่สำคัญที่สุด นักวิจัยชาวบ้านลีซูที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้ร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญากับผู้อาวุโสชาวลีซูในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 41238เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2006 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ติดตามอ่านบันทึกของคุณจตุพรมานานแล้วค่ะ  ขอบคุณกับเรื่องราวดี ๆ ที่นำมาให้ได้อ่านกันเสมอ    สนใจเรื่องราวความเป็นไปของวิถีชีวิตอันหลากเสน่ห์ของคนแม่ฮ่องสอนค่  ส่วนตัวก็อยากไปสัมผัสแม่ฮ่องสอนอีก

และโดยงานที่ทำ ตุ่มก็มีประเด็นของการไปจับภาพการจัดการความรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นงานวิจัยที่ สกว.กำลังเคลื่อนอยู่ เลยจะขอลงไปติดตามค่ะ  อยากเห็นกระบวนการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นในงานวิจัยท้องถิ่นที่แม่ฮ่องสอน

ตุ่มกำหนดจะไปวันที่ 5-7 สิงหาคมนี้ เห็นคุณธนันชัย (เก้ง) บอกว่าจะประสานทางคุณจตุพรช่วยพาทีม"จับภาพจัดการความรู้" ลงไปดูพื้นที่อำเภอปาย ในช่วงบ่ายวันที่ 6  (ช่วงเช้าทีมจะอยู่ที่ศูนย์ K.I.D. ที่ปางมะผ้า) หวังว่าคงได้เจอกันนะคะ 

ตุ่ม สคส. 

สวัสดีครับ คุณตุ่ม

เมื่อวานผมได้รับโทรศัพท์แจ้งจากคุณธนันชัยแล้วครับ และวันนี้ก็ได้ส่งรายละเอียดมาอีกครั้งหนึ่ง...

ตกลงยืนยันวันที่ ๖ นะครับ เห็นบอกว่า "อาจจะ" คือ ผมจะได้ไปติดต่อในรายละเอียด และนัดกลุ่มวิจัยชาวบ้านที่ สันติชล ปาย ด้วยครับ

ส่วนรายละเอียดไม่ทราบว่าคุณตุ่มได้แจ้งความคืบหน้าให้คุณธนันชัยหรือยัง

เรื่องที่พัก และเรื่องอื่นๆครับ

ดีใจที่มาเยือนครับ 

แม่ฮ่องสอน-เมืองปาย-นักวิจัยชาวบ้าน และ ผม ยินดีต้อนรับ ครับผม 

ต่ออีกนิดครับผม....ลืมขอบคุณ...

ขอบคุณครับคุณตุ่มที่ติดตาม บันทึกผมเสมอมา...

ไว้มาแม่ฮ่องสอน ได้นั่งจิบชา คุยแลกเปลี่ยนกันครับ 

ขอบคุณมาก ๆ เลยครับคุณจตุพร

แต่อยากถามต่อนิดนึงว่าสมุนไพรอันนี้ แถว ๆ บ้านเราโดยทั่ว ๆ ไป มีอยู่เปล่าครับ

เจ็งไปเลยคุณจตุพรติดดินของจริง ไว้ว่าง ๆออตจะขอติดตามห้อยเข้าชุมชนด้วยเอาให้ถึงฤดูกาลที่เหมาะสมจะแจ้งนะครับ

ที่อีสานการเก็บสมุนไพรบางประเภทคนเก็บต้องถอดเสื้อผ้าเปลือย หลับตา เข้าไปเก็บเลยนะครับ มันเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านนะครับในการเก็บออมสมุนไพร  เรื่องดีดีจากอีสานเอามาแลกเปลี่ยน

อาจารย์ปภังกร

ขอบคุณครับอาจารย์ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

สมุนไพรบางตัวบ้านเราก็มีครับ แต่เรียกชื่อเป็นภาษาลีซู ที่สังเกตนะครับ สมุนไพรที่ใช้อบตัวหญิงหลังคลอดลีซู หากเรานำมาประยุกต์หรือเทียบเคียง น่าจะใช้ร่วมกับแพทย์แผนไทยได้...ต้องมีการศึกษา วิจัยเพิ่มเติม...

วันหนึ่ง!!!! ผมกับพ่อเฒ่าไปพบต้นไม้หายากชนิดหนึ่ง..กลางป่า ชื่อต้น "ทานาคา" เป็นเปลือกไม้ที่ใช้ประทินผิวพรรณ พ่อเฒ่าบอกว่าหากใครใช้พอกหน้าทุกวัน ผิวจะสวยเปล่งปลั่ง เหมือนผิวสาวชาวพม่าเลยหละครับ

(ไม่แปลกที่สาวๆแถวนั้นสวย หน้าใส ทุกคนเลยครับ) 

มีประสบการณ์แปลกๆไม่เคยเจอก็เยอะครับ  จะทยอยเล่าสู่กันฟังครับ 

เรียนรู้ร่วมกันครับ 

คุณออต

จริงๆมีเรื่องเหลือเชื่อระหว่างการทำงานด้วย มากมายหลายประเด็นเลยครับ

ผมคุยกับแม่บ้านชาวลีซู ๒ คนเล่าถึง การแอบเรียนรู้สมุนไพรจากแม่เฒ่า เพราะ ยาขนานนี้ถ่ายทอดกันโดยตรงไม่ได้

เมื่อมีผู้ป่วย แม่เฒ่าก็จะรีบเข้าป่าไปเก็บสมุนไพร  สาวๆทั้งสองก็ แอบย่ิองตาม แม่เฒ่าไปในป่า แอบซุ่มดูให้แน่ใจว่าแม่เฒ่าไปเก็บพืชสมุนไพรตัวไหนแล้วจำไว้

เสร็จแล้วก็มาแอบจำ กระบวนการรักษาต่อ...

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจ เอาไว้แลกเปลี่ยนกันต่อไปครับ

ช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ปาย ผมจะจัดทริปล่องแก่ง(เรือคายัค) แม่น้ำปาย งานนี้จะชวนเพื่อนที่รู้จักกัน ที่สนิทๆครับ ผมชวนคุณจันทร์เมามาย แล้วคนหนึ่ง หากว่างๆตรงกัน น่าจะได้ตั้งแคมป์กลางป่า ผิงไฟ ปิ้งมัน คุยกันครับ

 

ขอบคุณมากค่ะ ที่มีประสบการณ์ดีๆมาเล่าให้ฟัง นึกจินตนาการตามไปด้วย เมื่อมีโอกาสได้ไปอยู่ในบรรยากาศแบบนั้นเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเลยใช่ไหมค๊ะ ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ความใสบริสุทธิ์ของใจ จากบุคคลที่เราได้มีโอกาสพบเห็นหรือร่วมกิจกรรมด้วยมีผลต่อกำลังใจในการที่เราจะสร้างงานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนยิ่งๆขึ้น (เป็นความรู้สึกส่วนตัวค่ะ)คงมีโอกาสลงพื้นที่เรียนรู้งานวิจัยชุมชนของอาจารย์บ้างนะคะ ขอบคุณกับบันทึกที่มีคุณค่าอีกครั้งค่ะ

เรียนอาจารย์ Ms.Sunee

สิ่งที่อาจารย์ได้เขียน ความรู้สึกเมื่อทำงานกับชุมชน ว่าเราจะมีกำลังใจมากขึ้นทุกครั้ง เมื่อได้ร่วมทำงานงานกับผู้คน ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร เอื้ออาทร ปรารถนาดีต่อกัน

บรรยากาศแบบนี้หาได้จากในหมู่บ้าน ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ห่างไกล เฉกเช่นแม่ฮ่องสอนครับ

หากอาจารย์มีโอกาสมาทางนี้ ยินดีต้อนรับครับ

จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับผม

ขอบคุณมากครับอาจารย์ 

  • ที่เมืองกาญจน์เขตรอยต่อพม่า ยังมีทานาคาอยู่ครับคุณจตุพร
  • ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้

เป็นไม้หายากครับ คิดว่าจะไม่เจอแล้ว...ในป่าลึกๆ ครับจะเห็น ...ไปพม่าก็จะเห็นสาวๆพม่าใช้ ทานาคา ทาใบหน้ากันโดยทั่วไป

ขอบคุณครับ อาจารย์ขจิต สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม 

"เหล้าข้าวโพดชาวลีซู"

 

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรชนเผ่า

๑๒/๐๑/๕๒

สวัสดีค่ะ คุณจตุพร

ดิฉัน กำลังจะศึกษาความรู้ในการดูแลสุขภาพของชาวลีซู ในการทำวิทยานิพนธ์และได้อ่านพบงานของคุณบางส่วนในการใช้สมุนไพรของชาวลีซู จึงอยากได้ข้อมูลเพือ่ใช้ในการศึกษาและอ้างอิงในงานวิจัยของดิฉัน จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ข้อมูลจากคุณ

ขอบพระคุณมากนะคะ

สุนีพร หลี่จา

จ.เชียงราย

แวะมาเรียนรู้วิถีชีวิต และทักทาย

ขอบคุณค่ะ

ธรรมชาติมีคุณค่ามากมายที่เอื้ออาทรต่อมนุษย์มากมาย นะคะ

ปลอดภัยในทุกเส้นทาง มีรอยยิ้มในหัวใจเสมอๆนะคะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท