เกษตรอินทรีย์หลังบ้าน...ภูมิปัญญาจีนยูนนาน


“เราเลี้ยงหมูหนึ่งตัว ไม่เท่ากับมีสวนหลังบ้านที่อุดมสมบูรณ์”

                ผักกาดจีนสีเขียวเข้ม อวบอ้วน ผักชีต้นงามเบียดแทรกกลางดงถั่วลันเตาที่ผลิใบอ่อนเขียวใสละลานตา สวนเกษตรหลังบ้าน ที่เราสามารถเห็นได้เมื่อเข้าไปเที่ยวชุมชน “จีนยูนนาน” บ้านรุ่งอรุณ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

               สุเมธ หนุ่มใหญ่นักวิจัยชาวบ้าน เล่าให้ผมฟังว่า  คนจีนยูนนานนิยมปลูกผักสวนครัวไว้กินภายในครอบครัวหากเหลือกินก็จะนำไปขายให้กับเพื่อนบ้าน หรือไม่ก็นำไปขายที่ตลาด (...เศรษฐกิจพอเพียงเลยนะนี่!...ผมคิดในใจ)

              “เราเลี้ยงหมูหนึ่งตัว ไม่เท่ากับมีสวนหลังบ้านที่อุดมสมบูรณ์” สุเมธ บอกว่า เป็นคำเปรียบเปรยของผู้อาวุโสจีน เราจึงไม่แปลกใจที่เราได้เห็นสวนครัวหลังบ้านที่มีกันทั่วถ้วนทุกบ้าน        

              สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือ “เกษตรหลังบ้าน” จีนยูนนานเป็น “เกษตรอินทรีย์” ปราศจากสารพิษใดๆ

           สุเมธเล่าให้ผมฟังถึงกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์ภูมิปัญญาจีนยูนนานไว้อย่างน่าสนใจ เขาเล่าว่าทุกหลังคาเรือนที่นี่จะมีที่ดินขนาดเพียงพอกับสมาชิกและเพียงพอที่จะใช้ปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน

            การบำรุงดินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของกระบวนการทั้งหมด ชาวจีนจะขึ้นแปลงและใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆคลุกเคล้าดินให้ทั่วก่อนที่จะปลูกกล้าผัก หรือหว่านเมล็ดพันธุ์ ในสวนครัวจะมีพื้นที่เล็กๆมีไว้กองปุ๋ยหมัก และขุดหลุมเล็กๆเพื่อหมักปุ๋ยพืชสด สุเมธ ยังเล่าต่ออีกว่า แม้แต่ “ปัสสาวะ” ของหมูที่เลี้ยงไว้ ชาวบ้านก็ไม่ทิ้ง เขาจะเก็บไว้ผสมกับน้ำให้เจือจางใช้รดผักในแปลง ทำให้ผักใบสวย ยอดผักจะอ่อนนุ่มอวบอิ่ม จะรดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอกับช่วงอายุของผัก 

               ผักที่ปลูกส่วนใหญ่ก็จะเป็น “ผักเชื้อสายจีน” เช่น ออสุ๊ (ผักกาดจีน) หุยซาง(ผักชีจีน) และจู่ไช่ (ผักกุ๊ยช่าย) ผสมผสานไปกับพืชท้องถิ่น ยอดฟักแม้ว(ซาโยเต้) ยอดถั่วลันเตา ผักขี้วัว (ผักชนิดหนึ่ง คนไทใหญ่ชอบปลูกไว้เพื่อเป็นผักกินกับน้ำพริก รสชาติหวานๆ) นอกนั้นก็จะมี ฟักทอง พริก มะเขือ ฯลฯ

             เพราะมี “ซุปเปอร์มาเก็ต” ย่อมๆหลังบ้านนี่เอง ทำให้ชุมชนจีนยูนนานที่นี่ไม่ต้องออกไปซื้อผักนอกชุมชน แถมยังสุขภาพดีเพราะได้บริโภคผักที่ตนเองปลูก ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

               “การทำเกษตรอินทรีย์แบบจีนยูนนาน สิ่งสำคัญที่สุดคือการ บำรุง ดูแลดิน” เขากล่าวก่อนที่บทสนทนาของเราจะสิ้นสุดลง

               วิถียูนนาน ยังมี “ภูมิปัญญา” เป็น “องค์ความรู้” ที่มีคุณค่าซ่อนอยู่อย่างมากมาย ปัจจุบันบ้านรุ่งอรุณได้เปิดหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่จัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน นักท่องเที่ยวที่นิยมเที่ยวเชิงนิเวศ และวัฒนธรรมสามารถเดินทางมาเที่ยวที่ชุมชนได้ นอกจากจะได้สัมผัสวิถีชีวิต “จีนยูนนาน” แล้ว รอบๆชุมชนยังมีหมู่บ้าน “ไทยใหญ่” และหมู่บ้านชาว “ลาหู่” (มูเซอ) ว่ากันว่า มาที่นี่ที่เดียวสัมผัสได้ถึงสามวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว


พูดคุยกับ “อาเหลียง” สุเมธ แซ่หย่าง ช่วงบ่ายวันที่ ๑๑ พ.ค.๔๙

โครงการวิจัย รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมชุมชน โดยชุมชนบ้านรุ่งอรุณ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ชุดโครงการวิจัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด จังหวัดแม่ฮ่องสอน

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค

หมายเลขบันทึก: 28194เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2006 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

             ผมได้เข้าไปอ่านบันทึกของ พี่ "สิงห์ป่าสัก"  เรื่อง "ปลูกสวนครัวเพื่อการพึ่งตนเอง" แล้วดูว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ "คลาสสิค" เชื่อว่าคนไทยเราก็ผูกพันกับสวนครัวมาโดยตลอด             

            การนำเสนอบันทึก มีเนื้อหาคล้ายคลึงและสามารถแลกเปลี่ยน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ ได้

  • น่าสนใจมากครับ
  • มาเรียนผมยังปลูกผักไว้หลังห้องเลยครับ
  • อยากกินอะไรก็เก็บกินง่ายดี
  • ขอบในน้องจตุพรที่นำมาให้อ่านนะครับ
      ขอบคุณมากสำหรับเรื่องเล่าที่เป็นองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากยูนาน  เห็นด้วยนะครับ การปลูกพืชหัวใจสำคัญอันดับแรกอยู่ที่การเตรียมดิน (ดินดีจะส่งผลให้พืชแข็งแรง...พืชแข็งแรงจะมีความต้านทานต่อผลกระทบสูง...ผลผลิตมีคุณภาพ ฯลฯ ) และยินดีที่ช่วยลิงค์เพื่อ "แตกหน่อต่อยอดความรู้" ออกไป นี่แหละครับ "คุณอำนวย"

เพราะว่าดินใช้ปลูกผักหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ หากไม่บำรุงรักษาดินก็จะเสื่อมนะครับ หมู่บ้านนี้ได้เรียนรู้เรื่องการทำ EM ด้วย และก็ปุ๋ยชีวภาพด้วยครับ เป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในการจัดการดิน

ตอนนี้ก็ทำกันได้ดีเลยครับ หลังจากที่ไปเยี่ยมมาวันสองวันนี้

ผมไปคุยกับชาวบ้านเรื่องการปลูก "พืช" บางอย่าง และไปดูต้นน้ำที่เราจะนำน้ำมาใช้ "จัดการน้ำ" ในการเกษจรด้วย

ผมรู้สึกว่า ผมเป็น "นักส่งเสริมการเกษตร" เหมือนพี่สิงห์ป่าสัก เข้าไปทุกที ^_^

แต่ในบทบาท "ผู้ประสานงาน" และ พี่เลี้ยงนักวิจัย ก็คงต้องคิดร่วม ทำร่วม กับชุมชนเมื่อมีประเด็นปัญหา หรือประเด็นอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนได้ และเป็นแนวทางที่เราคิดว่าชาวบ้านจะ "อยู่ ดี มี สุข" ครับ

คงจะได้ ลปรร.กับพี่สิงห์ป่าสัก บ่อยครั้ง  เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวความรู้อันเป็น tacit knowledge  ที่หลากหลายและมีคุณค่า

         ทุกเรื่องล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันครับ  เราคงไม่อาจแยกได้อย่างชัดเจน  เพราะปัญหาของชาวบ้าน หรืองานที่เราจะทำล้วนสัมพันธ์กันไม่มากก็น้อย ดีแล้วครับที่ร่วมด้วยช่วยกัน   

         และผมคิดว่าวิถีชีวิตที่พอเพียงในแนวที่คุณจตุพรบันทึกมานี้ ในสังคมบ้านเรานั้นมีมากมาย  คุณจตุพรน่าจะเปิดบล็อกเฉนาะแนวนี้เพิ่มเติมนะครับ  ผมสร้างชุมชน "ชีวิตที่พอเพียง" เพื่อรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งของเราเองและชาวบ้านที่เราพบเจอในแต่ละถิ่นในสนาม   เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ของสังคมในวงกว้าง  เชิญมาร่วม ลปรร.นะครับ

 

ไม่มีรูป
สิงห์ป่าสัก

มาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง เพราะได้เก็บข้อมูลชุมชนเพิ่มเติม

ขอบคุณพี่ วีรยุทธ ครับ

บันทึกที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ผมเก็บไว้ใน Blog

Community Based Research  ครับ

Greenlattes.com - ทัวร์เกษตรอินทรีย์

ผมเคยอ่านบทความที่นำเสนอปราชญ์เกษตรอินทรีย์ คุณลุงคำนึงชนะสิทธิ์ จาก เดลินิวออนไลน์ ซึ่งได้พูดถึงแรงบันดาลใจว่าทำไมจึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ส่วนหนึ่งเพราะได้เป็นตัวอย่างจากเกษตรกรชาวจีนที่ทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีเลย คุณลุงบอกว่า "ประเทศจีนเขาทำเกษตรไม่ใช้สารเคมี แต่เขาผลิตปุ๋ยเคมีส่งมาขายคนไทย เพราะคนไทยนิยมใช้!" ผมอ่านแล้วไม่รู้จะว่าอย่างไรต่อเลย...

หากคิดกันให้ดีๆ สมัยก่อน คนไทยก็ทำเกษตรแบบธรรมชาติเช่นกัน แต่เมื่อประเทศถูกพัฒนาเป็นระบบทุนนิยม ภาครัฐส่งเสริมการลงทุน แน่นอนว่า ความต้องการสินค้าเกษตรมีมากขึ้น และสมัยก่อนโน้นประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและความรู้ที่เป็นรูปธรรมในเรื่องเกษตรอินทรีย์ จึงทำให้เกษตรกรหันมาใช้ สารเคมีเกษตร เพราะให้ผลเร็วทันใจนั่นเอง แต่เมื่อเวลาผ่านมากลับต้องมานั่งคิดกันใหม่เพราะอย่างทีทราบ เกษตรเคมีนำปัญหาตามมามากมาย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เกษตรอินทรีย์ )

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ แบบนี้

http://www.greenlattes.com - ทัวร์เกษตรอินทรีย์ เรียนรู้ แนะนำ แบ่งปัน สานต่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท