วิดน้ำให้บัวโผล่...


อ้อ...ต้องบอกก่อนนะคะ ปัญหาคุณภาพนักศึกษานี้แก้ไม่ได้ทั้งหมดหรอกค่ะ ดิฉันตั้งใจแค่จะนำเสนอวิธีการที่เราใช้กันอยู่ นั่นคือ วิดน้ำให้บัวโผล่ ค่ะ

ภาพโดย อ.ลูกหว้า …  ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ
<h4> เรื่องนี้จะว่าเกี่ยวกับบัว ๔ เหล่าก็เกี่ยวนะคะ เพราะเป็นเรื่องของบัวที่จะพ้นน้ำ แต่คำว่า วิดน้ำให้บัวโผล่ นี้ดิฉันยืมมาจากการคุยกับ อ.ศิริศักดิ์  นานมาแล้ว เรื่องคุณภาพนักศึกษาค่ะ ไม่รู้ว่ามีคนอื่นใช้อยู่บ้างหรือเปล่านะคะ       </h4><blockquote><h4> พวกเราอาจารย์ทั้งหลายพบว่าปัจจุบันนี้นักศึกษาเรียนวิชาพื้นฐานแล้ว ตก เยอะมาก….. มากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ เรียกว่าเวลาตัด F แล้วดูจำนวนคนได้ F แล้วอาจารย์ขนลุกไปตามๆ กัน เช่น ตก ๑ ใน ๔ ค่ะ... แล้วเมื่อดูคะแนนที่ตัด F แล้วก็พบว่า ต่ำ...แบบสุดๆ แล้วค่ะ ประมาณว่าถ้าให้ตัดเองโดยไม่ดูจำนวนเด็ก สงสัยเด็กจะตก ๑ ใน ๓ ค่ะ </h4></blockquote><h4> ต้องบอกก่อนว่าวิชาพื้นฐาน.. ไม่ยากค่ะ และวิชาเหล่านี้จะมีทีมอาจารย์มาสอน ใช้หนังสือและอุปกรณ์การสอนเหมือนๆ กัน เนื้อหาและวิธีการสอนเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะประชุมตกลงกันมาก่อน การตรวจข้อสอบ ถ้าใครออกข้อไหน ก็ตรวจข้อนั้น เพราะฉะนั้นมาตรฐานการให้คะแนนจะเหมือนกัน เพราะเป็นคนเดียวกันตรวจ แล้วก็ปรับปรุงกระบวนการสอนมานานจนค่อนข้างเป็นมาตรฐานที่ใช้ได้ดีทีเดียว </h4><blockquote><h4> ดังนั้น การที่ปรับคะแนนการให้ F จากเด็กตก ๑ ใน ๓ เป็น ๑ ใน ๔ เนี่ยแหละ วิดน้ำให้บัวโผล่ ค่ะ   การปรับคะแนนนี้ไม่ได้ปรับมากนะคะ บางทีแค่ ๔-๕ แต้ม (เต็มร้อย) แต่คนได้ F เปลี่ยนเป็น D เป็นบัวพ้นน้ำมีเพียบเลยค่ะ… </h4></blockquote><h4> แต่ที่กำลังจะนำมาเป็นประเด็นในที่นี้คือ.. </h4><ul>

  • เราทำถูกต้องแล้วใช่ไหม ที่วิดให้บัวโผล่ไว้ก่อน แล้วปีหน้าก็วิดอีก วิดอีก เพราะบัวมันแคระ เป็นบัวพันธ์ D..  โตยาก ภายในสภาวะปกติ บัวพวกนี้จะไม่โผล่พ้นน้ำ เพราะฉะนั้นถ้าวิดแล้ว ต้องวิดอีกทุกเทอมค่ะ...ไม่งั้นบัวโดนเต่า ปลา กินหมด เรียนไม่จบค่ะ

  • แต่อีกแง่ก็คือ..แล้วถ้าเราวิดไปเรื่อยๆ เรากำลังผลิตบัวแบบไหนสู่สังคม เรากำลังให้โอกาสคนในสังคม หรือ เรากำลังทำลายสังคมด้วยการส่งคนที่ไม่พร้อมออกไปทำงานที่ต้องการคนที่พร้อมกว่านี้..

  • </ul><h4> จริงๆ แล้วบันทึกนี้เขียนเพราะต้องการให้เห็น dilemma ในการตัดสินใจค่ะ อาจารย์หลายคนก็กังวลเรื่องวิดน้ำให้บัวโผล่ แต่ทุกวันนี้เกือบทุกคนที่รู้จักที่เจอปัญหานี้ จะเลือกวิดน้ำให้บัวโผล่เพราะต้องการให้โอกาสนักศึกษาก่อน เผื่อจะโตเองได้บ้างค่ะ เป็นบัวพ้นน้ำ.. </h4><blockquote><h4> อีกประเด็นที่หลายคนอาจแนะนำคือเปลี่ยนวิธีการสอน หรือให้ปุ๋ย หรือบ่มเพาะเหง้าบัวให้ดี อันนี้ก็พยายามทำกันอยู่ค่ะ แต่ที่หนักใจคือวิธีการไหนก็ใช้ไม่ได้กับคนทั้ง class  (มันเป็นธรรม(ชาติ)ที่ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันกับคนทั้งหมดได้) แล้วนักเรียนใน class ก็เยอะมาก เป็นบัวหลายพันธ์มากๆ บางส่วนก็สอนได้ด้วยวิธีปกติ บางส่วนต้องพยายามเชิญกึ่งบังคับให้มาเรียน บางส่วนมาเรียนแล้วไม่มีอุปกรณ์เขียนติดตัวมาเลย มานั่งเช็คชื่อ มีแต่หนังสือพิมพ์กีฬาม้วนถือมาในห้องเรียน5555   คิดแล้วก็ขำๆ ค่ะ เจอมาหลายรูปแบบจริงๆ จนปรับตัวได้.. </h4></blockquote><h4> อ้อ…ต้องบอกก่อนนะคะ ปัญหาคุณภาพนักศึกษานี้แก้ไม่ได้ทั้งหมดหรอกค่ะ ดิฉันตั้งใจแค่จะนำเสนอวิธีการที่เราใช้กันอยู่ นั่นคือ วิดน้ำให้บัวโผล่ ค่ะ    </h4><blockquote><h4>อ่านเรื่องนี้แล้วอย่าเครียดนะคะ เล่าสู่กันฟังเพื่อ ลปรร ค่ะ   ถ้าใครมีคำแนะนำดีๆ ในการเลี้ยงบัวก็เชิญนะคะ </h4></blockquote><h4><hr></h4>

    หมายเหตุ:  อ.ศิริศักดิ์ มาเตือนความจำของดิฉันค่ะ ว่าคำว่า "วิดน้ำให้บัวโผล่..." เราได้ยินมาจากอดีตอธิการบดี มอ. รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ เมื่อครั้งไปสัมมนาประจำปีของ นบม. ปีที่แล้ว ดิฉันขี้ลืมค่ะ : ) ขออนุญาตให้เครดิตไว้ ณ ที่นี้ค่ะ

    </span>

    หมายเลขบันทึก: 95725เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (33)

    สวัสดีค่ะอาจารย์

    P

    ปัญหาอาจารย์ว่าอยู่ตรงไหนคะ

    • พ่อแม่ไม่ค่อยดูแลลูก ให้ขยันเรียน
    • ลูกมาอยู่หอพัก อิสระมากไป
    • เด็กสนใจเล่นมากกว่าเรียน
    • อาจารย์น้อยไป เด็กมากไป ดูแลไม่ทั่วถึง
    • ทางมหาวิทยาลัย ปล่อยอิสระเด็กมากไป กลัวว่า ถ้าเข้มงวดไปเด็กจะไม่อยู่ ไปเข้าที่อื่นแทน

    เพื่อนๆดิฉัน มาบ่นกันหลายคนเรื่องแบบนี้ค่ะ

    สวัสดีค่ะคุณ P sasinanda

    สงสัยจะผสมๆ กันหมด หลายๆ ปัจจัยค่ะ

    น่าจะเป็นความพร้อม ที่มีที่มาจากสิ่งแวดล้อมของเขา ครอบครัว ฐานะ ที่อยู่อาศัย(หอหรือบ้าน) เพื่อน ฯลฯ กับ ความตั้งใจของเขาค่ะ

    ดิฉันประเมินจากประสบการณ์ตัวเองนะคะ ว่าถ้าเราชอบในสิ่งที่เราทำ เราจะทำได้ดีมากค่ะ ยากก็จะทำ จะสู้ เห็นปัญหาเป็น challenge มากกว่าอุปสรรคค่ะ

    เด็กส่วนใหญ่ขาดความตั้งใจแล้วก็ไม่พร้อมค่ะ ส่วนความไม่พร้อมก็เกิดจากหลายๆ อย่างที่ว่าค่ะ  พอเขาไม่ตั้งใจ ไม่พร้อม ก็...ตกค่ะ

    อ้อ...แล้วก็ครูบาอาจารย์ก็มีส่วนค่ะ ถ้าห่างครู ไม่สนิทสนม ครูสอนน่าเบื่อ ดูแล้ววิชานี้ไม่น่าสนใจ ก็ไม่อยากเรียน ดังนั้นจำนวนนักศึกษาต่อห้องมีผลค่ะ แล้วก็ความรู้กับความสามารถในการถ่ายทอดของอาจารย์ก็มีผลค่ะ..

    น่าจะยังมีอีกค่ะ ตอนนี้นึกไม่ออกแล้วค่ะ ; ) ฝากคุณครูกับอาจารย์ทั้งหลายช่วยเสริมด้วยค่ะ ดิฉันยังสรุปไม่ครบแน่ๆ ...

    ขอบคุณที่แวะเข้า ลปรร เสมอนะคะ : )

    สวัสดีครับ

    ปัญหาใหญ่ระดับชาติอย่างนี้ สถาบันควรจะระดมความคิดกันให้มาก เพราะหากไม่แก้ไขก็จะเป็นปัญหาตลอดไป

    ผมเองคิดเล่นๆนะครับว่า กระบวนการคัดเลือกคนเข้าสถาบันอาจจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ นอกจากการสอบเอาคะแนนเข้าแล้วน่าที่จะมีเครื่องมืออะไรสักอย่างวัด  "สภาวะความพร้อมที่จะเรียน" ผมไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรดี ก็ขอเรียกสิ่งนี้ก่อน  หรืออาจจะมีวิธีอื่นๆเช่น มีกระบวนการอะไรสักอย่าง เช่น เข้าค่าย 3

    พิมพ์ยังไม่จบเลย มือไปกดปุ่มแล้ว เอาใหม่

     ...... มีกระบวนการอะไรสักอย่าง เช่น เข้าค่าย 3 วัน 5 วัน แล้ว หากไม่ผ่านก็ไม่รับเข้า เป็นการเตือนตั้งแต่แรกเข้าว่าคุณต้องตั้งใจเรียนมิเช่นนั้น สถาบันไม่แคร์ที่จะให้คุณอยู่  ดูจะเหี้ยมเกรียมมากไปหน่อย

            วิธีอื่นๆ ก็อาจจะมีระบบการเตือนระหว่างเทอม เรียกมาทำความเข้าใจกัน

             ฟังดูเหมือนว่าเด็กไม่มี วุฒิภาวะในการตั้งใจเรียน  แต่ระบบการเรียนการสอนนั้นมีให้กับผู้มีวุฒิภาวะแล้ว หากเป็นสมมุติฐานนี้ ก็ต้องหาทางจัดการในเรื่องวุฒิภาวะครับ เดี่ญวไปก่อน ค่อยเพิ่มเติมกันใหม่ครับ 

     

    สวัสดีค่ะ คุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

    ตอนนี้กระบวนการคัดคนเข้าเรียนค่อนข้างจะเปลี่ยนแปลงยากค่ะ จริงๆ แล้วทาง สกอ. ก็เปลี่ยนแปลงระบบสอบ entrance มาเป็นระบบ admission ที่พยายามเอา GPA ของนักเรียนมาคิดมากขึ้น เพราะอาจประเมินว่าให้ดูความพยายาม ความขยันของนักศึกษาในระยะยาว ดีกว่าสอบเอาเป็นเอาตายครั้งเดียว หรือขยันครั้งเดียวตอน entrance 

    แต่ก็อย่างว่าค่ะ โรงเรียนก็อาจปล่อยเกรดได้ หรืออาจมีคนเถียงว่า เกรดโรงเรียนนี้โหด..แต่เกรดโรงเรียนนั้นครูปล่อยเกรด.. สุดท้ายก็วัดกันไม่ได้หรอกค่ะ... มันเหมือนกับกฎทุกอย่างที่สร้างขึ้นมาใช้ไม่ได้กับทุกคนค่ะ ก็ต้องทำใจค่ะ ว่าระบบคัดเลือกเรากำหนดเองไม่ได้... แล้วก็ระบบคัดเลือกแบบไหนก็คงไม่สมบูรณ์แบบ มันจะต้องมีจุดอ่อนสักที่แหละค่ะ มันเป็นธรรมชาติ...

    ตอนนี้ถ้านักศึกษาสอบติดเข้ามาแล้ว จะเหลือกระบวนการเดียวก็คือสัมภาษณ์ แล้วก็ไม่มีคนตกสัมภาษณ์หรอกค่ะ เพราะคุยกันแป็บเดียว มองไม่ออกหรอกว่าเด็กตั้งใจหรือไม่ เหมาะหรือไม่ที่จะเรียนในสาขานี้

    หรือถ้าประเมินออกว่าเด็กไม่ค่อยปกติ ถ้าจะให้ตกสัมภาษณ์ต้องมีหลักฐานแสดงชัดเจนว่าเพราะอะไร ไม่งั้นโดนฟ้องศาลปกครองแน่ๆ ค่ะ (เดี๋ยวนี้คนใช้สิทธิ มากกว่าใช้เหตุผล บางทีไม่รู้ว่าสิทธิบางอย่างเป็นอภิสิทธิ์) เพราะฉะนั้นอาจารย์ที่คิดจะคัดออกก็ต้องคิดหนัก เพราะหลักฐานที่ชัดเจนจริงๆ นอกจากการพูดคุย ๑๐ นาทีมันไม่ค่อยมี

    ดิฉันว่าเรื่องความตั้งใจของเขาเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ก็คงเกี่ยวกับวุฒิภาวะด้วย สิ่งแวดล้อมแต่เดิมของเขาก็ด้วยค่ะ เหมือนที่ตอบคุณsasinanda ไว้ข้างต้นค่ะ

    ส่วนใหญ่ตอนเรียนวิชาพื้นฐาน นักศึกษาเพิ่งเรียนปี ๑ หรือปี ๒ เทอม ๑ ค่ะ ซึ่งยังสนุกอยู่ ยังค่อนข้างมีความสุขกับการได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่ แล้วก็การบังคับจากครูบาอาจารย์ลดลง ยังไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ แถมเดินเข้าออกมหาวิทยาลัยได้ตลอดเวลา ทำให้เด็กหลายคนเขวได้ค่ะ บางคนมาอยู่หอ ไม่ได้อยู่บ้านกับพ่อแม่ ที่เสียคนช่วงนี้ก็มีเยอะค่ะ (อันนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเลวตลอดชีวิตนะคะ บางคนคิดได้ทีหลัง แต่แก้อะไรไม่ได้แล้ว)

    ถ้าจะให้มหาวิทยาลัยแก้ระบบดูแลนักศึกษา ดิฉันว่าเด็กก็รับไม่ได้ค่ะ เพราะบางส่วนก็คิดว่าเขาโตแล้ว แล้วบางส่วนก็มองระบบการเรียนนี้เป็น"สิทธิ"ของเขา มากกว่าเป็นความจำเป็น นั่นคือจะใช้สิทธิหรือไม่ เป็นเรื่องของเขา เขาตัดสินใจเองได้ ประมาณนั้น

    เหมือนที่อ.ศิริศักดิ์ พูดไว้ในบันทึกว่าเดี๋ยวนี้ นัก..ต่างๆ  ไม่มีความสามารถในสิ่งที่ตัวเองควรจะมี  เช่น นักเรียน นักศึกษา ก็ไม่ได้เข้ามาเรียน มาศึกษา หรือมาเก็บเกี่ยวความรู้ แต่มาเรียนเพราะคนอื่นๆ เขามาเรียน ลูกเพื่อนของพ่อแม่ เขามาเรียนเสร็จแล้วเขาก็ประสบความสำเร็จเป็นโน่น เป็นนี่ ร่ำรวยไปตามๆ กัน ฯลฯ ....  เพราะฉะนั้นนักศึกษาเลยมาเรียนตามกระแส.. มาเอาใบปริญญาบัตร แต่ไม่ได้มา"เรียน" มา"ตั้งใจ"หาความรู้จริงๆ  คล้ายๆ กันกับอาจารย์บางคนที่มาทำงาน"สอน" แต่ไม่ได้"สอน" นักศึกษาจริงๆ นั่นแหละค่ะ

    พอขาดความตั้งใจ ก็...หมดกันค่ะ...หลายๆ อย่างมันก็ไม่เกิด เพราะบางทีแค่มาเรียนยังไม่มาเลย..

    ตอนนี้ที่ตัวเองทำในวิชาที่รับผิดชอบ คือพยายามทำให้เขาเห็นความสำคัญ ให้มีความตั้งใจเพิ่มขึ้น สักนิดก็ยังดี เอาประสบการณ์เก่าๆ ซ้ำซากของรุ่นพี่มาขู่บ้าง แต่ reach-in ไม่ได้หมดทุกคนค่ะ... แต่ยังดีที่ได้บางคนค่ะ ; )

    • สวัสดีครับพี่
    • ถูกใจจังครับ วิดน้ำให้บัวโผล่ วิดจนจับปลาได้เลยหรือเปล่าครับ
    • หรือว่าต้องลอกสระด้วยครับ เป็นไปได้ไหมครับ ที่จะให้บัวที่พ้นน้ำแล้วช่วยปลุกบัวที่อยู่ใต้โคลนขึ้นมาด้วย
    • หรือว่าเราต้องยกฐานสระที่ปลูกบัวให้สูงขึ้น เผื่อว่าจะได้ไม่ต้องเหนื่อยวิดน้ำมากๆ ทั้งมหาสมุทร ทั้งอ่าว ตรงไหนมีบัวก็ยกตรงนั้นให้สูงขึ้น ให้มาตรฐานสูงขึ้น จะได้มีโอกาสปริ่มน้ำได้เร็วขึ้นครับ
    • ขอบคุณมากๆ เลยครับ

    สวัสดีค่ะน้องเม้ง สมพร ช่วยอารีย์ ---------> http://www.somporn.net ---------> http://www.schuai.net

    เพิ่งเข้าไปแก้บันทึกให้เครดิตอดีตอธิการ มอ. ที่เป็นคนพูดคำนี้ให้ฟังค่ะ แก้เสร็จก็เห็นข้อคิดเห็นของน้องเม้งพอดี

    • วิดน้ำให้บัวโผล่ วิดจนจับปลาได้เลยหรือเปล่าครับ

    อันนี้หวังว่าคงไม่ค่ะ เพราะน้ำจะตื้นไป กลายเป็นว่าเราลดมาตรฐานไปหน่อยค่ะ : )

    • หรือว่าต้องลอกสระด้วยครับ

    ยังไม่แน่ใจว่าลอกสระแล้วจะเป็นอย่างไรค่ะ ถ้าลอกคงต้องเอาบัวเก่าออก ต้องเปลี่ยนดินให้เป็นดินปลูกบัวด้วย (หมายถึงหลักสูตร วิธีการสอน กับคณาจารย์) อันนี้คงยากค่ะ ที่จะรื้อหมด ในสภาวะปัจจุบัน

    • เป็นไปได้ไหมครับ ที่จะให้บัวที่พ้นน้ำแล้วช่วยปลุกบัวที่อยู่ใต้โคลนขึ้นมาด้วย

    อาจเป็นไปได้นะคะ แต่การที่จะให้รุ่นพี่มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังเนี่ยก็ต้องคัดพอควรค่ะ ไม่งั้นอาจเหลวได้ แต่เป็นไปได้ค่ะ น่าสนใจทีเดียวค่ะ

    • หรือว่าเราต้องยกฐานสระที่ปลูกบัวให้สูงขึ้น

    อันนี้น่าจะคล้ายๆ กับที่พี่ตีความเรื่องลอกสระหรือเปล่าคะ แต่เท่าที่คิดกรณียกฐานให้สูงขึ้นนะคะ จะเหมือนกับการวิดน้ำออก ก็คือลดมาตรฐานอยู่ดี เพราะยกฐานอำนวยให้บัวมากๆ จะมีบัวพันธ์ขี้เกียจค่ะ ทำเองพัฒนาเองไม่เป็น กลายเป็นบัวก้านสั้นความรู้น้อยค่ะ...

    ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ เห็นบันทึกน้องเม้งแล้วล่ะค่ะ แต่สมองยังไม่สุกงอม คิดยังไม่ค่อยออก เลยยังไม่ได้ทิ้งร่องรอยตอนไปอ่านค่ะ ; )

     

    • สวัสดีครับ
    • ใช่แล้วครับ ยกฐานบัวกับวิดน้ำ คงคล้ายๆ กันครับ ในสองวิธีนี้ คือเป็นการลดมาตรฐาน ปัญหาคือลดได้ถึงแค่ไหนถึงจะยังพอรับได้อยู่
    • ไว้ให้ผมเจอปัญหาโดยตรงก่อนครับ แล้วจะเล่าสู่กันฟังมากขึ้นครับ เรื่องเหล่านี้ ตอนนี้ห่างหายจากการสอนมานานครับ ได้แค่รับรู้แต่สรุปอะไรยังไม่ได้ครับ
    • จุดสำคัญคือเราจะส่งเสริมจากเบื้องล่างอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องวิดน้ำ หรือยกฐานบัว (ครอบครัว อนุบาล ประถม มัธยม เป็นต้นมา)
    • จะมาฟื้นตอนอุดมศึกษาแล้ว บางทีมันก็ไม่สายหรอกนะครับ แต่มันก็หนักมากเลยครับ เช่นพี่จะสอนเด็กปีหนึ่ง แต่เด็กยังงง อยู่กับ สมการใน ม.ต้นอยู่เลย จะกระโดดข้ามก็คงยาก จะทำอย่างไรให้เค้าตามได้ทัน
    • ผมเคยคิดคำตอบเหล่านี้ไว้ ในเรื่องการมีวิชาเสริม ม.ต้น ม.ปลาย ในวิชาที่สำคัญ ทางการคำนวณ และภาษา ให้เค้า ก่อนจะเข้าสู่มหาวิทยาลัย ประมาณการปรับพื้นฐาน ซึ่งอาจจะทำได้เพื่อให้การเรียนการสอนใน ป.ตรี ง่ายขึ้น อาจจะหนักในปีหนึ่ง แต่ปีถัดๆ ไปอาจจะดีขึ้น
    • เด็กอาจจะผ่านการสอบปรับพื้นฐานหลังจากการสอบเข้าได้แล้ว โดยอาจจะมีรุ่นพี่ ปี สอง สาม สี่ มีส่วนในการสอนน้อง แบ่งทีมออกเป็นส่วนๆ อาจจะขอความร่วมมือจากสโมสรนักศึกษา ก็สามารถทำได้ (อันนี้เข้าท่ามากๆ ผมเคยทำสอนอยู่สองปี วิชาแคลคูลัส เคมี ฟิสิกส์ โดยจัดทีมติวขึ้นมา ได้ทั้งกิจกรรมและแนวทางการปรับพื้นฐานให้อาจารย์สอนง่ายขึ้น ลดช่องว่างระหว่างเด็กและอาจารย์ด้วย)
    • จริงๆ แล้วการอยู่ใน ป.ตรี มีได้ 4-8 ปี ใครจะอยู่มากน้อย ก็ตามที่ตัวเองต้องการจะเรียนรู้ ตามที่ตัวเองอยากจะศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยคือสถาบันแห่งการรวมของปราชญ์ทางด้านการศึกษาอยู่แล้วครับ 
    • ขอให้โชคดีนะครับ ผมสร้างลิงก์ในบทความ สวนสมรม มายังบล็อกของพี่แล้วด้วยครับ
    สวัสดีครับ
    P

    เข้ามาแลกเปลี่ยนครับ   ผมมองในหลายๆด้านครับ

    • วิดน้ำให้บัวโผล่ บางคร้งเราคิดว่าจำเป็นที่ต้องให้โอกาสกับเด็ก  แต่บางครั้งก็เป็นช่องทางทำลายเด็กทางอ้อม
    • ในสภาพภาวะสังคมได้แปรเปลี่ยนไป ความนิยมในวัตถุมีสูง สภาพแรงจูงใจในการเรียนเพื่อรู้ แปรเปลี่ยนการเรียนเพื่ออยู่รอด 
    • ในทำนองเดียวกัน สภาพการสอนก็ได้แปรเปลี่ยนไป  สอนเพื่อให้รู้ เป็นสอนเพื่อให้ผ่านไปวันๆ  (มีมากมายในชนบท)
    • ทั้งนี้ไม่สามารถเรียกร้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เปลี่ยนสภาพ ให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
    • พวกเราจึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนกันศึกษาวิธีแก้ไขต่อไป
    • ขอบคุณมากๆครับ

    อาจารย์มาอีกทีค่ะ

    นึกได้ค่ะ ตอนทำงานอยู่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต นานมากแล้ว ทำหน้าที่คัดพนักงาน ไปสอบชิงทุนที่กรมวิเทศสหการสมัยนั้น

    คนที่ได้เกรด3.5ขึ้นไป หน่วยงานส่งสมัครหลายคน

    แต่มีอยู่คนหนึ่งได้2.7 ดิฉันเสนอผู้บังคับบัญชา คนนี้ค่ะ  เขาให้ส่งคนเดียวค่ะ

    • เหตุผล เพราะ เราทราบว่า สถาบันที่เด็กเกรดดีจบมาแบบปล่อยเกรดค่ะ
    • ปรากฏว่าเด็กเกรด 2.7ชิงทุนได้
    • ขออภัยมากๆ ส่วนตัว ดิฉันไม่อยากให้มีการปรับมาตรฐานลง แล้วเราจะสู้ประเทศอื่นเขาได้อย่างไร
    • นอกจาก เราจะให้โอกาสและช่วยเหลือเด็ก

    สวัสดีค่ะน้องเม้ง

    แวะเข้ามารวดเร็วดีจัง เผลอแพลบเดียวเอง ; )

    • จุดสำคัญคือเราจะส่งเสริมจากเบื้องล่างอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องวิดน้ำ หรือยกฐานบัว (ครอบครัว อนุบาล ประถม มัธยม เป็นต้นมา)

    อันนี้คิดว่าสำคัญมากเลยค่ะ ไม่ได้อยากปัดภาระนะคะ แต่ถ้าเด็กมีนิสัยมาอย่างหนึ่งแล้ว แก้ยากค่ะ เพราะฉะนั้นถ้ามีนิสัย"ตั้งใจ" มุ่งมั่นในสิ่งดีๆ ที่ทำติดตัวมา อันนี้จะช่วยได้มหาศาลเลยค่ะ

    • เช่นพี่จะสอนเด็กปีหนึ่ง แต่เด็กยังงง อยู่กับ สมการใน ม.ต้นอยู่เลย

    อันนี้ก็งงเหมือนกันค่ะ ว่าทำไมความรู้พื้นฐานถึงได้เหลือแค่ ม.ต้น!!! เพราะเนื้อหาวิชาพื้นฐานบางวิชา ก็เป็นสิ่งที่เรียนแล้วตอน ม.ปลายค่ะ

    • ผมเคยคิดคำตอบเหล่านี้ไว้ ในเรื่องการมีวิชาเสริม ม.ต้น ม.ปลาย ในวิชาที่สำคัญ ทางการคำนวณ และภาษา ให้เค้า ก่อนจะเข้าสู่มหาวิทยาลัย ประมาณการปรับพื้นฐาน

    แบบนี้ที่คณะฯ ก็ทำอยู่แล้วค่ะ แต่ไม่มีวิชาภาษาค่ะ มีแต่พวกฟิสิกส์กับคณิตศาสตร์ที่เขาต้องใช้มากในการเรียนในคณะนี้ค่ะ มีระบบติวแบบพี่ติวน้อง สโมสรนักศึกษาคณะวิศวฯเป็นคนจัด คณะวิศวฯเป็นคนให้บริการสถานที่เรียนฟรีค่ะ

    • จริงๆ แล้วการอยู่ใน ป.ตรี มีได้ 4-8 ปี ใครจะอยู่มากน้อย

    จริงค่ะที่อยู่ได้ ๘ ปี แต่ส่วนใหญ่เด็กเขาไม่ได้ตั้งใจอยากอยู่เพราะต้องการความรู้เพิ่มค่ะ เขาอยู่เพราะจำใจ ยังไม่จบเพราะเกรดไม่ถึง ๒.๐  แล้วการอยู่แบบนี้มันเสียทั้งผู้ให้และผู้รับค่ะ ผู้รับเสียเวลา ผู้ให้เสียทรัพยากร ประเทศชาติเสียหายเพราะขาดกำลังผลิตค่ะ

    ขอบคุณสำหรับลิงค์นะคะ ยังไม่ได้เข้าไปอ่านอีกครั้งเลยค่ะ มิน่ามีผู้เยี่ยมชมเยอะขึ้นทันตาเห็นตั้งแต่น้องเม้งเข้ามาคอมเมนต์ : ) ขอบคุณมากๆ เช่นกันค่ะ

     

     

    สวัสดีค่ะคุณสิทธิรักษ์

    รูปถ่ายประจำน่ารักมากเลยค่ะ (ขอชื่นชมหน่อยค่ะ เป็นหมีแพนด้าน่ารักจริงๆ)

    ขอบคุณที่ให้ข้อคิดเห็นนะคะ คิดว่าเราเห็นตรงกันค่ะ ว่าปัญหาตอนนี้มันทั้งสองฝ่ายค่ะ คนสอนก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี ให้เต็มที่ คนรับก็ต้องเต็มใจอยากได้ อยากรับ อยากรู้  แต่ตอนนี้ที่มีปัญหาเพราะแต่ละคนตบมือไม่พร้อมกัน มันก็ไม่ดังน่ะสิคะ T_T

    ตอนนี้ก็เลยเน้นให้โอกาสคนก่อน เผื่อเขาปรับตัวได้ แต่ก็เข้าใจผลกระทบที่เราส่งคนไม่พร้อมออกสู่สังคมค่ะ มันอาจทำลายมากกว่าสร้างด้วยซ้ำไปในบางครั้ง.. เข้าใจค่ะ แต่ตอนนี้สำหรับตัวเองอยากให้น้ำหนักกับการให้โอกาสก่อนค่ะ...

     

    สวัสดีครับ 

    P

    ขอคัดลอกขัอความบางส่วนจาก คุณ ดอกไม้ทะเล 

  •  แต่ถ้าครูไปที่ชั้นม.2หรือที่ไหนก็ตามที่มีพวกหนูเรียนอยู่  ความทรงจำเก่าๆของครูก็จะกลับคืนมาและหนูเชื่อว่า ครูต้องมีความสุขแน่ๆเลย .......ถึงวันนั้นจะเป็นวันที่พวกเพื่อนๆและหนู ดีใจมากที่สุดที่ได้เรียนกับครูที่เป็น "ครู" จริงๆ
  • อยากได้บ้านเก่าของเราที่เรียกว่า บ้านนอก คืนกลับมา   เอาตึก เอาคน เอาแสงสีเสียงกลับไปให้หมด ..............................            เด็กเขาเขียนจดหมายแบบที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจเราเลย     ตอนที่แม่โทรฯมาบอกด้วยความดีใจว่าพี่สอบบรรจุได้โรงเรียนดีมีระดับนั้น     พี่ก็ร้องแงๆ ...บอกแม่ในใจว่า  เอาโรงเรียนบ้านนอกของหนูคินม๊า..า

    • ทฤษฎีกลมกลืนนี่ของใครก็ไม่รู้แหละ  พี่ว่าทั้งครูทั้งเด็กจะหนุกหนานมากเลย ถ้าทำตัวกลมกลืนกันไปได้  

    ทุกห้องที่สอน ตอนเดินไปรอบๆห้องพี่จะโอบไหล่พวกเขา  แตะแขนเขา      ถ้าเขาคุยพี่ก็จะแตะสองแก้มเขาเบาๆ  ถ้าเขาเริ่มหลับพี่ก็จะเล่านิทานอีก  
    (คือพอเริ่มคำนามคืออะไร  เธอก็จะหลับกันครึ่งห้อง) ถ้าเขาปากระดาษใส่หลังเพื่อน  พี่จะเดินไปเขย่ามือที่ปากระดาษ  หรือทำท่าตีอย่างแรงมาก แต่แตะที่มือเขาเบาๆเท่านั้น  แล้วบอกเขาดีๆว่า  "น้องแมนอย่าทำเพื่อนนะลูก"

    • ทฤษฎีพูดดีๆด้วยความรักจากหัวใจนั้น  จะเป็นของใครก็สุดแล้วแต่เถิด แต่น่าจะทำให้เด็กรู้สึกดีกว่า "พูดร้ายๆ"  ตั้งเยอะ  และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ด้วย  ถ้าทำให้ถูกจังหวะ

    ทุกเที่ยง ครูจะนั่งทานข้าวด้วยกัน

    • ทฤษฎีปรับทุกข์กับคนที่ไว้ใจ ทำให้รู้สึกวางใจ สนิทใจ  แค่เขารับฟังเราก็รู้สึกดีแล้ว  เป็นการบำบัดขั้นต้นที่ช่วยลดภาระนักจิตวิทยาไปได้มาก  :)
    • พี่แอมป์เห็นเด็กๆเขาคุยกับครูอย่างใกล้ชิดแบบนี้แล้ว รู้สึกทึ่ง...และชื่นใจนัก   เพราะตอนเด็กๆพี่แอมป์ไม่เคยเดินเข้าไปปรึกษาปัญหาชีวิตกับครูคนใดเลย.......แม้แต่คนเดียว 
    • สุดท้ายนี้....พี่จะจำที่เบิร์ดบอกไว้เสมอนะคะ

         ...คุณค่าของการสัมผัสด้วยหัวใจมีมากล้น.....
                  เราอาจสัมผัสคนแค่ 10 วินาที       
              แต่รอยสัมผัสนั้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต..  : )

    • หวังว่าคงเป็นช่องทางหนึ่ง ในการปรับปรุงการศึกษา

    • ขอบคุณมากๆครับ

    สวัสดีค่ะคุณ sasinanda

    เข้าใจประเด็นของคุณsasinanda เลยค่ะ ถ้าเป็นดิฉันก็คงทำอย่างเดียวกันคือส่งคนที่ได้ ๒.๗ ค่ะ ดิฉันก็อยากคัดคุณภาพ มากกว่าตัวเลขค่ะ ยิ่งถ้าเรารู้ว่าบางที่ปล่อยเกรด เราก็คงต้องปรับเกรดเขาลงตอนเราประเมินแน่นอนค่ะ

    จริงๆ ก็ไม่อยากวิดน้ำให้บัวโผล่หรอกค่ะ อันนี้เป็นความรู้สึกแรกเลย เพราะวิชาชีพที่เรียนนี้เกี่ยวข้องกับคนและส่วนรวมมากๆ ค่ะ (วิศวกรรมโยธา) ถ้าไปทำอะไรพังแล้วคนเดือนร้อนได้มาก...  เพราะฉะนั้นการวิดน้ำนี้จะให้โอกาสในวิชาพื้นฐานก่อน เพราะถือว่าเป็นครั้งแรก เด็กอาจยังไม่ปรับตัว แต่ถ้าเข้าวิชาสำคัญๆ อาจารย์เขามักจะไม่วิดแล้วค่ะ เพราะปล่อยออกไปอาจอันตรายต่อสาธารณชนมากกว่าค่ะ

    แต่ตอนนี้ที่ยังวิดอยู่ เพราะต้องให้โอกาสคนในครั้งแรกก่อนค่ะ แล้วก็ต้องพยายามเอาเด็กที่เข้ามาเรียนให้เข้าที่เข้าทางให้ได้ มากน้อยก็แล้วแต่   แต่ยอมรับค่ะ ถ้าทำเองคนเดียวสงสัยทำไม่รอด ต้องช่วยกันอย่างนี้แหละค่ะ

    เห็นด้วยเลยค่ะว่าเราต้องเข้มเพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพ ไม่งั้นประเทศไทยคงแย่ค่ะ เพราะกำลังคนรุ่นใหม่ๆ บางกลุ่มทำอะไรไม่ค่อยเป็น คิดเองยังไม่เป็น แล้วจะไปสู้ต่างชาติได้อย่างไร ใช่ไหมคะ..

    ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร อีกรอบนะคะ ยินดีเสมอค่ะ ถ้ามีประเด็นอีก เชิญได้อีกนะคะ ; )  ขอบคุณค่ะ

     

    สวัสดีอีกรอบค่ะคุณสิทธิรักษ์

    อ่านที่คัดมาแล้วประทับใจมากค่ะ เห็นด้วยค่ะที่ครูจะต้องเป็นครูจริงๆ ค่ะ ปัญหาด้านครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็มีมากค่ะ ว่าจะเขียนอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้จังหวะ...

    ดิฉันก็เป็นคนสอนหนังสือแบบสนิทสนมกับเด็กเหมือนกันค่ะ เดินทั่วห้อง ให้ทำ assignment คอยเดินcheck ว่าแรงๆ กึ่งเล่นๆ บ้าง ให้เขารู้ว่าดิฉันสอนจริงและเอาจริงค่ะ แต่ดิฉันไม่ค่อยละมุนละม่อมค่ะ ต้องทำตัวให้กลมกลืน เพราะสอนเด็กผู้ชายเยอะ แต่ละคนก็พฤติกรรมไม่เบาค่ะเด็กยุคนี้

    ขอบคุณคุณสิทธิรักษ์ ที่คัดมาฝากนะคะ ต้องขอบคุณ อ.ดอกไม้ทะเลกับคุณเบิรด์ด้วยค่ะ ; )

    หากผมอยู่ในอาชีพสอนหนังสือ...ผมอาจจะเข้าใจคนสอนหนังสือได้ดีกว่านี้...ลองพิจารณาข้อคิดเห็นของผมดูนะครับ...

    ...การสอนหนังสือ...เหมือนกับการแสดง...เราเคยเห็นนักแสดงที่เข้าถึงบทไหมครับ...ผู้ชมนี้ขนลุกเลย...ซึ่งการทำอย่างนั้น...เขาต้องทุ่มเทพลังมหาศาล...แล้วดูผู้ที่ยึดการสอนหนังสือเป็นอาชีพสิครับ...แม้ท่านจะเหนื่อยสักเพียงใด...มันเป็นความรับผิดชอบของท่านที่ต้องใสพลังออกมาให้เต็มที่...

    ...เด็กทุกวันนี้...เขามีอิสระทางความคิดมากกว่าสมัยก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้...ไม่ต้องไปโอ้อวดให้เด็กฟังหรอกว่า..."สมัยครูไม่เห็นดื้ออย่างพวกเธอเลย"...หน้าที่นักแสดงคือ...รักผู้ชมของเขาอย่างหมดหัวใจ...แล้วเขาจะแสดงออกมาได้ดี...หน้าที่นักขาย (อย่างผม) ก็คือรักลูกค้าโดยไม่มีเงื่อนไข...เราจะเสนอการขายได้อย่างเป็นธรรมชาติ...หน้าที่ผู้สอน...ถามตัวเองแล้วกันว่า...ความรู้สึกลึก ๆ ข้างในแบบไม่เสแสร้ง..."รู้สึกอย่างไรกับคนที่จ่ายเงินเพื่อมานั่งฟังการบรรยาย..."..."มอบความรัก...ความเมตตาให้เขามาก ๆ"...เป็นสิ่งที่ฝึกกันได้ครับ...ความรักเป็นการปฏิบัติ...ไม่ใช่ความรู้สึก...

    ถ้าผมสอนแล้วเด็กตกมากขนาดนั้น...ผมจะลาออกไปทำอย่างอื่น...เพื่อทดสอบดูว่า...เด็กโง่หรือเราโง่กันแน่...

    แด่คุณครูด้วยความรัก

    สวัสดีค่ะคุณสวัสดิ์

    คุณสวัสดิ์คิดได้ถูกต้องแล้วค่ะที่ว่า "หากผมอยู่ในอาชีพสอนหนังสือ...ผมอาจจะเข้าใจคนสอนหนังสือได้ดีกว่านี้..."

    การเรียนการสอนนั้นคู่กัน ถ้าคนไม่เรียน สอนเท่าไหร่ก็ไม่ได้หรอกค่ะ และในทางกลับกัน ถ้าคนไม่สอน เรียนจากคนสอนคนนี้คงไม่ได้ (แต่เรียนด้วยตัวเองได้)

    ถ้าขืนให้อาจารย์ทั้งหลายพิจารณาลาออก ในกรณีที่คุณสวัสดิ์บอกว่า "ถ้าผมสอนแล้วเด็กตกมากขนาดนั้น...ผมจะลาออกไปทำอย่างอื่น.." ถ้าเป็นเงื่อนไขบังคับ ก็คงต้องมีคนลาออกไปประกอบอาชีพอื่นๆ เป็นจำนวนมากๆ แน่

    เรื่องการเป็นนักแสดงหรือการเป็นนักขายในที่นี้ดิฉันไม่ขอวิจารณ์ว่าเหมือนหรือต่างอย่างไรกับการสอนหรือการเป็นครูนะคะ มีความรู้ทางด้านการนั้นๆ น้อยค่ะ...

     

    โดนใจจังเลยค่ะอ.ตุ๋ย

    " วิดน้ำให้บัวโผล่ วิดจนจับปลาได้เลยหรือเปล่าครับ

    อันนี้หวังว่าคงไม่ค่ะ เพราะน้ำจะตื้นไป กลายเป็นว่าเราลดมาตรฐานไปหน่อยค่ะ : ) "

    หนิงไม่ได้อยู่สายสอนนะคะ  แต่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการศึกษา ผลิตสื่อ และผลสัมฤทธิทางการศึกษาของเด็กพิการ  ขออนุญาต ลปรร  เรื่องใกล้ตัวนะคะ

    หลายครั้งที่หนิงได้คุยกับผู้ใหญ่ในแวดวงคนพิการ  ที่บางท่านพยายามอยากให้ DSS ผลักดันนโยบายโควต้าพิเศษสำหรับผู้พิการ  บอกว่าเพื่อให้คนพิการสอบเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น

    โดยส่วนตัวหนิงเอง  ไม่เห็นด้วยค่  (โหดร้ายไปไหมคะ ) เพราะเข้าทำนองที่อ.ตุ๋ย ว่านี่แหละค่ะ วิดน้ำให้บัวโผล่  หนิงเลยแค่นำเสนอต่อผู้บริหารขั้นสูงต่อไปและแสดงความคิดเห็นของตัวเอง  ว่าไม่เห็นด้วยเพราะ  เราไม่ได้ต้องการคนพิการที่จบปริญญาตรีมากขึ้น  แต่เราต้องการพัฒนาศักยภาพผู้พิการเพื่อสู่การได้งานทำและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจริงๆ  การศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่ง่ายๆ  อุปสรรคมากมาย  ขนาดนิสิตทั่วไปยังต้องฝ่าฟัน  อาจารย์ผู้สอนก็ภารกิจมากมายทั้งวิจัยทั้งสอน ไหนจะบริการวิชาการอีก ไม่ได้ใกล้ชิดเด็กเหมือนการศึกษาระดับต้นๆ  ถ้าเราเอานิสิตพิการเข้ามาด้วยช่องทางพิเศษ  แบบวิดน้ำให้บัวโผล่  นั้นกว่าบัวจะออกไปชูช่อสง่างามพ้นขอบสระได้นั้น  คนวิดน้ำจะทำอย่างไรต่ออีกคะ  คนวิดน้ำไม่สามารถไปขุดขอบสระให้ต่ำลงอีก  เพื่อให้สังคมมองเห็นดอกบัวที่ชูช่อ(สายบัวสั้นๆ เพราะน้ำตื้นๆ)  แต่เอ...ใครจะอยากเก็บดอกบัวที่ก้านดอกสั้นๆ บ้างคะ จัดแจกันก็ไม่งาม  เอาไปแกงก็สายบัวสั้นไป

    อย่าลืมว่า  เราไม่ใช่แค่ต้องการให้ดอกบัวโผล่และปล่อยให้โรยราไปเฉยๆใช่ไหมคะ

    หนิงค่อนข้าง จะเห็นด้วยกับการรักษามาตรฐานในการศึกษาแต่ละระดับ  แต่ละช่วงชั้นนะคะ  เพราะจะได้ไม่ต้องมาโทษกัน  ทุกท่านที่อยู่ในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติ  ต้องมีวินัยในการรักษาระดับมาตรฐานของตนเองค่ะ  ไม่ใช่แค่ตัวเลขสวยๆเพื่อเอาใจผู้บริหารนะคะ  มาตรฐานเชิงประจักษ์ อ่ะค่ะ

    และความคิดเห็นส่วนตัว ด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ  หนิงเคยเขียนไว้ การจัดการศึกษาของผู้พิการใน"สังคมไม่ทอดทิ้งกัน" ค่ะ

    อีกรอบค่ะ 

    หนิงเชื่อว่า  มหาวิทยาลัย (สถาบันการศึกษาทุกระดับ)  ไม่ใช่สถานที่ที่ให้ หนุ่มสาวเข้ามาเดินเล่น   ขวักไขว่  ชุบตัวออกไปเพื่อบอกใครๆว่า...ชั้น(ผม) เป็นบัณฑิต

    ต้องมีคุณภาพและรักษามาตรฐานค่ะ

    ไม่เช่นนั้น  หนิงเสียดายเวลาค่ะ  ตั้ง 4 ปี (หรือมากกว่านั้น )  ในช่วงชีวิตที่ต้องค้นหาตัวเองของเขา  ที่มาศึกษาเพื่อเป็นทุนในการดำรงชีวิตและไปประกอบอาชีพ

    สวัสดีครับ ... อาจารย์

    • Gotoknow เค้ามี Vote ไหมครับ ... ขอเปิด Vote ครับ (แบบ AF เลย)
    • โอ้ !!! ประเด็นนี้ เตรียมเปิดเสวนาและสัมมนาระดับชาติกันอีกรอบ
    • "วิดน้ำให้บัวโผล่" ... ชีวิตอาจารย์ทำกันทุกคน เวลาตัดเกรดกันที (ปัจจุบันนี้เลยครับ ยังตัดสินใจไม่ได้เลยว่า จะให้มันโผล่ หรือ จะให้มันจม)
    • แน่นอนครับ ... เราในฐานะครู มีทางเลือกให้สำหรับลูกศิษย์ที่ยังไม่สามารถว่ายน้ำผ่านเส้นยาแดงผ่าแปดของเราได้ .. ก็คือ
    • 1. ถ้าเป็นครูใจดี มีเมตตา .. ติด ร. ไว้ก่อนไหม แล้วทำงานมาส่งครูสักชิ้น หรือหลายชิ้น ครูจะให้ D หรือ มากกว่านั้น ถ้าสิเน่หาพอ เช่น มาเรียนของเราครบ แต่งานห่วย สอบไม่ได้เรื่อง หรือถ้าไม่ติด ร. (วิชาลืม) ก็ต้อง "เดี๋ยวครูยกให้ เอา D ไป (เพื่อให้เธอไปตายเอาวิชาอื่นต่อไป ครูจะไม่เป็นคนฆ่าเธอหรอก แต่ครูจะให้เพื่อน ๆ ครู เป็นคนจัดการ ... อันนี้เพื่อน ๆ ผมใช้มาตรฐานนี้)
    • 2. ถ้าเป็นครูใจร้าย ใจโหด ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ... เธอทำได้เท่าไหร่ เธอรับไปเท่านั้น ... กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนองตนเอง (อันนี้ ผมใช้บ่อย แบบผมน่ะ ใจร้าย เพราะผมแจ้งตั้งแต่ชั่วโมงแรกไปแล้ว) ประเด็นนี้ ... ข้อดีก็คือ ให้เด็กที่ไม่ไหว ไปเตรียมความพร้อมใหม่ในการลงทะเบียนครั้งหน้า และก็ฐิติของอาจารย์ คือ วิชาชั้นมีมาตรฐานนะเฟ้ย ไม่ใช่ มาลงมั่ว ๆ แล้วรับเกรดไป แวะมาทำตลก เดี๋ยวไล่ไปพระราม 9 คาเฟ่ เลยนิ
    • แต่ ......... ในความเป็นจริง โลกเราไม่ได้มีแค่เหรียญ 2 ด้าน นะสิครับ ... ทุก ๆ ภาคเรียน มันก้ำกึ่งใน 2 ประเด็นข้างต้นนะสิ มันต้องหาเงื่อนไข ข้ออ้าง ตัวแปรแปลกมาใช้ในการตัดสินใจเสมอ ... ครับ
    • ผมก็ยังเชื่อครับว่า "กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นต้องตอบสนอง" โดยเฉพาะ ม้วนหนังสือพิมพ์มานั่งเรียนเนี่ย .. ความจริงน่าจะม้วนเสื่อกลับไปได้เลย อาจารย์ว่าไหมครับ อิ อิ :)

    สวัสดีครับ

          อีกมุมมองหนึ่งที่ต้องการสะท้อนก็คือบุคลากรทางการศึกษาเราพอเพียงหรือไม่ที่จะช่วยกันวิดให้บัวโผล่  เพราะในต่างจังหวัดในสถาบันทางการศึกษานั้นเราเห็นได้ชัดเจนว่าขาดแคลน ที่สำคัญบุคลากรเหล่านั้นยังไม่มีความมั่นคงของตัวเอง (อัตราจ้าง)แล้วเขาจะเอาจิตวิญญานที่ไหนใส่ลงไปอย่างเต็มที่

    สวัสดีอีกครั้งครับ อาจารย์กมลวัลย์

    • คือว่า ... บัวของอาจารย์ครับ ... ขี้เหร่จัง (ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สวยมาก, แต่ภาษาไทย ขอสงวนสิทธิ์ครับ ไม่แปล)

    ขอบคุณครับ

    อาจารย์กมลวัลย์ครับ ผมคิดอยู่นานว่าจะร่วมแสดงความคิดเห็นกับบันทึกนี้ของอาจารย์ดีหรือเปล่า แต่เมื่อได้ไปขอคำปรึกษาจากลูกสาว(อยู่ชั้น ม.๖) เธอบอกว่าดี แต่ให้ระมัดระวังการใช้ภาษา ซึ่งผมได้ขัดเกลาแล้วนำมาโพสต์ดังนี้ครับ ผมว่าเราพูดกัน(เอง)ไปมาในบล็อกนี้ ยิ่งเสริมความหดหู่ ความมืดมน ความคับข้องใจ ไม่เห็นทางออก แล้วเราก็ "โยน" ออกนอกตัวเราไปที่ระบบการศึกษาบ้าง สังคมบ้าง ครอบครัวบ้าง ตัวผู้เรียน(ที่ "เลว" ที่ "ไม่ได้มาตรฐาน" ที่ ฯลฯ) เป็นไปได้ไหมครับว่า ...  ๑. สิ่งที่บรรดาอาจารย์คิดว่าดี คิดว่าจำเป็นที่นักศึกษา "ต้อง" รู้ "ต้อง" ได้คะแนนระดับนี้ และก็ต้องอย่างโน้นต้องอย่างนี้อีกร้อยแปดที่เขา "ต้อง" ทำให้ได้นั้น นักศึกษาเขาไม่ได้รู้สึกอย่างเดียวกัน (หรืออย่างน้อยเราก็ไม่สามารถทำให้รู้สึกอย่างเดียวกันได้) ๒. แม้จะรู้สึกอย่างเดียวกัน แต่เป็นไปได้ไหมครับที่เขาเองก็กำลังรู้สึก(โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว)ว่าวิธีที่เธอ (หมายถึงอาจารย์) ปฏิบัติต่อฉันและเพื่อน(นักศึกษา)ไม่เห็นได้เรื่องเลย (ทั้งวิธีการปฏิบัติตัวและวิธีเรียนวิธีสอน) ๓. และยิ่งเธอบอกว่า หากฉันมาปริ่มๆ น้ำแล้วเธอจะช่วยวิดน้ำออกนิดหน่อยให้ฉันโผล่ด้วย เธอแน่ใจได้อย่างไรว่าพวกฉันทุกคนรู้สึกดีจริงๆ ฉันอาจจะไม่ใช่คนประเภทที่อยากให้ใครมา "สงสาร" หรือรู้สึกสมเพชในตัวฉันก็ได้ เพราะฉันไม่ได้แย่ขนาดนั้น (ผมอาจจะเขียนแรงไปหน่อย แต่เคยมีคนหนึ่งบอกผมอย่างนั้นจริงๆ ครับ) ๔. เธอรู้ได้อย่างไรว่าฉันไม่คิด ไม่เข้าใจ และไม่มีเรื่องทุกข์ใจกับการเรียนการสอนของฉันมากไปกว่าเธอ เธอรู้ได้อย่างไรว่าฉันไม่รู้ความทุกข์ของเธอเรื่องการวิดน้ำ ... ผมเขียนแบบนี้เพื่อกระตุ้นให้อาจารย์ลองถอดใจตัวเองออกมาคิดจากมุมของ "คุ่กรณ๊" ดูบ้างเท่านั้นเองครับ คำตอบทั้งหมดคงไม่ได้อยู่ที่เรา "คิดเอาเอง" หรือ "คิดกันเอง" ในบล็อกนี้หรอกนะครับ  อาจารย์อ่านความเห็นผมเสร็จแล้ว ปิดเครื่อง แล้วไปหา(หมายความว่าเดินไปตามหาเขาที่ใต้ต้นไม้ ที่โรงอาหาร หรือที่ไหนที่พวกเขาชอบ hang around ไม่ใช่เรียกมาพบที่ห้องพักครู) สักคนสองคน แล้วขออนุญาตนั่งร่วมวง แบ่งปันความทุกข์ ความคับข้องใจของเรา (หรือความสงสัยใคร่รู้ก็แล้วแต่) ขอความรู้จากเขา ขอให้เขาบอก(หรือสอน)เราหน่อยว่า เราควรทำอย่างไร บอกเขาว่าเราอยากเรียนรู้ร่วมกันไปกับเขา เพราะเราไม่ใช่สัพพัญญูที่รู้ทุกเรื่อง แสดงให้เขาเห็นว่าเรามีความจริงใจอยากเรียนรู้จริงๆ อย่างนี้จะพอช่วยได้ไหมครับ ขอให้อาจารย์ได้พบคำตอบแล้วมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์อีกนะครับ สุรเชษฐ
    • สวัสดีครับอาจารย์
    • ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ผ่านการเรียนมหาวิทยาลัยมาด้วยการวิดน้ำของอาจารย์ครับผมเองมีผลการเรียนวิชาพื้นฐานที่อ่อนมากครับคือ C และ D แทบทุกวิชา วิชาอย่างแคลคูลัสซ่อมแล้วซ่อมอีกไปผ่านแคลคูลัส 2 เอาเทอมสุดท้ายของปี 4 แต่พอเข้าวิชาเมเจอร์ ก็สามารถเรียนได้ดีขึ้นครับ เนื่องจากความชอบ
    • วิชาพื้นฐานมีความจำเป็นอย่างมากครับ อย่างน้อยก็เป็นการวัดกำลังใจของนักศึกษา
    บัวที่โผล่ได้เพราะอาจารย์วิดน้ำช่วย
    กระผมก็เคยเป็นบัวที่อาจารย์เคยวิดน้ำช่วยตอนสมัยเรียนปริญญาโทครับ ซึ่งกระผมทราบเพราะกระผมมีพื้นฐานที่ไม่ค่อยดีแต่เป็นคนที่มีความพยายามและกระผมก็มีความตั้งใจ จนกระทั่งสามารถฝ่าฝันกระบวนการต่างๆในการศึกษาครั้งนั้นมาได้ จริงๆแล้วกระผมคิดว่าการวัดผลด้วยการสอบเป็นเพียงการวัดความจำข้อมูลในข้อสอบแบบปรนัยและอาจจะมีการวัดความคิดความเข้าใจกรณีข้อสอบแบบอัตนัย แต่ยังไม่ได้วัดพัฒนาการความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการทางความคิดและการวิเคราะห์เป็น ซึ่งพอมาทำงานแล้วจำเป็นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ และการคิดวิเคราะห์เป็นมากกว่าแค่ความจำข้อมูล ท่านอื่นคิดว่าจริงหรือเปล่าครับ ตอนนี้กระผมคิดว่าการศึกษาของไทยเป็นแบบครูช่วยวิดน้ำให้บัวโผล่แล้วจึงส่งต่อให้อาจารย์วิดน้ำให้บัวโผล่ต่อ แล้วการลดระดับน้ำจะช่วยบัวได้ทุกพันธุ์จริงหรือครับ กระผมคิดว่าต้องมาเตรียมที่พื้นฐานให้ดีครับ เอาแค่สิ่งที่จำเป็นต้องเรียนรู้และรู้อย่างเข้าใจ  เพื่อที่จะไปต่อยอดความรู้ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองมีความเหมาะสม ไม่ใช่สอบที่เหมาะสมไม่ได้ก็ไปเรียนอะไรก็ได้แค่ให้จบปริญญา แล้วค่อยออกมาหางานทำพอทำงานแล้วรู้ว่าไม่ใช่ที่ตนเองทำแล้วเหมาะสม ทำได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร  ผลลัพธ์ออกมาประสิทธิผลก็ไม่ดี แล้วอย่างนี้จะต้องทำอย่างไรครับ

    สวัสดีค่ะคุณหนิง P : )

    ไม่ได้คุยกันนานเลยนะคะ เห็นผ่านไปผ่านมาในบันทึกพ่อครูฯ บ่อยๆ แต่ไม่ได้ทักทายกัน ^ ^  ดีใจที่ได้คุยอีกครั้งค่ะ

    ประเด็นนี้เขียนไว้เมื่อหลังเทอม 2/49 ตอนนี้หลังเทอม 1/50 แล้ว ก็ขอรายงาน update เำพิ่มเติมว่านักศึกษายังตกวิชาพื้นฐานกันระนาวอยู่ค่ะ นศ.ประมาณ 260 คน (รวมทุกภาควิชา) ได้ A แค่ 3 คน F ประมาณ 60 คน ถ้าจำไม่ผิด น่าจะตัด F ที่ 35 คะแนนค่ะ  T_T  สถิติเดิมๆ ค่ะ

    ก็ไม่รู้จะโทษอาจารย์ดีหรือศิษย์ดีแล้วค่ะ (ล้อเล่นค่ะ ^ ^) สงสัยจะทุกฝ่าย ไม่เป็นที่คนสอน ก็เป็นที่คนเรียน แล้วก็ที่ระบบ

    พี่เห็นด้วยนะคะว่าไม่อยากลดมาตรฐานเลยค่ะ แต่ตอนนี้ถ้ายกเกณฑ์เป็น F ที่ 50 น่าจะหายไปเกือบครึ่งหนึ่งเลยค่ะ  อยากบอกเด็กคนที่ขี้เกียจและไม่ตั้งใจจังว่า ขนาดเด็กที่พิการเขายังอยากไปโรงเรียนเลย (ไปอ่านที่ การจัดการศึกษาของผู้พิการใน"สังคมไม่ทอดทิ้งกัน" มาแล้ว และชื่นชมความคิดและการกระทำมากเลยค่ะ) คนทีครบ ๓๒ ทำไมทำร้าย ตัวเอง พ่อแม่ และสังคม ด้วยความไม่สนใจแบบนี้

    พี่ว่าปัญหาส่วนหนึ่งเป็นที่ระบบด้วยค่ะ อย่างที่คุณหนิงบอกว่า ต้องรักษามาตรฐานในแต่ละระัดับน่ะค่ะ แต่ตอนนี้พี่คิดว่ามาตรฐานแต่ละระดับมันต่ำลงไปหมดโดยรวมค่ะ สมัยที่พี่เรียนมีการตกซ้ำชั้นค่ะ เดี๋ยวนี้ไม่มี ไม่มีคำว่าเรียนไม่จบประถมหรือมัธยม (ถ้ามีตังค์ซื้อข้าวและเดินทางไปโรงเรียน) เพราะเรียนแล้วซ่อมได้ จบหมด ไม่มีซ้ำชั้น (ถ้าเข้าใจผิดตรงนี้แล้วใครมีข้อมูล ฝากให้ข้อมูลแก้ไขด้วยนะคะ)

    แถมระบบ O-NET ปัจจุบันก็คิดคะแนน GPAX ม.ปลาย ซึ่งกลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดการปล่อยเกรดขึ้นมาโดยปริยายเพื่อให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนมีโอกาสมากขึ้น แล้วถ้าโรงเรียนไหนไม่ทำ ก็อาจโดนผู้ปกครอง นักเรียนบ่น หรือผู้บริหารอาจโดนกดดันเพราะทำงานไม่ถึงเป้าก็ได้ค่ะ (อันนี้เดานะคะ อาจจะคิดติดลบไปหน่อยค่ะ แต่ก็ไม่อยากโทษกันค่ะ มันคล้ายๆ กันกับในมหาวิทยาลัยค่ะ ที่ performance ของผู้บริหารคือจำนวนนักศึกษาเข้ากับจบออกไปได้งานทำ ไม่ใช่คุณภาพของนักศึกษา)

    นั่นคือเราวิดน้ำให้บัวโผล่กัน อะลุ่มอล่วยกันตั้งแต่เด็กจนโต เข้าทำนองแนวความคิดยอมๆ กันไปก่อนแบบ "ไม่เป็นไร" หรือ "เอาน่า...เดี๋ยวก็ดีเอง..." (ตัวเองก็เป็นในบางครั้งค่ะ เพราะคิดว่าบางอย่างต้องยืดหยุ่นบ้าง เหมือนกับเรื่องการปล่อยคนที่ไม่น่าจะผ่านให้ผ่านไปไ้ด้ในเรื่องนี้แหละ่ค่ะ)  แต่พอยืดหยุ่นจนกลายเป็นการลดมาตรฐานกันทั้งหมด ก็เกิดสภาพตามที่เห็นค่ะ

    อีกอย่างคือ มีค่านิยมในเด็กบางกลุ่มเรื่องการเป็นวิศวกร หรือการมีวิชาชีพ ว่าเท่ห์และรวยโดยไม่ต้องมือเปื้อนหรือทำงานหนัก (เป็นความเข้าใจผิดๆ)  ทำให้เด็กบางกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการเรียนในสาขานี้ (พื้นฐานคณิตศาสตรกับฟิสิกส์ไม่ค่อยดี) หันเข้ามาสอบเข้าสายนี้กันมากขึ้น ประกอบกับมีการเปิดรับจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่พร้อมบ้าง ไม่พร้อมบ้าง มากขึ้น (ตามนโยบายรับไว้ก่อน ให้โอกาสไว้ก่อน) 

    โดยสรุป..

    • มีนักศึกษาที่ไม่ qualify ตั้งแต่ต้นมากขึ้น
    • จำนวนที่มาก ส่งผลต่อการสอน ไม่มากก็น้อย
    • ระบบการศึกษาที่อ่อนลง หรือมาตรฐานต่ำลงทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ..

    เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ซึ่งอาจจะถูกบ้างผิดบ้าง เพราะไม่ได้ศึกษามาจริงจัง แต่เอามาจากประสบการณ์เท่าที่มีค่ะ

    แต่ได้คุยบ้างก็ดีนะคะ เหมือนทำความเข้าใจปัญหา แล้วก็แก้ไขกันไปตามกำลังที่มีค่ะ ขอชื่นชมและเลียนแบบสิ่งที่คุณหนิงทำให้กับเด็กๆ ด้วยค่ะ ^ ^  

    สวัสดีค่ะอ. Wasawat Deemarn

    จะเปิด vote เรื่องนี้หรือคะ อย่าเลยค่ะ ^ ^ ให้คนที่มีอำนาจ หรือผู้บริหารมาเสวนาแล้วค่อยๆ เปลี่ยนระบบจะดีกว่าค่ะ แต่ถ้าเป็นอย่างที่ตัวเองคิดนะคะ ระบบที่ว่านี้มันเกี่ยวข้องกันหมดและเป็นระบบใหญ่ๆ ทั้งนั้น

    • ระบบการศึกษาประถม มัธยม
    • การคัดครู
    • การสนับสนุนวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพที่มีผู้เลือกเรียนหรืออยากเป็น มากกว่าเป็นเพราะไปเรียนอย่างอื่นไม่ไหว
    • ระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
    • การคัดอาจารยเข้า์ การคัดอาจารย์ที่ไม่เหมาะออกจากระบบ
    • ระบบการสนับสนุนคุณธรรม จริยธรรมของประชาชนในทุกระดับ

    เท่าที่คิดออกแบบเร็วๆ ก็ประมาณนี้ค่ะ แต่อย่าถามนะคะว่าต้องเปลี่ยนอะไรในรายละเอียดบ้าง เกรงว่าจะไม่สามารถตอบได้ค่ะ ความรู้ไม่พอนะคะ ^ ^

    สำหรับเรื่องจะวิดหรือไม่วิดน้ำนั้นแต่ละครั้งจะคิดพิจารณาเหตุผลเป็นครั้งๆ ไปค่ะ ต้องยืดหยุ่นและต้องแข็งขืนเป็นบางครั้งค่ะ ดูประโยชน์ของสังคมและของเด็กเป็นหลักค่ะ

    ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ 

     

    สวัสดีค่ะคุณ Chana

    น่าเห็นใจครูอัตราจ้างมากๆ เลยค่ะคุณชนะ ถึงได้ตอบอ.Wasawat Deemarn  ไว้ข้างต้นว่าส่วนหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนคือการสนับสนุนครูให้อยู่ได้อย่างมั่นคง และต้องคัดกรองคนที่จะมาเป็นครูให้มากกว่านี้ ไม่เช่นนั้น เราก็จะได้ครูที่เป็นบัวปริ่มน้ำ (ที่อาจจะถูกวิดมาแล้ว) มาสอนเด็กๆ ในต่างจังหวัดที่ขาดโอกาสอยู่แล้วก็ได้

    แต่ต้องบอกอย่างหนึ่งว่า ดิฉันรู้จักคุณครูดีๆ ที่ทุ่มเทและสนใจเด็กมาก อย่างน้อยหลายคนใน gotoknow ที่เข้ามาทักทายในนี้ ล้วนแล้วแต่มีใจเป็นห่วงอนาคตของประเทศชาติกันทั้งนั้นค่ะ 

    มีหลายๆ อย่างที่หลายๆ ฝ่ายต้องช่วยกันทำช่วยกันแก้ค่ะ ถึงแม้จะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุบ้างก็ตาม ก็ยังดีนะคะ

    ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร กันค่ะ 

    สวัสดีครับพี่

    ลองนึกๆดูก็น่าเห็นใจทั้งบัวและคนเลี้ยงบัวนะครับ

    ถ้ามองที่เจตนาก็คงไม่มีใครอยากจะทำร้ายบัว

    Phenotype (บัวที่เราเห็น) = Genotype (บัวที่เขาเป็น) + Environment (บรรยากาศการเลี้ยงบัว)

    ขอบคุณครับ

    สวัสดีค่ะ อ.สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

    อาจารย์คิดถูกแล้วค่ะที่เขียน ^ ^ ดิฉันเองก็ต้องการมุมมองใหม่ๆ อื่นๆ ด้วยค่ะ บางทีตัวเองอาจจะมองไม่ครบก็ได้ค่ะ

    ตอนเขียนบันทึกนี้ยอมรับค่ะว่าคับข้องใจ เป็นห่วงว่าอนาคตเด็กเหล่านี้จะเป็นอย่างไรและเป็นห่วงสังคมที่เด็กที่ความรู้ไม่ถึง หรือร่อแร่มากๆ ไปทำงานด้วยค่ะ  พอดีสาขาที่เกี่ยวข้องเป็นวิศวกรรมโยธา ซึ่งถ้าผู้ปฏิบัติงานขาดความรู้พื้นฐานที่ดี จะส่งผลเสียได้มากๆ เช่น ไปควบคุมงานก่อสร้าง ออกแบบผิดพลาด มันส่งผลเสียหายมากๆ จริงๆ วิชาพื้นฐานที่ดิฉันบ่นๆ ในบันทึกนี้เป็นพื้นฐานมากๆ ของวิศวกรรมโยธาค่ะ (แต่สาขาอื่นๆ ก็เรียนเป็นพื้นฐานด้วยค่ะ) 

    ปัญหาเท่าที่ตัวเองคิดตอนนี้จะคล้ายๆ กับที่สรุปคุยกับคุณหนิงไว้ข้างต้น [426555] น่ะค่ะ

    ยอมรับว่าโทษตัวเองด้วยเหมือนกันเวลาที่เราเตรียมได้ไม่พร้อมสำหรับความต้องการที่หลากหลายของเด็กทุกคนค่ะ พยายามปรับตัว ปรับวิธีการ และให้ความเข้าใจเด็กเสมอ แต่เด็กเยอะมาก เ้ข้าไม่ถึงทุกคนค่ะ เมื่อวันก่อนคุยกับหัวหน้าภาคฯ ว่าจะสวนกระแสรับเหลือครึ่งเดียว แต่สงสัยจะโดนผู้บริหารตำหนิ เพราะไม่เปิดโอกาส และโดนผู้ปกครองต่อว่าในทำนองเดียวกันแน่ค่ะ  แต่ถ้าทำได้ตามนั้นจริง ดิัฉันยืนยันว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมาะเป็นวิศวกรค่ะ เพราะฉะนั้้นการเปิดโอกาสไว้ก่อน ไม่ใช่ทางเลือกที่ส่งผลดีต่อสังคมในระยะยาวค่ะ เหมือนผลิตคนไป ๒๐๐ แต่ทำงานได้ไม่ดีเท่าคนที่ถูกคัดมา ๕๐ คน แถมอีก ๑๕๐ ที่ผลิตแบบร่อแร่ออกไปอาจทำความเสียหายทีละเล็กละน้อยได้มากเหมือนกัน

    อ้อ ตอนนี้ปิดเทอมค่ะ ไปหาเด็กคงไม่พบสักเท่าไหร่ แต่ก็มีบางคนที่ำทำ robot camp อยู่ค่ะ เด็กที่ทำกิจกรรมเยอะก็มีค่ะ แล้วก็เด็กที่เข้ามาด้วยโควต้ากีฬาก็น่าสงสารค่ะ เพราะบางคนซ้อมทุกเย็นค่ะ ไม่มีเวลาทำการบ้าน ถึงเวลาก็ต้องลาไปแข่ง ขาดเรียน ขาดสอบค่ะ ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยให้โอกาสเขาเข้ามา แต่ไม่ได้ให้โอกาสเขาเรียนในกรณีนี้ค่ะ ตัวเองเคยเขียนจดหมายให้เด็กไปขอลาซ้อมกีฬา เพื่อให้มีเวลาอ่านหนังสือบ้าง 

    ยอมรับว่าปัญหาพื้นฐานของเด็กหลากหลายค่ะ เด็กที่สจพ.มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดมากค่ะ ยากจน ทุนไม่มีก็เยอะค่ะ 

    ดิํฉันพยายามจะทำให้เขาสนุกกับการเรียน ได้รู้สึกว่าตัวเองทำได้ทำสำเร็จเป็นแรงกระตุ้น พยายามออกแบบการสอนให้เป็นแบบนั้น แต่ก็ยังมีเด็กบางส่วนที่กระตุ้นไม่ขึ้นจริงๆ 

    แต่นี่ก็เป็นความเห็นกับการปฏิบัติของอาจารย์คนหนึ่งในวิชาหนึ่งๆ นะคะ ไม่ได้แปลว่าดีแล้ว หรือไม่ได้แปลว่าอาจารย์คนอื่นๆ ทำได้ดีหรือแย่กว่านี้ค่ะ

    ตอนนี้ที่รู้สึกคือว่าเด็กไม่ย่อย ไม่พยายามรับสิ่งที่เราสอนค่ะ เหมือนเขาหมดความพยายามเร็วมากๆ จนเหมือนยังไม่ได้ลองด้วยซ้ำ .. บางทีดูการบ้านที่ลอกกันมาหมดแล้วก็....ถอนหายใจค่ะ  ให้ทำในห้องก็คุยเล่นเพลินๆ สนุกสนาน แล้วก็ทำงานช้ามาก ต้องบอกทุกขั้นทุกตอน ขาดความมั่นใจ เพราะไ่ม่เคยทำเองที่บ้าน ไม่เคยฝึกฝน...  เวลาดูกระดาษคำตอบว่างๆ แล้วก็อยากโทษตัวเองเหมือนกันค่ะ T_T

    ตอนนี้ก็ปรับแก้ไปเรื่อยๆ ค่ะ อาจจะดูไม่ค่อยมีผล แต่คิดว่าคนเราต้องมีความพยายามและความหวังค่ะ ^ ^

    ขอบคุณที่เข้ามา ลปรร นะคะ 

    สวัสดีค่ะคุณ P 25. สุดทางบูรพา  เมื่อ พ. 17 ต.ค. 2550 @ 14:43

    และคุณ ไม่มีรูป 26. บัวที่โผล่ได้เพราะอาจารย์วิดน้ำช่วย   เมื่อ พ. 17 ต.ค. 2550 @ 15:15

     

    ดีใจที่เห็นผู้ที่ผ่านประสบการณ์แบบนี้โดยตรงมาให้ความเห็นนะคะ  อยากจะเห็นว่าโอกาสที่เปิดให้กับนักศึกษาหลายๆ คนนั้น นักศึกษาได้นำไปใช้ในทางที่พัฒนาทั้งต่อตนเองและสังคมค่ะ ^ ^

    ขอบคุณที่ช่วยกันสนับสนุนนะคะว่าความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญค่ะ

    ยอมรับนะคะว่าการสอนให้นักศึกษาคิดวิเคราะห์เองได้นั้นเป็นเรื่องยากค่ะ แต่กระบวนการเรียนในระดับมหาบัณฑิต เช่น การทำวิทยานิพนธ์จะเป็นส่วนหลักในการสร้างให้บัณฑิตคิดวิเคราะห์และต่อยอดให้ตัวเองได้ค่ะ

    อาจารย์สอนได้แต่ความรู้พื้นฐานค่ะ ไม่สามารถสร้างทักษะอันเชี่ยวชาญให้นักศึกษาได้ ทักษะต้องมาจากประสบการณ์ในการปฏิบัติเองถึงจะได้ผลดีที่สุดค่ะ 

    เรื่องการวิดน้ำให้บัวโผล่ก็ยังคงเป็น dilemma ต่อไป และก็คงเป็นวิจารณญาณของอาจารย์แต่ละคนต่อไปค่ะ

    ขอบคุณที่เข้ามาให้ข้อคิดเ็ห็นดีๆ นะคะ ขอบคุณค่ะ 

    สวัสดีค่ะน้องกบ ข้ามสีทันดร

    จริงค่ะน่าเห็นใจทั้งบัวและคนเลี้ยงค่ะ ทรัพยากรตอนนี้ไม่ค่อยเื้อื้อให้เลี้ยงบัวได้อย่างมีคุณภาพตามที่ควรจะเป็นเท่าไหร่ค่ะ

    ชอบสมการนี้ค่ะ

    Phenotype (บัวที่เราเห็น) = Genotype (บัวที่เขาเป็น) + Environment (บรรยากาศการเลี้ยงบัว)

    เป็นธรรมะดี ^ ^

    ขอบคุณนะคะ 

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท