HCSA : นวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อจัดการทุนศักยภาพและความเข้มแข็งชุมชนอย่างมีส่วนร่วมด้วยวิจัยแบบ PAR


การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมหรือการวิจัยแบบ PAR เป็นทั้งกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม  การพัฒนาองค์กรจัดการตนเองเป็นกลุ่ม และกระบวนการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ๆขึ้นจากความเป็นจริงทางการปฏิบัติของสังคม ซึ่งสามารถพัฒนาแนวคิดและออกแบบเพื่อดำเนินการในสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายให้บรรลุจุดหมายที่ต้องการร่วมกันได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้น การมุ่งค้นพบการออกแบบและวิธีบูรณาการมิติการวิจัย PAR เข้าสู่การจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างได้ผลในแต่ละครั้ง จึงอาจเป็นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมการเรียนรู้เชิงกระบวนการ ที่สามารถถ่ายทอดและขยายผลสู่การนำไปใช้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งดีๆได้หลากหลายแนวทาง ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการและขึ้นอยู่กับความมีศิลปะของทีมวิจัย

การออกแบบกระบวนการวิจัยแบบ PAR ให้ทั้งวงจรที่สำคัญในกระบวนการวิจัยมีความเบ็ดเสร็จและสะท้อนอยู่ในหน่วยกิจกรรมย่อยๆที่จัดขึ้นแต่ละครั้ง และการเลือกแง่มุมจำเพาะทางด้านการพัฒนาความเข้มแข็ง (Community Strengthening) เพื่อนำเอาประเด็นทางด้านศักยภาพมาวิเคราะห์และยกระดับการจัดองค์กรปฏิบัติการในระยะต่อไป จัดว่าเป็นวิธีดำเนินการวิจัยแบบ PAR ที่น่าสนใจมากอีกแนวหนึ่ง ในบทนี้จึงจะเป็นการบันทึกความรู้จากประสบการณ์สนามเกี่ยวกับการประเมินถอดบทเรียนความเข้มแข็งของการสร้างสุขภาวะชุมชน สำหรับนักวิจัยผู้สนใจต่อไป

การประเมินถอดบทเรียนความเข้มแข็งของการสร้างสุขภาวะชุมชน
HCSA : Healthy Community Strengthening Assessment [๑]

ความเข้มแข็งและทุนศักยภาพของชุมชน เป็นทั้งวิธีคิดและเป็นความรู้ที่อยู่ในการปฏิบัติซึ่งสามารถเรียนรู้และเกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปได้ตามพัฒนาการของความรู้และประสบการณ์ในการเรียนรู้ ดังนั้น เราจึงสามารถออกแบบกระบวนการ PAR ให้สามารถดำเนินการขึ้นเพื่อเป็นวิธีถอดบทเรียนและจัดการความรู้ ทำให้ประสบการณ์ต่อการดำเนินการสร้างสุขภาวะที่ก่อเกิดบนความเป็นส่วนรวมในขอบเขตต่างๆของปัจเจกและชุมชน สามารถนำมาทบทวนเรียนรู้พร้อมกับสร้างความรู้เพื่อชี้นำการปฏิบัติให้มีความคืบหน้าไปกับประสบการณ์ของตนเองได้อย่างเป็นระบบ กระบวนการดังกล่าวนี้ สามารถดำเนินการไปตามความเหมาะสมได้ ๓ แบบ คือ

๑.ประเมินและถอดบทเรียนสร้างบทสรุปของทั้งกระบวนการ : ดำเนินการเมื่อสิ้นสุดโครงการก่อนการถอนตัวของนักวิจัยจากภายนอกออกจากชุมชน
๒.ถอดบทเรียนกระบวนการเป็นหน่วยย่อยเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลง : ดำเนินการผสมผสานอยู่บนกระบวนการระหว่างการดำเนินการวิจัย โดยมีความเบ็ดเสร็จของกระบวนการวิจัยบนหน่วยย่อยๆอยู่ในตนเอง ขณะเดียวกัน ก็เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบสะสมเป็นชุดข้อมูลหน่วยย่อยๆเพื่อทำการสังเคราะห์ในภาพรวมต่อไปในขั้นสุดท้าย
๓.ผสมผสานทั้งสองแบบ : ดำเนินการอย่างผสมผสาน ยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสมโดยถือเอาเงื่อนไขและความต้องการของชุมชนที่ดำเนินการวิจัยเป็นตัวตั้ง

จุดมุ่งหมาย เงื่อนไขดำเนินการ และวิธีคิดภายใต้ปฏิบัติการสร้างความเข้มแข็ง 

การประเมินถอดบทเรียนด้านทุนศักยภาพและความเข้มแข็งชุมชน รวมไปจนถึงวิธีรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการต่างๆร่วมกันของประชาชน เป็นการถอดบทเรียนและทำวิจัยPAR แบบเจาะจงประเด็น (Issue-Based Action) 

ชุมชนและกลุ่มการรวมตัวกันของประชาชน ตลอดจนกลุ่มประชาคมที่เคลื่อนไหวสังคมการเรียนรู้สร้างสุขภาวะชุมชนด้วยประเด็นขับเคลื่อนแบบต่างๆ ที่จะดำเนินการวิจัยแบบ PAR โดยตั้งคำถามในระดับนี้ได้ จำเป็นต้องมีการริเริ่มทำวิจัยแบบ PAR ไปแล้วสักระยะหนึ่งจนเกิดประสบการณ์พอที่จะนำมาทบทวนและเรียนรู้ หาความสัมพันธ์และระบบความเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อได้ความรู้และสะท้อนสู่การยกระดับวงจรดำเนินการในระยะต่อไป

ดังนั้น การเจาะจงประเด็นและดำเนินการวิจัยแบบ PAR ภายใต้ประเด็นการวิจัยอย่างนี้จึงเป็นการประเมินผลเชิงสังเคราะห์เพื่อเรียนรู้และต่อยอดประสบการณ์ให้บรรลุจุดหมายด้วยการพึ่งตนเองเป็นหลัก

ระยะเวลา 

ยืดหยุ่นไปตามความเหมาะสมจากครึ่งวัน ๑ วัน ถึง ๒-๓ วัน รวมทั้งการดำเนินการในชุมชนที่มีการทำงานด้วยกันอย่างต่อเนื่องจนเกิดทักษะของทีมและวัฒนธรรมการทำงานเป็นกลุ่ม ก็สามารถออกแบบให้เป็นการเยี่ยมเยือนแบบเสริมพลังแก่ชุมชนและกลุ่มประชาคมในระยะเวลา ๒-๓ ชั่วโมง

องค์ประกอบกระบวนการและการออกแบบกิจกรรม

การเจริญสติภาวนา เรียนรู้จิตใจและภาวะภายในตนเอง : จัดกระบวนการให้ชุมชนและกลุ่มวิจัยทุกฝ่ายได้มีเวลาเจริญสติ อยู่กับตนเอง ทบทวนประสบการณ์และความเป็นมาให้มีความสงบนิ่ง มีความผ่อนคลาย มีกำลังความคิดและกำลังแห่งสติ เห็นตนเอง มีกำลังเผื่อแผ่ความดีงาม ความไว้วางใจ ความเมตตาและความปราถนาที่ดีไปยังรอบข้าง เป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นธรรมชาติ

การตั้งคำถาม ประเด็นการถอดบทเรียน การออกแบบและจัดกระบวนการ

  กระบวนการขั้นที่ ๑   การเรียนรู้ผลการทำงานเชิงสังคม

คำถาม : ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดสุขภาวะของชุมชนและสิ่งดีๆในระยะที่ผ่านมา (ระบุกรอบเวลาและกรอบความเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง) มีอะไรบ้าง 
กระบวนการ : จัดกลุ่มรวบรวมประสบการณ์ ขนาดกลุ่มไม่ควรเกิน ๒๕ คน ให้แต่ละกลุ่มเลือกประธานดำเนินการให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนได้ร่วมสะท้อนบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์ให้หลากหลายจากทุกคน เลือกผู้นำเสนอ จัดวัสดุเครื่องเขียนและทำงานรวบรวมข้อมูลเป็นกลุ่ม ๔๐ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง จากนั้น ร่วมกันนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่มใหญ่

  กระบวนการขั้นที่ ๒   การเรียนรู้พัฒนาวิธีคิดในการอธิบายปรากฏการณ์ของผลที่เกิดขึ้นผ่านปัจจัยและความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อพัฒนาแนวคิดความเข้มแข็งของชุมชนในการสร้างสุขภาวะสังคมในชุมชน [๒]

คำถาม : จากประสบการณ์พื้นฐานของชุมชน สิ่งที่เป็นความเข้มแข็งของชุมชนที่ทำให้เกิดสิ่งดังกล่าวคืออะไร เป็นอย่างไร (ระบุจำนวนว่าต้องการให้ช่วยกันค้นหาและเลือกเฟ้นจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในภาพรวมว่าต้องการจำนวนเท่าใด เช่น ๒-๕ อย่าง ตามความเหมาะสมของเวลาที่มี)

กระบวนการ : สรุปผลจากการนำเสนอการถอดบทเรียนมิติแรกนำเสนอต่อเวที วิทยากรกระบวนการนำการอภิปรายพร้อมกับกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมเวทีช่วยกันคิดและนำเสนอสิ่งที่เป็นปัจจัยและเหตุผลเบื้องหลัง ที่ทำให้เกิดสุขภาวะ เกิดความเปลี่ยนแปลง  และเกิดสิ่งดีๆขึ้นในชุมชนในระยะเวลาที่นำมาถอดบทเรียน โดยวาดรูปวงกลมและลากเส้นรัศมีตามจำนวนองค์ประกอบที่ต้องการ

                         

ภาพที่ ๑ จัดกลุ่มและวัสดุอุปกรณ์สำหรับทำงานเป็นกลุ่มเพื่อระดมความคิด ปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยแต่ละกลุ่มย่อยวาดเครื่องมือที่สร้างขึ้นจากเวทีรวมเป็นของกลุ่มตนเอง แล้วใช้บันทึกเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดจากผลสรุปของกลุ่ม

                         

ภาพที่ ๒ ตัวอย่างเครื่องมือการถอดบทเรียนของกลุ่ม ๖ กลุ่มจากเครือข่ายชุมชน ๓ ชุมชน ในการทำงานของบางกอกฟอรั่มและการสนับสนุนของกองทุน สสส ประกอบด้วย เครือข่ายชุมชนบ้านมั่นคง ชุมชนบ้านเอื้ออาทร และชุมชนหน้าสมาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความเข้มแข็งของชุมชนที่ก่อให้เกิดสุขภาวะชุมชนซึ่งขอให้ชุมชนอภิปรายจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งดีๆและความเปลี่ยนแปลงดีๆที่เกิดขึ้นของชุมชนในรอบ ๑ ปีที่นำประสบการณ์มาถอดบทเรียนแล้วเสนอได้ ๔ องค์ประกอบ คือ การมีผู้นำดี การมีกลุ่มเยาวชนจิตอาสา การมีความร่วมแรงร่วมใจกันดีของประชาชน และการมีกระบวนการเรียนรู้ให้โดยเฉพาะที่ได้จากบางกอกฟอรั่ม แต่ละองค์ประกอบมีเกณฑ์จำแนกเป็นกลุ่มความเข้มแข็ง ๓ กลุ่ม ได้แก่ เข้มแข็งมาก เข้มแข็งพอสมควร และมีความเข้มแข็งอยู่บ้าง โดยให้คะแนนเป็นอัตราร้อยละ ๓ ช่วงชั้น เขียนรายละเอียดลงเป็นภาพวงกลม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือถอดบทเรียนตนเองต่อไป ดังภาพ 

  กระบวนการขั้นที่ ๓   การพัฒนาเครื่องมือและเกณฑ์การวิเคราะห์เพื่อเรียนรู้และถอดบทเรียนตนเองอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน

คำถาม : ชุมชนจะมีหลักเกณฑ์พิจารณาความเข้มแข็งจากปัจจัยและเหตุผลเบื้องหลังของการเกิดสุขภาวะและสิ่งดีๆในชุมชนอย่างไร หากเทียบเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มเป็นความเข้มแข็งมาก เข้มแข็งพอสมควร และเริ่มมีความเข้มแข็งบ้างให้เหมาะสมอย่างไร ทำไมจึงแบ่งอย่างนั้น

กระบวนการ : วิทยากรนำการอภิปรายและระดมความคิดอย่างเปิดกว้างบนเวที กระตุ้นส่งเสริมให้เวทีพัฒาเกณฑ์ในการประเมินถอดบทเรียน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ ความคิดเห็น จนสามารถเข้าใจและใช้ทำงานถอดบทเรียบนตนเองได้เป็นกลุ่ม

                         

ภาพที่ ๓ เครื่องมือการถอดบทเรียนเป็นกลุ่ม จะมีคุณลักษณะที่เอื้อต่อการสนทนา ถ่ายทอดแนวคิด บทเรียน แบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยกัน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางสังคมที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มและเป็นโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองไปด้วยอย่างรอบด้าน

  กระบวนการขั้นที่ ๔   การถอดบทเรียนเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสนทนาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นกลุ่ม : ใช้เครื่องมือและเกณฑ์การวิเคราะห์ที่ร่วมกันสร้างขึ้นกระจายเป็นกลุ่มถอดบทเรียนตนเองเป็นกลุ่มย่อยๆ

  กระบวนการขั้นที่ ๕   การวิเคราะห์ นำเสนอ และดำเนินการเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีพลัง : วิเคราะห์และวาดรูปกราฟเส้นเชื่อมโยงมิติต่างๆ นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันทั้งเวที

                         

ภาพที่ ๔ แต่ละกลุ่ม ๖ กลุ่มจาก ๓ ชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวาดภาพตามผลสรุปของกลุ่มทั้งจากประสบการณ์ตนเองและจากประสบการณ์ต่อชุมชน ลากเส้นเชื่อมโยงระดับการวิเคราะห์ความเข้มแข็งแต่ละด้านเข้าด้วยกัน ได้กราฟและแผนภาพ จากนั้นนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆ ทำให้ชาวบ้านสามารถสื่อสะท้อนการเรียนรู้ชุมชนและตนเองได้อย่างเป็นระบบ มีเหตุผล วิทยากรรวบรวมข้อมูลให้เห็นภาพรวม

                         

ภาพที่ ๕ การวิเคราะห์เชิงซ้อน (Overlay Analysis Technique) จะสื่อความหมายให้เข้าใจรายละเอียดที่ซับซ้อนให้เห็นภาพและยิ่งก่อให้เกิดวิธีคิดต่างๆได้เป็นอย่างดีมากขึ้น วิทยากรสามารถเสริมความรู้เชิงทฤษฎี พร้อมกับตั้งประเด็นกระตุ้นส่งเสริมการอภิปรายมิติต่างๆด้วยประสบการณ์ตนเอง ทำให้ชุมชนมีความลึกซึ้งและได้วิธีคิดเชื่อมโยงออกจากบทเรียนชีวิตและประสบการณ์ทำงาน

  กระบวนการขั้นที่ ๖   สรุป อภิปราย เสริมความรู้และให้ข้อเสนอแนะ : หลังการนำเสนอแล้ว แต่ละกลุ่มนำเอาภาพการเก็บรวบรวมข้อมูลและภาพวาดแสดงผลการวิเคราะห์การถอดบทเรียนตนเองด้านทุนศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชน ติดผนังรวมกันเพื่อเปรียบเทียบและเห็นแง่มุมต่างๆทั้งในภาพรวมและในมิติย่อยๆ ข้อมูล ผลการวิเคราะห์และวิธีนำเสนอให้เป็นภาพ จะสามารถสื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสมดุลและความไม่สมดุล ทั้งในภาพรวมและ      ในชุมชนกลุ่มย่อยกลุ่มต่างๆ

  กระบวนการขั้นที่ ๗   การวางแผนและสะท้อนสู่วงจรการดำเนินชีวิต : หลังจากสรุปผลการถอดบทเรียนแล้ว จัดกระบวนการให้ชุมชนได้พัฒนายุทธศาสตร์การคิดและวางแผนไปข้างหน้าอย่างง่ายๆพร้อมกับเป็นกระบวนการปิดเวทีอย่างมีส่วนร่วมทุกคน โดยให้ทุกคนนั่งล้อมวงเป็นวงกลม กล่าวสะท้อนออกมาจากภาวะตนเองคนละ ๑ ข้อความเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับเวทีด้วยข้อความสั้นๆในลักษณะต่างๆที่ต้องการ คือ

  • ความประทับใจและสิ่งที่ต้องการขอบคุณหรือแสดงให้ผู้อื่นได้รับรู้เพื่อจะได้นำความรู้สึกที่ดีกลับไปสู่วงจรการดำเนินชีวิต
  • ความเข้มแข็งและสิ่งดีๆที่อยากขอให้ชุมชนได้ร่วมกันบำรุงรักษาให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้นพื่อสุขภาวะของชุมชน ต่อไป
  • ความเข้มแข็งและสิ่งดีๆที่ตนเองมีความสนใจนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและทำการงาน

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับการพัฒนาให้เป็นการประเมินถอดบทเรียนด้วยวิธีต่างๆที่สื่อสะท้อนออกมาจากการนำเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากนั้นก็พัฒนาเครื่องมือและกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์และข้อเท็จจริงทางการปฏิบัติ ทำบทเรียนจากประสบการณ์ให้เป็นเอกสารความรู้ที่จัดเก็บและจัดการความรู้ได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ ดังที่ดำเนินการในช่วงเวลาสั้นๆ ๑ วันแต่มีความเบ็ดเสร็จอยู่ในตนเองดังในเวทีของบางกอกฟอรั่มและเครือข่ายชุมชนในครั้งนี้ เป็นหน่วยประสบการณ์และหน่วยบทเรียนย่อยๆ ที่สามารถจัดขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้และการเรียนรู้เป็นวงจรต่อเนื่องกันไปได้อีกหลายรอบ ทำให้มีความก้าวหน้าไปตามเงื่อนไขของชุมชน  

จากนั้น ก็นำมาสังเคราะห์สร้างความรู้เพิ่มพูนความแข็งแกร่งในทางทฤษฎี สื่อสะท้อนสิ่งที่เป็นแนวคิดสู่การปฏิบัติและจากการปฏิบัติสู่ภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆได้อย่างแข็งแกร่ง ยกระดับความรู้และภูมิปัญญาของสังคมผสมผสานไปกับภาคปฏิบัติการของสังคมเป็นอย่างดีได้มากยิ่งๆขึ้น

                         

ภาพที่ ๖ เมื่อแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการเก็บบันทึกและรวบรวมข้อมูลของกลุ่มและชุมชนตนเองแล้ว ก็นำไปติดรวมกันบนผนัง ทำให้เห็นแบบแผนที่แตกต่างหลากหลาย สามารถเห็นภาพรวมที่ความแตกต่างและลักษณะความร่วมกัน เกิดความรู้และความคิดที่มีความเชื่อมโยงกันครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขึ้น

                         

ภาพที่ ๗  แผนภาพแสดงวงจรกระบวนการประเมินถอดบทเรียนเสริมพลังความเข้มแข็งของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมโดยการวิจัยแบบ PAR ที่สามารถออกแบบให้เบ็ดเสร็จอยู่ในตนเองบนเวที ๑ วัน ใช้เก็บข้อมูลที่เป็นบทเรียนและบันทึกผลการเรียนรู้การปฏิบัติได้ ๑ ชุดย่อยๆบนเวที นำไปจัดการความรู้ได้เป็นอย่างดี เช่น บันทึก จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์เผยแพร่ เขียนบทความและเอกสารความรู้ ขณะเดียวกัน เมื่อทำหลายๆรอบ ก็จะเป็นข้อมูลสะสม สามารถใช้สังเคราะห์และสร้างความรู้ต่อไปในอนาคตได้อีกหลายรอบ ตามการเพิ่มพูนขึ้นของข้อมูล

   ตัวอย่างของการจัดกระบวนการ   

การถอดบทเรียน
สิ่งที่ก่อเกิดและผลต่อชุมชนของศูนย์พัฒนากระบวนการเรียนรู้
กับความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อการพัฒนาตนเองต่อไป

๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ น. วันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๔
ณ พนาศรม อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

๐๙.๓๐-๑๐.๐๐    พักผ่อน สร้างความค้นเคยกับแหล่งประชุม ผู้คน
                       ลงทะเบียน
๑๐.๐๐-๑๑.๐๐     กล่าวต้อนรับ รู้จักกัน และนำเข้าสู่รายการ
๑๑.๐๐-๑๒.๐๐    เรียนรู้ หาคุณค่า ใคร่ครวญความหมาย ซึมซับความซาบซึ้ง
                       ๑ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ก่อเกิดต่อชุมชนเป็นอย่างไร ?
                       ความเปลี่ยนแปลงและสิ่งดีๆในชุมชน มีอะไรบ้าง ?

๑๒.๐๐-๑๓.๐๐   รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน

๑๓.๐๐-๑๔.๐๐    พัฒนาเครื่องมือเรียนรู้ความเข้มแข็งทางการจัดการจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ๑ ปี :
                       ชุมชนมีความเข้มแข็งหรือการจัดการตนเองอย่างไร จึงทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ที่รวบรวมได้
                       มีวิธีจำแนกอย่างไร ขนาดไหนจึงจะเรียกว่าเข้มแข็งมาก เข้มแข็งน้อย และยังไม่เข้มแข็ง
๑๔.๐๐-๑๕.๐๐   ใช้ถอดบทเรียนตนเองและนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ :
                       วิเคราะห์และนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นฐานความเข้มแข็งของชุมชน
๑๕.๐๐-๑๖.๐๐    เรียนรู้การอ่านกับการจัดการความรู้จากสื่อและหนังสือ [๓]
                       เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำและทักษะชีวิตในสังคมแห่งการเรียนรู้
                       แบ่งกลุ่มย่อย อ่านหนังสือ สรุป แบ่งปันและสะท้อนแนวคิดต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ปิดเวทีและอำลากันกลับบ้าน

วิทยากร            ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัตน์  คำศรีจันทร์
                        อาจารย์ณัฐพัชร์  ทองคำ
                        ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 
                        มหาวิทยาลัยมหิดล

                          

ภาพที่ ๘ การจัดเวทีถอดบทเรียนและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถทำให้เป็นเวทีพัฒนาการคิดและการแสดงออกของเด็ก เยาวชน นักเรียนนักศึกษาของชุมชน ทำให้เป็นโอกาสในการสร้างคนด้วยการให้ประสบการณ์ตรงแก่สังคมที่ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกัลยาณมิตร

                         

ภาพที่ ๙ เด็กมีความสามารถแสดงออกทางความคิดและความสามารถพิเศษของตนเองได้หลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ความสามารถทำงานถ่ายทอดความคิดและพูดนำเสนอด้านใดด้านหนึ่ง เด็กๆและเยาวชน รวมทั้งชาวบ้านหลายกลุ่ม ไม่มีทักษะในการแสดงออกด้วยการพูดสื่อสาร ทว่า เมื่อให้นำเสนอในสิ่งที่เป็นทักษะในกลุ่มของตน ก็จะแสดงออกในสิ่งนั้นอย่างโดดเด่น ดังภาพ เป็นกลุ่มเด็กและยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนของชุมชนที่ได้ไปร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยังต่างประเทศมาแล้วหลายประเทศ

ดำเนินการเวทีให้มีความเป็นธรรมชาติ เรียนรู้อย่างกว้างขวาง บูรณาการ เป็นโอกาสสร้างคน พัฒนาการคิดและการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ๆ ผสมผสานไปกับการทำงานอย่างจริงจัง เพื่อนำกลับไปใช้พัฒนาการงาน พัฒนาชีวิต สร้างสุขภาวะครอบครัว กลุ่มก้อน และสร้างสุขภาวะชุมชน ไปตามศักยภาพและความพร้อมของตน การยกระดับการประเมินถอดบทเรียน ที่เริ่มบูรณาการเครื่องมือและวิธีการเชิงปริมาณ รวมทั้งวิเคราะห์และนำเสนอในลักษณะดังกล่าว จะเริ่มเชื่อมต่อกับวิธีวิจัยของผู้เชี่ยวชาญได้อย่างกลมกลืน สามารถขยายขีดความสามารถความเป็นนักวิจัยของตนเองของชุมชน

ที่สำคัญก็คือ จะทำให้งานวิจัยสร้างความรู้ เป็นวิธีทำงานเชิงปฏิบัติการสังคมและสร้างความรู้จากความเป็นจริงใหม่ๆ ที่สามารถยืดหยุ่นต่อการถักทอความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมเข้าด้วยกันอย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะการเชื่อมโยงนักวิชาการกับชาวบ้าน ให้เป็นภาคีร่วมมือกันในแนวทางใหม่ๆ เพื่อทำให้ชุมชนและกลุ่มคนที่มีความเสียเปรียบในโครงสร้างกระแสหลักของสังคม ได้สามารถพึ่งตนเองและก่อเกิดสุขภาวะดังที่พึงประสงค์ร่วมกัน ได้มากยิ่งๆขึ้น.

..........................................................................................................................................................................

หมายเหตุและเชิงอรรถบันทึก :

[๑] HCSA เป็นคำย่อจาก Healthy Community Strengthening Assessment ที่ผู้เขียนใช้เพื่อความสะดวกในการเขียนบันทึกนี้
[๒] การพัฒนาแนวคิดและเครื่องมือการศึกษา เพื่อสร้างความรู้จากทฤษฎีผู้ปฏิบัติ และจากจุดยืนในวิถีปฏิบัติของชุมชนในลักษณะนี้ เป็นระเบียบวิธีการวิจัยและการสร้างทฤษฎีในแนวทางหนึ่งที่เรียกว่า Grounded Research และ Grounded Theory ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการสร้างความรู้ที่ไม่เคยมีมาก่อนจากระบบวิธีคิดของชุมชนและผู้มีประสบการณ์ทางการปฏิบัติ 
[๓] ควรหาโอกาสพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับกลุ่มประชาชนไปด้วยอยู่เสมอ โดยในเวทีนี้ ผู้เขียนได้เตรียมบทความและเนื้อหาจากสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเสริมความรู้ พัฒนาการอ่าน การจัดการความรู้ และพัฒนาการเรียนรู้ความเป็นชุมชน Learning Literacy ประกอบด้วยลักษณะเรื่องราวที่หลากหลาย  ๕ แนว เรื่องละ ๑๒ ชุด สำหรับแบ่งกลุ่มย่อยอ่านและสรุปบทเรียนเพื่อแบ่งปันประสบการณ์จากการอ่าน ๕ กลุ่ม ประกอบด้วย

  • ชีวิตเป็นอย่างไร จาก หนังสือพุทธธรรม เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติของชีวิตและลักษณะโดยธรรมชาติของสิ่งทั้งปวงภายใต้กฏแห่งไตรลักษณ์ จำนวน ๓ หน้ากระดาษเอ ๔
  • บทกวี ไม่มีอีกแล้วเส้นขอบฟ้า โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี จากคอลัมน์กวีกระวาด ในหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๔-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อเรียนรู้ภาพสะท้อนทางสังคมและพัฒนาวิธีคิดจากงานศิลปวรรณกรรม
  • คอลัมน์ รักคืออะไร โดย นิ้วกลม จากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๔-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาวิธีคิดต่อสังคม จากนักเขียนที่อยู่ในกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่
  • ข้อเท็จจริง ๘ มีนาคม วันสตรีสากล จากคอลัมน์สิงห์สนามหลวง หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๔-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านวิเคราะห์และสร้างความรู้จากข้อมูลการบันทึกรายงานในรูปแบบจดหมายสนทนาถาม-ตอบ
  • เมื่อดวงใจมีรัก โดย กาลแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ จากหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๔-๑๐ มีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อเรียนรู้ พัฒนาวิธีคิด และสร้างทรรศนะต่อสังคม จากนักเขียนและสื่อมวลชนที่อยู่ในกระแสความนิยมของสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลาที่ดำเนินการเพียง ๑ วันและกลุ่มผู้เข้าร่วมเวทีส่วนใหญ่เป็นเด็ก กระบวนการสุดท้ายตามกำหนดการนี้จึงมีเวลาไม่พอดำเนินการ บทความสื่อสิ่งพิมพ์ที่นำมาพัฒนาการเรียนรู้แบบเสริมพลังในครั้งนี้จึงไม่ได้ใช้ แต่จากการดำเนินการกับกลุ่มอื่นๆนั้น ผู้เขียนก็มีข้อสังเกตว่า กระบวนการดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสพัฒนาทักษะการอ่านและการเรียนรู้อย่างแยบคายแล้ว ก็จะเป็นกิจกรรมปิดท้ายให้ผู้ร่วมเวทีได้ใช้ทักษะจากเวทีในกิจกรรมนี้ได้ดีเป็นอย่างยิ่ง.

หมายเลขบันทึก: 430107เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 06:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กราบขอบพระคุณดอกไม้ให้กำลังใจ
จากท่านพระอาจารย์มหาแลครับ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะบันทึกนี้ คลี่ให้เห็นชัดเจนทั้งแนวคิด..กระบวนการ..และผลได้แห่งพลังเข้มแข็งที่น่าชื่นชมค่ะ..

 

การมอบอุปกรณ์การเรียนแก่น้องๆในโรงเรียน ตชด. ๗ แห่ง ที่จังหวัดกาญจนบุรี ..จากเงินบริจาคในโครงการนำเอกสารและข้อมูลสำคัญที่หมดอายุหรือไม่ใช้แล้วมาย่อยทำลายตามกระบวนการมาตรฐานสากล (shred 2 share)

ขอบพระคุณดอกไม้จากพี่ใหญ่ครับ
เด็กๆเหมือนอยู่ในวัยเด็กเล็กทั้งนั้นเลยนะครับ ดูน่าเอ็นดูดีจัง

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

  • ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ช่วยเติมเต็มและลดช่องว่างของช่วงวัยลงได้เป็นอย่างดี การได้มองเห็น และฟังความคิดเห็นจากจุดยืนของตัวเอง ทั้งส่วนของผู้นำชุมชน และแกนนำเยาวชนของทั้ง ๓ ชุมชน เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าผู้ใหญ่อย่างพึงคิดว่าที่ผ่านมาเด็กๆ เยาวชน ไม่รู้ไม่เห็นเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของผู้ใหญ่ในชุมชนของตน ..
  • รูปแบบของเวทีถอดบทเรียนในครั้งนี้ช่างเหมาะกับคนที่ชอบใช้เครื่องมือในการต่อรอง หรือใช้มันเป็นเบื้องหน้าของการทำงานเป็นส่วนใหญ่ นอกจากจะพร้อมดึงศักยภาพของกลุ่มแล้ว ยังช่วยดึงศักยภาพของกระบวนกรได้อีกทางนึงนะคะ เพราะเครื่องมือนี้มันสามารถอธิบายปรากฏการณ์ได้ด้วยตัวของมันเองที่ชัดเจนมาก ..
  • ความเอื้อเฟื้อของผู้ใหญ่ในการให้พื้นที่แสดงออก ความใจเย็นในการรับฟัง และการค้นหานวัตกรรมที่พอเหมาะกับบริบท เป็นเครื่องมือที่ช่วยดึงศักยภาพของพวกเขาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับเยาวชนที่มีตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับที่เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ที่มีการแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามช่วงวัย ..
  • กลุ่มเยาวชน จะว่าไปก็ยังอยู่ในระดับยุวชนสำหรับกลุ่มนี้ แม้เวลาอยู่ในกลุ่มจะดูยุกยิกไม่ค่อยสนใจฟัง แต่เมื่อถึงเวลาที่เค้าจะต้องแสดงความคิดเห็น พวกเค้ามีการเตรียมการณ์ เตรียมตัวอย่างตั้งใจนะคะอาจารย์ (จากภาพ : ถ้าอาจารย์ให้พวกเค้าแสดงความคิดเห็นช้ากว่านี้อีกนิด ข้อความบนฝ่ามืออาจมีเลือนเพราะเหงื่อที่มาจากความตื่นเต้น และการกำมือไว้แน่นก่อนจะถึงคิวพวกเค้าได้แสดงความคิดเห็นกัน)

    

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • ตรงที่สะท้อนว่าเครื่องมือและวิธีการแบบนี้ในแง่หนึ่งนั้น ก็เป็นเครื่องช่วยการพูดคุยในสถานการณ์เจรจาต่อรอง และใช้เป็นสิ่งแสดงเบื้องหน้าของปรากฏการณ์หรือการกระทำต่างๆที่วิทยากรและกลุ่มผู้เข้าร่วมเวที จะใช้อ้างอิงไปสู่เรื่องราวและวิธีคิดอีกมากมายที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังในทรรศนะของชุมชนหรือในทรรศนะของผู้ปฏิบัตินั้น เป็นข้อสังเกตที่ดีมากเลยละครับ
  • การทำงาน นำเอาประสบการณ์และประเด็นความเป็นส่วนรวมมาเรียนรู้เพื่อคิดและพัฒนาศักยภาพการจัดการตนเองของชุมชน ในอันที่จะกลับออกไปร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติการต่างๆนั้น โดยทั่วไปแล้ว หากไม่พัฒนาการเรียนรู้เพื่อให้มีวิธีจัดการที่ดีแล้ว คนส่วนใหญ่ก็มักจะถือเอาสิ่งที่ตนเองต้องการเป็นสำคัญ จึงนอกจากจะไม่สามารถเดินไปด้วยกันและสร้างสุขภาวะชุมชนที่สนองตอบต่อความต้องการของทุกคนที่อยู่ร่วมกันได้แล้ว ก็อาจกลายเป็นการขัดแย้งและทำให้ความเป็นส่วนรวมอ่อนแอ เหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยโดยรวมน่ะครับ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาได้ 
  • การออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้การทำงานเชิงปฏิบัติการสังคมของชุมชน จึงต้องเลือกสรรเครื่องมือและวิธีการที่ส่งเสริมให้ชุมชนได้ประสบการณ์ด้วยตนเองต่อสิ่งนี้ครับ วิธีอย่างนี้จะเป็นสื่อกลาง ที่ทำให้ความแตกต่างของแต่ละคนมีที่พักความคิดและแขวนความเป็นตัวตนไว้ เมื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและอภิปรายสิ่งต่างๆ ก็จะช่วยลดการปะทะความเป็นตัวตนของแต่ละคนได้ ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่เกิดขึ้นก็กลายเป็นความเป็นส่วนรวม ทำให้การเรียนรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันเกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางสังคมในกลุ่มเล็กๆอย่างนี้ได้ครับ
  • เห็นวิธีคิดใคร่ครวญและเตรียมการอย่างดีของเด็กๆแล้วก็ต้อมยิ้มให้กับความจริงจังแต่น่ารักดีครับ ต้องขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับที่เล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายวิธีทำงานและเตรียมตนเองของเด็กๆได้อย่างนี้ สื่อให้เห็นความเป็นกระบวนการคิดและวางแผนตนเองได้เป็นอย่างดี และสอดคล้องกับแนวคิดของกระบวนการมากครับ ขั้นตอนในภาพนี้อยู่ในกระบวนการที่ ๗ เป็นการปิดเวทีอย่างมีส่วนร่วม และปิดท้ายกระบวนการถอดบทเรียน ที่ทำให้เห็นการมองไปข้างหน้าและยุทธศาสตร์การคิดเพื่อสะท้อนกลับไปสู่วงจรปฏิบัติ ได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณดอกไม้จากอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • เห็นแล้วอยากไปบ้าง
  • จำได้ตอนคุยกับอาจารย์
  • อาจารย์บอกว่าไปเวทีนี้มาใช่ไหม
  • เด็กๆมีศัพยภาพแบบที่เรามักคาดไม่ถึง
  • ถ้าเราวางแผนกิจกรรมดีแบบที่อาจารย์ทำ
  • ได้เรียนรู้มากเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับ

ทรรศนะวิพากษ์ของเด็กและเยาวชน
ต่อบทบาทของผู้นำผู้ใหญ่ต่อการส่งเสริมเด็ก

                        

ผมได้ไปทำเวทีนี้ให้กับบางกอกฟอรั่มและ สสส มาครับอาจารย์ ได้เห็นบทบาทของเด็กๆและได้เรียนรู้จากพวกเขาหลายเรื่องมากเลยทีเดียวครับ อย่างภาพข้างบนนั้น อาจารย์และท่านผู้อ่านสังเกตเห็นไหมครับว่า ระดับการประเมินถอดบทเรียนตนเองของชุมชนในด้านที่เป็นความเข้มแข็งของกลุ่มผู้นำผู้ใหญ่ กับกลุ่มเด็กและเยาวชนนั้น สีเหลืองเป็นของเด็กและเยาวชน มีระดับสูงมากกว่าความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใหญ่ เด็กๆเขาอภิปรายว่า เป็นเพราะกลุ่มผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้นำชุมชนที่เป็นผู้ใหญ่ ยังไม่สามารถทำงานเชื่อมโยงได้กับเด็กและเยาวชน ขาดความเข้าใจเด็กๆ ไม่ค่อยได้สนใจกิจกรรมที่มีอยู่ในชุมชนที่เด็กๆคิดและทำ !!!!

เด็กๆนำเสนอและอภิปรายฉะฉานแต่ดูงดงามสมกาลเทศะดีครับ ผมและผู้ใหญ่จากชุมชนต่างๆฟังแล้วก็ถึงกับบรรลุธรรมสว่างวาบ เนื่องจากว่า เรามักมีอคติและใช้ความเชื่อฝังหัวตามๆกันไปว่า เด็กๆและคนรุ่นใหม่แต่ละรุ่น จะถูกความเปลี่ยนแปลงทางสังคมกลืนไปเรื่อยๆ ไม่สนใจและไม่เอาธุระต่อสังคม ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่รู้กาลเทศะ ไม่สืบสานและไม่สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม เข้าผู้ใหญ่ไม่เป็นเพราะครอบครัวและสังคมอ่อนแรงไปเรื่อยๆในการกลอ่มเกลี้ยงเลี้ยงดูเด็กๆ เรามักเชื่อกันอย่างนี้

ที่ไหนได้ เด็กๆเขาก็มองช่องว่างนี้เห็นเหมือนกัน อีกทั้งมีทรรศนะวิพากษ์และคำอธิบายอีกแบบที่แตกต่างจากมุมมองโดยทั่วไปมากเลยทีเดียว เด็กๆในชุมชนและในเวทีนี้ไม่ใช่ไม่ใส่ใจสังคมรอบข้าง ตรงกันข้ามกลับใส่ใจในรายละเอียดมาก อีกทั้งมองเห็นปัญหาที่ช่องว่างในการปรับตัวและยืดหยุ่นตนเองเข้าหาเด็กของผู้ใหญ่ ไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องมุ่งให้การอบรมสั่งสอนให้เด็กๆเดินตามบางสิ่งที่เราคิดเอาเองแต่เด็กๆไม่ได้มองปัญหาด้วยโลกทรรศน์แบบนั้น งานนี้ให้วิธีคิดวิธีมองดีๆแก่ผมในหลายเรื่องเลยละครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์ : ทางทีม บางกอกฟอรั่ม นำบทความชิ้นนี้ไปเผยแพร่ที่เว็บของบางกอกฟอรั่มค่ะ http://www.bangkokforum.net/home.html

  • เป็นบทเรียนของการเดินเข้ามาบวกกันในระดับที่พอเหมาะของชุมชนกับนักวิชาการแนวประชาสังคม สำหรับทำงานสร้างสุขภาวะชุมชนในสังคมเมือง ดีนะครับ
  • ชาวบ้านที่เป็นคนทำมาหากิน วิเคราะห์และเข้าถึงวิธีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะอย่างนี้ได้อย่างไม่เคอะเขินนี่ ไม่นานพิธีกรรมทางวิชาการกับวิถีภูมิปัญญาปฏิบัติของชาวบ้านจะไม่แปลกแยกต่อกันนะครับผมว่า
  • สังคมจะมีโอกาสข้ามความแปลกต่างต่อกันที่ก่อเกิดตั้งแต่ความแตกต่างในวิถีความรู้ที่ใช้ได้ดียิ่งๆขึ้น จากการทำแล้วก็พัฒนาการเรียนรู้ให้กันไปด้วย สุขภาวะของส่วนรวมที่ดีกว่าเดิมก็เกิดได้มากขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท