วิธีป้องกันมะเร็ง


การป้องกันมะเร็งปลอดภัยกว่าการปล่อยให้เป็นแล้วจึงรักษา

ปี 2544 มีคนตายจากมะเร็งประมาณ 7 ล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้ 2.43 ล้านคน (1 ใน 3) เป็นมะเร็งที่ป้องกันได้

Step Aerobics

สำนักพิมพ์นิวยอร์คไทมส์รายงานผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงมะเร็งทั่วโลกของ ดร.มาจิด เอซซาทิ (Dr. Majid Ezzati, international health at the Harward School of Public Health) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ทฉบับเดือนพฤศจิกายนปีนี้ (2548) ว่า มะเร็งอย่างน้อย 35 % หรือ 1 ใน 3 เป็นผลจากสาเหตุที่ป้องกันได้ 9 ข้อ

สาเหตุของมะเร็งที่ป้องกันได้คือ บุหรี่ แอลกอฮอล์และการกินผักผลไม้น้อย น้ำหนักเกินและอ้วน ออกกำลังกายและออกแรงน้อย การร่วมเพศแบบไม่ปลอดภัย มลภาวะในเมือง มลภาวะในบ้านจากการใช้ถ่านหิน และโรคติดต่อจากการฉีดยา

  • บุหรี่:
    บุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งถึง 21 % หรือประมาณ 1 ใน 5 ของมะเร็งทั้งหมด การไม่สูบบุหรี่ และไม่สูดควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบช่วยป้องกันมะเร็งได้มากที่สุด

  • แอลกอฮอล์:
    แอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ไวน์...)เป็นสาเหตุของโรค เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ ไขมันในเลือดสูง(ไตรกลีเซอไรด์) เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ ฯลฯ ถ้าดื่มเหล้าและสูบบุหรี่จะทำให้เสี่ยงต่อมะเร็งหู คอ จมูกหลายชนิดเพิ่มขึ้น

  • การกินผักผลไม้น้อย:
    คนเราควรกินผักผลไม้รวมกันให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน โดย 1 ส่วนมีขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ(ไม่รวมนิ้วมือ) หรือประมาณ 1 ทัพพี ถ้าน้ำหนักตัวมากแบบฝรั่งควรกินอย่างน้อยวันละ 7-9 ทัพพี ถ้าเป็นเบาหวานหรืออ้วนให้เน้นผัก และลดผลไม้ลง ถ้าต้องการผลดียิ่งขึ้นควรกินผักผลไม้สีต่างกันให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 สี

  • น้ำหนักเกินและอ้วน:
    ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งหลายอย่าง เช่น มะเร็งเต้านม ฯลฯ การกินธัญพืชครบส่วน เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัด การกินน้ำตาลและไขมันให้น้อยลง

    การออกกำลังกาย และการออกแรงในชีวิตประจำวัน เช่น เดินขึ้นบันไดแทนขึ้นลิฟต์ เดินแทนขับรถให้มากขึ้น ฯลฯ มีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนักได้

Stationary Bike

  • ออกกำลังกายและออกแรงน้อย:
    ปัจจุบันแนะนำให้ออกกำลังกายปานกลาง เช่น เดินเร็ว ฯลฯ ติดต่อกัน 30 นาทีทุกวัน หรืออย่างน้อย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง ฯลฯ ให้ทำติดต่อกัน 20 นาทีอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์

    กรณีน้ำหนักมากเกินควรออกกำลังกายปานกลาง เช่น เดินเร็ว ฯลฯ ให้ได้ 60 นาทีทุกวัน ถ้ามีเวลาน้อยจะแบ่งเป็นช่วงย่อยๆ มารวมกันก็ได้ เช่น เดินคราวละ 10 นาที วันละหลายๆ ครั้ง ให้รวมกันเป็น 30-60 นาทีต่อวัน ฯลฯ

  • การร่วมเพศแบบไม่ปลอดภัย:
    การสำส่อนทางเพศ โดยเฉพาะการร่วมเพศแบบไม่ปลอดภัย เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัยกับคนที่ไม่ใช่สามีภรรยา และผ่านการตรวจเลือดแล้ว ฯลฯ มีส่วนทำให้เกิดการระบาดของไวรัสเอชพีวี (human papilloma virus / HPV) ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง

  • มลภาวะทางอากาศในเมือง:
    มลภาวะทางอากาศในเมืองเกิดจากการเผาไหม้ ทั้งรถยนต์และโรงงาน โดยเฉพาะรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล การตรวจโรงงานและตรวจจับควันดำจึงมีความสำคัญมาก

    ผู้เขียนมีรถที่ใช้งานมา 16 ปี ต้องนำไปตรวจสภาพก่อนต่อทะเบียน ปีกลายนำไปตรวจกับสถานตรวจสภาพเอกชน เห็นรถปลาหมึกคันหนึ่ง(พ่นควันดำจนภาพรถพร่าไปบางส่วน)ผ่านการตรวจ(ทั้งๆ ที่ไม่น่าผ่าน)

    ปีนี้ไปตรวจอีก ปรากฏว่า เขาไม่ตรวจวัดไอเสีย อ้างว่า “เครื่องกำลังวอร์ม (warm) อยู่” นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ควรมีการตรวจจับควันดำบนท้องถนนให้มาก เพราะสถานตรวจสภาพรถอาจจะละเลยการตรวจที่สำคัญไป

Aerobics

  • มลภาวะทางอากาศในบ้าน:
    มลภาวะทางอากาศในบ้านส่วนหนี่งเกิดจากการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ปีนี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานผลการวิจัยว่า ควันไฟจากการหุงหาอาหารมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้

    ควรเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีควันน้อย เช่น แก๊สหุงต้ม เตาไฟฟ้า ไมโครเวฟ ฯลฯ ถ้าใช้ฟืนควรปรับเปลี่ยนครัวให้ระบายอากาศได้ดี หรือย้ายไปหุงต้มนอกบ้าน

    ภาคเหนือเป็นภาคที่มีมะเร็งปอดสูงที่สุด(สถิติทะเบียนมะเร็ง) ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่คนเมือง(คนท้องถิ่น)สูบบุหรี่มาก และใช้ฟืนทำกับข้าวมาก

  • โรคติดต่อจากการฉีดยา:
    การฉีดยาหรือสักผิวหนังผิดวิธี เช่น ใช้เข็มหรือหลอดฉีดยาร่วมกัน ใช้เข็มสักร่วมกัน ฯลฯ มีส่วนทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ฯลฯ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

    ปีนี้มีข่าวโทรทัศน์เรื่องทันตแพทย์ปลอมที่ทำฟันมาติดต่อกันถึง 2 ปี ผู้เชี่ยวชาญตรวจพบว่า ผู้ร้ายรายนี้ทำฟันโดยไม่มีการทำความสะอาดเครื่องมือเลย

    เราควรช่วยกันตรวจสอบหมอใกล้บ้านโดยตรวจดูรายชื่อแพทย์จากเว็บไซต์แพทยสภา และทันตแพทย์จากเว็บไซต์ทันตแพทยสภาว่า เป็นหมอจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันหมอปลอม

 Bench Pressความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น:

ดร.เกรแฮม เอ. โคลดิทซ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันมะเร็งฮาร์วาร์ดกล่าวว่า รายงานนี้น่าจะประมาณการณ์ค่อนไปทางต่ำ มะเร็งที่ป้องกันได้น่าจะมีมากกว่า 1 ใน 3 เช่น ปัจจุบันเราพบความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับความเสี่ยงมะเร็งไต ข้อมูลนี้ไม่ได้นำมาประมวลผลในการศึกษานี้

ดร.เกรแฮมกล่าวว่า โรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดันเลือดสูง ฯลฯ มีประสิทธิผลในการรักษาสูงกว่ามะเร็ง การป้องกันมะเร็งปลอดภัยกว่าการปล่อยให้เป็นแล้วจึงรักษา
     

คำแนะนำในการป้องกันมะเร็งสหรัฐอเมริกาเน้น 3 เรื่องได้แก่

  1. การไม่สูบบุหรี่(รวมทั้งไม่หายใจควันที่คนอื่นสูบเข้าไป)
  2. ระวังอย่าให้น้ำหนักมากเกิน
  3. ออกกำลังกาย(รวมทั้งการออกแรงในชีวิตประจำวัน)

แหล่งข้อมูล:

หมายเลขบันทึก: 9884เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2005 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณนะคะที่ให้ความรู้กับประชาชน ถ้าทำได้คงจะปลอดโรค

ขอขอบคุณอาจารย์อุบล และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณอาจารย์และท่านผู้อ่านทุกท่านเช่นเดียวกันครับ
  • พวกเราช่วยชาติประหยัดได้ด้วยการรักษาสุขภาพ...

ขอให้อาจารย์และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ...

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท