บันทึกพี่เลี้ยง...2) เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน!


เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง จึงต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆกับทีมคุณกิจ
ต่อจากบันทึกที่ 1...เมื่อกิจกรรมของโครงการ Patho-Otop1 เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ  สมาชิกของแต่ละทีมก็ได้เรียนรู้การทบทวนปัญหาหน้างาน และปรึกษาหารือกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา
ในขณะเดียวกัน พี่เม่ยก็ต้องเตรียมตัวเองเช่นกันค่ะ  น้องๆจะทำเรื่องอะไร เราก็ต้องรู้เรื่องและเข้าใจในเรื่องนั้นให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง....
สิ่งหนึ่งที่พี่เม่ยต้องศึกษาอย่างจริงจัง และคาดหมายไว้ก่อนเลยค่ะว่า น่าจะเป็น จุดอ่อน ของหลายๆทีมที่เราต้องเข้าไปช่วยแนะนำ  ก็คือเรื่อง ตัวชี้วัด นั่นเองค่ะ!
จากเดิมที่ตัวเองก็รู้จักตัวชี้วัดเพียงผิวเผิน  และเกรงว่าจะไปพาให้น้องๆหลายๆทีมที่เรารับผิดชอบอยู่ล่มลงทะเลไปกับเราด้วย  พี่เม่ยจึงต้องไปตะลุยหาความรู้และทำความรู้จักกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น
  • ไปหาอ่านจากหนังสือบ้าง ....
  • ให้พี่กูเกิ้ลช่วยค้นให้บ้าง ....
  • ลองไปค้นอ่านโครงการเก่าๆบ้างว่าเขากำหนดตัวชี้วัดไว้อย่างไร จึงจะตอบสนองวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆได้ .....
  • ขนาดหนังสือการเขียนโครงงานวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมของลูกๆ พี่เม่ยก็ยังแอบหยิบมาอ่านเลยค่ะ......
โชคดีมีแหล่งความรู้ใกล้ตัวค่ะ  คือ อ.จำนงค์ นั่นเองค่ะ พี่เม่ยเซ้าซี้ถามทุกวัน ท่านก็ตอบทุกวัน พี่เม่ยมีคำถามที่ไม่ค่อยเข้าท่า ท่านก็อุตส่าห์ชี้แจงแถลงไขให้ได้ซะทุกเรื่องเชียว
โชคดีอีกครั้ง เมื่อท่านเอื้อส่งเอกสารเรื่องตัวชี้วัดมาให้สองชุดค่ะ....เป็นเอกสารที่ดีมากๆ อ่านเข้าใจง่าย (และเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็คือ...พี่เม่ยส่งเอกสารคืนท่านเอื้อไปโดยไม่สำเนาเก็บไว้เลยค่ะ.....จึงอ้างชื่อเอกสารสองชุดนั้นไม่ได้แล้วในตอนนี้!)
นอกจากหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของตัวชี้วัดแล้ว  ก็ไปทำความเข้าใจศึกษากรอบโครงการ ก็เริ่มชัดเจนขึ้น พี่เม่ยเรียนรู้จากกรอบของโครงการว่า หน้าที่ของพี่เลี้ยงก็คือ ช่วยกระตุ้น สนับสนุน สอนแนะ ทำทุกอย่างได้หมดยกเว้นอย่างเดียวคือ "ห้ามไปลงมือทำให้!"....
...เวลาผ่านไปเดือนเศษ ทั้งสามทีมของหน่วยฮีมาโต ก็เริ่มฉายแววนักพัฒนา  สามารถคิดโครงการและวางแผนการดำเนินงานได้  และเป็นดังคาดค่ะ  ไม่มีทีมใดสามารถกำหนดตัวชี้วัดที่มองเห็นเป็นรูปธรรมได้เลยค่ะ
พี่เม่ยเตรียมตัวเรื่องนี้มาก่อนแล้ว....จึงต้องเรียกมาคุยทีละทีมเพื่อบอกว่า อยากเห็นผลลัพธ์ของงานเป็นอย่างไรก็ให้เขียนอันนั้นแหละเป็นตัวชี้วัด
แล้ว นักพัฒนาก็เริ่มฝึกเขียน ร่างโครงการส่งคณะกรรมการฯ...
หมายเลขบันทึก: 51440เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
     อิจฉาชาวฮีมาโตจัง ที่มีพี่เม่ยคนสวยและเก่งอยู่ใกล้ๆ ใช่มั้ยพี่จำนงค์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท