กลุ่มเด็กหลังห้อง
กลุ่มเด็กหลังห้อง ศรร.อำเภอกระนวน

บันทึกครั้งแรกของข้าพเจ้า


เส้นทางจากหนองคาย สู่อำเภอกระนวนของหนึ่งในเด็กหลังห้อง

            นับตั้งแต่จำความได้ข้าพเจ้าชอบนั่งมองดูสายน้ำอันขุ่นมัวไหลเอื่อย ไหลผ่านพัดพาเอาสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต กอหญ้า เศษขยะ ท่อนไม้ บางทีก็เป็นซากสัตว์ที่ตายล่องลอยผ่านมาให้เด็กๆได้ตื่นเต้นเป็นบางครั้งบางคราว มองเห็นเรือบรรทุกข้าวสาร เหล็ก หิน ปูน ไม้ ล่องขึ้นทางเหนือเพราะบ้านของข้าพเจ้าตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง จึงมองเห็นกิจวัตรประจำวันของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง

            สมัยนั้นการเดินทางโดยทางเรือจะใช้เวลาไม่ต่างกับการเดินทางโดยรถโดยสารมากนัก คนสมัยนั้นจึงชอบที่จะเดินทางโดยทางเรือ เพราะสะดวกได้ชมวิวทิวทัศน์ของสองฝั่งแม่น้ำแต่การเดินทางโดยรถโดยสารจะยุ่งยากเสียเวลาต้องรอรถโดยสาร ถนนหนทางก็ไม่ดี การเดินทางก็ไม่สะดวกต้องใช้เวลามาก  ในช่วงชีวิตวัยเด็กที่พักอาศัยอยู่คุ้มวัดศรีเมืองยังไม่สามารถจดจำอะไรได้มาก ยกเว้นวัดศรีเมือง ที่คุณยายชอบพาไปวัดด้วย  นอกจากจะได้กินขนมอร่อยๆที่ได้จากหลวงตาที่วัดยังมีลานและสนามให้เด็กได้วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานอีกด้วย  อีกสถานที่หนึ่งคือด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าเสด็จ(ปัจจุบันเป็นตลาดอินโดจีน)ซึ่งคุณตาทำงานอยู่ที่นั่นคุณตาชอบพาไปตอนวันหยุดวันเสาร์วันอาทิตย์ ที่ทำงานของคุณตาจะมีโทรทัศน์ขาวดำและเครื่องมือวิทยุสื่อสาร ในสมัยนั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากเป็นที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็กอย่างข้าพเจ้าที่มีโอกาสได้ดูโทรทัศน์ จึงชอบที่ได้ตามคุณตาไปที่ทำงานทุกวันเสาร์วันอาทิตย์ 
           เมื่อปี พ.ศ.2513 เนื่องจากคุณพ่อรับราชการและเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ต้องโยกย้ายที่อยู่เมื่อถึงฤดูกาลโยกย้ายตำแหน่ง  ดังนั้นหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าจดจำได้หมู่บ้านแรกคือ บ้านเซกา ตำบลเซกา อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย  เพราะเป็นชื่อที่แปลกไม่เหมือนใคร บ้านเซกา เท่าที่จำได้ ถ้าเดินทางจากจังหวัดหนองคายโดย รถโดยสารต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 เพื่อให้ทันรถโดยสารคิวแรกสายหนองคาย-อุดรธานีเมื่อถึงจังหวัดอุดรธานีต้องต่อรถโดยสาร สายอุดรธานี-อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งแต่ละวัน จะมีรถวิ่งโดยสารเพียง 2 เที่ยวถ้าหากไม่ทันก็ต้องรอวันถัดไป จาก จ.อุดรธานี รถโดยสารจะต้องวิ่งไปหยุดพักรอรับผู้โดยสารที่อ.พังโคน  จ.สกลนคร  จึงจะถึง อ.เซกา ไปถึง  อ.บ้านแพง จ.นครพนม สรุปแล้วต้องใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 15 ชั่วโมง รถโดยสารต้องแล่นผ่าน 3 จังหวัดจึงจะถึง อ.เซกา จ.หนองคาย บ้านเซกา ในสายตาของข้าพเจ้าถือว่าทุรกันดารมาก ถนนหนทางเป็นหินลูกรัง ร้านค้า มีไม่กี่ร้าน มีร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง 1 ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค 1 ร้านร้านตัดผ้า 1 ร้าน ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ส้มตำ ไก่ย่าง 1 ร้านที่คิวรถ แต่มีอยู่ 1 ร้านที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยคือร้านขายน้ำแข็งไสเพราะสมัยนั้นไฟฟ้าที่ อ.เซกา จะจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นช่วงเช้าและช่วงเย็น เวลาที่อากาศร้อน จึงต้องพึ่งบริการจากร้านขายน้ำแข็งอยู่เป็นประจำ  ช่วงปิดเทอมจึงเป็นช่วงที่น่าเบื่อหน่ายมากไม่สนุกเหมือนช่วงเปิดเทอมที่ได้พักอยู่กับคุณตาคุณยายที่คุ้มวัดศรีเมือง ความทรงจำของข้าพเจ้าที่มีต่อบ้านเซกาก็คือ การเดินทางที่น่าเบื่อหน่าย การที่ต้องตักน้ำกินน้ำใช้เอง การที่ต้องเช็ดปัดกวาดทำความสะอาดบ้านเพราะฝุ่นละอองจากถนนลูกรัง  การที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์  แต่ที่ข้าพเจ้าประทับใจมากก็คือ การได้ดู ภาพยนตร์กลางแปลง(หนังขายยา)  สำหรับบ้านเซกาถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็กเพราะนานๆครั้งจึงจะมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์      
            จนกระทั่งปี พ.ศ.2518 คุณพ่อได้มีโอกาสย้ายมารับราชการที่ สภ.อ.กระนวน ส่วนข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ที่โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย หลังจากเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงมีโอกาสย้ายติดตามคุณพ่อมาอยู่ที่ บ้านหนองโก อ.กระนวน ซึ่งถือว่าเป็นที่อยู่ปัจจุบันของข้าพเจ้า คือบ้านเลขที่ 408 หมู่ที่ 11 ถนน มิตรบำรุง ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ประวัติความเป็นมา แต่เดิม กระนวน เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่นต่อมาปี พ.ศ. 2489 ได้ขอแยกตำบลออกจากอำเภอน้ำพอง ออกมาเป็น กิ่งอำเภอกระนวน ซึ่ประกอบไปด้วย ตำบลกระนวน ตำบลบ้านโนน โดยเลือกบริเวณดอนเมือง ( ดอนตาปู่ ) บ้านศรีสุข ตำบลกระนวน เป็นที่ตั้งที่ว่าการ กิ่งอำเภอกระนวน โดยมี นายประยุทธ เมืองครุฑ เป็นปลัดอำเภอ เป็นหัวหน้ากิ่ง ต่อมาปี พ.ศ. 2501 ได้รับการแต่งตั้งเป็น อำเภอกระนวน โดยมี นายอภัย หล้าสุวงษ์ เป็นนายอำเภอเป็นคนแรก ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 พร้อมทั้งมีการขยายตำบลเพิ่มขึ้นเป็น 7 ตำบลในขณะนั้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน อำเภอกระนวนมี 9 ตำบล 81 หมู่บ้าน    
            ซึ่งสมัยนั้น การคมนาคม มีถนนสายหลักคือสายกระนวน-น้ำพอง-ขอนแก่น สายกระนวน-ท่าคันโท และสายกระนวน-ยางตลาด-กาฬสินธ์ การเดินทางเข้าจังหวัดขอนแก่นมีรถโดยสารประจำทางของบริษัทดาวสิงห์ชัยวิ่งให้บริการ เป็นรถบัสสีเขียวเป็นสัญลักษณ์ ให้รู้ว่าเป็นรถประจำทางสายกระนวน-ขอนแก่น นอกจากนี้ยังมีรถแท็กซี่วิ่งให้บริการซึ่งจะออกวิ่งเมื่อมีผู้โดยสารครบหกหรือเจ็ดคนโดยมีบริการวันละ1-2เที่ยวเท่านั้นปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว     สถานที่ราชการที่สำคัญคือสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระนวน ที่ว่าการอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ ไปรษณีย์โทรเลข หน่วยงานราชการจะตั้งอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงกันเพื่อความสะดวกสำหรับประชาชนที่มาติดต่องานราชการ ดังนั้นกิจการ ร้านค้าที่เปิดบริการมากแถวหน่วยงานราชการคือ ร้านอาหารอีสานจำพวกก๋วยเตี๋ยว ลาบ ก้อย เนื่องจากสมัยนั้นการติดต่องานราชการล่าช้าต้องใช้เวลาค่อนวันบางครั้งตอนเช้าไม่เสร็จก็ต้องรอถึงตอนบ่าย ข้าราชการสมัยนั้นมักนิยมรับประทานอาหารประเภทลาบก้อย ทำให้ร้านค้าประเภทนี้ เจริญเติบโตเร็วมาก    อาคารพาณิชย์ของตลาดหนองโกสมัยนั้นส่วนมากจะเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวปลูกสร้างเป็นห้องแถวติดต่อกันตั้งอยู่ริมถนนสายหลักสายกระนวน-น้ำพอง กิจการส่วนมากคือร้านค้าประเภทอุปโภค บริโภค ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดปลีกและส่ง ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า ร้านถ่ายรูป ร้านจำหน่ายน้ำแข็ง การค้าสมัยนั้นลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่อยู่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ใกล้เคียงเดินทางมาซื้อสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายที่หมู่บ้านของตนเอง
            การค้าสมัยนั้นเป็นการค้าแบบพึ่งพาอาศัยกัน มีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน คู่แข่งทางการค้าไม่มีการแข่งขันกันมากนัก เนื่องจากส่วนมากเจ้าของกิจการเป็นเครือญาติหรือเพื่อนฝูงกัน การสื่อสารสมัยนั้นติดต่อกันโดยการเขียนจดหมาย โทรเลขหรือธนาณัติ ดังนั้นบรรดานักเรียน นักศึกษา ที่ไปเรียน ไปศึกษาต่อที่ต่างจังหวัด หรือที่กรุงเทพฯ เวลาใกล้สิ้นเดือน เงินไม่พอใช้หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงิน จึงจำเป็นต้องเขียนจดหมายถึงผู้ปกครองบรรยายถึงความยากลำบากของความเป็นอยู่ การขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องเขียนแบบเรียน ความคิดถึงพ่อแม่ คิดถึงบ้านอื่นๆอีกมากมายแต่สุดท้ายก็คือ มีความจำเป็นต้องใช้เงินเท่านั้นบาทเท่านี้บาทขอความกรุณาให้ผู้ปกครองส่งไปให้ด่วน หลังจากนั้นก็ต้องรอฟังเสียงรถรับส่งไปรษณีย์พร้อมทั้งลุ้นว่าจะมีธนาณัติของตนหรือไม่  สมัยนั้นถ้ามีใครในครอบครัวเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยถ้าหากมีอาการไม่รุนแรงก็จะซื้อยาสามัญประจำบ้านมากินเองหรือพาไปรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยแต่ถ้ามีอาการหนักก็ต้องพาผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่ขอนแก่นเนื่องที่อำเภอกระนวนยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ    
           เมื่อเข้าย่างเข้าปีพ.ศ.2520 อำเภอกระนวนเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เริ่มจากเกิดอัคคีภัยหลายครั้งที่ตลาดหนองโก ทำให้ร้านค้าที่เป็นอาคารไม้ถูกเผาไหม้ เกิดความเสียหายต้องทุบทิ้ง รื้อถอน มีการก่อสร้างอาคารใหม่เป็นตึกใหญ่สวยงาม ร้านค้าใหม่ผุดขึ้นมามากมาย การซื้อขาย สินค้าเปลี่ยนแปลงไป มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอาศัยอยู่ในอำเภอกระนวน การประกอบการหลายอย่างมีการแข่งขันทางการค้ารุนแรง มีการแก่งแย่งลูกค้า การตลาด แบ่งพรรคแบ่งพวก บ้านเมืองเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแต่สภาพความเป็นอยู่สภาพจิตใจขาดความร่วมมือ ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลุ่มผู้ประกอบการแบ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเดิมดำเนินธุรกิจในรูปแบบครอบครัว กับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีการจัดการที่เป็นระบบทำให้ผู้ประกอบการเดิมค่อยๆเลิกกิจการไปเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ได้ แต่ก็มีบางรายสามารถยืนหยัดสู้ต่อไปได้    ส่วนการสื่อสาร เริ่มมีการติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์เปิดบริการให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้โทรศัพท์ การติดต่อสื่อสารมีความสะดวกขึ้น การพูดคุย นัดหมายทำธุรกิจมีความคล่องตัว นักเรียน นักศึกษาก็ไม่ต้องเสียเวลาเขียนจดหมายให้ยุ่งยาก ขาดเหลืออะไรก็สามารถโทรศัพท์หาผู้ปกครองได้เลย    
            ด้านสาธารณสุขอำเภอกระนวน มีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเปิดบริการประชาชน ทำให้ประชาชนในเขตอำเภอกระนวนและเขตอำเภอใกล้เคียงได้รับการดูแลรักษาโรคภัย ไข้เจ็บได้สะดวกสบายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปรักษาที่จังหวัดขอนแก่นเหมือนเมื่อก่อน     จวบจนถึงปัจจุบันอำเภอกระนวนเจริญเติบโตไปแทบทุกด้านหน่วยงานราชการ ที่ว่าการอำเภอกระนวนเปลี่ยนเป็นตึกหลังใหม่ ภายในสำนักงานประกอบไปด้วยเครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก คอมพิวเตอร์ เข้ามามีบทบาทในการงานไม่มีความจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่มากหลายขั้นตอนสมัยก่อน งานติดต่อ งานบริการ เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ประชาชนที่มาใช้บริการมีความสะดวก มีความคล่องตัว ไม่ต้องเสียเวลาครึ่งค่อนวันเหมือนสมัยก่อนแต่สิ่งหนึ่งที่หายไปคือความรู้สึก ความผูกพัน เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ มีธุรกิจรัดตัว ไม่มีเวลาพูดคุย คุ้นเคยกันเหมือนเมื่อก่อนและอีกอย่างที่หายไปคือร้านขายอาหาร ประเภท ลาบก้อย อาหารตามสั่ง แถวบริเวณศูนย์ราชการที่เคยมีอยู่หลายร้าน ปัจจุบันเลิกกิจการ เปลี่ยนเป็นร้านถ่ายเอกสาร ร้านจำหน่ายเครื่องเสียงเครื่องเล่นวีซีดีร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ บัตรเติมเงิน ร้านบริการอินเตอร์เนต เพราะปัจจุบันกลุ่มลูกค้าสำคัญที่มีกำลังซื้อคือ เด็กวัยรุ่น หรือหน่วยงานราชการ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลที่มีงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง หาใช่ประชาชน ราษฎรเหมือนเมื่อก่อน    
           ปัจจุบันการติดต่อสื่อสาร การคมนาคม มีความสะดวกสบายไม่เหมือนเมื่อก่อน รถยนต์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นปัจจัยที่สำคัญของคนปัจจุบัน บ้านแทบทุกหลังจะมีรถยนต์จอดไว้ประดับบ้าน สมาชิกในครอบครัวแทบทุกคนจะพกพาโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องประดับประจำตัว   ดังนั้นการเดินทางจากกระนวนไปจังหวัดขอนแก่นจึงใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงเพราะทุกครอบครัวต่างก็มีรถยนต์ ไว้ใช้ขับเองไม่จำเป็นต้องใช้บริการรถโดยสารประจำทางเหมือนเมื่อก่อน สังเกตได้จากรถโดยสารประจำทางสายกระนวน-ขอนแก่น จะมีผู้ใช้บริการมากเฉพาะช่วงเช้ากับช่วงเย็น ผู้ใช้บริการส่วนมากจะเป็นนักเรียน นักศึกษา มากกว่าประชาชนทั่วไป ส่วนการสื่อสารนับตั้งแต่มีการเปิดบริการใช้โทรศัพท์มือถือ แทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือพกติดตัว แต่น้อยคนที่พกพาเพราะมีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารส่วนมากพกพาตามกระแสนิยม เป็นค่านิยม เป็นแฟชั่น มากกว่าจำเป็นจริงที่ต้องใช้    การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่มีผลต่อสภาพความเป็นอยู่และสภาพสังคมของหมู่บ้านและชุมชนของข้าพเจ้าก็คือการเมือง การปกครอง จากแต่ก่อน เป็นหมู่บ้าน ยกฐานะเป็น เขตสุขาภิบาลหนองโกจนกระทั่งปัจจุบัน เป็น เทศบาลตำบลหนองโก ช่วงแรกการเมืองระดับท้องถิ่นยังไม่มีบทบาทต่อสังคมมากนัก การพัฒนา ทำนุบำรุงท้องที่ งบประมาณ ในการจัดการไม่มาก คนในหมู่บ้าน ชุมชนไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่ปัจจุบันการเมืองระดับท้องถิ่นมีบทบาท มีอิทธิพล มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องกับบุคคลในสังคมแทบทุกด้าน ทำให้เกิดมีกลุ่มการเมืองที่มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายกลุ่ม มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก ส่งผลไปถึงประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน ก็เกิดความแตกแยก บางคนก็อยู่กลุ่มนี้ บางคนก็อยู่กลุ่มโน้น จากที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พูดคุยปรึกษากันด้วยเหตุและผล ก็กลายเป็นว่า คุณอยู่กลุ่มไหน มีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยแค่ไหน ไปเสียแล้ว     จากการที่คุณพ่อและคุณแม่รับราชการ ต้องโยกย้ายเปลี่ยนภูมิลำเนาอยู่บ่อยๆทำให้ข้าพเจ้าต้องย้ายตามผู้ปกครองตลอด เห็นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละหมู่บ้านแต่ละชุมชนตัวข้าพเจ้าเองก็ต้องเปลี่ยนสถานศึกษา เปลี่ยนเพื่อน ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานศึกษาใหม่ เพื่อนใหม่ตลอด เมื่อตอนเป็นเด็กเมื่อทราบว่าผู้ปกครองจะได้ย้ายที่ทำงาน ก็รู้สึกใจหายที่ต้อง จากเพื่อนฝูง จากบ้านเก่าที่เราเคยอยู่ และยังกังวลใจว่าบ้านใหม่ เพื่อนใหม่ สถานศึกษาใหม่จะเป็นอย่างไร จะปรับตัวเข้ากับสังคมบ้านเมืองได้หรือไม่    จวบจนกระทั่งคุณพ่อคุณแม่ได้โยกย้ายตำแหน่งมารับตำแหน่งที่อำเภอกระนวน และทำงานรับราชการ จนกระทั่งเกษียณราชการอยู่ที่อำเภอกระนวน ครอบครัวของข้าพเจ้าจึงตั้งหลักปักฐาน ประกอบอาชีพค้าขายอยู่ในเขตเทศบาลตำบลหนองโก อำเภอกระนวนจนถึงปัจจุบัน
             มุมมองในเรื่องสี่สิบปีหมู่บ้านของข้าพเจ้า  จึงมองว่า  การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมีประโยชน์เป็นผลดีต่อสังคมและประชาชนในหมู่บ้านหรือในชุมชน เช่นด้านการคมนาคม  ด้านการสื่อสาร  ด้านสาธารณสุข ความเป็นอยู่ของคนปัจจุบันสะดวกสบายมากขึ้น แต่ผลเสียหลายอย่างก็ตามมา จากการคมนาคมที่สะดวกสบาย รถยนต์มีมากมาย สมัยก่อนน้อยครั้งที่จะมีอุบัติเหตุ รุนแรง แต่ปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุรายวัน สูญเสียชีวิต เงินทอง ทรัพย์สินมากมาย  ข้อดีของการสื่อสารทำให้ติดต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็ทำให้ความเป็นส่วนตัวของคนเราน้อยลง ความผูกพัน ความรักความห่วงใย การพูดคุยระหว่างคนในครอบครัวน้อยลง ต่างคนต่างอยู่ ลูกจะขอเงินจากพ่อจากแม่ ปัจจุบันแค่ส่ง sms ก็พอไม่จำเป็นต้องเขียนบรรยายให้เสียเวลา ด้านการสาธารณสุขเมื่อก่อนโรคภัยไข้เจ็บ มีไม่มากโรค แต่ปัจจุบันโรคร้ายแรงติดต่อกันได้ง่าย ทำให้โรคร้ายแพร่เชื้อกระจายได้เร็วและไม่สามารถป้องกันได้เลย    
            จากบทความข้างต้นนี้ เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ข้าพเจ้าได้มองเห็นและได้สัมผัสมา หมู่บ้านของข้าพเจ้าในอดีตอาจเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างมากกว่าที่ข้าพเจ้าจะนึกคิดหรือจดจำได้เหตุการณ์สำคัญหลายอย่างที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้มากประสบการณ์ แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้วเป็นประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การจดจำที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้คุณค่าอะไรแก่ตัวเรา
                                               ...และเราให้อะไรบ้างกับชุมชนของเรา....
หมายเลขบันทึก: 113582เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2007 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • มาให้กำลังใจและบอกว่าบันทึกได้ละเอียดมาก
  • เคยมีพี่จบสามพรานมาอยู่ที่สภอ กระนวนชื่อ คเชนทร์
  • แต่ไม่ได้พบกันนานมาก
  • ขอให้เขียนมาอีกนะ

 

สวัสดีครับท่านPนาย คงเดช ภูผิวผา
http://gotoknow.org/blog/mrschuai/113523#

ผมได้นำข้อความดีๆบางส่วนไปรวมในรวมตะกอนครับ หวังว่าท่านคงอนุญาติ และมีความเพลิดเพลินในหมู่ชาว g2k ครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับคุณคงเดช

  • ยินดีต้อนรับครับผม และยินดีที่ได้รู้จักนะครับผม ขอเพิ่มเข้าแพลนเน็ตด้วยครับ
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับสำหรับบทความดีๆ 
  • ...และเราให้อะไรบ้างกับชุมชนของเรา....
  • ขอบคุณมากครับ ขอให้สนุกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับผม
  • ยินดีต้อนรับสู่โลกของ Blogger ค่ะ  ขอเป็นกำลังใจให้เขียนบันทึกดี ๆ อีกนะคะ
  • ขอแนะนำให้รู้จักอาจารย์ขจิต  ท่านเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ Blogger หน้าใหม่ค่ะ
อาจารย์ขจิตครับ ขณะนี้ พ.ต.ท.คเชนทร์ ท่านย้ายไปดำรงตำแหน่ง รองผู้กำกับฯ ที่ สภ.อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่นครับ ผมเองก็ไม่ได้ติดต่อกับท่านนานแล้ว ช่วงที่ท่านมาเป็นนายตำรวจอยู่ที่ สภ.อ.กระนวน ก็คุ้นเคยกับท่านพอสมควรครับ

                  พ.ต.ท.คะเชนทร์  ยืนยง 

   รอง  ผกก.(ป.) สภ.อ.ชุมแพ  จว.ขอนแก่น

            mobile.  081-2614622  ครับท่าน

         กระผมในนามตัวแทน กลุ่มเด็กหลังห้อง ก็ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่เข้ามาชมและคอยให้คำแนะนำในการจัดทำ g2k  จนดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นท่าน อ.ขจิต ฝอยทอง(ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกับ โกวิทย์ ฝอยทอง)หรือท่านอรพิน เหล่าประเสริฐและท่านสมพร ช่วยอารีย์ และทีมงาน g2k ทุกท่านด้วยนะครับ

         พวกเรา กลุ่มเด็กหลังห้อง ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับคำติชมจากพวกท่าน และพวกเราจะพยายามจัดทำผลงานให้ดีและมีประโยขน์ต่อส่วนรวมและสังคม ยิ่งขึ้นต่อไปนะครับ

                          ....ดล คนเดิม..

พูดได้ดี...มีสัมมาคาราวะ....เอายังงี้.....ให้เป็นรองนายกฯฝ่ายการศึกษาก็แล้วกัน  ..ถือว่ามีความรู้ที่ดี...รู้จักที่ดำ ...ที่ขาวดี.....จาก...นายกคนใหม่

คนการศึกษาคนหนึ่ง

ผมมาหนองโกครั้งแรกปี 2516 จากขอนแก่นมาบ้านท่าหิน โคกสี รอนแรมหัวแดงเพราะฝุ่นลูกรังมาจนซอดพ่อว่อที่วัดป่าชัยมงคล  ขมุกขะมอมไปทั้งคณะรำวง ส.สีดา(ไม่มั่วอย่างที่คนพากันล้อเล่น)  ครั้งนั้นโรงพักโดยตำรวจเป็นเจ้าภาพรำวง  ผมจำไม่ได้ว่าโรงพักปีนั้นตั้งอยู่แห่งไหน  จำได้แต่ว่าเวที่รำวงหันหน้าไปทางโรงพัก  กองเชียหันหลังให้ถนน(ถ้าเป็นปัจจุบันก็ประมาณหันหลังให้บ้านยายอิ้งถ่ายเอกสารว่างั้นเถอะ)  มีแฟนชายมาเต้นรำวงดีพอสมควร  ค่าวง 750 บาทในยุคนั้นคงได้ครบเพราะผมได้ค่าตัวครบ 40 บาท จากหัวหน้าคณะ  รำวงส.สีดาในยุคนั้นคนลือกันว่ามั่วอย่างนั้นมั่วอย่างนี้(เขาตั้งมาประมาณปี 2513-14 แต่ผมมาเล่นกีตาร์ให้เขา ปี 16 (ขณะเรียนขอนแก่นวิทยายน) จำได้ว่าเพลงสัญญาเมื่อสายันต์ ดังมาก ผมต้องขึ้นอินโทรเล่นเกือบตลอดจนถึงตี 2

อีก10 ปีต่อมาเมื่อราวปี25-26 ผมได้มีโอกาสมาโรงพักกระนวนอีกครั้ง  แต่ในฐานะตำรวจตามไปเชิญ(จับ?) เพราะมากับนักโทษไปแบกเศษไม้ปีกที่เขาทิ้งแล้วที่ดงมูลเพื่อเอาไปกลึงทำซี่เล็กๆที่พิงโซฟางานฝีมือนักโทษ(นัยว่ามันประหยัดนักแลเพราะใช้ไม้เศษ) ขากลับ 4-5 โมงเย็นตำรวจตามไปจนถึงทุ่งเลยบ้านหนองกุงใหญ่  ปรากฏว่าทั้งนายทั้งลูกน้อง(นักโทษ)ต้องนั่งแกร่วที่โรงพักจนค่ำมืดหิวข้าวแลง   กว่าที่ผู้ใหญ่จะประสานกับทางตำรวจได้  ผมมางานนี้เป็นปีๆ ที่เดียว

ต่อมาราว 12 ปี ผมจึงได้มาทำหน้าที่ทางด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนชาวกระนวน  ช่วงนี้ยาวหน่อยผมเป็นชาวหนองโกราว 9 ปี เลือก สส. สจ. สว. สท.ที่นี่ก็หลายครั้ง ลูก ๆ เรียนที่ ชุมชนกระนวน นวลน้อย ปรีดาภรณ์ ย้ายบ้านเช่า 4 ครั้ง ตั้งแต่บ้านเสี่ยเต่าน้อยซอยโรงไม้  เป็นต้นมา  ผมชอบอัธาศัย สำเนียงพูด อาหารการกินที่พอดีพองามของชาวตลาดหนองโก  ที่แปลกดีก็คือตลาดหนองโกเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา  เช่นรอบดึกมาเช้าที่ตลาดเช้าสืบสารคามคึกคักมาก เช้าไปสายนิดๆ ตลาดซาฮะเฮง(ตลาดสืบสารคามกลับเงียบในตอนกลางวัน) พอคำมาก็ได้ชมความงามของการกิน-อยากของพี่น้องที่ตลาดแลงริมถนนคุ้มหนองโก,  คุ้มศรีสุก ผมและแฟนจำพ่อค้าแม่ค้าทุกตลาดหลายท่านได้ดี  ต่อมาสถานีขนส่งสร้างขึ้นก็มีตลาดสดอีกแห่งเกิดขึ้นอีก  และกลายเป็นตลาดหลักเวลากลางวันต่อมา เสียดายโรงแรม5-6 ชั้นเขาสร้างไม่เสร็จ 

ผมมีความทรงจำดีๆ หลายอย่างทั้งจากชาวตลาดเทศบาล  และชาวรอบนอกทุกตำบล  ปัจจุบันถึงผมไม่ได้ประจำที่กระนวนแล้ว  แต่ผู้ผมก็ไปมาหาสู่ตลอดมาเช่น  ธ.กรุงไทย เป็นต้น  ผมลืมบอกท่านว่าผมเคยมาหนองโกครั้งแรกมาเล่นดนตรี พอมาอยู่จริง ๆ ผมไม่มีโอกาสเล่นเลย  เป็นงานงิ้ว  หรืองานแห่เถิดเทิงใจมันก็เต้นระทึกอยากเล่นอยากบายแต่ก็ไม่มีโอกาส

ผมเล่ามายาวก็คงไม่มีอะไรถือว่าเป็นคนต่างถิ่นมีโอกาส มาอยู่ก็ชอบที่นี่  ตอนนี้ย้ายออกจากหนองโกได้ 4-5 ปีแล้ว อ้อ..ผมลืมบอกไปว่าในตอนหลังผมจึงรู้ว่า  มีเพื่อนชาวกระนวนเรียนหนังสือขอนแก่นวิทย์ห้องเดียวกัน 2-3 คน  2 คนมีและเคยมีเอกลักษณ์ที่ศีรษะ? ขอจบไว้ก่อนครับ

         ผมมีความรู้สึกยินดีและดีใจมากเลยนะครับ ที่ได้มีผู้ไม่ประสงค์ออกนามที่ใช้ชื่อว่า..คนการศึกษาคนหนึ่ง..และก็ได้เล่าเรื่องการเดินทางในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ.2516  ผมยังเด็กอยู่เลยครับคุณพี่ ผมอยู่แค่ชั้นป.2เองครับ และสมัยก่อนนั้นเด็กนักเรียนที่ไปเรี่ยนในโรงเรียนขอนแก่นวิทย์.. ก็มีไม่กี่คนด้วยถ้าไล่ไปไล่มาผมอาจจะรู้จักเกือบทุกคนเลยก็ได้นะครับ

         เมื่อก่อนตลาดหนองโก ก็ยังไม่เจริญและมีผู้คนมากมายเหมือนปัจจุบันนี้และก็อยู่กันแบบพีๆน้องๆ มีอะไรก็แบ่งปันกันไป ช่วยเหลือกันไปคืออยู่กันตามวิถีชาวบ้านก็ว่าได้ มีบุญมีงานก็ไปช่วยเหลือกัน มีงานประจำปีก็เดินแผ่เงินบริจาคร่วมกัน ยิ่งเป็นงานงิ้วแล้วด้วยนั้นถือว่าขาดไม่ได้เลยครับ เพราะว่าสุดยอดตอนสมัยเป็นเด็กแล้วไม่มีงานอะไรที่จะมีมหรสพครบครันดีไปกว่านี้แล้วหละครับ (นึกแล้วอยากจะกลับไปเป็นเด็กอีกนะครับ) 

          ถ้าคุณพี่ผ่านมาที่กระนวนก็ขอเชิญแวะซื้อกับข้าวที่ตลาดแลงได้นะครับ ขณะนี้มีกันทั้งตลาดหนองโก ศรีสุข และตลาดสีบสารคาม และก็อย่าลืมอุดหนุน ร้านขายของชำในตลาดด้วยนะครับและขอฝากมินิมาร์ท หน้าสภอ.ด้วยร้านหนึ่งนะครับ เพราะวันข้างหน้าไม่รู้ว่าจะมีร้านขายของชำหรือมินิมาร์ทขนาดเล็ก จะยังอยู่บริการพวกเราซักร้านครับ   อ้อ...ลืมไปนะครับ

ช่วงที่ผมอยู่ ชั้นป.2 นั้นพี่ชายผมอยู่ ม.ศ.2ขอนแก่นวิทย์ฯครับ...

                                      ดล คนเดิม

                                        

           

บ้านหนองโก..ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก บ้านเมืองเจริญขึ้นสวนทางกับความเป็นคนบ้านหนองโก...นับวันจะน้อยลง....หนึ่งในเด็กหลังห้อง...

  • แวะมาชื่นชม 
  • ยอดเยี่ยมมาก 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท