ยกเครื่องการศึกษาในอเมริกาและมุ่งสู่การศึกษาทางเลือกกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต


เจ เลมเก้ (Jay Lemke) นักฟิสิกส์ อาจารย์ และนักวิจัยอาวุโสมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา สะท้อนบทเรียนจากชีวิตการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักการศึกษาผู้มีประสบการณ์อยู่ในวงการกว่า ๓๐ ปี ถึงความเป็นจริงของสถานการณ์โลกและสภาวการณ์ของสังคมอเมริกัน กับข้อจำกัดของรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนในปัจจุบันของอเมริกาและโดยทั่วไปว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นอุปสรรคทั้งต่อการพัฒนาตนเองของระบบการศึกษา กับการเป็นแหล่งสร้างปัญหาและความเสี่ยงให้เกิดขึ้นเสียเองแก่สังคม จากนั้นก็เสนอแนะให้มุ่งไปที่การพัฒนาการศึกษาทางเลือก การศึกษาตลอดชีวิต และการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งนำเสนอคำถามวิจัยหลักสำหรับการวิจัยทางการศึกษาในอนาคต

เขาชวนตั้งคำถามและพิจารณาว่า ระบบโรงเรียนนั้น(Schooling System) จัดว่าเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาอย่างหนึ่ง ดังนั้น ในฐานะเป็นเทคโนโลยีการศึกษา เราจึงสามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ ให้เหมาะสมอยู่เสมอได้  การจัดการศึกษาแบบระบบโรงเรียน เป็นเทคโนโลยีการศึกษาที่ค้นพบและใช้มาอย่างต่อเนื่องนับแต่อารยธรรมของชาวสุเมอเรียนเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อน

เลมเก้กล่าวว่า เมื่อนำเอาแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นเทคโนโลยีการศึกษามาพิจารณาระบบการศึกษาในโรงเรียนนั้น ขอบเขตการพิจารณาเทคโนโลยีการศึกษาจะต้องไม่ใช่อยู่เพียงแค่สิ่งของที่นำมาใช้ แต่จะต้องรวมไปถึงวิธีที่จะนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเหล่านั้นมาใช้เพื่อให้สามารถบรรลุจุดหมายดังที่เราต้องการด้วย

สิ่งของเครื่องใช้ดังกล่าวนั้น ก็จะได้แก่สิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลายที่นำมาใช้เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ นับแต่สิ่งของชิ้นเล็กๆ เช่น ดินสอ ไปจนถึงสิ่งของชิ้นใหญ่ๆโตๆ เช่น รถไฟเหาะตีลังกา หรือกระทั่งโรงเรียนสักแห่งหนึ่ง

อีกทั้งความเป็นเทคโนโลยีการศึกษาอย่างใหม่นั้น ก็จะไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของเครื่องใช้ดังเช่นโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ แต่หมายรวมไปถึงวิธีคิดและวิธีการใหม่ๆสำหรับใช้ดินสอ รถไฟเหาะตีลังกา โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนโรงเรียน ทั้งหลายเหล่านั้น ที่ได้นำมาใช้เพื่อจุดมุ่งหมายใหม่ๆทางการศึกษา

เลมเก้ได้ให้ทรรศนะวิพากษ์ว่า วิธีทำง่ายๆ เช่น เพียงซื้อและจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ใหม่ๆ, โละครูที่มีอยู่เพื่อบรรจุคนเข้ามาใหม่ และรื้ออาคารโรงเรียนที่มีอยู่แต่เดิมทิ้ง เหล่านี้ นอกจากจะไม่เพียงพอที่จะเรียกว่าเป็นการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องทำอย่างนั้นด้วย เนื่องจากการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างใหม่เพื่อการศึกษา ที่จะเพียงพอสำหรับการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังที่พึงประสงค์ของสังคมนั้น ต้องมุ่งคิดค้นวิธีการอย่างใหม่และดีกว่าเดิมเพื่อสามารถใช้สิ่งที่สังคมมีอยู่เหล่านั้น ให้สามารถบรรลุจุดหมายและบังเกิดผลดีที่สุด

ดังนั้น จึงทำให้เขาเห็นถึงความจำเป็นถึงการยกเครื่องทั้งระบบของการศึกษาของอเมริกา ปฏิรูปการเรียนรู้ที่ลดการใช้การสอนและการถ่ายทอดความรู้เป็นรายวิชาแยกส่วน ไปสู่การสอนวิธีการเรียนรู้และการสร้างประสบการณ์จริงด้วยตนเองของผู้เรียนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมอเมริกาและสังคมโลกให้มากที่สุด เขาเสนอแนะให้เน้นส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาตลอดชีวิต

อีกทั้งเชื่อว่า เมื่อถึงระดับหนึ่งในระยะเวลาอันใกล้นี้ หากยกเลิกกฏหมายการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งทำให้ครอบครัวและผู้เรียนจำต้องเรียนในระบบแบบเดิมที่รัฐบาลจัดให้ และยกเลิกกฏหมายควบคุมการจัดการศึกษาเองของครอบครัว เอกชน และภาคประชาสังคมแล้วละก็ ผู้คนจะเลิกเรียนแบบเดิมและหันไปหาการศึกษาเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิต รวมทั้งการศึกษาทางเลือกที่เฟื่องฟูขึ้น มากยิ่งๆขึ้น กระทั่งเข้ามาทดแทนการศึกษาแบบห้องเรียนเป็นฐานและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงของระบบการศึกษาและการเรียนรู้

สรุปความมาเล่าจาก ยกเครื่องการศึกษาในอเมริกา : Re-Engineering Education in America
เจ เลมเก้ (Jay Lemke) มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา
อ่านเนื้อหาบทความและงานเขียนที่เกี่ยวข้องของ Lemke ได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 452645เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2011 06:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

"การศึกษาและโรงเรียนทางเลือก" เป็นเทคโนโลยีการศึกษา ;)...

ผมได้นำเรื่องโรงเรียนทางเลือกไปสอนนักศึกษาฝึกหัดครูด้วยครับท่านพี่ ;)...

ไม่ชอบใจกระแสหลัก แต่ชอบใจกระแสที่เป็นการหาทางออกจากทางตันของสังคมมากกว่า

ขอบคุณสำหรับความรู้ในบันทึกนี้ครับท่านพี่ ;)...

สวัสดีครับอาจารย์Wasawat Deemarn ครับ
ทักษะหลายอย่างที่อาจารย์พานักศึกษาทำ โดยเฉพาะทักษะการทำงานและเรียนรู้เป็นกลุ่ม การเป็นคนทำงานเชิงออกแบบกระบวนการและจัดปัจจัยอำนวยความสะดวกให้ผู้อื่นเรียนรู้ รวมไปจนถึงการออกไปเรียนรู้ชุมชนและเมืองทั้งเมืองเพื่อออกแบบและจัดวางให้เป็นทรัพยากรการเรียนรู้จากการใช้ชีวิตในสังคมไปด้วย เหล่านี้ เป็นสิ่งที่เขากล่าวถึงและให้ความสำคัญที่จะนำมาพัฒนาเป็นระบบการเรียนรู้ในสถานการณ์ใหม่ๆ มากเลยละครับ

รวมไปจนถึง การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินการค้า อย่างที่เห็นอาจารย์ให้ใบงานให้นักศึกษาไปเรียนรู้เองในเชียงใหม่ เขาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทักษะอย่างใหม่ที่จะต้องเป็นสำหรับครูและนักจัดกระบวนการทางการศึกษาในอนาคตนะครับ

มีอีกชุดหนึ่งน่าสนใจมากครับ จะย่อยมาแบ่งปันให้อีกครับ เป็นเรื่องการปรับยุทธศาสตร์การศึกษาของกระทรวงศึกษาและคณะทำงานเชิงนโยบายทางการศึกษาของประธานาธิบดีบาราค โอบามา ให้ไปสู่การสร้างพลเมืองเด็กและระดมพลังสังคมพัฒนาการศึกษาในระยะแแรกเริ่มสำหรับเด็กนับแต่แรกเกิดไปจนถึงเกรด ๓ เพื่อปฏิรูปการศึกษาและปฏิรูปสังคมอเมริกาอย่างบูรณาการในระยะยาวให้ได้ ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพ และเศรษฐกิจสังคม

ขอทักทายสวัสดียามเช้ากับคุณณัฐรดาด้วยครับ
มีความสุขครับ

ไปสู่การสอนวิธีการเรียนรู้และการสร้างประสบการณ์จริงด้วยตนเองของผู้เรียนที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

เชื่อตลอดมาว่าเป็นวิถีการเรียนรู้ที่ตรงจุด...ขอบคุณคะ

สวัสดียามเช้าค่ะอาจารย์ ดิฉันอ่านแล้วสะดุดตรงนี้ค่ะ

....ขอบเขตการพิจารณาเทคโนโลยีการศึกษาจะต้องไม่ใช่อยู่เพียงแค่สิ่งของที่นำมาใช้ แต่จะต้องรวมไปถึงวิธีที่จะนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเหล่านั้นมาใช้เพื่อให้สามารถบรรลุจุดหมายดังที่เราต้องการด้วย....

คิดเทียบเคียงกับความคิดเรื่อง แจกแทปเล็ตให้เด็กป.หนึ่งทุกคน ของรัฐบาลใหม่ เพราะดิฉันเรียนรู้จากอดีตว่า เราใส่โน่นนี่เข้าไปในโรงเรียน เปลี่ยนโน่นนี่ (เฉพาะในเชิงกายภาพ และโครงสร้าง) แต่ไม่ค่อยคิดไกลไปถึงการนำไปใช้เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมาย

เพราะมันคิดยาก??? หรือเปล่า

แล้วเราก็ต้องเสียเงินงบประมาณก้อนใหญ่  ที่เป็นเงินของเราทุกคนไปแบบละลายแม่น้ำ

ดิฉันมองตาปริบๆ โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับการจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงิน ว่า พวกเขาจะใช้มันเพื่อหวังผลระยะสั้น หรือ ระยะยาว

ย่อหน้าสุดท้ายก็น่าสนใจ  แต่ต้องออกไปทำงานก่อนค่ะ

  • ตามมาอ่านก่อนนะครับ
  • เมื่อวานพบเพื่อนรุ่นน้อง รุ่นพี่ อาจารย์ที่ มทร ล้านนาด้วย
  • มีคนบอกว่าไปงานแต่งงานอาจารย์ด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ CMUpal ครับ
ตรงจุดนี้ศาสตราจารย์ Lemke ให้ทรรศนะวิพากษ์ต่อการศึกษาที่ดำเนินการอยู่ของอเมริกา(และมีนัยที่รวมไปถึงในสังคมต่างๆของโลกด้วย)ด้วยครับว่า การศึกษาในระบบโรงเรียนและเน้นการจัดห้องเรียนดังปัจจุบัน ที่ว่า เป็นกลุ่มอายุเดียวกัน ทดสอบเพื่อกลั่นกรองและจัดกลุ่มให้มีทักษะพื้นฐานใกล้เคียงกัน สอนให้มีวัฒนธรรม ทัศนคติ และค่านยิม ตลอดจนโลกทัศน์และความเชื่อ ที่มีตัวแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งทำให้กีดกันและเกลียดชังความเป็นจริงอย่างอื่นที่มีมากกว่า และเรียนแบบเดียวกัน พร้อมกับจบออกไปด้วยการได้มาตรฐานแบบเดียวกัน

ในขณะที่โลกความเป็นจริงนั้น สถานการณ์ต่างๆของสังคมและสิ่งแวดล้อมสร้างขึ้นโดยกลุ่มคนทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ ทุกความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม มีทั้งชาย หญิง หญิงรักหญิง ชายรักชาย และคนทีมีรสนิยมทั้งสองเพศ อีกทั้งความรู้และความเชื่อชุดเดียวกัน ผู้คนต่างกลุ่มต่างบริบทก็ให้ความหมายและมีวิถีปฏิบัติไม่ได้เป็นตัวแบบตายตัวอย่างเดียวกัน เหล่านี้ การศึกษาเรียนรู้แบบเดิมจึงสอนให้คนคิดและต่อต้านโลกความเป็นจริงของตัวเอง นอกจากความรู้ความเข้าใจจะไม่พอนำไปใช้ในชีวิตจริงแล้ว สิ่งที่ถูกหล่อหลอมออกไปนั่นเองก็จะก่อให้เกิดปัญหาอีกด้วย เช่น ความเป็นชาตินิยมและเหยียดสีผิว การต่อต้านและเหยียดความแตกต่างทางมาตรฐานความเชื่อ ความรุนแรงต่อความแตกต่างระหว่างเพศสภาวะ เหล่านี้เป็นต้น ให้แง่คิดที่น่าสนใจดีครับ

สวัสดีครับหมอ nui ครับ วันเสาร์ยังไม่ยอมหยุดทำงานอีกนะครับ
มีหลายบทความ ที่ทำให้เห็นภาพว่าอเมริกาเขากำลังเน้นให้ลดการเรียนความรู้และการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ลดทอนให้อยู่ในตำรา ข้อมูล และหลักสูตร เพื่อไปจัดง่ายๆในห้อง เพราะทำให้ความรู้ความเข้าใจไม่ลึกพอ ดังนั้น การใช้เครื่องมือบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศสำหรับการเรียนรู้ ก็จะมีแนวคิดที่ต่างไปจากที่ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาให้ความสำคัญ เขาเน้นการเรียนรู้ที่จะเข้าถึงได้นอกห้องเรียนมากขึ้น การเรียนรู้แบบทำโครงงานและมีพี่เลี้ยงติดตามให้การแนะนำ ดูแล และคอยช่วยเหลือการเรียนรู้ แทนการทำบทบาทการสอนในห้อง

แม้แต่การเขียนและการอ่านหนังสือ เขาก็บอกว่าต้องไม่ใช่เพียงแค่สอนให้อ่านและเขียนตัวหนังสือได้ แต่ต้องทำให้ผู้คนมีเนื้อหาประสบการณ์เพื่อเข้าถึงความหมายและระบบคุณค่าที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมที่ความรู้ต่างๆถ่ายทอดไว้ในตัวหนังสือ ก็คงจะเช่นเดียวกันกับการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาสู่ระบบการศึกษา หากแจกแต่เครื่องมือ โดยขาดการพัฒนาจิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้และความรักที่จะเรียนรู้ก่อน ก็เหมือนกับได้วิธีอ่านและวิธีเขียนหนังสือ แต่ไม่รู้จะเขียนหรืออ่านอะไรล่ะสิครับ เครื่องมือและเทคโนโลยีเกียวกับการศึกษาและการจัดการความรู้ทั้งหลาย ก็อาจจะไม่สามารถช่วยอะไรเลยกับการพัฒนาการศึกษาและการปฏิรูปการเรียนรู้

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
เลยลองมองหาใหญ่เลยครับ คุ้นหน้าแล้ว ๒-๓ คน มือดีๆมารวมตัวเกาะกลุ่มกันอยู่ที่นี่หลายคนครับ 

สวัสดีค่ะอาจารย์ ในต่างประเทศโลกตะวันตก เราได้มองเห็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการในการเรียนการสอนซึ่งเขาพยายามให้นักเรียน นักศึกษาสามารถคิดเป็น ในเมืองไทยนุชมองว่าเรามักติดกรอบหลักการที่เราตั้งขึ้นมาเอง จะปรับเปลี่ยนอะไรก็มักมองแค่หลักการ ก็ดูมีอุดมคติดี แต่ลงไม่ถึงวิธีปฏิบัติว่าทำอย่างไรจึงจะให้ครูสามารถให้ปฏิบัติได้จริง

การศึกษาทางเลือกกับการศึกษาตลอดชีวิตนั้นหากนักการศึกษาไทยและระดับนโยบายมีความเข้าใจและกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ทั้งครูและนักเรียนคงมีความสุข และสังคมจะมีปัญญาและพลังขึ้นมากนะคะ

มาเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเองค่ะ ข้างบนหอคอยจะได้ยินไหมนะ

มาให้กำลังใจอาจารย์อีกรอบคะ และขอบคุณที่อาจารย์กรุณาขยายความให้เข้าใจยิ่งขึ้นคะ

สวัสดีครับ ดร.ยุวนุชครับ

ตั้งเมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมเวทีเครือข่ายอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าของแพร่และน่าน กระทั่งเห็นดร.ยุวนุชกับคนข้างกายและช่างชาวบ้านช่วยกันยาเรือนี่ ทำให้ผมมีอันต้องนึกถึงตลอดเลยละครับ กลุ่มที่นำเอาบทเรียนมาคุยกันส่วนใหญ่เป็นคอศิลปะ สถาปัตยกรรม และเครือข่ายทางด้านนี้ของ SPAAFA รวมไปจนถึงช่งชาวบ้านและกลุ่มการรวมตัวกันแถวย่านบางลำพูกับแพร่งภูธร มีภาษาที่คุยกันได้อย่างไม่รู้เบื่อเลยทีเดียว รวมทั้งโต้โผเป็นกลุ่มที่ทำผ้าย้อมครามและหม้อห้อมแบบทำมือ-ปลอดการใช้สารเคมี ทั้งกระบวนการ เลยนึกถึงเลยละครับ

ดูการทำเรื่องการศึกษาทางเลือก การศึกษานอกระบบ การศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาตามอัธยาศัยแบบต่างๆของอเมริกาแล้ว เป็นคนละเรื่องกับสังคมไทยเลยครับ เนื่องจากคณะมนตรีของประธานาธิบดี นักการศึกษา รวมทั้งทีมนโยบายทางสังคม สุขภาพ รวมไปจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติและเครือข่ายของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเชื่อมโยงตนเองเข้ามาเนื่องจากเห็นว่าปัญหาอาชญากรรมเป็นปลายเหตุของการศึกษากับการพัฒนาสังคม(น่าทึ่งวิธีคิดและวิสัยทัศน์ของเขาจริงๆ)

เขาเห็นว่า การศึกษาในระบบและการอุดมศึกษาของเขาไม่มีกำลังพอเสียแล้ว และคิดว่าการศึกษาก่อนประถมวัย รวมไปจนถึงการศึกษาทางเลือกสำหรับผู้เรียนทุกระดับที่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน ทุกขนิด จะเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลงของทั้งระบบ ทั้งการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆของสังคม ในขณะที่การศึกษานอกระบบของเราเหมือนกับเป็นการศึกษาเสริมระบบปรกติและเป็นการศึกษาชั้นสอง คนละเรื่องเลยครับ

สวัสดีครับคุณครูนพรัตน์ครับ
ตอนนี้ทุกหอคอยคงต้องกำลังเงี่ยหูฟังนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งสยามประเทศเสียกระมังครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอCMUpalครับ

งั้นเป็นการแบ่งปันคืนนะครับ เพราะผมชอบอ่านเกร็ดประสบการณ์ของอาจารย์ที่นำมาเล่าสู่กันอ่านน่ะครับ อย่างที่อาจารย์เล่านั้น เป็นลักษณะความเป็นจริงของการสร้างความรู้และเห็นความเป็นจริงของโลกกว้างที่ในบทความของ Lemke มีตัวอย่างมาให้ดูเยอะมากและเขาบอกว่ามันหายไปจากวิธีเรียนรู้จากห้องเรียนและใช้ความรู้เป็นตัวตั้งมิติเดียว

มีความสุขและได้ความรื่นรมย์กับการท่องโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ครับอาจารย์

สวัสดีครับ

ตามมาขอบคุณและเรียนรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์ครับ การศึกษาที่เน้น "การคิด" และ "การถาม" บนบริบทนอกห้องเรียนน่าจะเป็นคำตอบที่จะช่วยให้เกิด "ภูมิปัญญาเพื่อชีวิต (Wisdom for Life)" ได้นะครับ

เป็นประเด็นสำคัญที่เลมเก้ผู้เขียนก็เน้นมากเลยละครับคุณหมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท