เรื่องเล่าจากดงหลวง 104 ขึ้นดอย ตอน ผลไม้ป่า


การใช้ชีวิตกับป่าคือการเข้าใจกฎเกณฑ์ธรรมชาติ การเข้าใจธรรมชาติ ก็สามารถเอาธรรมชาติมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ได้ หากไม่เข้าใจก็อาจเกิดอันตรายได้และอาจถึงแก่ชีวิต แต่เชื่อว่าการใช้ประโยชน์จากป่าแบบเพื่อยังชีพนั้นไม่อาจทำให้ป่าพินาจได้ แต่เมื่อใดที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณเข้ามา เมื่อนั้นป่าก็มิอาจคงสภาพความอุดมต่อไปได้ มนุษย์เรียนรู้ทุกสิ่งได้ เข้าใจได้ แต่มนุษย์ก็เลือกปฏิบัติ เพียงเพื่อส่วนตนเท่านั้น

ป่าบางแห่งถูกระบายด้วยสีของใบไม้ ซึ่งเรามักเห็นรูปที่มาจากต่างประเทศ สวยงามน่าสัมผัส ความจริงในประเทศไทยก็มีป่าที่มีสีสันแบบนั้นหรือใกล้เคียงของต่างประเทศ เช่น ที่ป่าน้ำหนาวจังหวัดขอนแก่นในช่วงเดือนธันวาคมทุกปีผู้คนรักป่าจะแห่กันไปกางเต็นท์สัมผัสความหนาวและสีสันของใบไม้ป่า  ซึ่งจะอวดสีสันไม่นานวันเท่าไหร่ก็ร่วงโรยลงพื้นจนหมดสิ้น  

สีสันอีกอย่างของป่าคือผลไม้ป่าทั้งที่กินได้และกินไม่ได้ หลายชนิดเราไม่เคยเห็นมาก่อนจริงๆ และสีสันมันชวนให้ลิ้มรส 

บนดอยสีเสียดผู้บันทึกสัมผัสมาเมื่อวันที่ 15 นั้น พบจุดแต้มของป่าด้วยสีของผลไม้ป่า ที่ไม่เคยพบมาก่อน 2-3 ชนิด สีของผลไม้น่าที่จะมีความหมายในทางพฤกษศาสตร์อยู่บ้าง 

แรกสุดที่ผู้บันทึกตื่นเต้นคือผล มังคุดป่าได้ยินชาวบ้านเอ่ยชื่อก็แปลกใจ ทำไมเรียกมังคุดป่า เพราะในการรับรู้ของเรานั้น มังคุดมีเปลือกสีม่วงแก่ เข้ม เปลือกหนา แต่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่ามังคุดป่านี้มันไม่ใช่สีดังกล่าว แต่เป็นสีเหลืองส้มสดใส  ขนาดของผลก็พอๆกับมังคุดสีม่วง เห็นตกตามพื้นทั่วไป ชาวบ้านหยิบมาแล้วก็ผ่าให้ดูลักษณะภายใน ก็เหลืองส้มไปทั้งหมด แต่เปลือกบางกว่า และ ลักษณะเนื้อในเหมือนมังคุดที่มีเป็นกลีบ แต่ก็ยังเป็นสีเหลืองส้ม ชาวบ้านบอกกินได้ แต่จะมียางกินมากๆจะติดฟันจนเหลือง ผู้บันทึกลองชิมดู มีรสหวานนิดๆแต่รสฝาดมีมากกว่า ดุดไปดูดมาให้รู้รสเต็มที่ก็รู้สึกว่ายางที่มีอยู่จะติดฟัน ไม่อร่อยครับ  แต่กินได้ คนเดินป่าเดินดอยจะเอาผลไม้อร่อยแบบที่มีวางขายในตลาดได้อย่างไร และหากมังคุดป่านี้อร่อยจริงก็คงไม่เหลือหรอถึงวันนี้หรอก 

เดินต่อไปอีกไม่นานเท่าใดชาวบ้านก็ชี้ให้ดูเถาไม้และมีผลไม้สีเหลืองอยู่  นี่ก็กินได้ ชาวบ้านบอกแล้วคว้ามา เห็นยางเต็มลูกเลย ยางมากกว่าเจ้ามังคุดป่าเสียอีก แต่ก็ลองชิมดู  อื้อ...มีรสเปรี้ยวอมหวาน แต่ไม่จัดจ้านเท่าใด น่ากินกว่ามังคุดป่าสีสวยนั่นเสียอีก  แต่เจ้ายางที่มากมายนี่แหละที่เป็นอุปสรรคและลดค่าของมันลงมาในแง่การบริโภค แต่ใครจะรู้ว่าคุณค่าทางโอสถนั้นอาจจะมีมากมายก็ได้  

ตรงที่เราพบควายชาวบ้านพักระหว่างทางนั้น ชาวบ้านชี้ให้ดูต้น หนามแท่ง  แล้วอธิบายว่า ลูกหนามแท่งนี้ สมัยก่อนชาวบ้านมาเก็บลูกแก่เอาไปใช้ซักผ้า เพราะเขามีฟองและมีคุณสมบัติที่สามารถใช้ซักผ้าได้ แต่ปัจจุบันระบบตลาดได้ผูกมัดจิตใจคนดอยให้ใช้ผงซักฟอกสมัยใหม่เสียหมดแล้ว ผู้บันทึกไม่ทราบว่ามีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันมากน้อยแค่ไหน ประเด็นคือว่า คุณสมบัติของผลไม้ป่าชนิดนี้ น่าที่จะทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ เป็นสมมุติฐานเบื้องต้นแค่นั้นครับ 

ในที่สุดเราก็มาพบผลไม้ที่สะดุดตามากที่สุด และเป็นช่วงที่เขากำลังเปล่งพลังสีของป่าออกมาอย่างสุดๆ และเป็นผลไม้ที่เด็กอีสานทั่วไปรู้จักดีอยู่แล้ว ทุกคนเคยลิ้มรสที่สุดเปรี้ยว แต่ก็ชอบกิน เขาคือ มะแงวสีแดงสดนี้มองเห็นแต่ไกล ยิ่งมาใกล้ชิดก็ยิ่งดึงดูดให้เราอยากปลิดเจ้ามาเชยชม  มะแงวที่ดงหลวงเคยพบต้นที่มีรสหวานแต่ไม่ได้อยู่ในป่า  เข้าใจว่าชาวบ้านเอาจากป่ามาปลูกในบ้าน  แต่มักไม่เหลือ เพราะเด็กๆชนบทจะปีนขึ้นต้นโน้มกิ่งเอามากินกันไม่เหลือหรอ  มีคนคิดจะเอาไปทำน้ำผลไม้ดื่มเหมือนหว้า หมากค้อ และหมากเม่าที่กลุ่มเกษตรกรอินแปงนำมาทำน้ำเข้มข้นดื่มกันแล้ว ได้ข่าวว่ามีโอกาสใช้เป็นเครื่องดื่มบนเครื่องบินไทยอินเตอร์เสียด้วย 

ผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่นายพรานล่าสัตว์มักจะค้นหาว่ามันมีอยู่ที่ไหนบ้าง คือ หว้าใหญ่เพราะผลสุกของมันจะเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะตัวบ่างไม่ใช่บ่างช่างยุนะครับ เล่ากันว่าขี้เพลี้ยของบ่างนี้ เอร็ดอร่อยนักหนาใครเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม สมัยผู้บันทึกทำงานที่สะเมิง เคยมีโอกาสได้ชิมบ้าง ก็เห็นอย่างที่ใครๆคุยกันว่าอร่อย  เหตุนี้กระมังที่ทำให้ บ่างหายากเต็มทีแล้ว 

เมื่อพวกเราขึ้นไปบนสุดยอดดอยสีเสียด พบต้นไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ที่หน้าผาชัน ผมถามทันทีว่านั่นเป็นต้น สะตอป่าใช่ไหม ชาวบ้านบอกว่าใช่ทันที พอดีช่วงนี้ไม่มีฝัก ไม่เช่นนั้นคงมีการขึ้นเอาฝักมาผัดกินแล้วหละ  ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบกินผัดสะตอ หรือเอามาจิ้มน้ำพริก แม้ว่ารสโดยเฉพาะกลิ่นจะรุนแรงขนาดไหนก็ตาม ก็มันอร่อยนี่ครับ ชาวบ้านรู้จักกินสะตอป่ามานานแล้วเหมือนกัน สมัยอยู่ป่าก็อาศัยพวกนี้แหละ และหลายคนก็เอาไปปลูกในสวนหรือป่าครอบครัวกันแล้ว นับว่าเป็นการสนองแนวคิดเครือข่ายไทบรูที่ว่าอยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น  และแนวคิดยกภูพานมาไว้ในสวน 

สหายเด่นเล่าให้ฟังว่าสมัยอยู่นั้นบางช่วงอดอยากมาก ไม่มีข้าวกิน ข้าวที่มีเหลืออยู่นั้นน้อยจึงใช้วิธีต้มข้าวต้มแล้วใส่น้ำเยอะๆ แบ่งปันกันกิน ก็คนเป็นร้อยๆที่อยู่บนดอยนั้นมันจำเป็นที่จะต้องทำอย่างนี้ เพื่อให้ พอมีกินแต่บ่อยครั้งที่ต้องออกไปขุดกลอยป่ามาผ่านกระบวนการเอาพิษออกแล้วก็นึ่ง หรือหุง หรือใส่กับข้าวต้มกินแทนข้าว  ก็กลอยที่ในตลาดเอามาทำขนมขายให้เราซื้อกินนั่นแหละครับอันเดียวกัน คงทราบดีว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างนะครับถึงจะเอาพิษออกจากกลอยก่อนที่จะกินได้ ก็ขุดเอาหัวกลอยมา ฝานหัวกลอยออกเป็นแว่นๆเอาไปแช่น้ำ ขยำ แช่น้ำ ขยำ ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งแล้วจึงเอานึ่งแล้วก็เอาไปทำขนมต่างๆ 

การใช้ชีวิตกับป่าคือการเข้าใจกฎเกณฑ์ธรรมชาติ การเข้าใจธรรมชาติ ก็สามารถเอาธรรมชาติมาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์ได้ หากไม่เข้าใจก็อาจเกิดอันตรายได้และอาจถึงแก่ชีวิต แต่เชื่อว่าการใช้ประโยชน์จากป่าแบบเพื่อยังชีพนั้นไม่อาจทำให้ป่าพินาจได้  แต่เมื่อใดที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเชิงปริมาณเข้ามา เมื่อนั้นป่าก็มิอาจคงสภาพความอุดมต่อไปได้  มนุษย์เรียนรู้ทุกสิ่งได้ เข้าใจได้ แต่มนุษย์ก็เลือกปฏิบัติ เพียงเพื่อส่วนตนเท่านั้น   หากเอาผลผลิตจากป่ามาศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ก็เชื่อแน่ว่าเราจะค้นพบสิ่งวิเศษสำหรับชีวิตมนุษย์อีกมากมาย

แต่เสียดายหน่วยงานที่ตั้งใจจริงจังในเรื่องนี้ยังไม่ได้ตั้งขึ้นในประเทศไทย 

ผู้รู้ในเรื่องนี้ร่ำเรียนหาความรู้อย่างมากมายและตั้งใจทำเรื่องนี้อย่างจริงจังยังไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย  

แต่ป่าไม้กำลังจะหายไป พืชพันธุ์ต่างๆกำลังหมดสิ้นไป บันทึกเล็กๆนี้อาจจะเป็นสิ่งบอกเล่าเพียงเสี้ยวส่วนที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น....

หมายเลขบันทึก: 98156เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2007 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อยากกินมังคุดป่า..อยากกินมะแงว ! แต่คิดอีกทีปล่อยให้เค้าอยู่อย่างนั้นจะดีกว่าเนอะคะ..แค่ได้ดูก็สุขใจแล้ว

มาขอบคุณสำหรับของฝากค่ะ..ได้รับซีดีแล้วเพลงเพราะมากๆ + ถูกใจ ^ ^..ร่วมกับชงชาผักหวานป่าแบ่งกันดื่มกับแม่แล้วค่ะ..หอมมากเลย รสก็ดีนะคะให้ความรู้สึกที่กรุ่นๆ หอมๆ หวานนิดๆอยู่ในปากเลยล่ะค่ะ...ขนาดยังไม่ชงแกะถุงออกมายังหอมเลยค่ะ..สีใบก็ยังเป็นสีเขียวสวยอยู่ไม่ได้เปลี่ยนเป็นสีคล้ำเหมือนใบชา..แม่บอกว่าถ้าทุกอย่างได้ที่แล้ว ( หมายถึงลงตัวทุกอย่างแล้ว อิ อิ ) ให้ทำแพ็คแบบแยกเป็นห่อเล็กๆผนึกแบบสุญญากาศ เหมือนของจีน ไว้เบิร์ดจะส่งตัวอย่างไปให้ดูค่ะ ( ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ^ ^ )..จะเพิ่มมูลค่าและเป็นของฝากได้เลย..วันพรุ่งนี้แม่จะชงชาผักหวานป่าถวายพระค่ะ..น่าจะได้ตอบคำถามกันเยอะเลย ^ ^

 

สวัสดีครับน้องเบิร์ด

ดีใจที่ชอบเพลง เพราะไม่รู้ว่าชอบแนวไหน

สว่นชานั้น เป็นการทดลองครั้งแรกครับ และตัวเองก็ชอบ ซึ่งปกติจะไม่ดื่มชาจีนเพราะทำให้ท้องผูก แต่ชาผักหวานป่านี้ดื่มแล้วดีมากๆ ความจริงมีข้อมูลทางวิชาการอยู่นะครับ ไม่ได้บอกไปด้วย

ขอบคุณครับ

สวัสดีคะ

  • เห็นผลไม้ป่านานาชนิดแล้วอยากลองทานบ้างคะ
  • ป่าไม้ร่มรื่นดีคะ น่าไปเที่ยวคะ

 

  • ตามน้องสาวข้างบนมา
  • ที่บ้านมีลูกหว้าป่า นมแมว ตะค้อฯลฯ
  • มีประโยชน์ทั้งนั้นเลยครับพี่ชาย

สงสารเด็กๆยุคนี้ ที่ยากจะได้สัมผัสวิญญาณป่าจริงๆ  เหมือนเด็กยุคนี้ไม่เคยรู้ว่าน้ำหมอกน้ำค้างเป็นอย่างไร ใคอ่านบทนี้แล้วไม่อยากสัมผัสป่า หัวใจคงกระด้างเต็มที!

ที่ท่านเขียนไว้จะเป็นตำนานป่าบ้านเรา

เอาอีก ขออีก ชอบมาก

สวัสดีครับน้องกมลนารี

ใครเห็นก็อยากทานครับ ผมเห็นครั้งแรกก็กระโดดคว้ามากำไว้ก่อนเลย ใจมันอยากรู้รส เจ้าสีสวยๆนี่เป็นอย่างไร  ขอบคุณครับ

 

สวัสดรครับน้องชายนายขจิต ฝอยทอง

บ้านเมืองกาญจน์นั้นคือป่าที่อุดมสมบูรณ์ทั้งนั้น พี่เคยเฉียดๆไป และพระธุดงคืก็ตั้งเป้าจะต้องมาธุดงค์ป่าเมืองกาญจนืกับสุพรรณ  ผมพบพระท่านเล่าให้ฟังครับ

สวัสดีครับครูบาครับ

ผมก็คิดอย่างนั้นครับ อยากให้ใครต่อใครใรเมืองไทยเดินสัมผัสป่าสักครั้ง จะได้มีสำนึกผูกพันธ์กับป่าบ้าง

พยายามจะเอามาเล่าให้เยอะๆครับ

สวัสดีครับอาจารย์มัทนา

ขอบคุณมากครับอาจารย์

ผมไม่ค่อยมีเวลาเลย ขึ้นมา Post แล้วก็หายไปเพราะงานล้นมือครับ

          มะแงวป่า ที่บ้านเรียกว่า มะค้อคอแลนด์ ไม่รู้ว่าไปล้อเลียนอะไรหรือเปล่า แต่ชอบทานมาก เอาลอยน้ำปลา อร่อยอย่าบอกใครเชียว แต่ทานมากไม่ดี (อาจวิ่งหาห้องน้ำได้) บรรยากาศ น่าชื่นชมทีเดียว บางอย่าง มีของดีก็ต้องโชว์กีนหน่อย

  • สีของมังคุดป่า
  • น่าจะเอามาทำสีย้อมผ้าได้นะครับ
  • เพราะสีมันสวยดี

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

ได้เห็นธรรมชาติสวยๆ มากเลยในบันทึกนี้ ยิ่งเห็นแล้วก็ทำให้คิดว่ามีความรู้มากมายซ่อนอยู่ในธรรมชาติ

ดิฉันว่าถ้าต้นไม้คิดได้เปลี่ยนแปลงได้เหมือนคน ก็คงต้องพัฒนาตัวเองให้ออกลูกที่คนกินไม่ได้ค่ะ เพราะถ้าอร่อยมากอาจสูญพันธ์ในเวลาอันรวดเร็วเหมือนกัน   คิดเล่นๆ ค่ะ อิอิ

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับเรื่องราวธรรมชาติที่หาชมได้ยากสำหรับคนเมืองกรุง ต้นไม้ทั้งหมดที่คุณบางทรายกล่าวถึงในบันทึกนี้เคยเห็นอยู่อย่างเดียวคือต้นหนามแท่ง ซึ่งเห็นในสวนสาธารณะค่ะ

สวัสดีน้องแก่นจัง

เอ่อ...พี่ก็เคยได้ยินชื่อนี้เหมือนกัน ชื่อแปลกดีนะครับ เห็นในเมืองบางแห่งชาวบ้านก็หักกิ่งเอามาวางขายเหมือนกัน  เป็นของกินพื้นบ้านน่ะครับ ก็มีคนพื้นที่ที่ซื้อกิน คนต่างถิ่นซื้อก็เพราะความแปลกเท่านั้น พอรู้รสก็ทิ้งหมด ยกเว้นคนชอบจริงๆ

สวัสดีครับคุณออต

 

น่าสนใจประเด็นนี้ ผมก็ว่าได้และน่าลอง ผมจะเอาความคิดนี้ไปเสนอชาวบ้านดูครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอาจารย์กมลวัลย์

 

ใช่แล้วครับอาจารย์ครับ นี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวจริงๆของสิ่งดีๆจากป่าที่รอการศึกษาค้นคว้า  ปล่อยให้ฝรั่งตาน้ำข้าวเข้ามาศึกษาป่าไม้บ้านเราและเอาความรู้ไปมากมาย ไม่เชื่อลองถามกรมป่าไม้ดูซิครับ  ความรู้เหล่านั้นมิได้ย้อนกลับมาบ้านเรา  แต่เขาขนเอาไป  เผลอๆไปจดสิทธิทางปัญญาอีก เห็นแล้วเราอยากจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้

พี่บางทรายคะ ลูกหว้าป่าแก่จัดจะสีแดงเข้มด้วยหรือเปล่าคะ..ชอบกินค่ะ ลูกหว้าเล็กๆ ที่ทางเหนือเรียกมะเกี๋ยง ก็หายากแล้วค่ะ ตอนนี้มีแต่ลูกหว้าฝาดๆแดงๆให้กิน

ไปอ่านงานวิเคราะห์ของฝรั่งหนึ่ง เขาเขียนว่าผู้หญิงไทยในชนบทจะเป็นคนที่อนุรักษ์ธรรมชาติได้ดีกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงเป็นผู้จัดหาอาหารให้ครอบครัวจึงเป็นคนที่ดูแลให้ทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงชีวิตนั้นดำรงอยู่สืบเนื่องให้ได้

อยากทราบความเห็นของพี่บางทรายค่ะ ..ตามประสบการณ์ของพี่เป็นอย่างไรบ้าง

สวัสดีครับ น้องจันทรัตน์

ใช่แล้วเมื่อแก่จัดจะสีแดงเข้ม เห็นแล้วก็อยากชิมเหมือนกัน (คนชอบชิม)

เห็นจะจริงครับเรื่องที่ฝรั่งศึกษาแล้วกล่าวเช่นนั้น  นี่เป็นการอนุมานจากทัศนส่วนตัวนะครับ ยังไม่ได้ศึกษา หรือสอบถามเบื้องต้นเลย  อย่างเช่นเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่คุยเรื่องทำชาผักหวานป่า  ก็คิดจะลองทำ เลยไปสั่งชาวบ้านว่าพอมีผักหวานป่าบ้างไหมอยากได้ไปลองคั่วทำชาสักกิโลกรัม  เธอบอกว่า ช่วงนี้ไม่ค่อยมีใบผักหวานแล้วเพราะผ่านการเก็บมาหนักๆแล้ว  ถึงมีก็ปล่อยให้เขาเติบโตเป็นใบแก่บ้าง ไม่งั้นมันเฉาตาย...เธอเป็นสตรีไทโซ่ ที่เป็นชาวบ้าน  พี่ก็เลยไม่ได้ใบผักหวานมาทดลองคั่วทำชำครับ  นี่อาจจะไม่สามารถสรุปได้เสียทีเดียว เพราะเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆเท่านั้น  น่าสนใจประเด็นจะลองใช้มุมมองนี้สังเกตุและศึกษาดูครับ

ขอบคุณมากครับน้อง

สวัสดีครับ

ชีวิตวัยเด็กของผมเติบโตอยู่ในภาคอีสาน ๑๖ ปี ไม่เคยได้กินมะแงว"หวาน"เลยล่ะครับ 

ตอนโตมาอยู่กรุงเทพ  รู้จักลิ้นจี่  ข้องใจอยู่ตลอดเวลาว่า "ลิ้นจี่" เป็น "มะแงว"ที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธ์ให้ดีขึ้นทั้ง"ขนาด"และ"รสชาติ"หรือเปล่าน้า...เพราะไม่เคยเห็นทั้งต้นลิ้นจี่และต้นมะแงวจริงๆสักครั้ง

 ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...เคยดูรายการตลกทางทีวี เขาเล่นมุขว่า "ภาคอีสานของผมอาภัพมาก...ขนาดเอาลิ้นจี่ไปปลูกยังกลายเป็นมะแงวเลย"

ช่วยไขข้อข้องใจให้ผมทีครับ...

สวัสดีครับอาจารย์อ.ศิริศักดิ์

ผมพบมะแงวหวานที่ตำบลกกตูม ดงหลวง แต่ไม่หวานเท่ากับลิ้นจี่ แต่ออกหวาน ซึ่งไม่เปรี้ยวจี๊ดตามรสปกติของเขา

โดยรูปพรรณแล้วต้นลิ้นจี่กับต้นมะแงวน่าที่จะเป็นพืชที่มีสายพันธุ์เดียวกันแต่ต่าง species กันหรือเปล่าผมไม่ทราบครับ เพราะลักษณะต้น ใบ กิ่งก้านเหมือนกันเลยครับ เพราะผมเองก็มีสวนลิ้นจี่เล็กๆที่เชียงใหม่ ลักษณะผลก็คล้ายกัน แต่ลิ้นจี่ใหญ่กว่ามาก มีเนื้อมากกว่า รสหวานกว่า กี่งเหนียวพอพอกัน

น่าสนใจครับว่าเขาเป็นพืชสายเดียวกันหรือเปล่า หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะเรียนอาจารย์ครับ

ช่างเป็นบันทึกที่มีสีสันเชิญชวนให้อยากไปเดินป่าจังเลยค่ะ

เห็นข้อคิดของท่านครูบาฯกล่าวถึงโอกาสของเด็กไทยช่างน้อยนิดที่จะได้สัมผัสวิญญาณป่า ทำให้นึกถึงประสบการณ์ที่ไปบราซิล ได้เห็นราชการร่วมมือกับเอกชน กันพื้นที่ที่ติดกับป่าเขตอนุรักษ์ให้เอกชนบริหารจัดการภายใต้การควบคุมไม่ให้กลายเป็นรีสอร์ตแต่ให้เป็นป่าจริงๆ ได้ไปเดินป่ากับไกด์เห็นร่องรอยของสัตว์ต่างๆ เขาคงสภาพป่าไว้อย่างดีมาก คนที่เป็นไกด์เป็นคนท้องถิ่น อธิบายพืชพรรณต่างๆอย่างคล่องแคล่ว จนเราทึ่ง เช่นเขาหักใบไม้ชนิดหนึ่งแล้วบีบเอาของเหลวใสๆออกมาเอาใส่ผมบอกว่าเป็นเจลธรรมชาติ เขาบอกว่าย่าเขาเป็นคนอินเดียนพื้นเมืองและได้สอนเขาตั้งแต่เด็กๆ ที่นี่ยังมีกิจกรรมการเดินบนต้นไม้จากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง มีการล่องเรือแคนูในลำธารเห็นธรรมชาติใกล้ชิด ไม่ใช่ไปล่องกันอย่างครึกโครมตื่นเต้น หวาดเสียว ที่สำคัญเจ้าหน้าที่เขาได้รับการฝึกอย่างดี อุปกรณ์ทุกอย่างมีมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยมาก่อนความสนุก

ตอนไปที่นั่นนึกถึงเมืองไทยมากเลยว่าหากเรามีการคิดที่ดีๆ เข้าใจ"องค์รวม"ไม่ใช่แค่เอาแค่ "ภาพรวม" เราสามารถจัดการการท่องเที่ยวที่ส่งเสริมความเข้าใจ ความรักในธรรมชาติได้ โดยใช้ทุนต่างๆในท้องถิ่น และระวังไม่ทำให้การพํฒนาการท่องเที่ยวไปสร้างความเพี้ยนทางความคิดและทำลาย เปลี่ยนแปลงให้ท้องถิ่นสูญเสียเอกลักษณ์ของตนเอง

ในเรื่องธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติ เขาจัดการให้คนเข้าไปสัมผัสได้เป็นอย่างดี(เท่าที่เห็น)

หากเราสามารถปลูกฝังเรื่องเช่นนี้ให้คนรุ่นเยาว์ด้วยการให้เขาสามารถสัมผัสด้วยตัวเขาเอง(อย่างเข้าถึงได้ไม่ยากนัก และปลอดภัย) คงจะวิเศษมาก

สวัสดีค่ะ

P

มะแงว สวยน่าทานมากค่ะ

ชีวิตในป่า ดิฉันเคยสัมผัสบ้างเล็กน้อย

ที่เมืองกาญจน์ เหมืองปิล็อค แต่ก่อนที่บ้านทำหมืองดีบุก วุลแฟรมอยู่ น้ำที่นั่นเป็น น้ำอ่อน อาบเท่าไรไม่หมดสบู่ค่ะ อากาศก็บริสุทธิ์มากๆ อยู่แล้ว ชอบค่ะ

ใครอยูในป่า สุขภาพดีทุกคนเลย

สวัวดีครับน้องยุวนุช

อ่านประสบการณ์ที่เล่าให้ฟังแล้วก็น่าสนใจ บ้านเรามีคนคิดพยายามทำอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมกันเท่าที่ควร แต่พูดกันเสียมากกว่า หากเราจัดทำดีๆ มีระเบียบเรียบร้อย มีกฏกติกา และทุกคนเคารพ ก็น่าจะไปได้ เพื่อนทางภาคเหนือบางคนก็คิดทำ แต่ไม่ไปถึงไหนเลย ครับ

สวัสดีครับท่าน sasinanda

ครับสีมันสวยน่าทานจริงๆครับ ผมเห็นทีไรน้ำลายสอทุกที เพราะไปรับรู้รสเขาว่ามันเปรี้ยว

เข้าป่าทีไรก็สูดหายใจยาวๆเลยครับ เพื่อสุขภาพ

ขอบคุณครับ

ที่บ้านปลูกต้นไม้เยอะมากค่ะแต่มีอยู่ต้นชนิดที่ไม่ทราบว่าชื่ออะไรบางคนบอกว่าชื่อต้นชมพู่ป่าดอกคล้ายกอกชมพู่มาก ผลเป็นสีชมพูอมส้ม กลิ่นหอม ลองค้นหาภาพต้นชมพู่ป่าจากเว็บต่างๆก็ไม่เห็นมีเลยไม่ทราบว่าคอต้นอะไรกันแน่ค่ะแต่ก็ปลูกไว้เป็นเพื่อนกับต้นจันทร์กระพ้อ ต้นพิกุล ต้นบุคนาค ต้นจำปี สายหยุดดอกแดงฯลฯ

สวัสดรครับ คุณ ไม่มีรูป กรุณา

  • โอ้โฮ  ปลูกต้นไม่สุดยอดเลยครับ ต้นจันทร์กระพ้อ ต้นพิกุล ต้นบุคนาค ต้นจำปี สายหยุดดอกแดงฯ    ที่บ้านผมมีเพียงจันกระพ้อ สารภี ชมนาด นอกนั้นเป็นกล้วยไม้ ครับ ดีมากครับ จะได้มีต้นไม้โบราณให้ลูกหลานรู้จักนะครับ
  • จันกระพ้อออกดอกหรือยังครับ ดอกเขาหอมมาก ผมชอบมากครับ
  • ส่วนดอกสารภีเอาไว้ชมผึ้งที่มาขโมยเกสรเขาไปตอนเช้าๆ เสียงหึ่งก้องบ้านเลย เพราะเขายกรังมากัยเลยมั๊ง
  • ส่วนต้นไม้ที่ท่านอธิบายมานั้นผมก็เดาไม่ออกครับว่าเป็นต้นอะไร เสนอว่าช่วงมีดอก มีผล น่าที่จะถ่ายรูปเอาลง Blog อาจจะมีคนรู้จักน่ะครับ
  • ขอบคุณมากครับที่เข้ามาพบปะคุยกัน

เป็นคนดงหลวงค่ะ กำลังทำงานเรื่องผลไม้ป่าที่กินได้ค่ะ

สวัสดีครับคุณน้อยครับ 27. noi

 

ยินดีที่รู้จักพี่น้องดงหลวงครับ

มีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้างครับ

ผมกำลังลุ้นกลับมาทำงานที่ดงหลวงอีกครับ

ผมแนะนำว่าทำรายงานเรื่องผลไม้กินได้ในป่า สอบถามพี่น้องเข้าป่าบ่อยๆน่ะ รู้เรื่องดีครับ บ้านไหนๆก็มีคนที่รู้จัก เพราะเข้าป่ากันทุกคน

คงมีโอกาสได้รู้จักกันนะครับ

ได้ดูรูปแล้วอยากชิมบ้างจัง โดยส่วนตัวชอบผลไม้ป่าที่สมัยเด็ก ๆ เคยได้กิน เลยอยากหามาปลูกไว้ที่บ้านบ้าง แต่ไม่รู้แหล่งที่ขายต้นค่ะ ใครรู้แหล่งที่จำหน่ายต้นพันธุ์ไม้ป่าที่เป็นผลไม้รบกวนเข้ามากระทู้ด้วยนะคะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

คุณ Aon ครับลองติดต่อ "เครือข่ายอินแปง" อ.กุดบาก สกลนคร ดูครับ ทราบว่าเขาเพาะพืชป่ามากมายครับ

ธัญญรัตน์ พีรฉัตรปกรณ์

มังคุดป่า ที่จ.สงขลาเรียกลูกพะวา ตอนเด็กๆ จำได้ชอบเก็บมากิน มีไม้ป่าอีกเยอะตอนเด็กๆ ที่เดี๋ยวนี้หาค่อนยากเช่น ลูกขี้กวาง ลูกแท้

กล้วยมูสัง ลูกตะขบ มะไฟป่า(ลูกสีแดง) ลูกสาวเล่า ลูกกำชำ ลูกหว้า ลูกราม ลูกโท๊ะ ลูกหนุมนก สารพัดไม้ป่า ที่สูญพันธุ์ไป

สงสารรุ่นหลาน ไ สมัยนี้เกิดไม่ทัน

ใช่ครับ ต้นไม้ป่า ผลไม้ป่า หายไปเยอะจริงๆครับ เวลาเราเล่าให้เด็กดฟัง เขาไม่รู้จัก บาวทีเขาหัวเราะ หาว่าเราโกหก ครับ ต้องจัดค่ายพาเด็กท่องป่าบ้างครับ

โฮ คุุุณธัญญรัตน์ รู้จักไม้ป่าเยอะจังเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท