เรื่องเล่าจากดงหลวง 95 ภูเขาไฟที่ดงหลวงกับงานขอฝน


เรียกงานบุญวัดดอย จะทำในวัน 14-15 ค่ำเดือน 6 ทุกปี แปลกที่เรียก 2 ชื่อพร้อมกันคือ เรียกงานสงกรานต์ไทโซ่ และงานพิธีขอฝนของไทโซ่ พิธีหลักจะเป็นการขอฝนมากกว่าพิธีสงกรานต์

ดงหลวงมีภูเขาไฟ ค้นพบมานานแล้วครับแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์กัน   

น่าที่จะมีเหตุผลสองสามประเด็นคือ

  • ไม่มีความสวยงามมากพอที่จะประชาสัมพันธ์
  • ไม่มีงบพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
  • ไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นิเวศน์ศาสตร์ใดๆเลย หรือมีน้อยเกินไป 

 ผู้บันทึกเคยนำ Power point ไปแสดงให้คนเมืองมุกดาหารดูบ้างแล้ว  และทราบว่าคณะคุณนายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยุคหนึ่งเคยขึ้นไปดูแล้ว แต่ไม่ได้ทำอะไรต่อ  ไม่ทราบเหตุผลครับ  

ผู้บันทึกติดใจอยู่อย่างหนึ่งคือ ที่บริเวณนั้นมีรอยพระบาท และธาตุไม้ตั้งอยู่ 

  • รอยพระบาทนั้นน่าที่จะเป็นการเผยแพร่พุทธศาสนาในสมัยโบราณ
  • แต่ธาตุนั้นเป็นสัญลักษณ์ของพระธาตุพนม ไทโซ่ หรือบรู และการประกาศเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ตามลัทธิความเชื่อของชนเผ่าบรู

 ขออธิบายว่าธาตุไม้ คือ สัญลักษณ์พระธาตุพนมที่ใช้ไม้มาทำสี่เหลี่ยมคล้ายเสาบ้าน แต่ตกแต่งโดยแกะสลักอย่างหยาบๆให้คล้ายองค์พระธาตุพนม  

ทำไมองค์พระธาตุพนมจึงมีความสำคัญต่อชนเผ่าไทโซ่ หรือ บรู นี้มากนัก 

พ่อเกี้ยง เชื้อคำฮด อายุ 75 ปี เฒ่าจ้ำใหญ่แห่งตำบลพังแดงกล่าวว่า เพราะผู้สร้างองค์พระธาตุพนมครั้งกระโน้นนั้นคือท่านพระยาสุวรรณปิงคะละ ซึ่งเป็นคนโซ่ หรือ บรู นี่เองเหตุนี้องค์พระธาตุพนมจึงมีความสำคัญต่อชนเผ่านี้มากนัก ดังเคยกล่าวไว้แล้วว่า หากพี่น้องอิสลามต้องไปแสวงบุญเมกกะ ชาวไทโซ่ก็ต้องมีอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตที่ต้องเดินทางไปกราบองค์พระธาตุพนม สิ่งเคารพสูงสุด  

ก่อนเข้าป่าร่วมกับ พคท.ของพี่น้องไทโซ่ดงหลวงทั้งอำเภอจะจัดงานใหญ่ที่บริเวณลานภูเขาไฟแห่งบ้านโพนสว่างแห่งนี้ ทุกหมู่บ้านจากตำบลดงหลวง ตำบลหนองแคน ตำบลพังแดงตำบลกกตูม แม้ตำบลชะโนดซึ่งไม่ใช่คนโซ่ก็จะแห่แหนกองบุญมาร่วมงาน ซึ่งในบริเวณนี้จะมีศาลาไม้เพื่อใช้ประกอบพิธีทางศาสนาพุทธ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์มาจากวัดต่างๆทั่วทุกหมู่บ้านไทโซ่ มารับกองบุญนี้  

ช่วงเข้าป่าตั้งแต่ พ.ศ. 2506 จนถึงปี 2526 ได้งดเว้นการทำพิธีดังกล่าวเพราะพื้นที่นี้อยู่ในการปกครองของ พคท.และไม่อนุญาตทำพิธีกรรมความเชื่อแบบนั้น  เมื่อออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยปี พ.ศ. 2526-2527 นั้นชาวไทโซ่จึงรื้อฟื้นพิธีกรรมขึ้นมาใหม่  เรียกงานบุญวัดดอย จะทำในวัน 14-15 ค่ำเดือน 6 ทุกปี แปลกที่เรียก 2 ชื่อพร้อมกันคือ เรียกงานสงกรานต์ไทโซ่ และงานพิธีขอฝนของไทโซ่ พิธีหลักจะเป็นการขอฝนมากกว่าพิธีสงกรานต์   

สมัยก่อนนั้นวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 6  ตั้งแต่เช้าชาวบ้านจะเริ่มออกเดินทางมาลานภูเขาไฟหรือที่วัดดอย(วัดที่ไม่มีพระประจำ)นี้ พวกแม่ค้าก็หอบ หาบของกินต่างๆไปวางขายกัน แต่ละบ้านก็แต่งกองบุญไป บ่ายก็ทำพิธีรอบๆปากภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งชาวบ้านเรียกปากภูเขาไฟนี้ว่า “น้ำสร้างพระอินทร์” หรือบ่อน้ำพระอินทร์นั่นเอง ผู้เฒ่าผู้แก่จะมารวมกัน “ทำพิธีขอฝน” ง่ายๆโดยการแต่งขันธ์ 5 และดอกไม้ไปวางไว้ที่ขอบน้ำสร้างพระอินทร์ แล้วกล่าวคำขอฝนให้ตกตามฤดูกาลเพื่อชาวบ้านจะได้ทำนาทำสวนกันตามปกติ แล้วเมื่อเสร็จก็เอาน้ำที่อยู่ในบ่อน้ำสร้างนั้นไปใส่ลงในรอยพระบาทจนเต็ม แล้วก็สาดน้ำกันเป็นที่สนุกสนาม นี่ละมั๊ง ที่เรียกสงกรานต์ ตกกลางคืนก็จะมีการเล่นพื้นบ้านคือ หมอรำกลอน ซึ่งว่าจ้างมาจากอำเภอดอนตาล  ในปีหลังๆมาจะมีภาพยนตร์และรำวงด้วย  

รุ่งเช้าจะมีพิธีสงฆ์สวดอภิธรรม รับถวายกองบุญ แล้วก็เสร็จพิธี แยกย้ายกันกลับบ้าน ความยิ่งใหญ่สมัยนั้นคือ ไทโซ่มาร่วมกันทุกหมู่บ้าน นอกจากไทโซ่ แล้วจะมีชาวผู้ไทมาร่วมงานด้วย 

แต่น่าเสียดายอย่างยิ่ง พิธีนี้ได้เจือจางลงมาเหลือเพียงแค่ชาวบ้านโพนสว่างอันเป็นที่ตั้งของลานหินภูเขาไฟทำพิธีนี้เท่านั้น ไม่ใช่งานใหญ่เหมือนในอดีตอีกต่อไป...ทำไม??? เหตุผลเป็นความจริงที่ไม่น่าเชื่อ  

ปีหนึ่งมีพระสายธรรมยุติมาจำพรรษาที่ศาลาบนพื้นที่วัดดอยนี้ ชาวบ้านก็ให้การศรัทธาต้อนรับ เมื่อมาถึงเวลางานประเพณีดังกล่าวท่านคัดค้านการเล่นต่างๆ และให้ย่องานให้เสร็จภายในวันเดียว ชาวบ้านเริ่มไม่พึงพอใจ  ต่อมามีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ไปนิมนต์พระรูปนี้มาสวดงานศพ ปรากฏว่าท่านมานั่งสมาธิ ไม่สวดมนต์ตามที่ชาวบ้านนิมนต์มาและตามประเพณีเดิม จนชาวบ้านต้องไปนิมนต์พระสายมหานิกายจากวัดอื่นมา    

ความขัดแย้งเริ่มบานปลายมากขึ้นเมื่อพระรูปเดิมที่มาจำพรรษาที่นี้ไปตกแต่งรอยพระบาท พยายามสร้างกุฏิในที่ที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เมื่อมาถึงงานวัน 14-15 ค่ำเดือน 6 ท่านก็ยืนยันให้ลดรูปงานลงมาให้มากที่สุด เมื่อเป็นดังนั้นชาวบ้านอื่นๆก็เริ่มทยอยไม่มาร่วมงานอีกต่อไป  ไม่มีกองบุญ ไม่มีการสวดอภิธรรม ไม่มีสาดน้ำสงกรานต์ ไม่มีชาวบ้านไทโซ่ทั่วทั้งอำเภอเดินทางมา และจางหายไปจนปัจจุบันนี้ 

พระท่านรูปนั้นก็จากไปนานหลายปีแล้ว ลานภูเขาไฟก็แห้งแล้ง ไร้การดูแล ทำนุบำรุง แม้จะมีสำนักสงฆ์สายมหานิกายมาจำพรรษาแทนที่ในปัจจุบัน  

แต่ก็มีผู้เฒ่าไม่กี่คนที่ยังศรัทธามาทำพิธีแบบเงียบๆ ครับ  

 เมื่อเวลาผ่านไป หลายอย่างก็ปรับเปลี่ยนไป   

และนี่คือการปรับเปลี่ยนบางอย่างของวิถีไทโซ่

 (ขอแก้ไขว่าบ้านโพนสว่างอยู่ ตำบลพังแดงครับไม่ใช่ตำบลหนองแคน)น)

หมายเลขบันทึก: 95485เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2007 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)
  • น่าสนใจมาก
  • น้องชายพี่อยากศึกษาบ้างแล้วครับผม
  • ขอบคุณครับ

น่าเสียดาย วัฒนธรรมที่ดีงาม จริงๆครับ  ....

สวัสดีค่ะคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)  

น่าสนใจนะคะ มีภูเขาไฟด้วย

แต่น่าเสียดายที่รอยพระบาทกับธาตุไม้ไม่ได้รับการดูแลต่อ เพียงเพราะความเชื่อที่แตกต่างกัน...กับวัฒนธรรมที่หายไปพร้อมกับคนยุคหนึ่ง.. 

อย่างน้อยคุณบางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)  ก็มาได้บันทึกไว้ล่ะค่ะว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ พยายามคิดในทางที่ดีค่ะ เพราะคงไปเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ค่ะ...

ขอบคุณนะคะ

สวัสดีครับคุณบางทราย

มีความเห็นเหมือนอาจารย์กมลวัลย์ครับ  น่าเสียดายรอยพระพุทธบาท พระธาตุ และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามจริงๆ  ควรได้รับการทำนุบำรุงสืบทอดต่อให้ลูกหลาน

วันหนึ่งข้างหน้า อาจมีผู้มีบุญมาบูรณะใหม่ให้ใหญ่โตขึ้นก็ได้นะครับ

ขอบคุณนะครับที่มีเรื่องสนุกๆที่มีสาระมาเล่าให้ฟัง

สวัสดีครับ น้องขจิต ฝอยทอง

ระบบ internet ที่บ้านมีปัญหาทั้งคืน เลยตัดสินใจมาใช้มรา ร้านในเมือง และเอาคุณแม่เข้าโรงพยาบาลด้วย เลยตอบช้าไปหน่อยครับ

เอ้า ถ้าสนใจก็หากมีเวลาก็แวะมานะครับ

สวัสดีครับคุณ join_to_know

ครับหากผมสามารถต่ออายุโครงการระยะที่สองได้คงได้มาปรึกษาหารือเรื่องการรื้อฟื้นประเพณีเช่นนี้ครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับอ.กมลวัลย์

ขอบคุณครับ อาจารย์ คิดตรงกันว่าอย่างน้อยก็บันทึกไว้เพื่อวันหน้าที่โอกาศ หรือท่านอื่นๆจะมาสานต่อให้เกิดสิ่งดีงามต่อไปก็จะยิ่งดีครับ

ขอบคุณครับอาจารย์

สวัสดีครับอาจารย์อ.ศิริศักดิ์

 

ขอขอบคุณที่กรุณาแวะมาเยี่ยมครับ  ผมพยายามทำบันทึกไว้และหากเป็นไปได้คงนำบันทึกนี้ไปปรึกษากับเจ้าของพื้นที่เพื่อตั้งประเด็นเสวนาดูว่าจะทำอะไรได้บ้างต่อไปในภายภาคหน้าครับ

 

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

เบิร์ดเพิ่งเคยเห็นปากปล่องภูเขาไฟในไทย ! ..น่าสนใจออกค่ะ ดับมานานแล้วหรือยังคะแล้วลึกแค่ไหน  เชื่อมต่อไปที่อื่นด้วยหรือเปล่า..( ข้อมูลพวกนี้น่าจะดึงให้เกิดความสนใจได้น่ะค่ะ ^ ^ )

รอยพระบาทก็น่าสนใจค่ะธรรมดามีน้ำเต็มอย่างนี้หรือเปล่าคะ..เกิดมาตั้งแต่สมัยใด เป็นรอยพระบาทข้างไหน.. เกิดพร้อมๆกับรอยพระบาทที่ใดของไทย..( ข้อมูลที่กระตุ้นให้ตาโต อิ อิ )

ธาตุไม้สร้างมาเมื่อไหร่..ไม้อะไร..รูปรอยที่แกะสลักไว้จำหลักเป็นลวดลายอะไร..มีตำนานใดเกี่ยวข้อง..มีความหมายใด..มีคนเห็นอิทธิปาฏิหาริย์อะไรบ้าง.. ( คนไทยชอบอิทธิฤทธิ์นี่คะ ^ ^ )

เข้ามาป่วน ( ตามคำแซวพี่บางทรายค่ะ )...งานนี้โบราณคดีเคยเข้ามาสำรวจให้มั้ยคะ ?

พรุ่งนี้จะส่ง CD ไปให้นะคะ ...วันนี้ติดงานทั้งวันเลย

 

สวัสดีครับน้องเบิร์ด

ขอบคุณมากที่ตามมาตั้งคำถาม เยอะแยะเลย พี่เองก็เอาหินมา 3 ก้อน(ยกมือไหว้เจ้าที่แล้ว) เอามาให้นักธรณีวิทยาพิจารณา วิคราะห์หน่อยว่า มีข้อมูลทางวิทยาศาตร์ธรณีว่าอย่างไรบ้าง จึงขอเวลาหน่อยนะครับ (เด็กจอมแก่น)

ส่วนเรื่องอื่นๆจะทะยอยตอบนะครับ

  • บังเอิญต้องเอาคุณแม่เข้าโรงพยาบาล และอาการหนัก เป็นแผลกดทับและเน่าถึงกระดูกสันหลังแล้ว อ่ะ
  • ระบบ Internet ขอนแก่นเป็นอย่างไรไม่ทราบ ได้ความเร็วแค่ 19 kbps และเดี๋ยวหลุด เดี๋ยวหลุด หมดอารมย์เลย
  • พี่ตั้งใจจะไปต่อที่ของน้องเบิร์ดเลยหมดความพยายามไปอีก

โอ เค นะเด็กจอมแก่น

สวัสดีค่ะ

P

รู้สึกเราจะมีภูเขาไฟเล็กๆอย่างนี้อีกนะคะ เคยอ่าน จำไม่ได้แล้ว จะลองค้นดู แต่ก็แปลกดีนะคะ แล้วมันมอดหมดหรือยังคะ

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

  • มีแต่สิ่งที่ดี ๆ สวยงามจริงๆ  และทรงคุณค่าอย่างประมาณค่าไม่ได้เลยค่ะ
  • เสียดายมีของดี ๆ อยู่แต่ไม่ได้เห็นคุณค่า
  • ราณีว่ารอยพระบาทมีน้ำเพราะฝนตกมั้งค่ะ เสียดาย ค่ะขนาดมองในภาพยังสวยงามขนาดนี้
  • ที่เป็นปล่องมีเยอะมั้ยค่ะ

สวัสดีครับ SASINANDA

ผมใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของ Point asia สำรวจดูแล้วเอารถลุยภาคพื้นดิน พิจารณาด้วยความรู้พื้นๆที่ไม่ใช่นักธรณีวิทยา  คิดว่าดินแดนแถบนี้น่าที่จะเป็นแดนภูเขาไฟเก่าแก่ 

มีหลุมแบบนี้อีกหลายจุด แต่เก่า ไม่สวบงาม และปากหลุมไม่ชัดเจนอย่างรูปที่เอามาแสดงครับ  ป่าไม้ด้านบนของภูเขาไฟตามรูปนี้สวยงามมาก มีพระไปส้รางสำนักสงฆ์บนภูเขา ตรงนั้นเป็นหน้าผา มองออกไปเป็นวิวป่าไม้สวยจริงๆครับ วันหลังจะเอารูปมาฝากครับ

ภูเขาไฟเหล่านี้ไฟมอดหมดแล้วครับ

ขอบคุณครับ

 สวัสดีครับพี่บางทราย

เมืองไทยยังมีอะไรดีๆอยู่เยอะเลยนะครับ...ตอนผมไปบวชอยู่ที่วัดถ้ำพระภูวัว อ.เซกา จ.หนองคาย...เคยเดินขึ้นไปบนเขาหลังวัด (ไกลมาก)...มีลานหินรูปร่างแปลกๆเป็นร่องๆ แนวๆ น่าสนใจมาก...บางลานก็มีหลุมเกิดจากการกัดกร่อนโดยธรรมชาติ...มีน้ำอยู่ตลอดเวลาแปลกตาดีครับ...มีต้นไม้ดอกไม้แปลกๆที่ขึ้นตามโขดหินด้วย...ตกตอนกลางคืน..ดาวเต็มฟ้าเลยครับ...ยิ่งคืนไหนสวดปาติโมกข์..มีบทชุมนุมเทวดา..คืนนั้นฟ้ายิ่งสวยครับ...

โอชกร

สวัสดีครับน้องRanee

ใช่ครับพี่ก็เสียดายที่ผู้มีอำนาจน่าที่จะมาพัฒนาให้น่าดูมากกว่านี้ ปล่อยให้ธรรมชาติถูกกระทำมากไป

น่าที่จะพัฒนาปากหลุมให้สะอาด  เพราะบางปากหลุ่มมีหญ้าขึ้นเต็มเลยครับ และน้ำเป็นสีเขียวอันเนื่องมาจากมีตะใคร่ขึ้นเต็ม

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับน้อง โอชกร - ภาคสุวรรณ

น่าสนใจที่ไปบวชที่นั่น ใช่ครับเมืองไทยมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากที่ยังไม่เปิดเผยออกมา ที่ดงหลวงก็มีหลายที่เช่นกัน ตั้งใจว่าจะทะยอยเอาออกมา เท่าที่จะมีเวลาอยู่ และเอื้ออำนวย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ น้องเบิร์ด

คำถาม เบิร์ดเพิ่งเคยเห็นปากปล่องภูเขาไฟในไทย ! ..น่าสนใจออกค่ะ ดับมานานแล้วหรือยังคะแล้วลึกแค่ไหน  เชื่อมต่อไปที่อื่นด้วยหรือเปล่า..( ข้อมูลพวกนี้น่าจะดึงให้เกิดความสนใจได้น่ะค่ะ ^ ^ )

คำตอบ อย่างที่มอกนะครับว่ากำลังขอข้อมูลจากนักธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยู่ครับ  ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับภูเขาไปนี้ ที่พื้นที่ไม่มีปรากฏเลย ที่น่าสนใจคือ นอกจากตรงนี้แล้วหากดูพื้นที่รอบๆบริเวณนี้จาก Point Asia จะพบว่ามีลักษณะพื้นที่ลานหินคล้ายๆกันอีกหลายแห่ง  เมื่อวานพี่เลยเอารถไปลุยคนเดียวมาพบว่ามีลักษณะเป็นภูเขาไปอีกหลายแห่ง แต่ปากหลุมไม่เด่นชัดมากเท่าที่ปรากฏในภาพนี้   ด้วยความรู้พื้นฐาน พื้นที่แถบนี้น่าที่จะเป็นพื้นที่ภูเขาไปมาก่อนเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว  รอคำตอบทางข้อมูลทางธรณีวิทยาอยู่ครับ

คำถาม รอยพระบาทก็น่าสนใจค่ะธรรมดามีน้ำเต็มอย่างนี้หรือเปล่าคะ..เกิดมาตั้งแต่สมัยใด เป็นรอยพระบาทข้างไหน.. เกิดพร้อมๆกับรอยพระบาทที่ใดของไทย..( ข้อมูลที่กระตุ้นให้ตาโต อิ อิ )

คำตอบ เท่าที่สอบถามาผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า การนำน้ำไปใส่ลงในรอยพระพุทธบาทคือความเชื่อของชาวบ้านว่าจะมีสาวนทำให้เกิดฝนตก เป็นส่วนประกอบของพิธีขอฝน น้ำที่เอามาก็คือน้ำจากหลุมปากปล่องภูเขาไปที่มีน้ำขังอยู่นั่นแหละครับ ขนเอาใส่ให้เต็ม และน้ำนี้เมื่อไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำ ก็จะแห้งหายไปเพราะโดนแดดเผาครับ  บางครั้งพี่ขึ้นไปแล้วไม่เห็นมีน้ำน่ะครับ

          เกิดมาแต่สมัยใด  พี่สอบถามผู้เฒ่า บอกว่าไม่มีใครรู้ว่ามีมาแต่เมื่อใด แต่จากการฟังการเล่าของผู้เฒ่าประมาณได้ว่าก่อนที่ชนเผ่าโซ่จะเข้ามาอยู่ในท้องถิ่นนี้ เพราะเมื่อโตขึ้นมาก็เห็นแล้ว พ่อของผู้เฒ่าก็เห็นแล้ว และไม่มีใครเล่าประวัติให้ฟังได้เลยครับ

         เป็นพระบาทข้างไหน  เป็นพระบาทข้างขวาครับ

         เกิดขึ้นมาพร้อมกับรอยพระบาทใดของไทย นักโบราณคดีก้ไม่เคยมาพิสูจน์ ทางจังหวัดก็ไม่เคยเชิญนักโบราณคดีมาพิสูจน์ครับ (นั่นซิพี่ถึงว่าทำไมจังหวัดเงียบจังเลยเรื่องเล่านี้)

         ธาตุไม้สร้างมาเมื่อไหร่..ไม้อะไร.. จากการประมาณด้วยการสังเกตการพูดคุยกับพ่อเฒ่านะครับ น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2526-2527 ซึ่งเป็นปีที่ทางพี่น้องไทโซ่ออกจากป่าแล้วรื้อฟื้นพิธีขอฝน สงกรานต์ขึ้นมาใหม่ หลังจากช่วงที่อยู่ป่า 20 กว่าปีเศษนั้นไม่สามารถทำพิธีได้เพราะทางพรรคห้ามทำ และต่อมามีเรื่อขัดใจกันก็เลิกทำพิธีไป ดังกล่าวแล้ว  ปกติการทำธาตุจะทำทุกปี ปีละหนึ่งต้น แล้วแต่ว่าจะทำเล็กทำใหญ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งคืออ ตะแบก

รูปรอยที่แกะสลักไว้จำหลักเป็นลวดลายอะไร..มีตำนานใดเกี่ยวข้อง..มีความหมายใด.  รูปรอบที่แกะสลักนั้นจะจลองแบบหยาบๆเหมือนองค์พระธาตุพนมครับ เพราะดังเล่าแล้วว่าไทโซ่มีความเคาระองค์ธาตุพนมมากครับ เพราะเชื่อว่าพระผู้สร้างองค์ธาตุพนมนั้นมี 5 รูป และหนึ่งในนั้นเป็นพระชาวไทโซ่ครับ นี่คือความเชื่อของไทโซ่ จึงให้ความเคารพสูงสุด

มีคนเห็นอิทธิปาฏิหาริย์อะไรบ้าง.. ( คนไทยชอบอิทธิฤทธิ์นี่คะ ^ ^ ) มีแน่นอน บ้างก็ว่าหากทำพิธีแล้วการทำนายทายทักของหมอผู้ทำพิธีนั้นจะแม่นมาก ส่วนมากจะถามถึงเรื่องเกี่ยวกับ ดินฟ้าอากาศ การทำนาทำไร่ ทำสวนจะได้ผลแค่ไหน เหมือนการ เสี่ยงทางวันพืชมงคลครับ  ส่วนเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยมีมากทีเดียวครับ

คำถามน้องเบิร์ดนั้น เป็นประเด็นที่พี่ตั้งไว้อยู่ว่าจะหารายละเอียดเพิ่มเติม  ความจริงเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประเพณีของไทโซ่อีก 2-3 แห่ง คือ หลวงปู่องค์ดำแห่งบ้านมะนาว และวัดที่บ้านติ้วที่เป็นวัดไม่มีพระ แต่ใช้ "ผ้าขาว" เป็นผู้ทำพิธีต่างๆ เพราะชาวไทโซ่ "เชื่อผีมากกว่าพระ" น่าสนใจมาก  แต่ขอเวลาหน่อยนะครับ  หรือใครสนใจจะมาศึกษาก็ยินดี หรือแม้แต่จะมาเที่ยวชมก็ยินดีครับ

ขออภัยน้องเบิร์ดนะครับ  ที่ตอบช้า เพราะต้องไปจัดการเรื่องคุณแม่ที่โรงพยาบาล และญาติพี่น้องก็มาเยี่ยมกันครับ
  • สวัสดีครับพี่บางทราย
  • คุณยายเป็นอะไรมากหรือเปล่าครับผม
  • ขอให้ไม่มีปัญหาใดๆ นะครับผม
  • จากภาพด้านบน มีอะไรดีมากๆ เลยครับ หากจัดให้ดีทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแบบ UnSeen ก็น่าสนใจครับ โดยหาข้อมูลให้ลึกเลยครับ จาก unseen ก็จะเป็น seen  แบบ unlimit ไปเลยนะครับ
  • แอบยิ้มๆ คำถามป่วนๆ ของคุณเบิร์ด เข้าท่าจริงๆ นักจิตฯ คนนี้
  • ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีครับน้องเม้ง

คุณยายก็เป็นโรคคนชราน่ะครับ ไปตามสภาพ ก็ 97 แล้ว เนื่องจากนอนบนเตียงมาเกือบ 10 ปี จึงเกิดแผลกดทับ และกินลึกเข้าไปถึงกระดูก ก็ต้องรักษากัน ยาสมัยใหม่นี้เขามีคุณภาพดีมาก แต่ แพง.....จริงๆ

 ใช้ครับพี่ก็ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ แต่ผู้รับผิดชอบไม่สนใจ เหลือแต่ท้องถิ่นต้องดันเอง  แต่คงต้องค่อยๆคุยกัน

น้องเบิร์ดเขาเก่งจริงๆ ยกนิ้วให้เลย เห็นด้วยตามที่น้องเม้งกล่าว

เนื่องจากคุณยายป่วยดังกล่าว และโครงการของพี่กำลังเข้าช่วงงานเก็บข้อมูลสนามเพื่อขยาย Stage 2 ซึ่งพี่ต้องเป็นแม่งานรับผิดชอบ พี่คงหายไปบ้างนะครับ

  • เมื่อเข้ามาดูบันทึกเพิ่มเติม
  • ยิ่งมีคำถามอีกมากมายที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ
  • ถ้ามีข้อมูลไม่เพียงพอก็ยิ่งมีเสน่ห์ให้น่าค้นหา
  • โชคดีที่ทางจังหวัดไม่สนใจเข้ามาพัฒนา
  • ขอให้เราชาวเฮฮาศาสตร์ จัดเป็นวาระของของของชาวอีสาน ที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏ
  • ร่วมมือร่วมใจถ้วนทั่วทุกภาคส่วนเริ่มจากคนตระกูลเฮก่อน อย่างน้อยท่านครูบาฯเริ่มจัดทำเจ้าคือไผ (ฮูอีสฮู) เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะขอความร่วมมือร่วมใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินเกิด
  • ขอให้ปรึกษาท่านครูบาฯ
  • คงต้องคุยเรื่องนี้มากค่ะ
  • ขอ CD Powerpoint เรื่องนี้ด้วยถ้าไม่เป็นการรบกวนเกินไปส่งมาที่ 335/51หมูบ้านรุ่งนิรันดร์ ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
  • ตอนนี้พี่กำลังค้นคว้าอยู่เช่นกัน

  สวัสดีครับพี่   P 21. Lin Hui

  • แล้วผมจะส่งไปให้นะครับ CD ตามที่อยู่ครับ
  • ดีใจที่รู้จักพี่ช้างครับ

บ้านโพนสว่าง ตำบลพังเเดงไม่ใช่หรอค่ะ

ขอบคุณน่ะค่ะ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้น่ะค่ะ

สาวบ้านติ้วครับผมแก้ไขแล้วครับ ขอบคุณมาก เผลอไปครับ เอ..ลูกสาวใครหนอ บอกหน่อย ฝากความระลึกถึงผู้ใหญ่ถวิลด้วยนะ เคยเขียนถึงวัดบ้านติ้วด้วย ลองหาดูนะ กำลังคุยกันว่าจะปรับปรุงพัฒนาโครงการสูบน้ำได้อย่างไร น้องสาวบอกเพื่อนๆช่วยกันดูแลฝายด้วยนะ อย่าไปทำลายมันนะ วันหลังต้องเจอกันหน่อยแล้วหละ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท