เรื่องเล่าจากดงหลวง 67 เสียงบ่นจากชนบท 1ภูมิคุ้มกันบกพร่อง


ชุมชนชนบทจะเหลืออะไรเล่า ก็เหลือคนเฒ่านั่งตาปริบๆ มือก็จูงหลานเล็กๆมานั่งแคร่ใต้ถุนบ้านมองรถมอเตอร์ไซด์เสียงระเบิดแก้วแตกวิ่งผ่านไปมาพร้อมกับเสียงเพลงที่ฟังไม่รู้เรื่องดังมาจากตู้ลำโพงบ้านโน้น

การคลุกคลีกับชุมชนมาทำให้ได้เฝ้าติดตาม การเปลี่ยนแปลง ของสังคมชุมชนอยู่เป็นระยะ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเรียกในหลายคำ เช่น การพัฒนา ซึ่งมองในแง่มุมของการดีขึ้น หรืออาจจะเรียกว่า การเคลื่อนที่ ของสังคมชุมชน ซึ่งอาจจะมองในแง่ของมวลสารกระเดียดไปทางหลักการทางฟิสิกส์  

 

การเข้าไปทำงานพัฒนาชุมชนชนบทจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในเรื่องต่างๆทั้งที่เกิดจากการขับเคลื่อนของหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน  แต่ที่มีน้ำหนักมากคืออิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหญ่(เมือง)ที่มีต่อสังคมเล็กๆในชุมชน(ชนบท)  แม้ว่าสังคมชุมชนจะปรับเปลี่ยนไปตามสังคมเมืองแต่ก็วิ่งตามไม่ทัน ไม่เท่าทัน และกลายเป็นการตกเป็นเบี้ยล่างไป  

มีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างชุมชนชนบทกับเมือง คนทำงานพัฒนาชุมชนชนบทก็เป็นคนมีชีวิตอยู่ในสองโลก ในสองวิถีชีวิต เห็นจนชินตา  การเคลื่อนที่ของสังคมชุมชนจะเข้ากับทฤษฎีพื้นฐานทางสังคมวิทยาที่เรียกว่า Periphery theory กล่าวคือชุมชนชนบทจะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะความห่างของสังคมเมือง ขยายความได้ว่าสังคมชุมชนที่อยู่ใกล้เมืองจะเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมเมืองมากกว่าสังคมชุมชนที่อยู่ห่างจากสังคมเมือง   

Pheriphery theory

จากแผนภูมิ ให้ A คือสังคมเมือง B และ C คือสังคมชนบท ที่มี B เป็นสังคมชนบทที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองมากกว่า สังคมชนบท C   โดยความเป็นจริงเราก็เห็นโดยภาพรวมๆว่าสังคมชุมชนที่ห่างไกลจากเมืองหรือศูนย์กลางการปกครองยิ่งมากเท่าใดความยากจน ความเป็นชนบทยิ่งมากเท่านั้น ทั้งนี้อาจจะมีข้อแม้ หรือข้อยกเว้นบ้าง เช่น ชุมชน C อาจจะไม่ไกลเท่าใดจากตัวเมืองแต่มีสภาพเป็นป่าเขา การเดินทางลำบากยากเย็นและเงื่อนไขอื่นๆอีก ก็อาจจะมีสภาพความเจริญที่น้อยกว่าสังคมชนบทที่ไกลกว่าแต่สภาพไม่เป็นภูเขา มีถนนหนทางสะดวก สามารถรับวิทยุ โทรทัศน์ คลื่นโทรศัพท์มือถือได้ ฯลฯ  

 การเปลี่ยนแปลงสังคมชุมชนโดยรวมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสค่านิยมที่เป็นที่ยอมรับกันว่าเมืองคือความเจริญ ความทันสมัย ความก้าวหน้า และสรุปโดยพลันว่านั่นคือสังคมที่ปรารถนา  แล้วสังคมชนบทก็วิ่งตามสังคมเมืองไปโดยสลัดคราบไคลของสังคมเดิมออกอย่างมิได้มีกระบวนการไตร่ตรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ว่าอะไรที่ควรรับเข้ามา อะไรที่ควรปรับแล้วเปลี่ยน อะไรที่ไม่ควรรับเลย   

 กระบวนการนี้ไม่ได้อยู่ในแผนงานพัฒนาประเทศชาติแต่อย่างใด ประเทศวิ่งตามสังคมเมืองจึงเป็นสนิมเกาะแน่นอยู่ในใจ โดยเฉพาะคนที่เกิดมาใหม่ๆทั้งหมด จนเกิดปรากฏการณ์แปลกที่ว่า เด็กกรุงเทพฯไม่รู้จักต้นข้าว ไม่รู้จักแยกแยะว่า อะไรคือวัว อะไรคือควาย เด็กชนบทคลั่งไคล้การทำตัวแบบเด็กเมืองเป็นต้น

ยิ่งสังคมปัจจุบันแรงของระบบทุนนิยมเสรีมีมากจนยึดกุมเครื่องมือสื่อสารต่างๆได้หมดตามระบอบเสรีประชาธิปไตย อำนาจทุนจึง เหมายกโหลโอกาส ทั้งหมดมาอยู่ในมือ แล้วกระหน่ำ ชวนเชื่อความดีงามของสินค้าต่างๆที่โดนใจประชาชีไทยยิ่งนัก

ระบบสังคมที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจึงบริโภคข้อมูลที่ถูกเคลือบด้วยความทันสมัย ความก้าวหน้า ยิ่งสมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า อินเทรนด์  การโดนใจ จนถึงระดับลุ่มหลงไปสู่ความเป็นแฟชั่น โดยเฉพาะกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุดคือวัยรุ่น เราพบเด็กหนุ่มพันธุ์โลโซ  เด็กสาวพันธุ์กางเกงแอวต่ำเกือบเห็นตูด เต็มหมู่บ้านไปหมด  

ชุมชนชนบทจะเหลืออะไรเล่า ก็เหลือคนเฒ่านั่งตาปริบๆ มือก็จูงหลานเล็กๆมานั่งแคร่ใต้ถุนบ้านมองรถมอเตอร์ไซด์เสียงระเบิดแก้วแตกวิ่งผ่านไปมาพร้อมกับเสียงเพลงที่ฟังไม่รู้เรื่องดังมาจากตู้ลำโพงบ้านโน้น   

หมดสิ้นบทบาทหรือลดลงมาเกือบไม่รู้ว่าผู้เฒ่าเหลือชีวิตไว้ทำอะไรในชุมชนนั้นๆ ไอ้เด็กน้อย พอเข็นออกมาจากโรงเรียน ได้ไม่เท่าใหร่ก็หายหน้าออกจากหมู่บ้านมุ่งสู่เส้นทางภาคกลางและเมืองกรุงเหมือน นายฮ้อย สมัยก่อนที่ต้อนฝูงวัวควายไปขายแถบภาคกลางนั่นเทียว  

งานประเพณีท้องถิ่นที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แห่ต้น ขึ้นบ้านโน้นลงบ้านนี้ แวะเวียนไปเยี่ยมเยือน กราบไหว้ ขอขมาลาโทษกัน แม้ว่าจะกินเหล้ากลั่นเองกันเมามายแต่ก็ อบอวนไปด้วยมิตรภาพความเป็นพี่เป็นน้องป้องปาย  หาใช่อย่างปัจจุบันที่กลุ่มเยาวชนอนาคตหมู่บ้านกลับแสวงหาเวทีรำวง สาวกระโปรงเหี่ยน มาเต้นให้วาบหวามใจ โดยอ้างว่าหาเงินเข้าหมู่บ้าน พอเมาเข้าไปก็อดใจไม่อยู่ ใหญ่โตขึ้นมา มองหน้าใครก็ผิดใจไปหมด จนสิ้นความเป็นคน ตีรันฟันแทง สร้างความแตกแยกให้ร้าวฉานในชุมชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน  มิใยจะไป ผูกข้อต่อแขน โดย ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ให้เอือมระอาอย่างไม่น่าจะเป็น 

คอยดูซิสงกรานต์ปีนี้เขาเหล่านั้นจะถูกหามเข้าโรงพยาบาลกี่คน ภูมิคุ้มกันชุมชนอยู่ที่ไหน ใครก็ได้ช่วยตอบที ครับ

หมายเลขบันทึก: 89710เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2007 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

อ่านแล้วรู้สึกอัดอั้นในอกขึ้นมาเลยค่ะ..ความเจริญ การพัฒนา การเติบโต  ความทันสมัย  ความก้าวหน้า..เหมือนเป็นศัพท์ที่พร่ำพูด จนกลายเป็นมนต์ขลังบางอย่างทำให้เคลิบเคลิ้ม จนหลงลืมเภทภัยที่ตามมา..

ภูมิคุ้มกันในทางสาธารณสุขคือการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคที่จะตามมา..โรคภูมิคุ้มกัน " ตนเอง " บกพร่องนี่คงต้องฉีดกันตั้งแต่ เล็กๆเลยมั้งคะ ( วัคซีนเด็กจะเริ่มที่ 2 เดือน แต่วัคซีนใจจะเริ่มเมื่อไหร่ดีคะ ).. แล้วฉีดกระตุ้นทุกปี ต่อเนื่องจนตาย

พี่บางทรายเบิร์ดขอเชิญที่ http://gotoknow.org/blog/beutifulmemories/88301 ใหม่ค่ะ..หลวงพี่มาโปรดสัตว์แล้ว ^ ^

สวัสดีค่ะพี่บางทราย

           เห็นด้วยค่ะ แต่ทุกอย่างอยู่ที่จิตสำนึก การปลูกฝังค่านิยมแบบผิด ๆ หรือเด็กเห็นตัวอย่างจากดารานักร้อง ทำไงได้ค่ะ เสมือนได้อย่างเสียอย่าง เหมือนเพลงอัสนี ยังไงก็ไม่รู้ ได้ความเจริญ แต่ค่าทางจิตใจของคนเริ่มเสื่อมลง วัดกันที่เม็ดเงิน รูปร่างภายนอก หรือแม้แต่การแต่งกาย

            เมื่อคืนราณีดูรายการมหานคร ทางช่อง 7 แขกรับเชิญคือ ซูโม่กิ๊ก  เขาบอกว่าเขาชอบประเทศญี่ปุ่นมาก ๆ เพราะมีความเจริญทางเทคโนโลยี แต่ก็ยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย เวลาที่เขาขึ้นรถไฟใต้ดิน เขาเห็นคนใส่ชุดกิโมโน ขึ้นรถไฟใต้ดินในญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ๆ แต่ถ้าเป็นเมืองไทยใครใส่ชุดไทยมาเดินถือเป็นเรื่องแปลก ถ้าเป็นตอนดึก ๆ มีหวังวิ่งอ้าวฮ่า ๆๆๆๆ คนอื่น เขาฟังแล้วขำ ราณีก็ขำ แต่ได้แง่คิดดี ๆ เยอะเลย

           เบื่อที่จะอ่านหรือยังค่ะ อิ ๆๆ แต่อยากเล่าค่ะ แหมเห็นประเด็นโดนใจได้โอกาสระบายแล้วเรา

           ซูโม่กิ๊ก (ชื่อในการแสดง) บอกว่าประเทศไทยนั้นถือว่าโชคดี มีวัฒนธรรมดี ๆ มากมาย แต่ของคนเรากลับไม่ค่อยรู้จักรักษา ชอบรับแต่สิ่งไม่ดีเข้ามา

           ทำให้ราณีได้คิดว่าสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมไทยที่ดี ควรค่าแก่การรักษานั้นกำลังจะถูกบิดเบือนด้วยการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ มากลบของเก่า เช่นการเล่นน้ำสงกรานต์  เห็นไหมค่ะ ชาวต่างชาติเขาโหยหาวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม แต่คนไทยกับไปโหยหาสิ่งที่เป็นตะวันตก ไม่ใช่เอาของดีเขามานะค่ะ รับแต่วัฒนธรรมที่ไม่ดีมาเยอะเช่นเด็กสมัยนี้ เที่ยวผู้ชายถือเป็นเรื่องธรรมดา ลืมสิ่งที่คนสมัยก่อนสอนไว้หมด

          บ่นมาก็เยอะ เราจะเริ่มแก้ที่ตรงไหนดีค่ะ  ราณีก็เริ่มไปบ้างแล้วค่ะ พยายามยกตัวอย่างให้นักศึกษาเห็นถึงผลดีผลเสีย  บางคนก็เข้าสมองบ้าง บางคนก็คิดว่า ยังไม่วันพระเลยมาเทศก์ซะแล้ว (อันหลังนี้ราณีคิดเอง  ขอบคุณนะค่ะที่ยอมให้ราณีได้ระบาย สวัดดีปีใหม่ไทยค่ะ ตามมาสาดน้ำ....ใจ

  • อ่านแล้วเห็นภาพครับ เพราะความจริงผมก็เห็นเช่นนั้น สภาพชุมชนที่เหลวแหลก
  • ด้วยทุนนิยม ด้วยวัตถุนิยม ลืมรากเหง้า ลืมฐานของตน
  • พยายามจะหลงไปในกระแสที่ผิด โดยไม่ลืมหูลืมตา
  • น่าสนใจว่าระบบการศึกษาสอนอะไร ที่ทำให้เยาวชนเป็นเช่นนี้ หรือว่าไม่ได้สอนอะไร จึงไม่มีภูมิคุ้มกัน
  • อยากให้หลายๆคนได้อ่านบทความนี้ ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับน้อง เบิร์ด
  • ความเป็นจริงงานพัฒนามีผลสองด้าน หรือมากกว่า แต่ด้านไม่พึงประสงค์มันแสดงผลออกมาชัดเจนมากขึ้นและส่งผลต่อความไม่สงบสุขของชุมชนน่ะครับ  พี่จึงหยิบมุมนี้มาเปิด และนี่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเท่านั้นครับ
  • มุมที่ก่อให้เกิดผลดีก็มีครับ ยังไม่ได้หยิบมาเท่านั้นเอง อย่าเพิ่งห่อเหี่ยว ไปซะก่อน
  • เดี๋ยวพี่ตามไปดูที่น้องเบิร์ดแนะนำไว้ครับ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับน้อง Ranee
  • พี่ก็เห็นด้วยกับสิ่งที่น้องราณีเล่าให้ฟัง หรือ (บ่นเหมือนพี่) บ่นเถอะครับ เพราะเราบ่นที่มีสาระ
  • พี่ไม่ได้ดูรายการดังกล่าวครับ มีพี่แรงงานจังหวัดมาเยี่ยมเลยไปทานข้าวกัน คุยกันจนดึก
  • เห็นด้วยที่หลายประเทศเขาก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่แต่ก็ยังเกาะแน่นกับวัฒนธรรมเดิมของเขา นอกจากญี่ปุ่นแล้วก็มี "เจ้าชายจิ๊กมี่ วังเกล นำชุก" ที่คนไทยรักท่าน แม้แต่เพื่อนบ้านเราประเทศลาว เขายังนุ่งผ้าถุงไปทำงานเลย น่ารักจะตายไป
  • ระบบการเรียนเราเน้นวิชาการมากเกินไป ที่เรียกว่า IQ แต่ความซาบซึ้งในแก่น หรือรากความเป็นไทยของเราดูจะไม่มีเอาเสียเลย  ลามปามไปถึงชนบทอย่างเป็นล่ำเป็นสันในค่านิยม เช่นการตั้งชื่อลูกเป็นฝรั่งไปมากมายแล้ว การผูกข้อมือลูกหลานแล้วอวยพรว่า "โอม...ขอให้ได้ผัวเป็นฝรั่ง มังค่า เด้อ เจ้า เด้อ.." เพราะการได้สามีฝรั่งแล้วรวย ??
  • พี่คิดว่าครูจำนวนไม่น้อยก็คิดและทำอะไรที่ดีๆก็มากอยู่ แต่จำนวนยังมากไม่พอ ความเข้มข้นยังไม่พอ ภูมิคุ้มกันจึงอ่อนแอ
  • ยังไม่เบื่ออ่านหรอก เล่าเยอะๆมาเลย
  • ทางออกที่น่าทำคือ การตั้งวงคนมา "สกัด" เอาแก่นของสังคม รากฐานเดิมดีๆของเราออกมา  ซึ่งมีคนทำไว้ก็มากอยู่ในแต่ละภูมิภาค  แต่หยิบมาทำกิจกรรมกับคน ทุกรุ่นทุกวัยซิ อย่าทำกิจกรรมเพียงสัญลักษณ์ หรือทำตามประเพณีเท่านั้น  แต่ต้องทำให้เห็นสาระ คุณค่า และให้เกิดสำนึก  สำนึกในคุณค่าของความเป็นไทย อาจจะปรับเปลี่ยนไปบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย  แต่ต้องคงคุณค่าและความหมายที่สร้างสรรค์
  • ขอบคุณที่มาแบ่งปันกันครับ
  • สวัสดีครับน้อง บีเวอร์
  • น่าสนใจที่น้องนิสิตสนใจเรื่องเหล่านี้
  • ในฐานะที่น้องเป็นผู้สนใจและมีผลงานด้านสื่อ ซึ่งสื่อมีผมมากๆต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบัน  ก็ฝากให้น้องคิดเรื่องนี้ต่อด้วย
  • พี่เคยกล่าวไว้บ้างว่า สังคมปัจจุบันเอาวิชาความรู้ไปสนองธุรกิจมากมาย เพื่อให้การค้าขายบรนรลุเป้าการจำหน่าย โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมน้อยเกินไป และตรงข้าม วงการความรู้เหล่านั้นกลับไม่ได้ใช้วิชาความรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี่อยู่เลย  หรือมีอยู่แต่น้อยมากๆ  เราต้องการครับ
  • ขอบคุณน้องมากที่มาแลกเปลี่ยนกัน
  • การมองการเปลี่ยนแปลงของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบท มองได้หลายแบบเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้แนวคิดทฤษฏีอะไรบ้างมาจับ...
  • ในสภาวะปัจจุบัน ชุมชนมิได้อยู่อย่างโดดดี่ยว มีการปะทะสังสรรค์ทางวันฒนธรม กับสังคมภายนอกมากขึ้นทุกวัน
  • ถ้ามองผ่านการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ก็จะมองว่า การติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอกทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลง เช่น การดูทีวี ฟังวิทยุ การติดต่อกับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามาในชุมชน การไปติดต่อซื้อขายในเมือง กาตติดต่อกับหน่วยงานราชการ ngo การไปทำงานต่างประเทศ การไปทำงานในเมือง เป็นต้น ซึ่งทำให้ชุมชนรับเอาวิธีคิด วัฒนธธรมมาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้ามา โดยไม่คิดว่า อาจเป็นดาบสองคม
  • การซื้อโทรศัพท์ให้ลูก ไม่นึกว่าจะกลายเป็นส่งเสริมให้ลูกติดต่อกับหนุ่มหนุ่มได้ง่ายขึ้น การซื้อมอไซค์ให้ลูกไม่นึกว่าลูกจะเอาไปซิ่งจนแหกโค้งที่ไหน...ฯลฯ
  • การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ไม่มีใครทำใคร นอกจากคนไทยมอมเมากันเองด้วยวัฒนธรรมที่เจือยาพิษ...ภาษาอีสานเรียกว่า "เบือกันเอง" ไม่มีใครทำใคร นอกจากหนุนเสริมทำลายกันเอง...ความทันสมัยเป็นมายาภาพที่แพร่กระจายได้เร็ว...เพราะกิเลสคนเราชอบมั๊งครับ...ภูมิคุ้มกันชั้นดีที่เรียกว่า ศาสนา ยังเอาไม่อยู่เลย
  • สวัสดีคุณชอลิ้วเฮียง
  • แม่นแล้วครับ..ตรงใจเผงเลย
  • ประเด็นที่อยากตั้งไว้ก็คือ เราจะช่วยกันคลละไม้คนละมืออย่างไรจึงจะ กระตุกสำนึกให้มีขึ้นมาไตร่ตรองการบริโภคกันหน่อย
  • จากมากก็ลงมาบ้าง จากน้อยก็ลดลงมาจนน้อยที่สุด  ผมก็รู้ว่ายากแสนยาก  เรากำลังทำเรื่องยาก  การสร้างคนนี่นะครับ
  • ถ้าเราไม่ทำ ปล่อยให้ระบบ "เหมาโหลโอกาส" ตั้งหน้าตั้งตาหลอมใจชาวบ้านรวมทั้งเราทั้งท่านทั้งหลายด้วย จนพลั้งเผลอลืมตัวไป หลุดลอยตามกระแสไปจนแยกไม่ออกว่าอะไรควรเท่าไหร่ ไม่ควรเท่าไหร่ จึงมิใช่เรื่องที่กระทำง่ายๆในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตราบใดที่สำนึกไม่มี  การพูดสวยหรูก็ยังน่าฟังต่อไป
  • ขอบคุณครับ เห็นด้วยว่าศาสนายังชาชินเลย
  • แหม...ท่านครูบา..แอบมาเงียบๆผมต็กกะใจหมดเลย
  • เป็นหนังเรื่องยาวครับท่านครับ คงออกมาเรื่อยๆแหละครับ
  • สงกรานต์มาถึงแล้ว ไม่ได้มีโอกาสไปรดน้ำท่าน ก็ขออนุญาตรดน้ำตรงนี้แล้วกันนะครับ

 

  • พรอันใด สูงล้ำ ค้ำฟ้า
  • พรอันใด มีค่า มหาสาร
  • พรอันใด ศักดิ์สิทธิ์ สัมฤทธิ์งาน
  • จงดลบันดาร ครูบาสุทธิ์ ผ่องผุดเอย

ขอบพระคุณครับที่แวะมาเยี่ยม ข้าน้อยฯ

สวัสดีค่ะคุณ(รุ่น)ปู่ ม.ช. แต่ขอเรียกแค่พี่บางทรายดีกว่า ขอบคุณที่เข้าไปแวะเวียนเป็นกำลังใจให้คนเริ่มเขียนบล็อกนะคะ

มีเรื่องเล่าเยอะและขยันเขียนจริงๆ นับถือๆ ค่ะ แถมเป็นกวีอีก

ฟักทองเทวดาเลี้ยงทำอะไรก็อร่อยค่ะ แบบนึ่ง มีมะพร้าวขูดโรยเกลือนิดน้ำตาลหน่อยก็อร่อยชอบมากเช่นกัน แม่บ้านชอบทำแกงเลียงให้ทาน เก็บผักโขมบ้าน บวบ ใบแมงลักจากท่าน้ำนั่นแหละ ใส่ฟักทองเยอะๆ แขกที่มาทานข้าวที่บ้านติดใจทุกคน

ขอแชร์แบบมีสาระบ้าง การเปลี่ยนแปลงของชุมชนชนบทในกระแสทุนนิยม มันยั้งไม่อยู่อยู่แล้ว วัดในชนบทก็ยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างเมื่อก่อน หนำซ้ำชักนำคนเข้าวัดเข้ารกเข้าพงไปด้วยการเชื่ออิทธิฤทธิ์ปาฏิหาร ห่งไกลการใช้ปัญญาไปทุกที มีวัดไม่กี่แห่งที่เห็นทุกข์ของชาวบ้านทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจแล้วเข้าไปช่วยพัฒนาทั้งสองส่วนให้เจริญไปพร้อมกัน

แต่อย่าเพิ่งหมดหวังค่ะ ขอให้เชื่อมั่นใน"ยุทธศาสตร์ขยายความดี" และมีความสุขกับสิ่งที่ทำได้ น้อง"คุณนายดอกเตอร์"ได้พบตัวอย่างดีๆเยอะจนเก็บไปทำปริญญาเอก(ฮิ ฮิ ได้เกียรตินิยมสูงสุดด้วยล่ะ) ได้นำประสบการณ์มาใช้กับชีวิตตัวเอง มีความสุขจากการที่รู้สึกว่า"พอ" และเขียนหนังสือกับเขาหนึ่งเล่มชื่อ "ปริศนาแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น" ที่สำนักพิมพ์ให้มาหมดแล้วไม่อย่างนั้นจะส่งมาให้ ตอนนี้มีขายที่สคส.

ขอให้มีความสุขทุกๆวันค่ะ

  • สวัสดีครับน้อง คุณนายเจ้าค่ะ
  • ดีใจที่รู้จักกันบน cyber ครับ
  • ก่อนที่จะมาเปิด blog นี้ก็เพิ่มกินฟักทองนึ่งจิ้มน้ำตาลอยู่เลยครับ พี่ชอบ และปั่นละเอียดยิบผสมกับสิ่งอื่นๆให้คุณแม่(ยาย)ทานทางสายยางครับ
  • น่าสนใจมากน้องคุณนาย..หนังสือที่น้องกล่าวถึง พี่จะตามหามาอ่านครับ 
  • พี่ก็บ่นไป เพียงอยากจะสะท้อนภาพชนบทให้สาธารณะทราบไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติใครต่อใครที่มีบทบาทหน้าที่บ้าง หากผ่านมาแวะวเยนเห็นแล้วก็เอาไปคิดต่อก็จะเป็นกุศล มากครับ มิเช่นนั้นเทคโนโลยี่สมัยใหม่เป็นข่าวกลบกลืนเรื่องของชุมชนชนบทไปหมดครับ
  • พี่ไม่หมดกำลังใจหรอกครับขอบคุณที่แวะเวียนมา   พี่ก็จะแวะเวียนไปเยี่ยมเช่นกันครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท