ปาฐกถาพิเศษ: ระบบสุขภาพชุมชน ฐานรากของระบบสุขภาพ


โครงสร้างอะไรจะมั่นคงได้ ฐานต้องแข็งแรง เราสร้างอะไรจากยอดไม่ได้ ต้องสร้างจากฐานขึ้นไป

ในการประชุมวิชาการ “ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน” ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในวันแรกหลังพิธีเปิดการประชุม ระหว่างเวลา ๐๙.๔๐-๑๐.๓๐ น.เป็นปาฐกถาพิเศษ “ระบบสุขภาพชุมชน ฐานรากของระบบสุขภาพ” โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่ดิฉันจดบันทึกไว้

อาจารย์ประเวศได้กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เดินเรื่องนี้ (สุขภาพชุมชน) มาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ถึงวันนี้ความพยายามของทุกคนได้มาบรรจบกันแล้ว เป็นการเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาพชุมชน สุขภาพบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องของมดหมอหยูกยาเท่านั้น แต่เป็นสุขภาวะ

โครงสร้างอะไรจะมั่นคงได้ ฐานต้องแข็งแรง เราสร้างอะไรจากยอดไม่ได้ ต้องสร้างจากฐานขึ้นไป ฐานคือชุมชน ถ้าฐานแข็งแรง ข้างบนก็จะดี ในส่วนของฐานประกอบด้วย Self-care, Family care และ Community care อยู่ในคำว่าระบบสุขภาพ ต้องไปพร้อมกันหมด

ถ้าเป้าหมายของระบบสุขภาพชุมชนมีความชัดเจน ตรงกัน ก็จะมีพลัง

องค์ประกอบ ๗ ประการของระบบสุขภาพชุมชน
๑. เศรษฐกิจพอเพียง สัมมาชีพเต็มพื้นที่ เช่น รวมตัวกันทำแผนแม่บทชุมชน ทุกองค์กรมาสนับสนุนการขับเคลื่อน
๒. สังคมไม่ทอดทิ้งกัน สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะตอนนี้มีโครงสร้างทุกอย่างพร้อม ประเทศไทยไม่ควรมีคนถูกทอดทิ้ง เพราะขณะนี้ชุมชนเข็มแข็ง รวมตัวกันทำการสำรวจทุกบ้านให้ข้อมูลปรากฏแล้วให้ความช่วยเหลือ ทำความจริงให้ปรากฏโดยใช้กลไกของชุมชน
๓. ดูแลรักษาโรคที่พบบ่อย ให้ได้หมด เช่น หวัด เจ็บคอ (URI) เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกในบ้านเรา ที่ประเทศอังกฤษคนเป็นหวัดจะไม่ไป รพ. เราควรทำให้คนที่เป็นหวัดไม่ต้องไป รพ. ใช้การดูแลตนเอง (Self-care) ดูแลกันเองในครอบครัว (family care) ดูแลกันเองในชุมชน (Community care) ด้วยคุณภาพที่ดีกว่าไป รพ. รพ.จะว่างลง ถ้า รพ.แน่นเกินไป การฟ้องร้องก็จะมากขึ้น แพทยสภาควรหมั่นทำความเข้าใจระบบสุขภาพชุมชน
๔. ดูแลเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผลการสำรวจสภาวะสุขภาพคนไทย พบว่ามีส่วนน้อยที่ได้รับการวินิจฉัย คนป่วยได้รับบริการที่ไม่มีคุณภาพ เบาหวานต้องการ personal care และต่อเนื่อง ซึ่งทำไม่ได้ที่ รพ.ใหญ่ ยกตัวอย่างการทำงานของ นพ.เกรียงศักดิ์ ที่ภูกระดึงที่ทำ Family doctor (เป็นพยาบาล) ครบทุกตำบล ถ้าดูแลได้ทั้งแผ่นดินจะตัดการสูญเสีย การเป็นโรค การตาย ประหยัดเงินค่าบริการสุขภาพได้มาก
๕. ดูแลผู้สูงอายุ ถ้าไป รพ. ผู้สูงอายุลำบากมาก คนแก่ต้องอยู่ที่บ้าน แล้วมีพยาบาลไปเยี่ยมบ้านเป็นประจำ จะเปลี่ยนสภาพจากนรกเป็นสวรรค์ ตัวอย่างที่ รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร คนแก่อยู่ที่บ้านก็จะมีความสุขขึ้นเยอะ เพราะมีคนดูแลในชุมชนที่ดี
๖. ควบคุมโรค เช่น ไข้เลือดออก ชุมชนที่เข้มแข็งไม่เป็นไข้เลือดออก การจะควบคุมโรคได้ชุมชนต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่ ศิริราช รามา เข้มแข็ง รวมทั้งเรื่องยาเสพติด เอดส์ ความรุนแรง ชุมชนที่เข้มแข็งจะดูแลได้ทุกเรื่อง อีกทั้งเรื่องขโมยขโจร
๗. สร้างเสริมสุขภาพ ทุกเรื่อง

สาธารณสุขชุมชนและชุมชนต่างมีผลซึ่งกันและกัน ถ้าสาธารณสุขชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนก็เข้มแข็ง ถ้าชุมชนเข้มแข็ง สาธารณสุขชุมชนก็เข้มแข็ง

ระบบสุขภาพชุมชนเป็นจุดยุทธศาสตร์ของระบบสุขภาพ

กลไกการสนับสนุน  ได้แก่
๑. เครือข่ายสนับสนุนระบบสุขภาพชุมชน เช่น เครือข่าย รพช. มูลนิธิแพทย์ชนบท เครือข่ายหมออนามัยเพื่อชุมชน เครือข่ายพยาบาลเพื่อชุมชน เครือข่ายครูฯ นักธุรกิจ สื่อเพื่อชุมชน เป็นต้น
๒. ภาคีส่งเสริมสุขภาพชุมชนจังหวัด หลายๆ องค์กร มหาวิทยาลัย ทุกฝ่ายเข้ามารวมตัวกัน แต่ละจังหวัดต้องทำ mapping ว่ามีชุมชนเข้มแข็งกี่แห่งแล้ว ถ้าจะทำยุทธศาสตร์ต้องมี mapping ว่าที่ไหน ทำอะไร อย่างไร จะได้ขยาย ในที่สุดก็เต็มทั้งจังหวัด
๓. ภาคีส่งเสริมสุขภาพชุมชนระดับชาติ ต้องมีการวิจัยสถานภาพ (mapping) เช่นกัน

จากองค์ประกอบทั้ง ๗ เราสามารถสร้างสวรรค์บนดินได้ เกิดประโยชน์สุขของคนทั้งประเทศ ให้เอา “หัวใจ” นำ อย่าเอา “ความรู้” นำ เอาหัวใจนำแล้วความรู้ต่างๆ ตามมาเอง

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 80680เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2007 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 04:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
สาธารณสุขจาก...ภาคใต้ตอนบน
การประชุมตกผลึกฯเมื่อ22-23กพ2550 ที่ไบเทคบางนาเป็นเวทีแห่งความฝัน ดื่มด่ำ มีความสุขกับอุดมการณ์ทางสุขภาพ ทำให้หูตาสว่าง ไม่มีใครอยากหนีกลับ นั่งฟังจนจบ แม้แต่ทีมงานนอกหน่วยงานสาธารณสุขที่มาพบเห็นเหตุการณ์ก็มีความสุขไปด้วย

เชื่อหรือไม่ได้ข่าวว่ามีคนไม่มีวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้ไปงานนี้(ตกผลึก22-23กพ50)บ่นว่าคนที่ไปงานทิ้งงาน(นั่งMakeตัวเลข)ไป เที่ยวกันสนุกสนาน ดูดู๊ เมืองไทย

เห็นด้วยกับคุณสาธารณสุขจากภาคใต้ตอนบน เราควรช่วยกันแสดงความชื่นชมกับความสำเร็จของคุณหมอสุพัตรา ศรีวณิชชากร ทีมงาน สพช. และเจ้าภาพร่วมจัดงานทุกฝ่าย

และที่สำคัญคือคนตัวเล็กๆ ที่ทำงานบริการปฐมภูมิ

.....และที่สำคัญ ฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้จะเป็นพลังไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบกลไกหลัก และสร้างสุขภาวะ ให้เป็นจริง ไม่เพียงการเพ้อฝัน...

 ด้วยรัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท