ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน (๑)


มีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับเบาหวานหลายเรื่อง

ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ มีการประชุมวิชาการ Primary Care ระดับประเทศ ครั้งที่ ๒ "ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยมี พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร และทีมงานของ สพช. เป็นแม่งานใหญ่ ร่วมกับ สวรส., สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข

ดิฉันขออาสาไปช่วยงานครั้งนี้ โดยมีความคาดหวังหลายเรื่องคือ (๑) เพื่อเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ของการบริการปฐมภูมิในหลากหลายบริบทจากส่วนต่างๆ ของประเทศ ที่สนใจเป็นพิเศษคืองานเบาหวาน (๒) เพื่อพบกับ “เพื่อนๆ” สมาชิกเครือข่าย KM เบาหวาน และทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ และ (๓) เพื่อเรียนรู้รูปแบบและวิธีการจัดประชุม หวังนำมาปรับใช้ในงานมหกรรม KM เบาหวาน

วันนี้เป็นวันแรกของงาน ดิฉันเดินทางไปถึงศูนย์ประชุมตั้งแต่ก่อน ๐๘.๐๐ น. เข้าไปลงทะเบียน พบว่าคนเข้าประชุมเยอะมาก แต่ระบบต่างๆ ก็ถูกวางไว้รองรับอย่างดี ตัวดิฉันไม่พบปัญหาใดๆ เพราะได้รหัสเป็นคนทำงาน ทราบว่าครั้งนี้มีคนเข้าประชุมกว่า ๒,๐๐๐ คน

 

 บรรยากาศบริเวณที่ลงทะเบียน

เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณหน้าห้องประชุม เจอนิทรรศการจำนวนมาก แต่บางบอร์ดมีป้ายชื่อเล็กๆ มาติด คุณหมอสุพัตราบอกว่าโปสเตอร์บางส่วนยังทำไม่เสร็จ เดินดูพบว่ามีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับเบาหวานหลายเรื่อง เช่น หมู่บ้านจัดการเบาหวาน ของ ศสช.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ชุมชนมีส่วนร่วมของ ศสช.ค่ายบกหวาน จ.หนองคาย เป็นต้น เสียดายที่มีแต่โปสเตอร์ ไม่มีคนอยู่พูดคุยแลกเปลี่ยน

ชอบใจที่มีโปสเตอร์ใหญ่บอกกำหนดการและสถานที่อยู่ด้านหน้าให้เห็นชัดๆ แถมมีตัววิ่งบอกที่จอด้านบน ขึ้นบันไดเลื่อนมาก็เห็นเลย เจอคุณหมอสุพัตราแต่เช้า ชักชวนกันแล้วว่าจะให้มาช่วยในงานมหกรรม KM เบาหวาน

 

 โปสเตอร์บอกกำหนดการ

 

 มีตัววิ่งให้อ่านอยู่ด้านบน

พิธีเปิดเริ่มด้วย VCD “อุดมการณ์และเอกลักษณ์งานสุขภาพชุมชน” ให้เราได้รู้จักบริการปฐมภูมิจากคนทำงานตัวเล็กๆ ที่สถานีอนามัยนาบัว เรื่องราวน่าประทับใจ แสดงให้เห็นว่าสุขภาพสัมพันธ์กับองค์ประกอบมากมาย ชีวิตของชาวนาบัวที่ทำการเกษตรใช้สารเคมีแล้วมีผลต่อสุขภาพ ชาว สอ.ชวนชาวบ้านมาคุยหาทางออก เกิดโครงการ “คืนกุ้ง หอย ปู ปลา” จนเลิกละการใช้สารเคมี เป็นการเปลี่ยนวิถีการผลิตเปลี่ยนชีวิตที่เห็นผลชัดคือสุขภาพกายใจดีขึ้น

ชาวบ้านเองก็เปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพใหม่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๔ (คุณทองคำ) เล่าเรื่องโครงการเลิกเหล้า โรงกลั่นยังหยุดต้มเหล้าทุกวันพระ ชุมชนรู้ว่าต้องดูแลสุขภาพของตนเอง อบต.ก็เข้ามามีบทบาท ชุมชนทำงานร่วมกับ ชาว สอ.และ อบต.จนเกิดการทำแผนแม่บทเพื่อสร้างชุมชนเป็นสุข ที่นี่มีรถพยาบาลที่ชาวบ้านลงขันกันเอง ร่วมกับการสนับสนุนบางส่วนจาก สปสช.และ อบต. คนขับรถก็เป็นชาวบ้าน เวลาฉุกเฉินต้องไปโรงพยาบาล ก็มีคนบ้านเดียวกันดูแลเอาใจใส่ แถมนั่งรถที่ตนเองเป็นเจ้าของ เกิดความอุ่นใจ

คุณสุวรรณ เมืองพระฝาง หัวหน้าสถานีอนามัยนาบัว บอกว่าเราต้องเข้าใจชีวิตของเขา (ชาวบ้าน) เลิกบอกความรู้สำเร็จรูป แต่ปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุน เรื่องราวใน VCD บอกเล่าให้เห็นว่าคนทำงานและชาวบ้านต่างก็มีความสุข

จบ VCD มีการคลี่ป้ายที่เป็นเรื่องหลักๆ ของการประชุมครั้งนี้ ต่อด้วย พญ.สุพัตรากล่าวรายงานอย่างกระชับและชัดเจน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดงาน

 

 ศ.นพ.ประเวศ วะสี

๐๙.๔๐-๑๐.๓๐ น. มีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ระบบสุขภาพชุมชนคือฐานรากของระบบสุขภาพ” โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี (โปรดติดตามในบันทึกตอนต่อไป) หลังจากนั้นเป็นการพัก-รับประทานอาหารว่าง เนื่องจากเวลาล่าช้ากว่ากำหนดมาประมาณ ๓๐ นาที พิธีกรประกาศให้พักเพียง ๑๕ นาที แต่ด้วยจำนวนคนเข้าประชุมที่มาก เวลาจึงจำกัดน้อยๆ ไม่ได้

 

 

 พิธีกรงานนี้

ดิฉันใช้ช่วงเวลานี้คุยบอก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ว่าเครือข่ายเราจะจัดมหกรรม KM เบาหวาน อยากเชิญกรมอนามัยมาร่วมจัดด้วยจะติดต่อกับใครดี คุยตรงตัวพอดีเพราะคุณหมอสมศักดิ์บอกว่าตัวท่านนี่แหละ เพราะตอนนี้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสำนักสนับสนุนการจัดการความรู้ (ไม่แน่ใจเรื่องชื่อ แต่คล้ายๆ ทำนองนี้)

๑๑.๐๐ น.ดิฉันและน้องๆ ทีมเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช ถูกตามตัวเพื่อมาเตรียมการเรื่องกลุ่มย่อยที่จะมีในช่วงบ่าย เราจึงไม่ได้ฟังการอภิปรายกลุ่มเรื่องอุดมการณ์และแนวคิดระบบสุขภาพชุมชน

๑๓.๓๐-๑๕.๐๐ น. เริ่มการประชุมภาคบ่าย เป็นช่วง “สะท้อนอุดมการณ์ แนวคิด...สู่รูปธรรมคนทำงาน” ดิฉันอยู่ห้อง ๑ (GH 203) เป็นเรื่อง “จุดคานงัดคุณภาพของระบบบริการสุขภาพ” ผู้ดำเนินรายการคือ นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผอ.รพ.เทพา สงขลา ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ได้แก่ คุณปรีชา ศรีชัย รองนายก อบต.บ้านกร่างและประธานชมรมเบาหวานบ้านกร่าง นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ (สมาชิกคนสำคัญของเรา) ภก.สุรพงศ์ แสงฉายา รพ.คำตากล้า และคุณวัลภา เฟือยงาราช ศสช.บ้านกุดจาน อ.คำตากล้า (โปรดติดตามในบันทึกตอนต่อไป)

พัก รับประทานอาหารว่างอีกครั้ง ระหว่างนี้พนักงานเข้ามาจัดเก้าอี้ในห้องเป็นกลุ่มๆ ละ ๑๕ คน ๓๐ กลุ่ม สำหรับแลกเปลี่ยนเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและอีกเรื่องหนึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือเปล่า แต่ละกลุ่มอยู่ติดๆ กัน (ถ่ายภาพมาแล้วมืดมากเลยเอามาโชว์ไม่ได้) เราเริ่มกังวลว่าจะคุยกันได้ดีแค่ไหน จะมีคนมาเข้ากลุ่มไหม

ดิฉันรับผิดชอบกลุ่มสหวิชาชีพกับการทำงานเป็นทีม คนที่มาเล่าเรื่องคือ ภก.สุรพงศ์ แสงฉายา รพ.คำตากล้า และคุณปฏิพิมพ์ อยู่คง พยาบาลจากงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช มี “น้องนาถ” จาก PCU สมอแข ทำหน้าที่เป็น “คุณลิขิต” มีผู้มาขอเรียนรู้จากกาญจนบุรี (จำชื่อ รพ.ไม่ได้) รพ.เสนา อยุธยา รพ.ยโสธร รวมแล้วกลุ่มเรามี ๘ คน เราพบว่าบางกลุ่มก็ไม่มีคนเข้าเลย คุณธวัช หมัดเต๊ะที่จะมาคุยเรื่องงานมหกรรม KM เบาหวานมาร่วมแจมด้วยตอนท้าย เสร็จกิจกรรมเกือบ ๑๗.๐๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 80149เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ถูกเชิญมาเหมือนกัน แต่กระทันหันมาก
  • ขอเรียนรู้จากบันทึกนี้ และบัยทึกต่อๆไป

 

  1. มาร่วมงานนี้เหมือนกันครับ
  2. ตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่องนี้... กำลังเขียนๆ อยู่ ก็เปิดไปอ่านในหน้าแรกของ Gotoknow ก็พบบันทึกนี้ของอาจารย์ก็เลยตามมาอ่านก่อน
  3. คนทำงานสุขภาพชุมชน มาร่วมงานนี้มากจริงๆ ครับ รู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก
  4. แล้วผมจะเข้ามาเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ในมุมมองของผมบ้างนะครับ
  5. พรุ่งนี้ผมได้รับเกียรติให้ร่วมอภิปรายในห้องย่อยภาคใต้ เรื่อง การจัดการความรู้ผ่าน Blog ในเครือข่ายภาคใต้ ด้วยครับ
  6. ติดตาม Blog ของอาจารย์มาพอสมควร ถ้ามีโอกาส พรุ่งนี้คงได้เจอตัวจริงของอาจารย์นะครับ

เรียนท่านครูบา ดิฉันจะพยายามเขียนบันทึกเรื่องราวของการประชุมครั้งนี้ให้ได้มากที่สุดค่ะ เพื่อให้อาจารย์ได้รู้เรื่องราวด้วยค่ะ

สำหรับน้องอำนวย ยินดีที่ได้รู้จัก เจอตัวจริงกันแล้ว คงไม่ผิดหวังนะคะ จะติดตามอ่านบันทึกของน้องเช่นกันค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

หนูเคยส่งเรื่องเล่าเบาหวานให้อาจารย์เอนกครั้งหนึ่งค่ะ ตอนนั้นหนูเขียนขณะที่ตัวเองกำลังท้อจากงานที่ทำ ( หนูไปประกวดงานวิจัยที่เมืองทองธานี ในงาน 90 ปี สาธารณสุขเพื่อคนไทยสุขภาพดี แต่ถูกอาจารย์ที่เป็นกรรมการวิพากษ์แบบไม่ให้กำลังใจคนทำงานเลย) หนูว่าอำเภอร่องคำของหนูทำงานเบาหวานมามาก ชุมชนกับเจ้าหน้าที่เป็นเหมือนพี่น้องกัน หนูก็เลยนั่งเขียนเรื่องเล่าเบาหวานจากงานที่หนูทำแล้วมีความสุข ได้รับการคัดเลือกจากผู้จัดให้ไปเป็นวิทยากรในงานสานพลังความรู้ฝังลึกและความรู้ชัดแจ้งในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่เมืองทองธานี วันที่ 3 - 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา หนูชอบอ่านเรื่องเล่าของอาจารย์มากค่ะ อ่านแล้วมีกำลังใจในการทำงาน อาจารย์เข้าใจคนทำงาน หนูไม่เคยเจอตัวจริงของอาจารย์หรอกค่ะ เห็นแต่ภาพ แต่หนูก้ประทับใจในความสามารถของอาจารย์นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท