อนงค์ศิริ
รองศาสตราจารย์ อนงค์ศิริ วิชาลัย

เมื่อนักศึกษาตามหาความรู้


ถ้าจะแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็นกลุ่มๆ

โดยอาศัยความรู้จริงเป็นเกณฑ์  ข้าพเจ้าแบ่งเป็น  3  ประเภท

ประเภทหนึ่งรู้แบบจำ  รู้ไม่จริงแต่จำเอามาพูด จำเอามาเขียน

ประเภทที่สองรู้แบบเข้าใจ  สัมผัสกับของจริง สืบรู้จนพบความจริงแล้ว...อ๋อ  เป็นอย่างนี้เอง  เล่าได้ คุยได้ อธิบายได้เป็นลำดับขั้นตอนบางทีรู้มากกว่าครู  ถ้าครูรู้แบบจำมาสอน

ประเภทที่สาม  รู้แบบรู้เอง  คือรู้แบบที่ไม่ต้องตามไปศึกษาในสิ่งที่คนอื่นพูด  คนอื่นเขียนเอาไว้  แต่รู้เพราะรู้เกิดขึ้นด้วยตนเอง  ค้นพบความรู้ใหม่  สร้างองค์ความรู้ใหม่ ทฤษฎีใหม่

ข้าพเจ้าพบความจริงจากประสบการณ์การสอนวิชาแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น

หลังจากที่ได้เรียนรู้ถึงความสำคัญ ความหมาย ขอบเขตและประเภทของแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้ว  นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าความรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร  ตั้งแต่เรื่องมหัศจรรย์ของสมองไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ การถ่ายทอดความรู้ บทบาทของภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้แหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น  จบแล้ว

ข้าพเจ้มอบหมายให้นักศึกษา  ไปสืบค้นเรื่องราวของแหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน  โดยมีเกณฑ์หรือข้อตกลงว่า

เรื่องที่ศึกษาต้องเป็นความรู้ในลักษณะซ่อนเร้น (Tacit Knowledge)ที่ยังไม่เปิดเผยอย่างชัดแจ้ง  โดยการไปยังแหล่งการเรียนรู้ โดยการเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปศึกษา ไปสังเกต สอบถาม สัมภาษณ์จนได้ข้อมูล สารสนเทศมาสรุปเป็นความรู้ องค์ความรู้ของตนเอง ให้บันทึกภาพจากสถานการณ์จริง และนำมาเขียนเป็นรูปเล่มรายงาน  และจัดทำ Power point นำเสนอให้เพื่อนๆร่วมเรียนรรู้และร่วมประเมิน

นักศึกษากลุ่มหนึ่ง  ก็ไปจดจำนำสิ่งที่เขาบอกเล่า มาอ่านให้เพื่อนฟัง อ่านจริงๆ  แค่หลงบรรทัดเท่านั้น  พูดอะไรต่อไปไม่ได้ ตามด้วยอ่านออกเสียงไม่ถูกต้อง อ่านตู่คำ แยกคำแยกความ เป็นของแถม

ความรู้ในลักษณะนี้ทำให้คิดถึงการเรียนการสอนของเราขณะนี้ที่ผู้สอนรู้ไม่จริง  ก็จะจดจำความรู้มาถ่ายทอดตามตัวหนังสือ บางท่านก็ยังอ่านหนังสือให้นักเรียนหรือนักศึกษาฟัง

นักศึกษากลุ่มที่สอง  เอาจริงในเรื่องที่เลือกศึกษา ลงทุนไปสืบค้นยังแหล่งปฐมภูมิ ไปเรียนรู้ไปฝึกปฏิบัติ จนเข้าใจและทำได้ นำมาสรุปเขียนรายงานและนำเสนอผลงาน  ด้วยความมั่นใจในความรู้ที่ได้รับลักษณะนี้เอง  ที่เราเรียกร้องให้สอนโดยเน้นนักเรียนเป็นสำคัญแต่ครูบางท่านก็ไม่เข้าใจ

นักศึกษากลุ่มที่สามที่เราหวังว่าน่าจะ  รู้ในเรื่องใหม่ด้วยตัวเขาเอง เช่นค้นพบวิธีแก้อาการนอนกรนด้วยตัวเขาเอง(สมมติ) โดยไม่มีใครสอน ไม่มีใครแนะนำไม่ได้อ่านตำราใดๆ  แต่ค้นพบได้ด้วยตนเอง เป็นต้น

พบว่า กลุ่มที่หนึ่งมีมากที่สุด  มากจนตกใจ เรียนอะไรก็ไม่เรียนรู้จริง วิชาที่ถนัดมากคือ  วิชามารทั้งหลาย  การคัดลอกงานของเพื่อน ใช้วานคนอื่นทำแบบฝึกหัดให้ ทำรายงานให้  แล้วหวังจะได้คะแนนมากๆ

นึกอยู่เหมือนกัน    ถ้าจบออกไปเป็นครูก็น่าจะสอนตามตำรา 

ถ้าไปเป็นผู้บริหารก็จะใช้วิธีให้คนอื่นทำงานให้  ไม่กล้าเข้าใกล้งานวิชาการ

จึงได้คำตอบด้วยตนเองแล้ววันนี้   ถ้าจะสอนให้รู้จริงคงปฏิรูปการศึกษากันทุกระดับ  มิใช่เคี่ยวเข็ญเอากับการศึกษาภาคบังคับ หรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน  แต่...อุดมศึกษายังไม่เอาจริง ในการสร้างครูพันธุ์ใหม่  คงต้องอาจจะร้องเพลงรอแบบแผ่นเสียงตกร่องตลอดกาล

 

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 80143เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
อันนี้เห็นด้วยเลยค่ะ เพราะยอมรับเลยว่าบางครั้งหนูก็ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเพื่อไปสอบค่ะ แต่วิชาไหนที่เข้าใจอันนั้นก็แจ่มเลยค่ะ

ตอบคุณสุธรา

สังคมไทยมุ่งผลลัพท์ยิ่งกว่ากระบวนการ

การตอบคำถาม การรายงาน ผู้เรียนคิดว่าถ้ามีส่งอาจารย์  ถือว่าได้ทำหน้าที่สำเร็จแล้ว

แต่วิธีการที่ได้มา  ไม่สนใจ  ว่าจะได้งานชิ้นนั้นมาอย่างไร เข้าใจหรือไม่ เกิดความรู้ในเรื่องใด ไม่สนใจ

และจะติดตามไปจนถึงการทำงาน  ที่เราพบปลูกผักชีทั่วบ้าน ทั่วเมือง 

ขอบคุณมากค่ะที่แวะมาเยี่ยมและร่วมแจม

ในการอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบเมื่อถึงเวลาสอบจะลืมทุกครั้ง ยิ่งข้อสอบที่เป็นแบบเติมคำจะจำเรื่องที่อ่านไม่ได้เลย จะทำยังไงให้เราจำเรื่องที่อ่านได้คะช่วยตอบหน่อยนะคะอาจารย์

ตอบ อรพิน

อยากให้ลองเข้าไปอ่าน ถามอนงค์ศิริ

มีนักศึกษาหลายคนปรับทุกข์เรื่องความจำ

และได้แสดงความคิดเห็นไป ลองคลิกเข้าไปอ่านนะคะ

อ่านได้ทุกๆคำถาม  ขอบใจจ๊ะที่ติดตามมาเยี่ยมครู

พี่น้อยครับ

     ได้มีโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมจริงๆ เสียที  เห็นด้วยกับที่พี่เขียนไว้ครับ เคยเสวนากับเพื่อนๆ หลายครั้ง และส่วนใหญ่จะมองการศึกษาไทยในทำนองเดียวกัน  เป็นการศึกษาแบบหลอกๆ  และหลงๆ  เราหลงดีใจกับการได้รับรางวัลการแข่งขันต่างๆ ของเด็กนักเรียน เราหลงไปว่าเด็กนักเรียนที่เราสอน สอบเข้าเรียนต่อในสถาบันดังๆ ได้ลำดับที่ ๑ ของประเทศ  เราหลงมองว่าความรู้ที่มีอยู่ใกล้ตัวไม่เป็นผญาของแผ่นดิน  ผญาของแผ่นดินต้องเข้าไปเรียนในเมือง เราจึงถูกหลอกให้ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเข้าไปเรียนในเมือง ขายไร่ขายนาที่เป็นทุนเดิมของตนส่งลูกเรียนในเมือง ส่งลูกให้เรียนพิเศษ  แล้วก็สูญเสียที่นา  แล้วก็ไร้ที่อยู่  ส่วนลูกก็ติดยา เกกมะเหรก เกเร ไร้อาชีพ การศึกษาแบบหลอกๆ และหลงๆ เชื่อมโยงเข้ากับปัญหาทุกปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเมือง 

     แต่อย่างไรก็ตามเราคงไม่ยอมพ่ายแพ้ไปกับการศึกษาแบบหลอกๆ  หลงๆ  เหล่านี้นะครับ

     รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท