ตกผลึกอุดมการณ์บริการปฐมภูมิ สู่ปฏิบัติการ...งานสุขภาพชุมชน (๒)


นำเอาคุณค่าของบริการปฐมภูมิซึ่งเดิมคนอาจจะมองไม่เห็น มาแสดงให้เป็นที่ประจักษ์

วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

วันนี้ดิฉันเดินทางมาถึงศูนย์ประชุมไบเทค ก่อน ๐๘.๐๐ น. อีกเช่นเคย กะว่าจะมาเก็บภาพโปสเตอร์ต่างๆ เพิ่มเติม เห็นผู้เข้าประชุมบางคนให้ความสนใจเอาเก้าอี้มานั่งจดรายละเอียดที่มีในโปสเตอร์ บางคนก็ถ่ายภาพเก็บไว้ ความสนใจและความตั้งใจที่จะเรียนรู้ของคนทำงานมีมากจริงๆ

 

 

 บริเวณนิทรรศการตอนเช้าๆ

เจอคุณหมอสุพัตรา ศรีวณิชชากร แต่เช้า จึงกล่าวชมว่าคุณหมอสุพัตราได้นำเอาคุณค่าของบริการปฐมภูมิซึ่งเดิมคนอาจจะมองไม่เห็น มาแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ ดิฉันเชื่อว่าคนทำงานปฐมภูมิจะมีความภาคภูมิใจในงานและในตนเองสูงขึ้นแน่ๆ ผู้คนจะยอมรับและเห็นความสำคัญของบริการปฐมภูมิมากยิ่งขึ้น

ดิฉันชื่นชมการทำงานของคุณหมอสุพัตราและทีมงานของ สพช. มาก ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ที่รู้จักและติดต่อกัน ดิฉันเห็นความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง และได้เห็นความสำเร็จต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

กิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๐๘.๓๐ น.กว่าเล็กน้อย พิธีกร ๒ ท่านเดิม (ทพ.ดร.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ และคุณอลิสา ศิริเวชสุนทร) ทำหน้าที่เชิญชวนผู้เข้าประชุมที่อยู่ภายนอกให้เข้ามาในห้อง พร้อมชี้แจงเรื่องต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าการประชุมครั้งนี้มีคนเข้าถึง ๒,๙๐๐ คน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับการจัดในครั้งที่ ๑ ที่มีคนเข้าประชุม ๑,๑๐๐ คน

เวลาประมาณ ๐๘.๔๐ น. เริ่มละครเวที “สะท้อนอุดมการณ์ระบบสุขภาพชุมชน” ของนักแสดงเยาวชนโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา จ.สุโขทัย เดิมดิฉันไม่ได้คาดหวังอะไรกับละครชุดนี้ แต่เมื่อได้ดูแล้วกลับประทับใจอย่างมาก เยาวชนกลุ่มนี้แสดงได้เก่งมาก สะท้อนสาระได้ตรงตามหัวเรื่อง ทำให้คนดูเกิด reflection และยังรู้สึกสนุกสนาน

 

 หมอจุก และหมอเดียร์

การแสดงใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ตัวละครเด่นมีคุณยาย (จำชื่อไม่ได้ มีหรือเปล่าไม่แน่ใจ) หมอเดียร์ หมอจุก คุณยายบอกว่าตนเป็นเบาหวาน มีคนบอกว่าเวลาป่วยแล้วไป รพ.เอกชน หมอพูดเพราะ ไม่อยากไป รพ.รัฐ เพราะไม่อยากโดนดุ ต่อมากลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาวไร่ชาวนา ผลัดกันมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเองและของคนอื่นที่ตนรู้มาว่าเวลาเจ็บป่วยไป รพ.รัฐ รพ.เอกชน แล้วได้รับบริการอย่างไรบ้าง รพ.รัฐมีปัญหารอนาน ๒-๓ ชั่วโมง พูดไม่เพราะ จ่ายยาเหมือนที่ชาวบ้านหากินเอง กินยานาน ๒-๓ ปีไม่หาย สั่งให้งดโน่นงดนี่ ไปคลินิก ๒-๓ เดือนก็หาย

 

 ตัวละครกำลังเล่าเรื่อง ซ้ายสุดคือคุณยาย ตัวเด่น

มีการแสดงเหตุการณ์การให้บริการผู้ป่วยเบาหวาน คนเจ็บท้องคลอด ลูกหลานที่มีพ่อ-ปู่ป่วยหนักต้องเข้า ไอ ซี ยูและเสียชีวิต หมอไม่สนใจความกังวลห่วงใยของญาติ อ้างแต่กฎระเบียบของ รพ. หมอจุกที่ได้ผ่านการอบรม “การบริการด้วยหัวใจ ใส่ใจในความเป็นมนุษย์” แล้วเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการให้บริการของตน มีการถามไถ่ ให้กำลังใจ ไม่ดุ ตอบสนองความต้องการของญาติ อธิบายให้ข้อมูล 

นักแสดงมีวิธีกระตุ้นความสนใจและความคิดของคนดู โดยคอยตั้งคำถาม เช่น “ถ้าเป็นพี่คงจะมีวิธีที่ดีกว่านี้นะคะ” เป็นระยะๆ คุณยายตัวเอกกล่าวตอนใกล้จบว่า หลักการและเหตุผล (ของคน รพ.) อารมณ์และความต้องการของคนไข้อาจขัดแย้งกัน จะมีทางไหนบ้างไหมที่จะมาบรรจบกันได้ จบด้วยการประชาสัมพันธ์ว่าถ้าสนใจจะให้ไปแสดงจะติดต่อได้ที่ไหน พร้อมบอกว่าได้ช่วยกันทำที่คั่นหนังสือมาแจก ๒๕๐ อันด้วย

เกือบ ๐๙.๑๕ น. เป็นการบรรยายเรื่อง "สุขภาพชุมชนกับการจัดการความรู้" โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช อาจารย์วิจารณ์จงใจเปลี่ยนชื่อหัวข้อที่เดิมตั้งว่า “การจัดการความรู้กับงานสุขภาพชุมชน” เพื่อที่จะบอกว่า KM เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย ใช้ KM เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุสุขภาพของชุมชน พร้อมเล่าว่าวันนี้อาจารย์มาก่อนเวลา ๔๕ นาที ได้ไปดูโปสเตอร์ต่างๆ แล้วสรุปกับตนเองว่าที่จริงไม่ต้องพูด เพราะคนที่มาประชุมและที่มาแสดงโปสเตอร์ได้ใช้การจัดการความรู้กันอยู่แล้ว ที่มาก็เพื่อแสดงความยินดีกับ สพช. ที่เป็นญาติ เพราะเป็นหน่วยงานตระกูล “ส” เหมือนกัน มายินดีที่งานประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชมของคนจำนวนมาก

 

 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

อาจารย์วิจารณ์เน้นเรื่อง “อย่าหลงทาง อย่างหลงเป้า” เป้าคือสุขภาพชุมชน ใช้ KM ให้อยู่ในงาน ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเป็นการเพิ่มภาระ และกล่าวว่าจะใช้ KM อย่างไรบ้าง (๑-๖) ได้แก่ เพื่อการเรียนลัด ใช้สร้างชุมชนเรียนรู้ ใช้เป็นกลไกเชื่อมโยง Primary care – Community ใช้เป็นกลไกเชื่อมโยง Primary care – อปท. ใช้เป็นกลไกเชื่อมโยง Primary –secondary-tertiary care ใช้ทำวิจัย R2R เพื่อให้มีไฟต่อเนื่อง ใช้ทำ “CoP” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ใช้ทำ CoP ผ่านบล็อก เป็นต้น อาจารย์วิจารณ์ถือโอกาสนี้กล่าวชื่นชม CoP เบาหวานของเราและ CoP ของคุณหมอพิเชฐที่จังหวัดตาก และประชาสัมพันธ์งานมหกรรม KM เบาหวานให้ด้วย  ทำให้ดิฉันใจพองโตเลย ช่วงพักมีผู้เข้าประชุมมาขอถ่ายรูปด้วยหลายคน บางคนขอให้คนที่รู้จักพามาแนะนำตัวก็มี

อาจารย์วิจารณ์สรุปเรื่องสุขภาพชุมชนและการจัดการความรู้ ดังนี้
- ใช้ทำให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องของชุมชนมากขึ้นและอย่างมีความรู้มากขึ้น
- ใช้ต่อยอดความรู้ของชาวบ้านและต่อยอดความรู้ซึ่งกันและกัน
- ใช้สร้าง “สวรรค์ในที่ทำงาน”
- ใช้สร้างหน่วยงานเรียนรู้
- ใช้สร้างชุมชนเรียนรู้จากการดูแลสุขภาพตนเอง/กันเอง
- ใช้ทำวิจัย
- ฯลฯ สร้าง “สังคมอยู่เย็นเป็นสุข” ร่วมกัน

ถ้าฟังบรรยายด้วยตนเองจะได้ความรู้ความเข้าใจได้อารมณ์ดีกว่านี้ โปรดรอ download PowerPoint พร้อมเสียงบรรยายของอาจารย์วิจารณ์ คิดว่าทาง สพช.คงจะเอาขึ้นที่ www.thaiichr.org ต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 80328เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2007 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณอาจารย์วัลลามากครับที่ได้นำมาเล่าต่อ ผมไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมนี้ ก็เสียดายอยู่เหมือนกัน แต่เนื่องด้วยภาระงานมาก จึงปลีกเวลาไปร่วมไม่ได้ ได้อ่านแล้วก็พบว่ามีสิ่งที่ผมภูมิใจมาก 2 ประเด็น คือ

1.  การที่อาจารย์ชื่นชมโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ได้ช่วยอบรมบ่มนิสัยและให้ความรุ้แก่ผมอย่างมากมายในช่วงชั้นม.1-ม.6 เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ทำให้ผมได้รับทราบและร่วมชื่นชมกับน้องๆไปด้วย

2.  พูดถึงCoPเบาหวานที่ตาก ที่ผมมีส่วนแค่กระตุ้นแต่ทีมงานของโรงพยาบาลและสถานีอนามัยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดำเนินการ

ผมมีเรื่องจะสารภาพกับอาจารย์วัลลาอีกเรื่องครับ ตอนนี้ผมลืมวิธีการใส่รูปภาพลงในบล๊อคอีกแล้วครับ

นึกอยู่แล้วว่าคุณหมอพิเชฐต้องลืมวิธีใส่รูปในบล็อกไปแน่ๆ เลย เพราะตามอ่านบันทึกแล้วไม่เห็นรูปสักที ลองอ่านคู่มือดูซิคะ ทำครั้งเดียวก็เป็นแล้ว

เพิ่งทราบว่าคุณหมอพิเชฐเป็นศิษย์เก่า รร.สวรรค์อนันต์วิทยา นักแสดงชุดนี้เก่งจริงๆ ตามปกติดิฉันจะไม่ค่อยชอบการแสดงอะไรแบบนี้ แต่ครั้งนี้ประทับใจมากเลย

ข้อที่ ๒ ที่คุณหมอพิเชฐพูดถึงนั้น ถ้าจำไม่ผิดเข้าใจว่าอาจารย์วิจารณ์กล่าวถึง CoP ไข้หวัดนกของจังหวัดตากที่คุณหมอพิเชฐทำอยู่ใช่ไหมคะ

เล่าเรื่อง CoP เบาหวานที่ตากบ้างซิคะ เรากำลังจะจัดมหกรรม KM เบาหวานระหว่างวันที่ ๒๕-๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ส่งเรื่องราวดีๆ มาให้ทราบบ้าง

คุณหมอพิเชฐรู้จักคุณสุภาภรณ์ บัญญัติ ไหมคะ ฝากตามเรื่องการเขียนบันทึกด้วยค่ะ

รากหญ้าสาธารณสุข
ขอชื่นชมคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ที่ทำงานแบบมีอุดมการณ์ ทำงานด้วยจิตใจที่ละเอียดอ่อน เข้าถึงผู้ป่วย ไม่ยึดแต่ตัวเลขเป็นหลัก
  • ขอบคุณค่ะ อ.วัลลา
  • เรื่องนี้น่าสนใจ และมีประโยชน์มาก มาก เลย
  • ขอบคุณค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท