แนวโน้มความร่วมมือระหว่างภาคี KM


อีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อน KM ประเทศไทย

วันนี้ดิฉันได้เข้าร่วมประชุม KM Applications: World Bank & Thailand Experience Sharing ที่จัดโดย World Bank และ สคส. ที่ห้องพิมานเมฆ แกรนด์บอลรูม โรงแรมเดอะแกรนด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ บรรยากาศเป็นอย่างไร ได้ความรู้อะไรมาบ้าง จะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป วันนี้ขอเล่าเรื่องที่ทำให้ดิฉันตื่นเต้นดีใจก่อน

ก่อนไปประชุมครั้งนี้ ดิฉันสำรวจรายชื่อผู้เข้าประชุมก่อนว่าเป็นใครมาจากไหนบ้าง มีคนที่ดิฉันรู้จักกี่คน เป็นใคร จะได้เตรียมตัวทักทายให้ทั่วถึง ดิฉันเดินทางไปถึงโรงแรมตั้งแต่ก่อน ๐๘.๐๐ น.เล็กน้อย เผื่อเวลาเอาไว้เพราะยังไม่เคยไปที่โรงแรมนี้มาก่อน

ช่วงเช้าก่อนเริ่มการประชุม ดิฉันพบ ผศ.ดร.เลขา  ปิยะอัจฉริยะ เป็นท่านแรก จึงเข้าไปสวัสดีและทักทาย อาจารย์ ดร.เลขา คุยว่าอยากทำเรื่อง early childhood ดิฉันเห็นว่าดีและเล่าเรื่องงานที่รู้มาบ้างของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมให้ฟัง พร้อมทั้งบอกว่าจะลองคุยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงดูว่ามีใครสนใจบ้าง คุยกันไปกันมาก็โยงเข้าเรื่องของการป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ว่าควรทำในเด็ก จริงๆ แล้วต้องเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาด้วยซ้ำ การเลี้ยงดูลูกเล็กๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ดิฉันเล่าเรื่องที่ไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนแม่พระฟาติมา และบอกว่าในโรงเรียนควรมีการสอนเด็กเรื่อง healthy life style และเน้น “how to” โดยเฉพาะอาหาร การออกกำลังกาย ดิฉันก็อยากจะร่วมมือกับภาคการศึกษาเพื่อทำเรื่องนี้ อาจรวมไปถึงภาคการเกษตรด้วยก็ได้ อาจารย์ ดร.เลขา ก็อยากจะร่วมมือกับกลุ่มด้านการพัฒนาชุมชน

คนต่อไปที่ดิฉันพบและทักทายคือคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ และคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ดิฉันบอกว่าอาจารย์ ดร.เลขา อยากจะ join งานกับทางด้านพัฒนาชุมชน คุณทรงพลก็เล่าว่ากำลังทำเรื่องโรงเรียนพ่อ-แม่ ดิฉันคุยความคิดที่อยากทำเรื่องการป้องกันโรคเรื้อรังในกลุ่มเด็กๆ คุณทรงพลเลยชวนให้ไปร่วมกิจกรรมที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ที่เกษตร กำแพงแสน

คุณสุรเดชบอกว่าจะให้คนที่รับผิดชอบงานเบาหวานติดต่อคุยกับดิฉัน และเล่าว่าที่พิจิตรมี software ด้านเบาหวานใช้ที่ สอ.ด้วย แบบคลิกดูรู้เลยว่าครอบครัวไหนมีใครเป็นเบาหวานบ้าง ดิฉันสนใจและนึกถึง สอ.นาราก อำเภอครบุรีที่มีการทำ ผัง family tree ทันที เราคุยกันต่อในช่วงพักอีกว่าดิฉันจะหาโอกาสตามไปดู และจะชวนทีม รพ.พุทธชินราชให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนด้วย คุณสุรเดชบอกเคล็ดลับวิธีทำเรื่องติดต่อกับหน่วยงาน ดิฉันคิดว่าเราคงไม่ไปดูเฉพาะเรื่องเบาหวาน คงจะต้องหาช่องทางเชื่อมต่อกับงานมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรของคุณสุรเดชด้วย

คุณทวีสิน ฉัตรเฉลิมวิทย์ จากปูนซีเมนต์ไทย (แก่งคอย) ก็บอกว่าเคยทำ CoP เบาหวานกับหมอที่รามาฯ เหมือนกัน เราแลกนามบัตรกันไว้เผื่อวันข้างหน้ามีอะไรจะได้ติดต่อกันได้

ดิฉันคิดว่าในที่สุดภาคี KM กลุ่มต่างๆ จะสามารถทำงานร่วมกันได้ เป็นการเสริมซึ่งกันและกันจากความรู้ความชำนาญของแต่ละฝ่าย โดยต่างก็บรรลุเป้าหมายของตน นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อน KM ประเทศไทย

การพูดคุยในวันนี้ไม่ได้มีการวางแผนมาล่วงหน้า พอทุกคนมาเจอกันก็คุยออกมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ ถ้าได้คุยกันบ่อยๆ คงจะดีมาก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 78891เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2007 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เราจัดให้มีเวลาพักครึ่งชั่วโมง ก็เพราะอยากให้คนคุยกัน และเกิดไอเดีนทำงานเชื่อมโยงกันอย่างนี้แหละครับ     ได้อ่านบันทึกนี้แล้วชื่นใจ     และขอขอบคุณแทนประเทศไทย     KM ประเทศไทยเราจะช่วยเป็นกลไกขับเคลื่อน Knowledge Society ได้ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบนี้แหละครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท