KM Workshop วพบ.พระปกเกล้า (๒)


น่าสนใจที่พอเห็นข้อมูลการประเมินขีดความสามารถในปัจจุบันของอาจารย์แต่ละคน ก็สามารถบอกได้ว่าใครเป็นอาจารย์ใหม่อาจารย์เก่า

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

เมื่อคืนดิฉันนอนหลับอย่างสบาย เพราะบรรยากาศเงียบสงบดีมาก ตื่นขึ้นมาหนึ่งครั้งราวๆ ตีสามกว่า นอนหลับต่ออีกจนถึง ๐๖.๐๐ น. จึงลุกขึ้นจัดการกิจวัตรส่วนตัว ออกมาเก็บภาพบ้านพักไว้เป็นที่ระลึก คุณสุภาพรรณชอบบ้านหลังนี้เพราะกะทัดรัด พื้นและฝาบ้านเป็นไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม่เยอะ

บ้านพักที่มีบริเวณร่มรื่น

อาจารย์ปิ่นนเรศจัดหาอาหารเช้าหลายอย่างมาให้รับประทานกับกาแฟ น้ำลูกเดือย น้ำงาดำ มีข้าวเกรียบอ่อน ขนมจีบ ขนมกุ๋ยช่าย ปาท่องโก๋ ซึ่งทุกอย่างมีน้ำจิ้ม เพิ่งเคยกินปาท่องโก๋ที่มีน้ำจิ้มที่นี่ แป้งปาท่องโก๋คล้ายซาลาเปาแต่ไม่หวานมาก จิ้มกับน้ำจิ้มใสๆ เปรี้ยวๆ หวานๆ อร่อยไปอีกแบบ และยังมีกล้วยแขกบางกะจะ กล้วยตากทอด มันทอด เรารับประทานกันอย่างละชิ้น กะว่าไม่รับประทานอาหารว่างอีกแล้ว เพราะมื้อนี้คงได้แคลอรี่ไปเยอะ

ส่วนหนึ่งของอาหารเช้า

เสร็จจากอาหารเช้าก่อน ๘ น. เรารีบไปเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และห้องประชุม คุณสุภาพรรณเตรียมการสอนเรื่องการใช้ GotoKnow ส่วนดิฉันและคุณอาฬสาดูแลที่ห้องประชุม วันนี้ท่าน ผอ.อาจารย์ ดร.เบญจวรรณ ทิมสุวรรณ ซึ่งเพิ่งกลับจากราชการเมื่อคืน มาอยู่ร่วมกิจกรรมกับเราตลอดงาน

กว่าผู้เข้าประชุมจะมากันพร้อมก็เลยเวลา ๘ น.ไปหน่อย คุณอาฬสานำ Warm Up ร่างกายและจิตใจด้วยการออกกำลังกายตามแบบของภาคอีสาน เสร็จแล้วดิฉันชี้แจงเรื่องกิจกรรมในวันนี้ เราให้ผู้เข้าประชุมลองสร้างและใช้เว็บบล็อกที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โดยมีคุณสุภาพรรณและคุณอาฬสาคอยสอนและแนะนำ ที่วิทยาลัยใช้ Wireless Internet ซึ่งความเร็วดีมากทีเดียว บรรยากาศการเรียนรู้ช่วงนี้ไปได้เร็ว-ช้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และทุนเดิม

อุ่นเครื่อง

แถวหน้าเสื้อสีฟ้าคืออาจารย์วัฒนา เสื้อเหลืองคืออาจารย์ทิพวรรณ

ในเวลาเดียวกันนั้น ดิฉัน อาจารย์ ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ และอาจารย์รัชสุรีย์ จันทเพชร ช่วยกันจัดหมวดหมู่ Card ขุมความรู้ สังเคราะห์เป็นแก่นความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนได้ ๙ ปัจจัย ได้แก่
๑. ให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมการเรียน-การสอน
๒. ใช้แหล่งประโยชน์หลากหลายสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษา
๓. ให้นักศึกษาได้คิดตัดสินใจด้วยตนเอง
๔. ใช้สื่อที่ทำให้นักศึกษาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๕. สร้างบรรยากาศเชิงบวกในการเรียนการสอน
๖. ใช้คำถามส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการด้านการเรียนรู้
๗. ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง
๘. เสริมความมั่นใจในการปฏิบัติ
๙. เป็นแบบอย่างที่ดี

จัดหมวดหมู่ของขุมความรู้

หลังพัก รับประทานอาหารว่าง คณาจารย์มาพร้อมกันที่ห้องประชุม ดิฉันอธิบายวิธีการคัดเลือก จัดหมวดหมู่ขุมความรู้แล้วสังเคราะห์เป็นแก่นความรู้ นำเสนอว่าแก่นความรู้ทั้ง ๙ นั้นมาจากขุมความรู้อะไรบ้าง ขอให้กลุ่มย่อยช่วยกันสร้างเกณฑ์ความสำเร็จ ๕ ระดับ โดยแบ่งกันกลุ่มละ ๑-๒ ปัจจัย ท่าน ผอ.เป็นผู้สุ่มแจกจ่ายแก่นความรู้ให้กับกลุ่มต่างๆ ถึงเวลาเที่ยงงานก็เสร็จเรียบร้อย

ช่วยกันสร้างเกณฑ์ไว้ประเมินตนเอง

กลุ่มนี้มีวิธีสร้างเกณฑ์แบบไม่เหมือนใคร

คุณสุภาพรรณและคุณอาฬสาขอรับประทานอาหารกล่อง เพื่อใช้เวลาที่มีในการพิมพ์เกณฑ์ระดับความสำเร็จลงกระดาษทั้งหมด พร้อมแบบสำหรับให้อาจารย์ประเมินตนเอง อาจารย์ปิ่นนเรศจัดแบบประเมินพร้อมเกณฑ์เป็นชุดๆ สำหรับผู้เข้าประชุมทุกคน

ช่วงบ่ายเราให้อาจารย์ประเมินขีดความสามารถของตนเองในแต่ละเรื่องว่าปัจจุบันอยู่ระดับใดบ้างและอีก ๑ ปี ข้างหน้าต้องการอยู่ที่ระดับไหน ทุกคนตั้งใจประเมินกันมาก ใครเสร็จก่อนให้นำมาส่งที่ทีมงาน เราเอาข้อมูลจากอาจารย์ ๑๘ คนมาบันทึกเพื่อแสดงแผนภูมิแม่น้ำและบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ตั้งอกตั้งใจประเมินตนเองตามเกณฑ์ที่ร่วมกันสร้างขึ้น

ระหว่างที่คุณอาฬสาและอาจารย์ปิ่นนเรศช่วยกันกรอกข้อมูล คุณสุภาพรรณก็ทำกิจกรรมสนุกสนาน “ถ่วงเวลา” เป็นเกมส์ลมเพลมพัด เรียกเสียงหัวเราะได้พอสมควร

น่าสนใจที่พอเห็นข้อมูลการประเมินขีดความสามารถในปัจจุบันของอาจารย์แต่ละคน ก็สามารถบอกได้ว่าใครเป็นอาจารย์ใหม่อาจารย์เก่า เราแสดงให้เห็นแผนภูมิแม่น้ำ บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละเรื่องว่าใครควรไปจับคู่แลกเปลี่ยนกับใคร

ประมาณ ๑๔ น. ดิฉันให้ทุกคนช่วยกันเสนอ Passion Plan เพื่อขับเคลื่อน KM ของ วพบ.พระปกเกล้า ทุกคนเห็นประโยชน์ของเรื่องเล่า หลายคนเสนอว่าอยากให้มีเวทีแบบนี้บ่อยๆ ต้องการให้มี Knowledge Sharing Day บางคนเสนอให้เริ่มที่ภาควิชา ที่ได้ยินแล้วรู้สึกประทับใจมากคืออยากเรียนรู้จากอาจารย์อาวุโส รวมทั้งผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว ในบางเรื่องก็ขอเรียนรู้จากคนข้างนอกบ้าง ฯลฯ อาจารย์ปิ่นนเรศนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ KM ของวิทยาลัย ซึ่งก็ไม่ขัดแย้งกัน และข้อเสนอของอาจารย์ต่างๆ ข้างต้นสามารถนำเข้ามาผนวกด้วยได้

สุดท้ายคือ AAR มีอาจารย์ ๖-๗ คนได้พูด ทุกคนกล่าวตรงกันว่าสิ่งที่ได้รับมากเกินความคาดหวัง อาจารย์ทองใหญ่ วัฒนศาสตร์ กล่าวว่า “ได้เห็นศักยภาพของอาจารย์แต่ละท่าน บางสิ่งบางอย่างไม่เคยได้ฟังมาก่อน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้แต่ละคนแสดงความรู้ บางคนไม่กล้าเปิดเผย ก็ได้เปิดเผยออกมา.......จะกลับไปทำบล็อกต่อ”

อาจารย์สายใจ จารุจิตร บอกว่า “ได้รับเต็มที่ ได้รับความรู้ ประสบการณ์หลายๆ อย่าง แล้วก็ได้ร่วมกิจกรรมกับรุ่นพี่ ได้รับเทคนิคต่างๆ จากพี่ๆ คิดว่าจะนำไปพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดี...น่าจะจัดทำโครงการ KM ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรมต่อไป”

อาจารย์สุกัญญา ขันวิเศษ “....คำว่า KM ครั้งแรกที่ได้ยินจากเพื่อนครูคลินิกด้วยกัน ไม่รู้ว่าคืออะไร กระบวนการคืออะไร คิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหรือลึกเกินจะเข้าถึง พอมาเห็นก็เกินความคาดหวังไปเลย ตอนแรกนึกว่าซีเรียส พอมาได้เห็นวีดีโอ ทำให้เกิดแง่คิด เกิดคอนเซ็ปในตัวเอง คิดว่าจะเอาไปพัฒนา.......อยากจะกลับไปทำบล็อกต่อ ชอบเล่าเรื่อง อยากจะสื่อไปถึงตัวนักศึกษาไปจนถึงตัวคนใกล้ชิด ไม่ใช่แค่อาจารย์ด้วยกันเอง....”

อาจารย์ทิพวรรณ ลิ้มประไพพงษ์ บอกว่า “หวังกลางๆ ว่าคงได้แนวทางที่จะทำ KM เปนรูปธรรม ที่เกินคาดคือได้เป็นคุณอำนวยและได้เขียนบล็อกด้วยตัวเองลงไปแล้ว ๑ เรื่อง สิ่งที่ควรปรับปรุงคือช่วงทำเว็บบล็อก อยากให้มีคู่มือว่าทำแล้วต้องเข้าอย่างไร เราจะได้ไปทดลองดู ...เห็นความตั้งใจของทีม KM ของวิทยาลัยที่กระตุ้นเรา....เขาให้แสดงเป็นคุณอำนวย ก็คิดว่าจะยึดบทบาทนี้เลย จะเป็นคุณอำนวยในภาควิชา”

อาจารย์ ดร.มัณฑนา เหมชะญาติ “เรารักวิทยาลัยและคิดว่าคนอื่นก็คงเหมือนกัน เราก็อยากพัฒนาทำให้วิทยาลัยมีผลงานและคนมีความสุขในการทำงาน คิดว่า KM จะทำให้เราได้ อยากเห็น KM เข้ามาในองค์กรอย่างแพร่หลาย สิ่งที่ได้เกินคาดคือเห็นว่าอาจารย์ที่เป็นพี่ๆ น้องๆ ของเรามีความตั้งใจและช่วยกันอย่างยิ่ง....”

ท่าน ผอ. ก็ร่วม AAR ด้วยว่า “คาดหวัง KM ให้เกิดเป็นชิ้นเป็นอัน ให้เห็นเป็นรูปธรรม อยากให้ทุกคนเอาความเก่งออกมา.....สิ่งที่ได้ไปจากวันนี้ ก็อยากให้ทุกท่านไม่นิ่ง อยากให้สร้าง CoP ให้นักศึกษาด้วย เพื่อเป็นตัวนำไปข้างนอก เอานักศึกษาที่เก่งๆ มาทำ เราจะได้รู้ด้วยว่าเขาคิดอะไร....”

อาจารย์ปิ่นนเรศ พ่องานรับปากที่ประชุมว่าจะทำคู่มือเว็บบล็อกให้ทุกคนได้มาจับกลุ่มคุยกันภายใน ๒ สัปดาห์นี้

ทีมวิทยากรรับมอบของที่ระลึกจากท่าน ผอ.เป็นเสื่อรองนั่งคนละผืน ทีมจัดงานจัดของฝากให้เป็นทุเรียนทอดและน้ำลูกสำรอง เวลา ๑๖ น.กว่าเล็กน้อย เราอำลาชาว วพบ.พระปกเกล้า เดินทางกลับกรุงเทพ คราวนี้ขับรถไม่หลงระหว่างทางเลยเพราะมองป้ายกรุงเทพอย่างเดียว เราคุยกันอย่างมีความสุขเพราะ KM Workshop ครั้งนี้ประสบความสำเร็จกว่าที่คาดไว้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 63861เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2006 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์พรรณาได้ความรู้สึกเหมือนเข้าไปนั่งร่วมใน workshop ด้วยครับ

 

เห็นด้วยกับคุณ Thawat ครับ

นอกจากบรรยายให้เห็นภาพแล้ว ยังถ่ายรูปได้สวยมากๆครับ

นอกจากนี้อาจารย์ได้สร้างพลังใหกับพวกเราด้วยครับ

ได้อ่านเรื่องราวแล้วเหมื่ออยู่ในเหตุการณ์เลยนะครับ

วพ.พระปกเกล้า สู้ๆ สู้ นะครับ

เป็นกำลังใจให้ อ.ปิ่นนเรศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท