BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

หัวหน้าธรรม


ปธานธรรม

ก่อนจะนำเสนอเรื่องราวต่อไป ใคร่จะทบทวนเนื้อหาทั้งหมดอีกครั้ง 

ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวมาตั้งแต่ ความปรารถนาของคนทั่วๆ ไป ว่ามี ๔ ประการ คือ ร่ำรวย การยอมรับ สุขภาพ และชีวิตหลังความตายที่ควรจะดีกว่าเดิม ...ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นสิ่งที่เราให้ถึงพร้อมสมบูรณ์ได้ยาก...

ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะแสวงหาคือ สุข ๔ ประการ คือ มีทรัพย์ ใช้จ่ายทรัพย์ ไม่เป็นหนี้ ไม่มีโทษ ...และความสุขเหล่านี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าประการสุดท้าย คือสุขเกิดจากการดำเนินชีวิตด้วยการงานที่ไม่มีโทษเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด ทรงเปรียบเทียบว่า สุขสามประการข้างต้นรวมกันยังไม่เท่าเสี้ยวที่ ๑๖ ของสุขประการสุดท้าย...

คำสอนทางพระพุทธศาสนาจำแนกประโยชน์ไว้ ๓ ลำดับ คือ ชาตินี้ ชาติหน้า และสูงสุด ...สุขสามประการข้างต้นสงเคราะห์เข้ากับประโยชน์ในชาตินี้ ส่วนสุขข้อสุดท้ายสงเคราะห์เข้ากับประโยชน์ทั้งสาม ....

คุณธรรมที่สนับสนุนสุขหรือประโยชน์ในชาตินี้ก็คือ ขยันหา เก็บรักษาดี มีกัลยาณมิตร และเลี้ยงชีวิตพอสมฐานะ ....และ ๔ ประการคือ การเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ มีเจตนางดเว้นความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นทางกายและวาจา รู้จักเสียสละสิ่งที่จะมาขวางกั้นความจริงใจ และรู้จักคิดมีเหตุมีผลไม่งมงาย จัดเป็นคุณธรรมสนับสนุนสุขหรือประโยชน์ในชาติหน้า....

ประโยชน์สุงสุด คือ พระนิพพาน นั่นคือ การสิ้นทุกข์หรือความสุขสูงสุด จัดเป็น เส้นชัย ในการดำเนินชีวิตที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ ตามอำนาจกรรม...

ในการดำเนินชีวิตไปสู่เส้นชัยนั้น เราควรจะมีหัวหน้าเพื่อนำพาเราไปสู่จุดหมายตามที่มุ่งหวัง จัดเป็น หัวหน้าธรรม ก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัส ปธานธรรม ไว้

ปธานธรรม คือ หลักการที่เราควรตั้งไว้เป็นหัวหน้าในการดำเนินชีวิต มี ๔ ประการด้วยกัน คือ

๑. เพียรระวังมิได้ความชั่วทั้งหลายเกิดขึ้นในสันดาน

๒. เพียรขจัดความชั่วทั้งหลายที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

๓. เพียรสร้างความดีทั้งหลายให้เกิดขึ้นในสันดาน

๔. เพียรรักษาความดีที่มีอยู่แล้วให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ถ้าเรายึดถึอหลักธรรมนี้เป็นหัวหน้าในการดำเนินชีวิต เป็นหลักนำพาเราไป เราก็จะไม่ออกนอกลู่นอกทาง สามารถไปสู่เส้นชัยในชาติสุดท้ายได้...  

คำสำคัญ (Tags): #ปธานธรรม
หมายเลขบันทึก: 74253เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2007 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)
  • ถ้าเรายึดถึอหลักธรรมนี้เป็นหัวหน้าในการดำเนินชีวิต เป็นหลักนำพาเราไป เราก็จะไม่ออกนอกลู่นอกทาง สามารถไปสู่เส้นชัยในชาติสุดท้ายได้...  
  • เป็นสิ่งที่ได้อ่านแล้วช่วยให้เห็นแนวทางปฏิบัติได้     ครับผม

เจริญพร ท่านผอ.

ยินดีครับ ถ้าท่านผอ. ถ้าเห็นด้วย มีโอกาสก็ช่วยบอกเล่าต่อๆ ไป ด้วยนะครับ ....

เป็นหลักธรรมของพระพุทธเจ้า ครับ...

เจริญพร

นมัสการยามเช้าครับผม

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อก็คือ...ความชั่ว...กับความดี...อ่ะครับ....พระอาจารย์

 ที่จริงผมเคยคิดว่า...การกระทำของแต่ละคน(กรรม)จิตสำนึกจะบอกได้ว่าดีหรือชั่ว...มโนธรรมเป็นสิ่งที่น่าจะมีในตัวทุกคน... ไฉนวิชชาจึงยังไม่เกิดกับคนหมู่มาก...

 

การยึดปธานธรรมตั้งไว้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตจึงไม่อยู่ในหัวใจคนส่วนใหญ่ได้....

คุณ นม....

เจริญพร ครับ

คุณโยมขำ.....

ความเชื่อเรื่อง มโนธรรม เป็นสาขาหนึ่งในจริยศาสตร์ ยึดถือว่า ความดีชั่วผิดถูก นั้น เรามีจิตสำนึกรู้ได้เอง จะมี เสียงกระซิบจากภายใน บอกให้เรารู้ว่าควรจะตัดสินอย่างไรในแต่ละกรณี .....ลัทธินี้เรียกตามภาษาวิชาการว่า อัชฌัตติกญาณนิยม (Intuitionism) และลัทธินี้ก็มีข้อคัดค้าน จุดบกพร่องเยอะเหมือนกัน ครับ...

เมื่อมาพิจารณาเรื่อง  ความดี กับ ความชั่ว ...ประเด็นนี้ก็ลงสู่สาขา อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ซึ่งว่าด้วย การนิยามความหมายของศัพท์ทางจริยะ ....

๒ ประเด็นนี้ เอาไว้ก่อนนะครับ ...บันทึกนี้สนทนาธรรม ไม่ต้องการเสนอประเด็นโต้แย้งทางจริยปรัชญา ..

  •  เหตุที่คนไม่ยึดถือปธานธรรม ก็เป็นปัญหาทางจริยปรัชญาเช่นเดียวกันครับ ก็ค่อยว่าต่อๆ ไป นะครับ...
  • คุณโยมขำ อาจเห็นว่ามีวงเล็บปะกิตด้วย เพราะอาจารย์ ดร. ธวัชชัย แนะนำไว้นะครับ 5 5 5

เจริญพร

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  ธรรมะข้อนี้พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ละชั่ว ทำดี มุ่งสู่นิพพาน แต่ก็มีพวกวิปริตมักดีความของคำว่า ดี เข้าข้างกิเลสตน เช่น ดี ก็คือคนหมู่มากเห็นด้วย (รัฐบาลขายหวย ก็ว่าดี เอาขึ้นจากใต้ดินมาบนดินซะ) ดังนั้นจึงมีผู้คนประพฤติชั่วกันมากแต่เข้าใจว่าเป็นดี 

  บทความที่พระคุณเจ้านำเสนอมีประโยชน์มาก แต่บัวใต้น้ำอย่างกระผมอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมสักหน่อยในแต่ละเรื่อง คือ ให้ละเอียดกว่านี้สักนิดได้ไหมครับ

เจริญพร อาจารย์ลุง

ยินดีครับ ก็เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ นะครับ ถ้าประเด็นใดไม่ชัดเจนก็คุยต่อได้ครับ ...

ความเป็นคนดี หรือ ความมีคุณธรรม เป็นเรื่องลึกซื้งและละเอียดอ่อนครับ...

เจริญพร

เพียรระวังชั่วนั้น          มิให้เกิด
ละชั่วที่กำเนิด             ก่อนนั้น
เพียรทำสิ่งประเสริฐ    เกิดแก่ ตนนา
ดีที่เกิดแล้วนั้น            จ่องหมั้น รักษา
.
ประชาทุกเหล่าล้วน     ควรทำ
บทหนึ่งปธานธรรม      สี่ข้อ
ละชั่วมั่วบาปกรรม       ธรรมก่อ รักษ์ดี
ชาติหนึ่งพึงอย่าท้อ     เคลื่อนล้อ กงกรรม

P

ทนัน ภิวงศ์งาม

 

  • อันกงกรรมเคลื่อนล้อ            หวังจุด หมายนา
  • จิตมุ่งหวังสูงสุด                     หลุดพ้น
  • มวลธรรมหนุ่นนำวิมุตติ์         สมดั่ง บรรยาย

เจริญพร

กราบนมัสการพระอาจารย์

  • ตามมาอ่านรอบแรก เห็นว่า ความเพียร สำคัญอย่างยิ่ง
  • จะกลับมาอ่านอีกหลายรอบครับ

(กราบ 3 หน)

P

นิโรธ

 

ปธาน คือ ความเพียรที่ควรตั้งไว้เป็นเบื้องต้นในการดำเนินชีวิต... หมายความว่า แม้จะผิดบ้างถูกบ้าง เราก็ไม่ควรท้อถอยหรือเลิกละในคุณธรรมความดี ตั้งอกตั้งใจแก้ไขปรับปรุงแล้วก็ดำเนินชีวิตต่อไป....

อาตมาเชื่อมั่นว่า ใครก็ตามที่ยึดถือหลักธรรมนี้ จะไม่เสื่อมถอยจากคุณธรรมความดีแน่นอน

เจริญพร

นมัสการครับ

        ขออนุญาตเสริม ปธานธรรม  ครับ

        ผมไปอ่านเจอที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง  เขาเขียนไว้ที่ข้างฝา เขาเขียนไว้อย่างนี้ครับ

        "คนที่ทำความดี แล้วไม่ได้รับผลดี   แต่ความชั่วในตัวก็จะค่อยๆ ลดลง

        คนที่ทำความชั่ว แล้วไม่ได้รับผลชั่ว   แต่ความดีในตัวเขาก็จะค่อยๆลดลง"

        พอจะเปรียบกับปธานธรรม ได้ใหมครับ

นมัสการพระคุณเจ้าน้อมรับนำไปปฏิบัติครับ

P

small man

 

ตามที่ท่าน ผอ. เล่ามา... น่าจะคำนึงถึงผลลัพธ์หรือผลกระทบภายในตัวเอง ทำนองว่า เมื่อสิ่งหนึ่งน้อยลง อีกสิ่งหนึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น (แปรผันผกผัน)...

ส่วนหลักปธานธรรม คำนึงถึงเจตนาซึ่งเป็นการจงใจในการกระทำ ... ขณะที่ผลของการกระทำก็คงจะเป็นไปตามที่ท่าน ผอ. ยกมา..

ดังนั้น นัยทั้งสองนี้ จึงเหมือนกันในแง่ที่เพ่งถึง ดี ชั่ว ... แต่ต่างกันที่อย่างหนึ่งคำนึงถึง เจตนา แต่อีกอย่างหนึ่งคำนึงถึง ผลกระทบ...

.............

P

กวินทรากร

 

  • อนุโมทนา...

.........

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท