BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ความสุข ?


ความสุข

อ้างถึง เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข  ในบันทึกครั้งก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา ...อันที่จริงแนวคำสอนอื่นซึ่งอ้างว่าเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขก็มีเช่นเดียวกัน แต่รายละเอียดอาจแตกต่างกันเพราะมีความเห็นพื้นฐานในการมองโลกแตกต่างกัน ผู้เขียนจะเอาความเห็นแนวอื่นมาเล่าเพื่อให้เห็นว่าแตกต่างจากพุทธมติอย่างไร

ลัทธิจารวากของอินเดียก็สอนว่าเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข ดังโศลกที่เจอบ่อยๆ ในคำสอนว่า "จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง จงสนุกสนาน เพราะพรุ่งนี้คุณอาจตาย"...

ตามแนวคิดจารวาก ชีวิต (โดยเฉพาะความรู้สึก) เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ จากการผสมที่ถูกส่วนของธรรมชาติหลายๆ อย่าง คล้ายๆ กับว่า มีปูนขาว มีหมาก และมีพลู ..สามอย่างนี้ทำเป็นคำแล้วสอดเข้าไปในปาก เมื่อเคี้ยวคำหมาก สีแดง ก็ย่อมเกิดขึ้นในปาก สีแดงนี้มิได้อยู่ในน้ำลาย มิได้อยู่ใน หมาก ปูนขาว หรือพลู...

ความรู้สึกของคนเราก็เหมือนสีแดง มิได้เป็นอะไรมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ...อันว่าความรู้สึกนี้ จะรู้สึกยินดีเมื่อได้ของถูกใจ และยินร้ายเมื่อได้ของไม่ถูกใจ เช่น ถ้ากินดื่มของถูกใจเราก็มีความสุข ..ได้ดูหรือแสดงเองซึ่งการละเล่นบางอย่างเราก็มีความสุข ...แต่ถ้าได้กินดื่มหรือประสบกับการละเล่นที่ไม่ถูกใจเราก็มีความทุกข์ ...เมื่อเราชอบสุข รังเกียจความทุกข์ เราก็ควรแสวงหาความสุข นั่นคือ จงกิน จงดื่ม จงรื่นเริง สนุกสนาน เพราะพรุ่งนี้ คุณอาจตาย...

เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า ก็เหมือนกัน พวกจารวากบอกว่าเป็นสิ่งหลอกลวง เป็นเรื่องของคนฉลาดที่แต่งขึ้นมาเพื่อหลอกลวงคนโง่เท่านั้น ...มีแต่เพียงชาตินี้หรือปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นจริง...บุญบาปต่างๆ ก็เป็นเรื่องไร้สาระทำนองเดียวกัน....

จะเห็นได้ว่าคำสอนของจารวาก แม้จะแสวงหาความสุขเหมือนกัน แต่นัยของคำสอนแตกต่างจากคำสอนของพระพุทธศาสนา ...คำสอนจารวากแม้มีมานับเป็นพันปี แต่คนคิดเห็นทำนองนี้ ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีอีกมาก...

คำสอนของกรีกโบราณก็มีเรื่องทำนองนี้เช่นเดียวกัน นั่นคือ เอปิวคุรุสเจ้าแห่งลัทธิเอปิวคิเรียน ได้จำแนกสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวกับชีวิตไว้ ๓ ประเภทคือ

๑. สิ่งที่ต้องการ และเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

๒. สิ่งที่ต้องการ แต่มิใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต

๓. สิ่งที่ไม่พึงต้องการ และเป็นสิ่งไม่จำเป็นในการดำรงชีวิต

ตามแนวคิดเอปิวคุรุส ชีวิตต้องการปัจจัยสี่ ซึ่งจัดเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ...ชีวิตยังต้องการความสนุก สะดวก สบายและสิ่งอื่นๆ อีกมากมายเพื่อมาต้องสนองความพึงพอใจทางประสาทสัมผัส ซึ่งเอปิวคุรุสบอกว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่ความจำเป็นพื้นฐาน แม้ว่าเราจะมีความต้องการก็ตาม...ส่วนสิ่งสุดท้ายก็คือ อำนาจ เกียรติยศ สรรเสริญ หรือความมีหน้ามีตา การยอมรับจากสังคมอื่นๆ เอปิวคุรุสบอกว่าเป็นสิ่งที่นอกเหนือความต้องการและความจำเป็นของชีวิต..

สรุปตามนัยเอปิวคุรุส ข้อแรกให้เราเลือกใช้ตามความจำเป็น ข้อที่สองให้เรารู้จักประมาณ และข้อที่สุดท้ายให้เราละเว้น ...ถ้าเราดำเนินชีวิตตามนัยนี้แล้วก็ชื่อว่าเกิดมาเพื่อแสวงหาความสุขอย่างแท้จริงของความเป็นมนุษย์ ...

แนวคิดเรื่องความสุขของจารวากและเอปิวคุรุส แตกต่างไปจากพระพุทธศาสนาอย่างไร ผู้เขียนจะค่อยเล่าต่อไป 

คำสำคัญ (Tags): #ความสุข
หมายเลขบันทึก: 72750เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบท่านอาจารย์ครับ สำหรับผมแล้วแนวคิดของเอปิวคุรุสก็น่าสนใจนะครับ ผมเห็นคนเยอะมากเรียงลำดับความสำคัญของทั้งสามข้อกลับกัน แล้วก็เห็นเขาไม่เจอความสุขเสียทีครับ

ส่วนตัวผมเองยังหาทางพยายามทำข้อหนึ่งให้ลงตัวอยู่ครับ ในข้อสองนั้นไม่แน่ใจ แต่ส่วนข้อสามนั้นผมโชคดีที่ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่เพราะเป็นคนมีนิสัยชอบสันโดษครับ

ผมเองก็ใช้วิธีทำงานที่เรียกว่า "First Things First" โดยแบ่งงาน (และเรื่องต่างๆ ในชีวิต) เป็นสี่กลุ่ม

  1. Important, Urgent
  2. Important, Not Urgent
  3. Not Important, Urgent
  4. Not Important, Not Urgent

มนุษย์จะเสียเวลาไปทำข้อหนึ่งกับข้อสามเสียเยอะ หลักการ FTF แนะนำให้พยายามทำข้อหนึ่งและสองให้ดี ส่วนข้อสามกับข้อสี่นั้นทำเท่าที่มีเวลาทำ

ผมนึกๆ ดูแล้วก็น่าจะใกล้เคียงกับแนวความคิดของเอปิวคุรุสอยู่เหมือนกันครับ 

ผมจะรออ่านต่อนะครับ รู้สึกดีมากเชียวครับที่ได้รับธรรมจากท่านอาจารย์ครับ

เวลาบันทึก อาจารย์ช่วยกรุณาวงเล็บภาษาอังกฤษสำหรับชื่อ (อาทิเช่น เอปิวคุรุส) ด้วยได้ไหมครับ จะได้ไปค้นหาอ่านต่อครับ 

อาจารย์ ธวัชชัย

ต้องขออภัยอาจารย์ด้วย อาตมามีข้อบกพร่องด้านภาษาอังกฤษหลายๆ ด้าน คือ อ่านก็ไม่ออก เขียนสะกดก็ไม่ถูก ...เพียงแต่พอรู้ไวยากรณ์และพออ่านจับประเด็นเฉพาะเรื่องที่มีพื้นฐานอยู่บ้างได้เท่านั้น

จะเล่านิทานส่วนตัวครับ...ตอนเรียน ป. ๕ ก็สนใจภาษาอังกฤษ แหละครับ ท่องศัพท์ทุกวัน แต่เทอมสุดท้ายเกือบจะไม่มีใครสอนเพราะคุณครูลาคลอด ..ป.๖ ย้ายโรงเรียน และมาอยู่โรงเรียนใหม่ก็ไม่ถูกชะตากับครูอังกฤษคนใหม่ ตั้งแต่นั้นมา อาตมาก็ตกอังกฤษมาตลอด...เพิ่งมาค่อยๆ สนใจอังกฤษจริงๆ ก็เมื่อความใคร่จะรู้บางสิ่งบางอย่างเพิ่มขึ้น และหนังสือภาษาไทยในเรื่องที่เราสนใจก็ไม่ค่อยมีให้อ่าน ซึ่งตอนนั้นอายุก็ย่างเลขสามนำหน้าแล้วครับ 5 5 5 ...

แต่ก็แปลกนะอาจารย์ อาตมาเขียนศัพท์อังกฤษไม่ถูก อ่านออกเสียงก็ไม่ถูก แต่อ่านหนังสืออังกฤษบางเล่มรู้เรื่อง... ขณะที่หลายๆ คนพูดอังกฤษได้ เขียนศัพท์ถูก แต่เค้าอ่านไม่รู้เรื่อง ต้องมาให้อาตมาช่วยแปลและอธิบายให้ฟัง 5 5 5

 จนกระทั้งเดียวนี้ครับ ทุกครั้งที่จะเขียนศัพท์อังกฤษก็จะต้องหยิบหนังสือขึ้นมา.. แต่ต่อไปจะพยายามใส่ภาษาอังกฤษให้มากยิ่งขึ้น... สำหรับ เอปิวคุรุส คือ Epicurus ซึ่งอาตมาไปค้นดูก็มีอยู่เยอะ ครับ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท