ฟัง: หัดฟัง


ประตูแรกที่เราจะได้ใจคนอื่นมา เพราะใคร ๆ ก็อยากจะให้ฟังเขา แค่ฟัง ก็ได้มาแล้วกว่าครึ่ง

     วันนี้ผมได้สนทนากับพ่อในหลาย ๆ เรื่อง จริง ๆ แล้วพ่อเพิ่งทุกเลาจากอาการเวียนหัว แต่เห็นท่านมีความสุขในการที่ได้พูดคุยด้วย ผมก็คุยกับท่าน และฟังท่านไปเรื่อย ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ผมจับประเด็นจากที่ท่านเล่าให้ฟังใน 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ การหัดฟัง และการฟังอย่างเซียน พ่อบอกผมว่าคนพูดเก่งมีโรงเรียนสอน มีคนทำได้เยอะ แต่คนฟังเก่ง ๆ ยังหายาก และไม่ค่อยมีการสอนกัน ไม่ค่อยมีการพูดถึงกันมากนัก

      เอาประเด็นแรกก่อนคือ การหัดฟัง ท่านบอกว่าเป็นประตูแรกที่เราจะได้ใจคนอื่นมา เพราะใคร ๆ ก็อยากจะให้ฟังเขา แค่ฟัง ก็ได้มาแล้วกว่าครึ่ง โดยมีเทคนิคดังนี้

  • สบตาคนพูดเสมอ อย่ามองไปที่อื่น เหมือนไม่สนใจ แต่ก็อย่าให้มากจนเหมือนการจ้องตา หรือที่พ่อเรียกว่า “ตามันฟ้อง”
  • ถามบ้างเป็นจังหวะดี ๆ การถามจะช่วยให้การพูดออกมา สามารถพูดได้ดี และได้ประเด็น แต่ก็ถามแบบอยากรู้ ใช่จะจ้องจับผิด ถามด้วยคำถามที่ให้เขาตอบสบาย ๆ อันนี้ผมเติมต่อให้ว่าน่าจะเป็นคำถามปลายเปิด คนฟังที่ดีจะต้องมามีทักษะการตั้งคำถามด้วย ตอนพูดคุยกันในวง “คุณอำนวย” ก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยว่ามีความจำเป็นที่คุณอำนวยต้องมีทักษะนี้
  • อย่าสอดแทรก ตรงนี้พ่อพูดถึงว่าการสอดแทรกเพราะสมองเราคิดที่จะพูดทันทีเมื่อเขาพูดจบ ทำให้กลายเป็นการสอดแทรก และตอนฟังก็ไม่มีสมาธิในการฟัง
  • อย่าเปลี่ยนเรื่อง อันนี้อันตราย เพราะสามารถเกิดความรู้สึกถึงขั้นบาดหมางกันได้ หรือเบาะ ๆ ก็ขาดไมตรีต่อกันทันที แม้บางครั้งอาจจะมีความจำเป็นอยู่บ้าง ก็ต้องใช้เทคนิคชั้นเชิงดี ๆ หากไม่มั่นใจ ยอมฟังไปก่อน โดยที่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย เพียงแต่ฟัง
  • อารมณ์ของเรา (คนฟัง) ต้องระวัง และตรวจสอบเสมอ ไม่ควรโกรธหรือตื่นเต้นให้มากไปกับสิ่งที่ฟัง เพราะอาจจะไปเป็นการทะลุกลางปล้อง หรือไปขยี้ความคิดดี ๆ ของคนพูดเสีย
  • ตอบสนองต่อคนฟัง อย่างมีเสน่ห์ เช่นยิ้ม พยักหน้า ครับ ค่ะ อืม อ่อ ฯลฯ ที่ไม่มากเกินจนไปขัดจังหวะเขาในระหว่างที่พูด

     อ่านต่อ ฟัง: เซียนฟัง

หมายเลขบันทึก: 36461เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2006 00:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
ในการสนทนากัน เรามักได้ยินคำว่า "ฟังก่อน"  "ฟังซิ" "ฟังให้จบ" "ฟังดีดี"  "ฟังพี่ก่อน" (อย่างหลังนี่คนเป็นภรรยามักได้ยิน"  มากว่า  "พูดก่อน" "พูดซิ" "พูดให้จบ"    แสดงว่าความคาดหวังของผู้พูดที่มีต่อผู้ฟังมีมากกว่า ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนๆ  ขอบคุณค่ะที่เขียนให้อ่าน เพราะดิฉันมักถูกตักเตือนจากผู้พูดเสมอ ๆ เหมือนกัน บางวันเจ็บคอพูดไม่ได้ รู้สึกว่าได้อรรถรสจากการฟังมากกว่าวันที่คอไม่เจ็บเป็นไหนๆ
"มากว่า" ด้านบนขอแก้เป็น "มากกว่า" ค่ะ

พี่เมตตา

     เห็นด้วยกับพี่ ยิ่งพี่ได้เรียนรู้ว่าเวลาเจ็บคอ แล้วต้องฟังนี่ได้อรรถรส ยิ่งยืนยันแน่ชัด ผมเองก็นึกสงสัยครับว่าทำไมพ่อชวนสนทนาเรื่องนี้ หรือพ่อเห็นอะไรมากไป-น้อยไปในตัวผม พ่อมักจะสอนเอาอย่างนี้แหละครับ ท่านไม่ค่อยจะใส่ตรง ๆ เพราะเกรงว่าลูกจะอัตตาสูงมั้งครับ (กำลังว่าตัวเองครับ)
     ประเด็น "พูดก่อนซิ" ก็มีเยอะเหมือนกันนะครับ (เย้า ๆ) เช่นเวลาหัวหน้าถามลูกน้องว่า "อยากระบายอะไรบ้างไหม" (ยิ้ม ๆ)

อิจฉา คนที่ยังมีพ่ออยู่คอยสอน ดิฉันไม่มีพ่อไปสวรรค์แล้วเมื่อหลายปีก่อน ยังติดใจคำสอนคำสุดท้ายของท่านอยู่เลย "เวลาทำงานกับคนอื่น ต้องละวางความเชื่อตัวเองของลูกลงบ้าง" "หน้าง้ำ หน้างอ นี่อย่าไปทำที่ทำงาน คนอื่นเขาจะไม่เข้าใจ" วันนั้นพ่อสอน ให้รู้จักเก็บอารมณ์ อย่าชนลูกเดียว จนวันนี้ยังทำไม่ได้ดีเลยค่ะ พ่อก็ไม่เคยมาเข้าฝันสอนสักที
ฝากขอบคุณพ่อด้วยครับ นอกจากตัวเองได้ประโยชน์แล้ว คงขออนุญาตนำสิ่งที่พ่อบอกไปแพร่ต่ออีกแน่นอน .. และขอขอบคุณคนเขียนบันทึกด้วยการพิสูจน์อักษร ตัวเดียวก็ยังดีนะ .. จะต้องมาทักษะ

ขอนอกเรื่องนิดนึงคะ อาจารย์ Handy ค่ะ ดิฉันจะพยายามพิสูจน์อักษรก่อนเขียนคะ รู้ตัวคะว่าเป็นคนพิมพ์เร็ว อ่านเร็ว บางครั้งพลาดเขียนผิดคะ เขียนไม่ถูกหลักไวยกรณ์บ้างค่ะ

แต่การใช้ คะ กับ ค่ะ ใช้ไม่ถูกจริงๆ คะ ที่เขียนไปก็จะดูว่าตัวเองพูดเสียงสูงของ ค่ะ ตอนไหน ก็จะเขียนอย่างนั้นคะ น่าจะได้นะค่ะ :)

ไม่ Serious นะครับ แต่ผมชอบภาษาเลยซอกแซกมากไปหน่อย โดยเจตนาก็คือช่วยๆกันแบบกันเอง เพื่อให้ถูกต้องที่สุดได้เป็นดี แต่ก็มีบางครั้งที่ผมคิดผิด เลยได้เรียนรู้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร .. จะลองยกข้อความข้างบนมาปรุงใหม่ดู ตามที่เห็นว่าใช่ ดังนี้ ... ขอนอกเรื่องนิดนึงค่ะ อาจารย์ Handy คะ ดิฉันจะพยายามพิสูจน์อักษรก่อนเขียนค่ะ รู้ตัวนะคะว่าเป็นคนพิมพ์เร็ว อ่านเร็ว บางครั้งพลาดเขียนผิดค่ะ เขียนไม่ถูกหลักไวยกรณ์บ้างค่ะ แต่การใช้ คะ กับ ค่ะ ใช้ไม่ถูกจริงๆ ค่ะ ที่เขียนไปก็จะดูว่าตัวเองพูดเสียงสูงของ ค่ะ ตอนไหน ก็จะเขียนอย่างนั้นคะ น่าจะได้นะคะ :) ....... ลองคุยกับคนใช้ "ค่ะ" และ "คะ" ใกล้ๆตัวดูนะครับ คุณโอ๋-อโณ ก็ได้ .. ผมพูดเรื่องนี้มากไปไม่ดี เดี๋ยวเกิดติดแล้ว ยุ่งแน่ๆเลย ค่ะ!
พยายามแล้วแต่ผมก็พลาดไปจุดนึงครับ .. ก็จะเขียนอย่างนั้นคะ = ก็จะเขียนอย่างนั้นค่ะ .. ยิ้มสิครับ ไม่มีอะไร Serious.

     ยังไม่ทันได้ตอบใครเลยวันนี้ แต่ดูเหมือนแขกที่มาเที่ยวที่บ้านผมจะคุยกันสนุกเชียว ผมเลยมีความสุขไปด้วย :) นิ

อาจารย์ Handy

     ให้พ่ออ่านแล้วครับตะกี้นี้เอง พ่อยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า พ่อพูดไปงั้น ๆ ไม่รู้ว่าจะเอามาเขียน พ่อจะเขียนให้ดีกว่าที่พูด ครับ

อ.ดร.จันทรวรรณ

     "ค่ะ" เป็นคำที่เขียนถูก แต่ใน Blog เรามักจะใช้การเล่าเรื่อง หรือเหมือนการสนทนากันแล้วนำมาเขียน ผมว่าเขียนด้วยภาษาพูดก็มีเสน่ห์ดีครับ น่าอ่านกว่า ไม่แข็งเกินไปนะครับ 

เข้ามานั่งฟัง (อ่าน) อย่างเดียว แล้วยิ้มค่ะ

อ่านแล้วชักคิดถึงคุณพ่อเหมือนกัน.. หาดใหญ่กับพัทลุง นั่งรถแค่ ชั่วโมงกว่าๆก็ถึง แต่งานยุ่งจนไม่ได้กลับบ้านมาเดือนกว่าแล้ว  ความจริงกะว่าจะโทรไปคุยกับคุณพ่อ แต่เผลอเขียนบล็อกอ่านบล็อกซะเพลิน พอเงยหน้าดูนาฬิกา ก็ปาจะเที่ยงคืนแล้ว

 อย่างนี้ต้องโทษ Gotoknow ดีไหมคะ (ล้อเล่นๆน่า ^O^ )

อ้อเกือบลืมไป..มาฝากเนื้อฝากตัว ว่าเป็นคนพัทลุงเหมือนกันค่า  (สนับสนุนความเห็นของคุณชายขอบ ที่บอกว่า การเขียนด้วยภาษาพูด บางทีก็มีเสน่ห์ดีเหมือนกันค่ะ)

^______^

คุณ k-jira

     การเขียนด้วยภาษาพูด ผมว่าทำให้เราจับ Tacit K. ในเรื่องราวได้ง่ายกว่านะครับ ประมาณว่ายังไม่ถูกตีความไงครับ ยังสด ๆ อยู่
     กลับบ้านบ้างก็ดีนะครับ ท่านจะได้ไม่เหงา เอาว่าหากกลับไม่ได้ก็โทรหา แต่อย่าสัญญานะครับว่าจะกลับวันไหน พอไม่ได้กลับท่านจะคอย (ประสบการณ์ตรงเลยครับ) 
     ได้รู้ว่าเป็นคนพัทลุง ก็ดีใจครับ เมืองลุงยังต้องการคนรักบ้านเกิด อีกมากนะครับ เคยได้ยินประเยคเหล่านี้ไหมครับ
          "เมืองลุงมีคนเรียนหนังสือเยอะ เป็นวัฒนธรรมในการส่งลูกไปเรียน แต่เมื่อไปแล้วไม่สามารถกลับมาทำงานที่บ้านได้ เพราะไม่เคยมีใครเริ่มต้นสร้างเมืองให้รองรับการกลับบ้าน แล้วใครจะเริ่มดีล๊ะ?"
     บ้านเรามีปลัดกระทรวงมากี่คนแล้ว มีอธิบดีเท่าไหร่ มีผู้ว่าฯกี่คน มีนักธุรกิจกี่มากน้อย มี... มากมาย แต่ยังไงครับ พัทลุงเมืองผ่าน (ไม่แวะ) ไงครับ ยิ้ม ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท