สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น ! (วิชาภูมิปัญญาไทย)


 เรียนท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

บทความเรื่องนี้มี 4   ตอนค่ะ

 

 

ตอนที่     1    นำเรื่อง                   

ตอนที่     2     วิชาครอบครัวศึกษา                   

ตอนที่     3     วิชารู้เท่าทัน   

ตอนที่      4     วิชาภูมิปัญญาไทย  (จบ)

เพื่อความต่อเนื่อง และอารมณ์ที่ไม่ขาดตอน โปรดอ่านเรียงตอนตามลำดับนี้    ดิฉันขออภัยที่เขียนยาวๆ  นิสัยนี้รักษายาก  และแก้ไม่หายสักที

หากท่านกรุณาอ่านไปจนจบบทความนี้ได้  ดิฉันขอขอบพระคุณ  และหากท่านรู้สึกว่ายาว และอาจอ่านไม่จบ   ดิฉันก็ขอขอบพระคุณด้วยความรู้สึกเข้าใจเช่นกันค่ะ                                                 

                                                                                 ขอบพระคุณค่ะ  : )

 

 

 

 

 

 

 สามวิชา...ที่ครูยุคหลังปฏิรูปการศึกษา ต้ อ ง รี บ ส อ น !

:  วิชาภูมิปัญญาไทย

 

 

  

             วิชาภูมิปัญญาไทย  เป็นวิชาสุดท้ายที่ไม่พึงสอนไปตามกระแส และมิใช่มองเพียงแค่การสร้างและผลิตสินค้าออกมาขายตามๆกันที่ละหนึ่งอย่าง  เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการขายและการท่องเที่ยวแต่ถ่ายเดียว แต่พึงมองหาให้เห็น วิถีไทย  แก่นแท้และจิตวิญญาณของไทยก่อนจึงจะสอนได้    

             วิชาภูมิปัญญาไทย  เป็นภูมิปัญญาในระดับนามธรรม  ที่ต้องอาศัยครูที่มีวิญญาณครูของแท้ร่วมกันสร้าง  อาศัยคนไทย  ทีมีหัวใจไทย ร่วมกันสร้างหากคิดทำเทียมจะไม่มีวันสร้างได้   สุดท้ายก็จะหากรากไม่เจอ   เพราะมองไม่เห็นจิตวิญญาณที่แท้  ต้องเป็นของแท้เท่านั้นจึงจะมองเห็น 
 
              ความมีน้ำใจ  ความเสียสละ  ความเอื้ออาทร ความซื่อสัตย์  ความกตัญญูกตเวทิตา ความมีสัมมาคารวะ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและรวมถึงคุณธรรมและองค์ประกอบต่างๆในความเป็นมนุษย์และความเป็นคนไทยที่ดี
 
               เหล่านี้  เป็นภูมิปัญญาที่ทำให้คนเป็นมนุษย์  ทำให้มนุษย์สามารถรวมตัวกันเป็นครอบครัว เป็นชุมชน เป็นชาติ และทำให้มนุษย์ชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ 

               ภูมิปัญญาเหล่านี้ ได้เปิดพื้นที่ให้เราเห็นชัดขึ้นเมื่อเกิดวิกฤต  อาทิการสามัคคี จับมือรวมตัวกันของชุมชนอุดมการณ์ทั้งหลาย  กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของชาวบ้าน  การกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเกษตรดั้งเดิม  การรู้เท่าทันโทษของความโลภ  และความรู้จักพอ   การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน  อันเป็นรากฐานที่มั่นคงของความเป็นครอบครัวไทย   ที่ยึดโยงไว้อย่างเหนียวแน่น  ด้วยความกตัญญู เป็นต้น


              ทั้งสามวิชาที่กล่าวมา   คือ  วิชาครอบครัวศึกษา  วิชารู้เท่าทัน  และ  วิชาภูมิปัญญาไทยนี้   ต้องอาศัยทั้งสามัญสำนึกและจิตสำนึก     ของทั้งผู้สอนและผู้เรียน  และอาศัยการสอดแทรกวิธีคิด  แทรกซึมอย่างแนบเนียน    วิชาทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงจะสัมฤทธิ์ผล 
  
               โดยออกแบบการเรียนการสอน ที่เปลี่ยนจากครูเป็นศูนย์กลาง เป็นการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม (ครูกับเด็กช่วยกันศึกษา)  แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ครูกับเด็กเรียนรู้จากกันและกัน และพร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกคน) แบบห้องเรียนไร้พรมแดน(ครูกับเด็กมองเห็นว่าทุกที่ทุกสถานการณ์ คือการเรียนรู้)   และแบบรู้จักรัก  รู้จักให้โดยไม่หวังผล   ซึ่งจะได้กล่าวถึงอย่างเป็นรูปธรรมในโอกาสต่อไป

               และสุดท้าย   สิ่งที่ลืมเสียมิได้คือหน้าที่ของครูในการรีบศึกษาหาความรู้   จนเป็นผู้รู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณของความป็นครอบครัว ความรู้เท่าทันความเป็นไปของสังคมโลกและชีวิต ทั้งที่เป็นไปจริงๆ   และที่ผ่านการประกอบสร้างของสื่อ       และสุดท้ายคือการมองเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความลึกซึ้งของภูมิปัญญาไทย  ที่มิใช่การลดทอนลงมาให้เหลือเพียงเทคนิคการผลิตสินค้าและบริการ  อันมีเป้าหมายเพื่อทำมาหาเงินแต่เพียงอย่างเดียว

 

               นับเป็นโชคดีของเราทุกคน   ที่มีสื่อการสอนเป็นวิกฤตการณ์ร่วมสมัย เราสามารถชี้ให้เด็กๆเห็นเป็นรูปธรรมได้ว่าด้วยวิธีคิดที่ผิดทำให้เกิดวิกฤตแก่ชาติและแก่โลกของเราอย่างไรบ้าง  บางทีการย้ำซ้ำด้วยรูปธรรมเหล่านี้ก็จำเป็น  คนข้างหลังเราจะได้เจ็บแล้วรู้จักจำ  ไม่ทำผิดซ้ำๆให้บรรพบุรุษน้ำตาร่วงเยี่ยงนี้
 
                 
               ...เพราะต่อให้ผูกริบบิ้นเหลืองรอบต้นโอ๊คอีกกี่พันเส้น...  ก็ไม่อาจเรียกชีวิตพวกเขากลับคืนมาได้อีกเลย!

 

 

 

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------

   
  สุขุมาล จันทวี   เขียนที่   สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช   เมื่อ 23  เมษายน 2546 

หมายเลขบันทึก: 97911เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สอดแทรกในทุกวิชาเลยครับ

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์สุขุมาลทุกประเด็นหลักครับ ในที่นี้ หมายถึงทั้งสามวิชาที่อาจารย์เสนอมา นับว่าน่าสนใจทุกประเด็น

แต่ผมลองจินตนาการชั้นเรียนของสามวิชานี้แล้วไม่ค่อยจะเห็นภาพครับ คงเป็นเพราะผมไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่เคยเรียน ไม่เคยสอน แต่ก็นับว่าท้าทาย อาจจะต้องสอดแทรกเหมือนที่คุณตาหยูบอกนะครับ คือจะสอนกันตรงๆ มันจะแห้ง ไม่น่าสนใจ อาจจะต้องสอดแทรกในกิจกรรม ซึ่งจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้สอนเป็นสำคัญ ถึงวันนี้ ผมก็ยังคิดว่าไม่มีอะไรมาแทนผู้สอนที่ดีได้ ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์ หรือเรียนออนไลน์ ล้วนเป็นเพียงหนทางการเข้าถึงผู้เรียน 

ผมไม่ได้หมายความว่าหนทางไหนก็เหมือนกันหมดนะครับ เรียนออนไลน์ เรียนในห้อง ต่างกันแน่นอน นั่นยิ่งต้องเน้นความสำคัญไปที่ผู้สอน ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามหนทางที่เปลี่ยนแปลง

อีกประเด็นที่ผมสังเกตคือ ส่วนใหญ่คนจะเขียนบล็อกนำเสนอทิศทาง หรือแนวคิด แต่ไม่ค่อยจะมีใครเขียนตัวอย่างวิธีการนำไปปฏิบัติ หลายๆ ท่านนำเสนอแนวทางดีๆ แต่ผมมองไม่ออกว่าจะใส่ในชั้นเรียนได้อย่างไร

แน่นอนครับ เรื่องแบบนี้ แต่ละห้องแต่ละชั้นย่อมต่างกันไป แต่การเอาประสบการณ์มานำเสนอ ให้ผู้อื่นได้ปรับเปลี่ยน ลองกับตัวเองดูก็น่าสนใจ

เอ... หรือผมจะอ่านไม่เจอเองก็ไม่ทราบนะครับ

เอาเป็นว่าผมคิดอะไรออกก็จะลองแลกเปลี่ยนกันดูนะครับ

ขอบคุณครับ 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ดอกไม้ทะเล (และคุณเบิร์ด ผู้จุดประกายประเด็นสำคัญ)

ได้อ่านทั้งบันทึกคุณเบิร์ดและทั้งสามตอนที่คุณดอกไม้ทะเลเขียนในหัวข้อต่างๆ

ตัวเองจบการสื่อสารมวลชนหรือนิเทศศาสตร์(ป.ตรี) ป.โท จบพฤติกรรมการสื่อสาร ป.เอกทำวิทยานิพนธ์จนพบปริศนาหรือรหัสลับของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ที่จริงไม่ลับแต่มักถูกมองข้าม คิดว่าพอจะช่วยอะไรอาจารย์ได้บ้างมั้ยคะ

ที่จริงเข้าใจทุกอย่างที่อาจารย์เขียน และคิดว่าการให้เด็กได้ซึมซับเรื่องเหล่านี้ต้องบูรณาการเข้ากับวิชาอื่นๆ อาจารย์ผู้สอนในหลายวิชาต้องร่วมมือกันอย่างมาก น่านำเรื่องการจัดการความรู้เข้าไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบูรณาการวิชา ตัวอย่างการบูรณาการวิชาต่างๆเข้าด้วยกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน สำเร็จดีเยี่ยม ดูได้จากโรงเรียนจิรศาสตร์ศึกษา อยุธยา (เป็นการชวนอาจารย์มาเที่ยวอยุธยาทางอ้อมนะคะ)ที่จริงสคส.คงจะมีหนังสือที่เขียนเรื่องนี้อยู่

อาจารย์เขียนยาวๆน่ะดีแล้วค่ะ มีสาระ มีความในใจเยอะได้แบ่งให้รู้กันทั่วๆ ตัวเองพูดมามาก เขียนมาก็เยอะแล้ว แถมพิมพ์ภาษาไทยได้ช้ามาก เลยต้องเขียนยาวพอประมาณค่ะ

P
ขอบคุณมากค่ะ คุณตาหยู ที่หางานหนักมาให้  : )  แต่ดิฉันก็ฝันไว้อย่างที่คุณตาหยูพูดนั่นแหละค่ะ
P

ยินดีและดีใจที่อาจารย์แวะมานะคะ อาจารย์วสะ
 
และขอบพระคุณที่ให้แนวทางดีๆนะคะ   นอกจากนำเสนอแนวคิดแล้ว ควรชี้ให้เห็นรูปธรรมของการปฏิบัติด้วย    ดีจังค่ะ 

ช่วงต่อไปดิฉันจะลองนำเสนอวิธีทำเป็นกระบวนการด้วย   ไม่ทราบจะออกหัวออกก้อยประการใด  แต่ก็เต็มใจเล่าสู่กันฟังนะคะ 

ชอบที่อาจารย์เล่าประสบการณ์การเรียนการสอน   ถ้ามีเรื่องดีๆจากเมืองนอก   อย่าลืมมาเล่าให้ฟังอีกนะคะ

ดิฉันก็ไปโพสต์ตอบในบันทึกของอาจารย์เสียยืดยาว  เวลาเข้าบันทึกเพื่อนแล้วคิดออกอะค่ะ  ...เป็นงี้ทุกทีเลย.... : ) 

P
  • สวัสดีค่ะอาจารย์คุณนายดอกเตอร์ 
  • ขอบพระคุณมากๆนะคะ ที่นอกจากให้กำลังใจแล้ว  อาจารย์ยังกรุณาให้ความรู้และความช่วยเหลือที่มีค่ายิ่งอีกด้วย 
  • ดิฉันเตรียมตัวล่วงหน้าแล้วค่ะ  ปิดเทอมหน้าตั้งใจอย่างยิ่งว่าจะไปหาความรู้ในโรงเรียนจริงๆ  จะได้เห็นสภาพจริง   หากมีโอกาสได้ไป  โรงเรียนที่อาจารย์แนะนำ   จะรีบเรียนให้อาจารย์ทราบนะคะ อยากไปมากค่ะ 
  •  เพียงแค่อาจารย์ชี้แนะแนวทางเบื้องต้นอย่างนี้ ดิฉันก็รู้สึกเป็นพระคุณยิ่งค่ะ  
  • รู้สึกวันก่อนจะเห็นอาจารย์ทำเป็นไฟล์วิทยานิพนธ์ไว้  กำลังเล็งจะแวะไปอ่านอยู่คะ   และหากมีข้อสงสัย   และอาจารย์สะดวก  ก็จะขออนุญาตเรียนถามนะคะ
  • อาจารย์สนใจข้ามศาสตร์  บูรณาการดีจังค่ะ  
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากๆอีกครั้งนะคะ 

สวัสดี ครับ คุณน้องดอกไม้ทะเล

  • ความมีน้ำใจ  ความเสียสละ  ความเอื้ออาทร ความซื่อสัตย์  ความกตัญญูกตเวทิตา ความมีสัมมาคารวะ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว
  • เป็นคุณธรรมและองค์ประกอบต่าง ๆ ในความเป็นมนุษย์และความเป็นคนไทยที่ดี
  • โดนใจพี่อย่างเต็ม ๆ ในฐานะที่รับมอบมรดกทางปัญญามาหลายด้าน
  • เราทำคนเดียว หรือคนส่วนน้อยเฝ้าสืบสานภูมิปัญญามาอยู่ที่ตัวเราและถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์
  • จะมีใครอีกบ้างเล่าที่คิดได้ อย่างดอกไม้ทะเล

         ขอชื่นชมในความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์พี่ชำเลือง

ขออนุญาตเรียกอาจารย์ว่า  "พี่" ด้วยความเคารพค่ะ   และขออนุญาตแทนตัวว่า แอมแปร์ นะคะ   แม้ชื่อจะเป็นภาษาฝรั่ง(เศส)  แต่ทั้งตัวและหัวใจเป็นไทยร้อยเปอร์เซนต์ค่ะ : ) 

  • ขอบพระคุณที่พี่ชำเลืองแวะมาและให้กำลังใจอย่างเต็มเปี่ยมนะคะ    พี่ชำเลืองเป็น "ครูภูมิปัญญาไทย" อย่างแท้จริง  และทำให้ครูที่เรียนรู้ภูมิตามฝรั่งเป็นบางส่วนอย่างแอมแปร์  ได้สัมผัสความละเอียดอ่อนของ "ความเป็นไทย" ที่พี่สามารถถ่ายทอดส่งผ่านให้เด็กๆซึมซับไปได้อย่างนุ่มนวล  โดยศิลปะ  และกระบวนการสอนแบบวิถีครูไทย  (ฝึกโดยเมตตา  ด้วยตัวตนของครูที่ เป็นไทย อย่างแท้จริง)   
  • ตอนเป็นผู้เรียน  แอมแปร์ยังไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งนักนะคะ  แต่เมื่อเป็นครู  ได้ยืนหน้าชั้น  ได้เห็นคนไทยที่อายุน้อยกว่าเรา  แต่อยู่ใน  วัฒนธรรมไทยใหม่ ที่ไกลไปกว่าไทยที่แอมแปร์เคยรู้จัก  ทำให้ออกจะกังวลอยู่ลึกๆ 
  • แต่ครั้งนั้นยังไม่ค่อยมั่นใจในความเป็นไทยของตัวเองเท่าใดนัก  และไม่คิดว่าจะเป็นตัวแบบของความเป็นไทยให้เด็กได้  หากว่ามองความเป็นไทยเพียงแค่รูปธรรมของการส่งออกทางวัฒนธรรม  ซึ่งเรียนตรงๆว่าแอมแปร์ไม่ถนัด  
  • แอมแปร์ชอบความเป็นไทยที่จิตใจนะคะ  คือบางทีก็อธิบายไม่ค่อยถูก  แต่รู้สึกได้เลยว่านี่คือจิตใจแบบคนไทย   ทำให้เรารู้สึกว่าเขา"ดี" กับเรา     เขา"ใจดี" กับเรา 
  • และรู้สึกว่าจะพบความใจดีอย่างนี้ได้ในสังคมบ้านนอกเป็นความถี่ซ้ำๆ  มากกว่าสังคมเมือง 
  • และแอมแปร์ไม่คิดว่าคนไทยเป็นชาติเดียวที่ "ใจดี"  แต่คิดว่า "ความใจดี" เป็นลักษณะเด่นของคนไทย 
  • และคิดว่าเมื่อเราเป็นครูและมีหน้าที่ร่วม "ปลูกฝัง" แล้ว  เราก็ควรปลูกฝังสิ่งที่เราศึกษาจนมั่นใจแล้วว่าดี  ดังคุณลักษณะต่างๆของคนไทย ที่ได้เขียนเล่าไปในบทความเรื่อง  สามวิชาฯ (ภูมิปัญญาไทย) 
  • เขียนแล้วก็ออกจะอายๆเหมือนกันที่พร่ำเพ้อไปแบบไม่มีอะไรอ้างอิง  แต่ก็เขียนจากใจ  และที่ทำไปก็ตอบไม่ถูกจริงๆว่าจะปลูกฝังอะไรแก่เด็กได้มากน้อยแค่ไหน     แต่ก็จะพยายามทำสุดความสามารถ
  • พร้อมกันนั้นก็ได้รับรู้ผ่านสื่อต่างๆและจากการสื่อสารหลายทิศทางว่ามี"ครู"อีกเป็นจำนวนมากที่เห็นคุณค่าของจิตใจที่อ่อนโยน มีเมตตา แบบไทย  และเพียรพยายาม สร้างและปลูกฝังความเป็นไทยชุดนี้ให้แก่เด็กโดยไม่ย่อท้อ ย่างเช่นที่แอมแปร์มีโอกาสได้รับรู้ผ่าน G2K นี้   : )   
  • ขอบพระคุณอย่างสูงนะคะ  ที่พี่ชำเลือง แวะมาเยี่ยมเยียน  และให้กำลังใจ
  • แอมแปร์ถือเป็นการให้พรด้วยนะคะ  : )

ตามมาเก็บความรู้ที่ตกหล่นเกลื่อนต้นเลย เดี๋ยวจะปีนขึ้นไปเอาบนต้นด้วย

สวัสดีอีกทีค่ะพี่บางทราย

ขอบพระคุณพี่บางทรายมากๆนะคะ ที่กรุณาแวะมาแทบทุกบันทึกที่แอมแปร์รัก 

แอมแปร์รักบันทึกทั้งสี่บันทึกที่เขียนไปนี้นะคะ  เพราะเป็นบันทึกที่เขียนจากหัวใจ  ถึงลูกศิษย์หนึ่ง  ถึงผู้ที่จะเป็นพ่อแม่คนในอนาคตหนึ่ง  ถึงผู้รู้และเข้าใจหัวใจของภูมิปัญญาไทยหนึ่ง  และถึงทุกคนที่สามารถช่วยกันให้เกิดการรู้เท่าทันการสื่อสารได้อีกหนึ่ง  

แอมแปร์เขียนในฐานะคนธรรมดา ที่อยากทำหน้าที่ให้สุดกำลังที่มี และแอมแปร์ก็มีกำลังเท่านี้จริงๆ  คือเท่าที่บ่นเพ้อพร่ำไปอยู่ในบล็อก

และเมื่อมี "คนที่ไม่ธรรมดา"  อย่างพี่บางทรายแวะเข้ามาอ่าน  และให้กำลังใจว่าสิ่งที่แอมแปร์เล่ามาเป็นความรู้   (และถึงจะตกอยู่เกลื่อนต้น  พี่ก็ไม่มองเป็นสิ่งไร้ค่า)    แอมแปร์ย่อมต้องดีใจจนออกนอกหน้า เป็นธรรมดา อะค่ะ  : )

พี่กำลังมาย้ำว่า สิ่งที่น้องแอมป์คิด ทำอยู่นี่นะมันสำคัญมาก ต่อการสร้างสังคม สร้างประเทศ สร้างคน ครับ มาสนับสนุนครับ

P  สวัสดีค่ะพี่บางทราย

ขอบพระคุณพี่บางทรายมากๆค่ะ  แอมแปร์เข้าใจค่ะ  : )  (และยอมรับว่าที่พยายามทำนี้ ยากหนักหนาแสนสาหัสจริงๆ)  อย่างไรก็ตาม  แอมแปร์รู้สึกรื่นเริงบันเทิงใจมากที่ได้มีโอกาสเข้ามาที่ G2K แห่งนี้ และได้พบว่ามีผู้ทำสิ่งยาก หนักหนาและสาหัสกว่าเรามากมายนัก  

เลยรู้สึกมีกำลังใจที่จะกลิ้งขลุกๆๆๆทำต่อไปอะค่ะ  : )

มาบอก(เขียน)เล่าบ้างว่า บางทีกำลังใจก็กลิ้งขลุก ๆ จะไปในทิศไหนหรืออย่างไร

 

วิตกกังวลเหมือนกันค่ะ

สวัสดีครั้งที่สองสำหรับปีนี้ค่ะคุณหมอเล็ก

พี่แอมป์อยากบอกอย่างมั่นใจ ว่า"เข้าใจ" และเชื่อมั่น ในกำลังใจและจิตใจที่ดีงามของคุณหมอเล็กอยู่เสมอค่ะ  

เชื่อว่าคุณหมอเล็กได้ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งความกังวลไปแล้ว และเชื่อว่าลูกศิษย์ของคุณหมอเล็กคงได้เรียนรู้ทั้งกระบวนความรู้และความละเอียดอ่อนลึกซึ้งในความเป็นมนุษย์ ที่รวมอยู่ในตัวครูของพวกเขาแล้ว

ขอตอบสั้นๆอย่างมั่นใจเช่นนี้นะคะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท