ระบบเวชระเบียนแห่งชาติ


เวชระเบียน เป็นเอกสารสำคัญในขบวนการรักษาพยาบาล เป็นเอกสารที่แสดงประวัติคนไข้ทั้งประวัติส่วนตัวและประวัติการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล การแพ้ยา ครอบคลุมในทุกด้าน กฏหมายบังคับให้สถานพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน ตั้งแต่ระดับคลีนิก สถานีอนามัย โรงพยาบาลต้องจัดทำเวชระเบียนผู้ป่วย เวชระเบียนจึงเป็นเสมือนหนึ่งสมุดจดบันทึกด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญในการตรวจค้นข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น ประวัติการไม่สบาย โรคประจำตัวโรคทางพันธุกรรม ประวัติการรับประทานยา การแพ้ยา ประวัติการคลอด ฯลฯ

การจัดการเวชระเบียน (หรือ O.P.D.card)

          ตามระบบของโรงพยาบาลมักใช้วิธีเก็บไว้ในชั้นวางเรียงตามลำดับตัวเลขผู้ป่วยนอก(Hospital number) เวลาค้นหาก็เพียงแต่ดูตัวเลขผู้ป่วยนอก จากบัตรประจำตัวคนไข้แล้วไปค้นหาเอาในชั้นวาง สมัยก่อนมีปัญหามากเวลาคนไข้ทำบัตรหายจะไม่สามารถค้นเวชระเบียนได้ ต้องออกเวชระเบียนกันใหม่ คนไข้บางคนมีบัตรประจำตัวคนไข้ตั้ง4-5ใบ เวลาไปโรงพยาบาลก็หยิบๆไปตามแต่จะเจอ บันทึกในเวชระเบียนก็ไม่ต่อเนื่อง บางครั้งหมอบันทึกประวัติแพ้ยาไว้ในใบหนึ่ง แต่ใบที่สั่งตรวจรักษาไม่มี ก็อาจพลาดไปจ่ายยาที่แพ้เข้าให้ก็เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา สมัยต่อมาสะดวกขึ้นมากเพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่หันมาใช้การค้นเวชระเบียนจากคอมพิวเตอร์ คนไข้อาจไม่จำเป็นต้องพกบัตรมาก็สามารถหาเจอ แค่คีย์ชื่อ สกุลก็จะหาเลขบัตรได้ไม่ยากเลข ลดปัญหาเวชระเบียนซ้ำซ้อนไปมาก แต่ก็ยังต้องใช้เป็นเวชระเบียนแบบกระดาษอยู่ ตามปกติเวชระเบียนเขาจะใช้งานอยู่ประมาณ 5 ปี พอครบ 5 ปีก็จะทำลาย บางโรงพยาบาลก็แยกไปเก็บอีกห้องเผื่อค้นอีก 5 ปี พอครบ 5 ปีก็ค่อยเผาทำลายเช่นกัน

       แบบฟอร์มของเวชระเบียน ไม่มีแบบฟอร์มที่แน่นอนตายตัว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีแบบฟอร์มกลาง ส่วนโรงพยาบาลไหนจะใช้ก็ได้หรือออกแบบเองก็ได้ไม่ได้บังคับ เพียงแต่มีช่องลงข้อมูลสำคัญให้ครบตามที่กฏหมายกำหนดก็พอ ทำให้เวชระเบียนของไทยมีมากมายหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโรงาพยาบาลเอกชนทั้งหลายก็มีรูปแบบของตนเองบางแห่งก็มีแบบภาษาต่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกกับชาวต่างประเทศซึ่งทำประกันกับบริษัทประกันต่างประเทศซึ่งอาจต้องขอสำเนาประกอบการเบิกค่ารักษาก็มี 

      ปัจจุบันเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ IT อย่างมากมาย หลายโรงพยาบาลจึงหันมาจดบันทึกเวชระเบียนโดยใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีข้อดีหลายประการ คือ

         1. สามารถค้นหาเวชระเบียนคนไข้ได้อย่างรวดเร็ว

         2. เวชระเบียนคนไข้มีเพียงใบเดียวไม่ต้องทำซ้ำ

         3. สามารถส่งเวชระเบียนไปยังห้องต่างๆได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้คนเดิน

         4. คนไข้ไม่จำเป็นต้องพกพาบัตรประจำตัวคนไข้

         5. สามารถเก็บเวชระเบียนไว้ได้ตลอดไปไม่ต้องทำลายทำให้ดูประวัติการรักษาย้อนหลัง ไปได้นาน

          6. ลดความสิ้นเปลืองกระดาษ ปากกา

          7. แพทย์สามารถสั่งการรักษาได้ชัดเจน

          8. เภสัชกรจ่ายยาถูกต้องตามการรักษาเนื่องจากชื่อยา ขนาดยาชัดเจนไม่ต้องสับสนตามลายมือแพทย์

       อย่างไรก็ตามในปัจจุบันโปรแกรมเวชระเบียนก็ยังมีสภาพเป็นแบบต่างคนต่างทำ โรงพยาบาลต่างๆก็ใช้โปรแกรมแตกต่างกันออกไป บางโรงพยาบาลก็ใช้นักโปรแกรมของโรงพยาบาลออกแบบกันเอง บางโรงพยาบาลก็ซื้อแบบสำเร็จรูปมาใช้โดยมีนักโปรแกรมของผู้ขายดูแลให้ นอกจากนี้ระบบต่างๆของโรงพยาบาลก็เป็นแบบ Intranetภายใน ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลอื่นๆได้ ทำให้ข้อมูลในเวชระเบียนยังไม่สามารถมีประโยชน์ต่อคนไข้อย่างเต็มที่เนื่องจากคนไข้อาจมีความเจ็บป่วยขณะเดินทางไปอีกที่หนึ่ง การดูประวัติจากเวชระเบียนในโรงพยาบาลเก่าก็ไม่สามารถเรียกดูได้

        ผู้เขียนเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องมีการปฏิวัติระบบเวชระเบียนเสียใหม่ โดยต้องจัดทำระบบโปรแกรมเวชระเบียนแห่งชาติโดยจัดทำเป็นโปรแกรมกลางพื่อให้โรงพยาบาลในประเทศใช้เก็บข้อมูลแบบออนไลน์เป็นข้อมูลกลาง เหมือนระบบของธนาคาร โดยเริ่มจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขก่อน เป็นการทำโปรมแกรมเพื่อแจกฟรีให้โรงพยาบาลต่างๆสามารถนำไปใช้ได้เลย ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชนและสถานพยาบาลอื่นๆเช่นคลีนิกหากสนใจที่จะเชื่อมต่อข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุขก็สามารถขอนำไปติดตั้งได้ ทั้งนี้เลขผู้ป่วยนอกต้องเปลี่ยนใหม่อาจใช้เลขเดียวกับเลขประจำตัวประชาชนก็น่าจะเข้าท่าดี

        ข้อดีของการเชื่อมต่อข้อมูลเวชระเบียน หากสามารถทำได้มีเอนกอนันต์ เพราะนอกจากข้อดีต่างๆดังได้กล่าวมาแล้ว ยังทำให้คนไข้สามารถไปรักษาต่อเนื่องที่ใดก็ได้เพราะโรงพยาบาลสามารถค้นข้อมูลการรักษาได้โดยง่ายไม่ต้องย้อนกลับมาขอประวัติจากที่เดิมอีก   

        แต่ก็ยังมีข้อคิดต่อไปเรื่องการป้องกันความลับของคนไข้ และการเชื่อมต่อกับระบบประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งต้องคิดกันต่อไป

         ผู้เขียนหวังว่าข้อเสนอแนะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการสาธารณสุขของประเทศบ้างหากผู้บริหารตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 53751เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2006 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอแชร์ประสบการณ์และความรู้ของท่านด้วยการสอบถามครับ

1.ประสบการณ์ของผมในการพัฒนาระบบในรูปแบบ online ที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค แม้แต่ระดับจังหวัด ไม่ต้องลึกถึงรพ.ชุมชน นั้นมักจะมีปัญหาในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ความเร็วในการเชื่อมต่อเครือข่าย และบุคลากรซึ่งอาจหาได้ยากและไม่มีตำแหน่งให้ เป็นต้น ถ้าจะมีการลงทุนเพื่อทำระบบ online ความคุ้มทุน(return on investment) นั้นจะได้หรือไม่ครับ

2.กระทรวงสาธารณสุขเคยมีดำริที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในโรงพยาบาลแบบ online(โครงการ900ล้านที่ทำให้ท่านวัลลภต้องกลายเป็นอดีตปลัด) ปัจจุบันนี้โครงการนี้เงียบไปแล้ว ถึงแม้โครงการนี้จะมีและพัฒนาได้จริง สิ่งที่จะต้องลงทุนในการที่จะเปลี่ยนระบบเก่าที่เป็น legacy system  ที่โรงพยาบาลทั้งหลายทั่วประเทศต่างคนต่างทำมีโปรแกรมร้อยพ่อพันแม่ ให้กลายมาเป็นระบบใหม่นั้น ทั้งในแง่ตัวข้อมูลเก่าเก็บ บุคลากรที่คุ้นเคยกับระบบที่พัฒนามาเองหรือระบบเก่าที่เคยใช้ และทุนที่จะต้องฝึกปฏิบัติให้ผู้รับผิดชอบแต่ละโรงพยาบาลใช้เป็นดูแลบำรุงรักษาเป็น และค่า convert ระบบ และ maintenence ที่เอกชนจะต้องเรียกจากเราแบบผูกขาดเพราะเป็นเจ้าของ software คิดว่าจะคุ้มทุนหรือไม่

3.ถ้าแต่ละโรงพยาบาลมี software ของตนเองอยู่แล้ว จะกำหนดมาตรฐานอย่างไรในตัวข้อมูล จะเชื่อถือข้อมูลที่โปรแกรมร้อยพ่อพันแม่เหล่านี้พ่นออกมาได้อย่างไร แม้แต่จะ convert ตัวข้อมูลและ code ที่จะมาเทียบเคียงกับรหัสมาตรฐานสุขภาพแห่งชาตินั้นคงต้องลงทุนอยู่มากโขทีเดียว การควบคุมและ guarantee โปรแกรมที่ใช้โดยองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ เช่น ในเรื่องรหัสโรคหรือรหัสมาตรฐานต่างๆ ต่างประเทศจะมีองค์กรและตั้ง server แบบ online ที่ใช้ในการเปรียบเทียบรหัสมาตรฐานโดยตรงครับ เพื่อให้เทียบเคียงกับรหัสมาตรฐานแห่งชาติได้

4.ในส่วนของการเชื่อมโยงข้อมูลเวชระเบียน ใช้วิธีการส่งต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลในรูปแบบ xml และมีการ update ตามช่วงเวลาและมี server เก็บประวัติไว้ที่ส่วนกลาง อีกทางหนึ่งเน้นหนักให้แต่ละโรงพยาบาลเห็นความสำคัญและหันมาใช้รหัสมาตรฐานแห่งชาตินั้นโดยส่วนกลางต้องคุยและให้หน่วยงานหลักที่เป็นผู้ออกรหัสมาตรฐานมาให้ใช้ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กองทุนข้าราชการ และ สปสช ที่ต่างคนต่างออกรหัสมาตรฐานให้หันมาใช้รหัสมาตรฐานเดียวกันให้ได้ก่อน น่าจะเป็นทางเลือกแรกที่ควรจะดำเนินการก่อนหรือไม่

5.ในเรื่องของ ICD ทั้ง 9 และ 10 นั้น เห็นอบรมกันจังในการให้รหัสโรค ใช้จ่ายเงินในการอบรมในแต่ละปีที่เห็นนั้นมากและความเข้าใจของมันก็ค่อนข้างยากเพราะมีรหัสเยอะแย ขอถามว่าเราใช้ ICD เพื่อ classify ให้โรคอยู่ในกลุ่มโรคที่ถูกต้องเท่านั้นหรือ ประโยชน์เพื่อจัดทำสถิติผู้ป่วยเท่านั้นหรือ นอกจากนี้แล้วการจัดอบรมการให้รหัสโรคทางเวชระเบียนที่ถูกต้องมีประโยชน์อะไรมากกว่าที่ผมจะมองเห็นมากกว่านี้หรือไม่ครับ

 

ด้วยความนับถือ

 

 

นายแพทย์ชัยวงศ์ ชวนะรักษ์

ขอบคุณท่านที่กรุณาให้ความเห็น ผมเห็นว่า

  1. ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างก็มีอุปกรณ์ hardware กันเป็นส่วนใหญ่ หากจะลงทุนเพิ่มก็คงจะมีในเรื่องระบบเก็บข้อมูลส่วนกลาง หากเชื่อมต่อกับระบบบัตรประชาชนได้จะดีมากจะมีข้อมูลที่จำเป็นในบัตรประชาชนเช่น กรุ๊ปเลือดหรืออนาคตอาจใส่ระหัส DNA ของประชากรตั้งแต่แรกเกิดก็ยังได้

  2. อาจไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศ ที่ไหนพร้อมก็ทำไปก่อน ภายใน 5 ก็น่าจะเชื่อมถึงกันหมด

  3. ปัญหาอื่นก็แก้ไขกันต่อไป ปัญหามีให้แก้ ไม่ได้มีให้ท้อถอย

    

ขอร่วมแสดงความคิดเห็น ด้วยคน ครับ คือผมมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบเวชระเบียนออนไลน์อยู่เป็นทุนเดิม เพราะถ้าทำได้การส่งต่อข้อมูลสุขภาพจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก ผมเป็นนักวิชาการสาธารณสุขครับ มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมได้ โดยมีแนวคิดที่จะนำชุดข้อมูลมาตรฐานของ สนย.หรือ สปสช. ที่แต่ละหน่วยบริการส่งออกจากระบบบันทึกบริการของแต่แห่ง มารวมกันในระดับจังหวัด เขียนโปรแกรมเพื่อนำเข้าข้อมูล แสดงผล และส่งต่อข้อมูลระหว่ง สถานีอนามัย รพช รพท โดยอาศัยเทคนิคการเข้ารหัสข้อมูล และการเขียนโปรแกรมป้องกัน เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ครับ

สวัสดีครับ เข้าใจว่ากระทู้นี้อาจารย์คงตั้งไว้นานแล้ว บังเอิญผมต้องการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำลายเวชรัเบียน พบหัวข้อ"ระบบเวชระเบียนแห่งชาติ" รู้สึกดีใจมากที่อาจารย์เป็นหนึ่งท่านที่สนใจเรื่องนี้ ...แนะนำตัวก่อนนะครับผมเป็นนักเวชสถิติหรือเจ้าหน้าที่เวชสถิติ อาจเรียกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาลแต่ที่เรียกแล้วสื่อก็คือ Coder พออ่าน Comment ของคุณ Fake Guru คห.ที่ 1 โดยเฉพาะข้อ 3,4,5 แล้วอยากร่วมแสดงความคิดเห็นเล็กน้อยตามองค์ความรู้ที่มีอยู่น้อยนิดครับ

ระบบมาตรฐานรหัสต่างๆที่ท่านกล่าวถึงนั้นก็เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น 12 files data set,18 files ที่มีการกำหนดรหัสอันเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ทั้งระบบ UC หรือ ปกส.และอื่นๆ,ระบบ ICD-10 และ ICD-9 หรือแม้กระทั่งปัจจุบันมี ICD-10-TM ที่เป็นระบบมารฐานการจำแนกกลุ่มโรคซึ่งบางรหัสอาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่จำแนกได้ละเอียดถึงรายโรคได้ ...

การที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงการให้รหัสผู้ที่ทำหน้าที่นี้จริงๆแล้วได้รับการศึกษาในระบบอย่างน้อยก็ 2 ปี บางท่านต่อยอดเป็น 4 ปีได้รับปริญญาตรี บางท่านต่อยอดอีกจบโทและเอกในที่สุด ท่านจะเห็นว่า Coder เหล่านั้นเข้าใจเป็นอย่างดีในวัตถุประสงค์การให้รหัส การอบรมก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา Coder ของเมืองไทย ก็เหมือนกับการเข้าประชุมต่างๆของคณะกรรมการทั้งหลายในโรงพยาบาลเป็นการดีที่ต้องมีการพบปะหารือ Up date ข้อมูล ส่วนหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงในข้อ 5 ของท่านนั้นก็ถูกแต่รายละเอียดและประโยชน์มันมีมากกว่านั้น ต้องถามย้อนกลับไปว่าท่านเคยรู้จักระบบ DRGs ทุกๆ Version ที่ใช้ในเมืองไทยหรือไม่ ถ้ายังก็แนะนำให้เริ่มศึกษา Version 4 ไปเลยเพราะใหม่สุด และแนะนำให้ศึกษาเพิ่มเรื่องระบบเบิกจ่ายค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาลของ สปสช, ประกันสังคม หรือแม้กระทั่งบริษัทประกันชีวิตต่างๆ เหล่านั้นถ้าท่านพอมีเวลา สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดอาจมีรายละเอียดที่ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยท่านอจารย์เจ้าของ Blog และผู้อ่านทุกท่าน....

สุดท้ายขอขอบคุณที่มี Blog ดีๆช่วยให้ชาวเวชระเบียนทั่วไทยได้ค้นคว้าครับ..

ขอข้อมูลระบบเวชระเบียนโรงพยาบาลเอกชน

ระบบดังกล่าวไม่น่าเกิดขึ้นได้จริงตราบใดที่หน่วยงานต่างๆยังออกรายงานใหม่ๆ เก็บข้อมูลใหม่ๆเพิ่มขึ้นทุกๆปี โปรแกรมไม่มารถแก้ไขได้ทันเพราะไม่ได้วางเผื่อสิ่งที่จะเพิ่มมาแบบไม่ได้วางแผนไว้ก่อน

ในอดีตกรมแห่งหนึ่งเคยจ้างบริษัทต่างประเทศมาเขียนโปรแกรมการจัดเก็บรายได้ เขียนได้ครึ่งปี บริษัททิ้งงานไป เพราะผู้บริหารยังไม่ตกผลึกทางความคิดว่าต้องการอะไรจากโปรแกรม

ชัยวงศ์ ชวนะรักษ์

เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่มีความคิดเหมือนคุณadm_cdhนี่แหละ ระบบการบริการสาธารณสุขจึงไม่พัฒนา  คนที่มีโอกาสทำแต่ไม่สร้างสรรค์อะไรให้กับวงการ  เมืองไทยเราจะเจริญก้าวหน้า ต้องอาศัยเทคโนโลยี่ช่วย  บางคนบอกเชื่อมกันหมดกลัวจะติดไวรัส ผมถามว่า แล้วระบบธนาคารที่ออนไลน์ถึงกันหมด ทำไมทำได้  ระบบทะเบียนราษฎร์ของมหาดไทย ทำไมไม่ติดไวรัส  ทุกอย่างมันอยู่ที่คน ถ้าคิดจะทำมันแก้ปัญหาได้หมดครับ

เห็นด้วยกับความคิดเห็นของ คุณ ชัยวงศ์ ชวนะรักษ์ ครับ ระบบใหญ่ เกิดจากระบบ เล็กๆ หลายๆ ระบบทำงาน สอดคล้องกันไป ตามการออกแบบ ทั้งนั้นทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มคน ผู้ทำการออกแบบระบบ ครับ รวมถึง เทคโนโลยีและเงินทุน ด้วยครับ

ขอแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่การเสียสิทธิ์ที่ควรจะได้รับกับเรื่องเก็บรักษาประวัติการรักษาค่ะ เริ่มแรกประสบอุบัติเหตุเมื่อปี 2546 เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชนตามสิทธิ์ประกันสังคมและมีการส่งตัวเข้ารับการรักษาที่ รพ.รัฐอีกที่นึงเพื่อรักษากระดูกคืออาการที่รักษาคือขาซ้ายหักกระดูกสะโพกหักและเบ้าสะโพกแตกทำให้กระดูกสะโพกหลุดไปทับเส้นประสาทที่หลังสะโพกทำให้ขาซ้ายอ่อนแรงแต่ พรบ.ของประกันสังคมตอนนั้นมีแต่ทุพพลภาพ50%ยังไม่มีสิทธิ์ของทุพพลภาพ35%ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ทุพพลภาพ35%เพิงจะมีในปี 2558 ทำเรื่องขอผลประโยชน์ไปทางประกันสังคมให้แนบประวัติการรักษาแต่ทาง รพ.ทั้ง2แห่งแจ้งว่าได้ทำลายประวัติการรักษาไปแล้วและไม่ได้เก็บไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เราสูญเสียสิทธิ์ที่จะได้จากประกันสังคมซึ่งถ้าคิดตามระยะเวลาค่าชดเชยที่จะได้จาก พรบ.ทุพพลภาพ35% อยู่ในหลักแสน ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่เราจะได้รับแต่เพราะไม่มีหลักฐานประวัติการรักษาไปแนบทำเสียโอกาสเสียสิทธิ์ไปซึ่งไม่ยุติธรรมกับผู้ป่วยเลยค่ะ ฝากไว้เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าเกิดขึ้นเพราะมันเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ป่วยทั้งปัจจุบันและในอนาคตค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท