ร่วมถอดบทเรียน Happy Ba (ภาค 2)


***** เนื่องจากบันทึกไม่ได้ในครั้งเดียว จึงขออนุญาตต่อจากบันทึก ภาค 1 แล้วกันนะคะ

***** ครอบครัวที่อบอุ่น คือภูมิคุ้มกันขนานแท้ จากบันทึกฟลายๆ บันทึกของคุณพิชัย ตอน คำไม่กี่คำ http://www.gotoknow.org/posts/534680 แม้จะถูกรุมเร้าด้วยโรคภัย แต่กำลังใจไม่เคยเหือดหาย กำลังใจแรกที่มีให้เสมอคือ "ครอบครัว" ผู้บันทึกเล่าเรื่องราวการรักษาตัวที่ต้องรักษาต่อเนื่อง แต่ผู้บันทึกรู้สึกท้อ ไม่อยากรักษาต่อเหตุเพราะราคาของยาที่ต้องฉีด แต่ภรรยาได้ให้กำลังใจด้วยประโยคที่มองโลกในแง่ดี และพร้อมกับคำพูดของลูกสาวที่ว่า "เอาเงินเดือนหนูสิพ่อ พอดีเลย 2 เดือน" คำพูดกำลังใจของภรรยาและลูกสาวทำให้คุณพิชัยยินดีรักษาต่อเนื่อง นี่คือความงดงามของครอบครัวค่ะ ในฐานะกัลยาณมิตรก็ขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจนะคะ

***** เมื่อคนดีถูกฟูมฟักในครอบครัวที่ดี ย่อมขยายวงกว้างสู่งสังคม คนดีจึงกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี สร้างประโยชน์ต่อสังคม ดังที่คุณ pa_dang ตอน น้ำใจคนไทย http://www.gotoknow.org/posts/521008 ได้นำมาบันทึก ซึ่งครั้งนั้นพยาบาลผู้มีน้ำใจดีเดินทางจากหนองคายเข้ากรุงเทพฯ เพื่อดูละครเวทีที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และได้รับความช่วยเหลือจนเพื่อนร่วมเดินทาง จนได้เข้าชมละครด้วยกัน ข้อความบางตอนดังนี้ "รู้สึกว่า โชคดีที่เจอคนดี มีน้ำใจ คนไทยไม่ได้แล้งน้ำใจ คนไทยเป็นคนดี คนกรุง ไม่ได้ดูถูกคนบ้านนอก ไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหลวงหรือคนบ้านนอก ล้วนเป็นคนดี มีน้ำใจทั้งสิ้น" อย่างนี้คนกรุงอ่านแล้วก็ชื่นใจนะคะ

***** ไหนๆ ก็เล่าถึงคุณพยาบาลมามากมาย คนที่จะเอ่ยถึงอีกท่านหนึ่งซึ่งบันทึกแบ่งปันการปฏิบัติหน้าที่อย่างดี และมีเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันเสมอคือ คุณชลัญธร   ตอน สัปเหร่อ...ที่เคารพ http://www.gotoknow.org/posts/535805 ได้นำเรื่องราวของลุงคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพเป็นสัปเหร่อ ลุงทำหน้าที่อย่างดี จนลืมนึกถึงตนเอง จนต้องมีคนหลอกล่อให้ไปโรงพยาบาล โดยอ้างว่าเอายามาทาน แล้วก็สามารถกลับไปเผาศพทันเวลา ลุงถึงได้ยอม จากเรื่องราวนี้คุณชลัญธร ได้สรุปเป็นข้อคิดว่า

  1. การจัดการกับปัญหาที่เหมาะสมนั้นทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

  2. การรักและเคารพในงานของตน แม้มีอาชีพเพียงสัปเหร่อ นั้นเป็นสิ่งน่ายกย่องนัก

  3. บางสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญของเรา แต่อาจสำคัญมากสำหรับคนอื่น

  4. การจัดการปัญหานั้น ควรมองให้ครบมุม

ผู้เขียนคิดว่าเป็นการเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะจากประสบการณ์การทำงานแต่ละวัน มีเรื่องราวที่น่าติดตามเสมอๆ ขอบคุณเรื่องราวจากชีวิตจริงค่ะคุณชลัญธร

 ***** ในความเป็นจริงของชีวิตย่อมมีทั้งสุขและทุกข์ เช่นกันหากพื้นที่แห่งนี้ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร คาว หวาน คงไม่ครบทุกรสชาติ ผู้ที่แบ่งปันตำราอาหารโดยเฉพาะขนมหวานต่างๆ จนผู้อ่านรู้สึกหิวไปตามๆ กันนั้นอีกท่านหนึ่งคือ คุณนารี   ตอน ข้าวตู...ทำจากข้าวตากที่มาจากข้าวเหลือ http://www.gotoknow.org/posts/533025 นับว่าเป็นภูมิปัญญาบวกกับความสามารถเฉพาะตัว ที่สามารถดัดแปลงข้าวที่เหลือจนกลายเป็นขนมที่น่าทาน ส่วนผสมก็แสนจะหาง่ายคือ มะพร้าว น้ำตาล และข้าวหรือแป้ง เท่านั้น แต่ภาพที่นำมาให้กัลยาณมิตรดูนี่สิ เห็นแล้วบอกเลยว่าอร่อยค่ะ

 ***** นอกนั้นยังมีอีกหลายท่านที่ได้เสนอเมนูอาหาร ขอนำเมนูที่แปลกใหม่ มาให้ได้ชื่นชมกันค่ะ คุณดอกหญ้าน้ำ  ตอน อาหารพื้นบ้าน...บนยอดดอย http://www.gotoknow.org/posts/535118 จากบันทึกนี้เป็นการเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวเขา วัฒนธรรมการปรุงอาหาร ซึ่งสามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น และสิ่งที่เล่าคือการร่วมรับประทานอาหารกับชาวบ้านด้วยนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม การร่วมวงอาหารถือเป็นการให้เกียรติกันและกันค่ะ

 ***** คุณตันติราพันธ์  ได้ให้ข้อคิดเรื่องความแตกต่าง ตอน วิธีคิดของมด  http://www.gotoknow.org/posts/517184 โดยนำเรื่องราวชีวิตของมดมาเปรียบเทียบดังนี้ค่ะ “มดมีความแตกต่างกับผึ้งโดยสิ้นเชิง เคยได้ยินว่าเมื่อผึ้งถูกตีรัง ผึ้งจะแตกรังกระจัดกระจาย รวมพลยาก แต่สำหรับมดตัวสีแดงๆ ก้ามใหญ่นี้ กลับพากันเกาะรังรวงอย่างแหนหวง กลุ่มใหญ่เอาขา เอาปากยึดรังใบไม้เอาไว้ ทั้งที่รังนั้นหล่นอยู่บนทางเท้า...” และกล่าวเสริมอีกว่า “มดรักษาหน้าที่ มีวินัย สามัคคี ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน เขาก็ไม่ลืมบทบาทของตนและมีการเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ”

 ***** ความแตกต่างใน G2K ซึ่งคุณ Krugui  ตอน @@ชีวิตที่ขาดมะนาว...ไม่ได้@@  http://www.gotoknow.org/posts/508447ได้ให้ข้อคิดด้วยการบันทึกดังนี้ “เริ่มต้นด้วยการวางแผนชีวิตให้มีมะนาวด้วย ไม่ใช่แค่มีกรวดกับทรายเท่านั้น ถ้าจะให้ดีควรเอาตารางเวลาประจำวันออกมากาง แล้วใส่มะนาวไปก่อน จากนั้นจึงค่อยเติมกรวดและทรายลงไป เมื่อวางแผนประจำวันเสร็จแล้ว ก็วางแผนให้ครอบคลุมทั้งอาทิตย์ และตลอดเดือน โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ ควรเติมมะนาวลงไปมากๆ ข้อสำคัญก็คือ อย่ารอพรุ่งนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้า เพราะถึงตอนนั้นอาจจะลืมหรือหมดโอกาสที่จะทำ ถ้าไม่เริ่มต้นเสียแต่วันนี้ พรุ่งนี้อาจสายไปแล้วก็ได้”

  ***** เมื่อกล่าวถึงพื้นที่ใน G2K ทำให้มองกว้างไปถึงผืนแผ่นดินที่เราอยู่ ซึ่งคุณจัตุเศรษฐธรรม ตอน ความภูมิใจอีกเรื่อง...http://www.gotoknow.org/posts/504877 ได้บันทึกแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้เกิดบนแผ่นดินไทยดังนี้ “ก่อนที่จะได้เรียนวิชาเศรษฐกิจพอเพียง ยังคิดอยู่เลยว่าจะมีสาระอะไรให้เรียนหรือเปล่า แต่พอได้เรียนและรู้ถึงรายละเอียด รู้สึกดีใจที่ได้เรียนวิชานี้ และยังได้ความรู้เพิ่มเติมนอกจากตำราที่อาจารย์นำมาสอน และรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดบนแผ่นดินไทย แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

 ***** และอีกท่านหนึ่งที่ได้บันทึกจากประสบการณ์และโน้มนำหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติคือ ดร.ภิญโญ  ตอน “พอ (Enough)” จากบันทึกบางตอนที่ท่านได้แบ่งปันในhttp://www.gotoknow.org/posts/520788  ดังนี้ “ปรกติสุขนั้น หลายๆ ครั้งเกิดจาก ความอยากเล็กๆ น้อยๆ นี่เอง เช่น อยากเด่น อยากดัง อยากได้ เรื่องนี้ทำให้หลายเรื่อง ที่ดีมาแต่ต้น มาพังตอนปลายได้...ไม่แปลกใจครับว่าทำไมพระพุทธศาสนาจึงสอนเรื่อง การประมาณในการกิน การบริโภค...และรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่สอนเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง”

 ***** เมื่อนึกถึงสาระความรู้มากมาย อีกมุมหนึ่งที่มีผู้เขียนได้ให้ความรู้และแนะแนวทางเกี่ยวกับสุขภาพไว้เพื่อให้ค้นคว้าเพิ่มเติม คือ คุณคนบ้านไกล   ตอน การใช้สื่อออนไลน์อย่างไรเพื่อการส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพ  http://www.gotoknow.org/posts/522313 ซึ่งผู้รู้ท่านนี้ได้ถ่ายทอดงานเขียนจากประสบการณ์เพื่อให้ผู้ค้นคว้าได้รับประโยชน์เพื่อนำไปใช้ได้จริงๆ และยังได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมดังนี้ “สิ่งที่ผมอยากจะให้เกิด ซึ่งก็เกิดขึ้นแล้ว คือการอบรม สัมมนา เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และถ้ามีขึ้นก็น่าจะเก็บบันทึกเหล่านั้นไว้ เป็นวิดีโอแล้วลงในยูทูป ซึ่งเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป ไม่ใช่แต่พวกเราชาว G2K เท่านั้น”

 ***** อาจารย์ไอดิน-กลิ่นไม้  ก็ได้ให้ความเห็นไว้ในบันทึก ตอน “การใช้สื่ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจและสังคม” http://www.gotoknow.org/posts/522284 จากข้อความบางตอนที่ว่า “สื่อออนไลน์ที่ผู้เขียนได้ใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพคือ Gotoknow.org ซึ่งได้ใช้ในอัตราส่วนประมาณ 90% ...การใช้ชีวิตของผู้เขียนที่ฟาร์มไอดิน-กลิ่นไม้ เอื้อต่อการปฏิบัติตนเพื่อการมีสุขภาพกายที่ดี ด้านอาหาร อากาศ ออกกำลังกาย และอารมณ์ และการปฏิบัติตนเพื่อการมีสุขภาพดีตามคาถา กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินกล้วยน้ำว้าเป็นขนมหวาน และเดินให้นานวันละ 5,000 ก้าว” ซึ่งได้นำหลักการเหล่านี้มาจากท่านวอญ่าอีกทอดหนึ่ง และผู้เขียนคิดว่าควรที่จะนำมาเป็นต้นแบบยิ่งนัก

 ***** และคุณลูกหมูเต้นระบำ  ได้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องการบูรณาการงานด้านสุขภาพ ตอน “วันแรก...ของการปลูกต้น SHA” http://www.gotoknow.org/posts/534480 ข้อความบางตอนดังนี้ “SHA หรือ Spiritual in Health care & Appreciate. ทั้งสองคำนี้ให้ความหมายใกล้เคียงกันคือการให้บริการที่มีระบบงานที่เอื้อเฟื้อและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ผู้เขียนคิดว่าการรักษาที่ได้ผลจริงๆ ต้องรักษาทั้งกายและจิตใจ ซึ่งสามารถติดตามบันทึกดีๆ ของท่านได้อีกหลายบันทึกค่ะ

 ***** และอีกท่านที่บันทึกส่วนหญ่เป็นเรื่องสุขภาพ คือคุณกานดาน้ำมันมะพร้าว   ตอน สิ่งดีๆ ของน้ำมันมะพร้าว  http://www.gotoknow.org/posts/534288 บันทึกตอนนี้ได้สรุปกรดไขมันในน้ำนมแม่และในน้ำมันมะพร้าว และความพิเศษของน้ำมันมะพร้าวเปรียบเทียบกับน้ำมันไม่อิ่มตัว ซึ่งผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ในอีกหลายๆ บันทึก บอกได้เลยว่าผู้รักสุขภาพไม่ควรพลาดค่ะ

 ***** นอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว ยังมีบันทึกหลากหลายแง่มุมให้ติดตาม และข้อคิดดีๆ ที่แบ่งปันจากประสบการณ์ เช่น คุณหมอ ป.  ตอน เกรงใจ...นิสัยควรแก้?  http://www.gotoknow.org/posts/531159 บันทึกบางตอนดังนี้ “ทบทวนหาสาเหตุ สิ่งรบกวนจิตใจบ่อยๆ คือ การทำงานที่เกี่ยวข้องกับ คำสัญญา แล้วปรากฏว่า ไม่ได้รับส่งงานตามกำหนด รับปากแล้วไม่ทำ ฯลฯ ...ดังนั้นหากจะแก้ ก็ต้องเลิก ‘เกรงใจ’ หรือเปล่า? ..คุณหมอได้นำข้อคิดของอาจารย์อดัมที่ได้แบ่งเป็นสามกรณี

  1. การทำเพราะใส่ใจความรู้สึกผู้อื่น ใช้คำว่า Considerate

  2. การทำเพราะคำนึงถึงความสัมพันธ์ ใช้คำว่า Obligate

  3. รู้สึกไม่ดีที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ใช้คำว่า Feel bad

  4. ประการสุดท้าย คุณหมอ.ป. เพิ่มเติมคือ ทำเพราะกลัวเสียหน้า  กลัวการถูกตำหนิ ใช้คำว่า lose face

 ***** มีผู้เขียนหลายท่านได้ให้ข้อคิดซึ่งสร้างแรงจูงใจโดยเฉพาะในปีใหม่ 2013 ได้เป็นอย่างดี เช่น ครูทิพย์   ตอน “New year New you” เพื่อมีสุข  http://www.gotoknow.org/posts/514000 ดังบันทึกบางตอนดังนี้ “ความจริงแล้ว ก็ตั้งใจทำมาแล้วในปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้จะพยายามทำให้ดียิ่งขึ้น

  1. จะดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีที่สุด

  2. ดูแลคนในครอบครัวให้มีความสุข

  3. หมั่นทำบุญ ใส่บาตร ไหว้พระบ่อยๆ

  4. ทำทาน

  5. ช่วยเหลือสังคม

  6. ประหยัด

  7. ปลูกต้นไม้

  8. ฝึกระงับความโกรธ

  9. ศึกษาธรรมะ

  10.ฝึกเขียนบันทึก

 ***** และอีกท่านหนึ่งซึ่งได้เขียนข้อตั้งใจซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่นด้วย คือ คุณอุ้มบุญ  ตอน มหัศจรรย์ปีใหม่  http://www.gotoknow.org/posts/514537 ได้แบ่งปัน 10 สิ่งดีดี ที่อย่างทำดังนี้

  1. ตั้งใจปลูกผักรอบสวนหลังบ้าน

  2. ตื่นเช้าทุกวัน

  3. เรียนภาษาอังกฤษ

  4. ฝึกสมาธิ

  5. เชียร์ R2R พัฒนางาน

  6. ค้นหาเรื่องดีดี

  7. อ่านหนังสือ 1 เล่มต่อสัปดาห์

  8. เขียนบันทึก

  9. สร้างความมหัศจรรย์ในการจัดบ้าน

  10.จัดการเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้ เช่น บริจาค แบ่งปัน

 ***** และท่านนี้ที่ผู้เขียนได้ติดตาม แต่บันทึกนั้นได้หายไป ผู้เขียนจึงได้เพียงอนุทิน ที่เห็นว่ามีคุณค่า ควรนำมาแบ่งปันค่ะคือ คุณชาดา   ตอน อนุทิน กฎ 20 ข้อแห่งความสำเร็จค่ะ http://www.gotoknow.org/user/chada-ing/journals  ข้อความดังนี้

  1. ฝันต้องยิ่งใหญ่

  2. เป้าหมายเด่นชัด

  3. ฝึกหัดให้ชำนาญ

  4. กระทำการอย่างมุ่งมั่น

  5. มนุษยสัมพันธ์ต้องดีเยี่ยม

  6. เต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจ

  7. ใช้คนตามความสามารถ

  8. ฉลาดในการแก้ปัญหา

  9. มีความปรารถนาอยากสำเร็จ

  10. ศึกษากลเม็ดทุกหลักสูตร

  11. หนักแน่น

  12. มั่นคง

  13. ไม่หูเบา

  14. ไม่เจ้าอารมณ์

  15. ไม่ข่มพวกพ้อง

  16. ไม่จองเวร

  17. ไม่เห็นแก่ตัว

  18. ไม่กลัวเหนื่อย

  19. ไม่เฉื่อยชา

  20. ซ่าทุกหยด!!!

 ***** G2K จึงน่าชื่นชมและเป็นที่ชื่นชอบของกัลยาณมิตรทั้งหลาย ดังที่ ทพญ.ธิรัมภา ตอน  เหตุที่ชอบชุมชน G2K http://www.gotoknow.org/posts/536381 ได้บอกความในใจไว้เช่นกันว่า “5 ปีมาแล้วนะคะ พบ G2K โดยบังเอิญ...อ่านพบสิ่งที่ชอบ กดให้ดอกไม้ ติดตามอ่านบ่อยๆ จนกล้าให้ความเห็น แลกเปลี่ยนความคิด อารมณ์ ความรู้สึก...สนุกดี ชอบบันทึกของท่านใด รู้สึกว่าอยากอ่านอีก กดปุ่มติดตาม มีผู้ติดตาม เปิดอ่านประวัติ ติดตามอ่านบันทึกหรืออนุทิน คุยแลกเปลี่ยนไปมา ความเป็นเพื่อนค่อยๆ เพิ่มขึ้น ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง..”

 ***** ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนคือตุ๊กเองค่ะ  tuknarak จึงขอสรุปความงดงามของพื้นที่แห่งความสุขนี้ด้วยบันทึก  ตอน ความสุขที่พบได้ใน...Gotoknow  http://www.gotoknow.org/posts/536513 ดังบันทึกบางตอนดังนี้ค่ะ “ขออนุญาตเรียกบ้าน แล้วกันนะคะ เพราะที่นี่เข้ามาเมื่อไหร่ก็รู้สึกอบอุ่นใจ แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หากความเชื่อทางพุทธศาสนาคงเพราะเคยทำบุญร่วมกันมา ที่บ้านแห่งนี้แม้จะมีผู้รู้ ปราชญ์ มากมาย แต่ท่านเหล่านั้นไม่ได้ถือตัว หรือดูถูกผู้มีความรู้น้อย ด้อยประสบการณ์ของผู้เขียนเลย” ขอบพระคุณมากค่ะ

 


หมายเลขบันทึก: 537358เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มีแต่เรื่องดีๆ เขียนและอ่านไม่ทันเลยครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้+ข้อคิดครับ

โห... คุณ ตุ๊กขา... ทำไมน่ารักอย่างนี้

พลังความเพียร เสียสละ ละเอียดลออของคุณตุ๊ก มีส่วนให้ตั้งใจจดจ่ออ่านตามช้าๆ

อยากเสนอโครงการ Happy Ba มอบภาระกิจใหญ่ให้คุณตุ๊กช่วยจังเลยค่ะ

เลขา ถอดบทเรียนช่วยพี่นุช กับอาจารย์ศิลาหนะค่ะ

ทำได้ยอดเยี่ยมจริงๆ บันทึกนี้ เท่ากับอ่านสิบเก้าบันทึกเลยทีเดียว

และถ้าอ่านเอง คงไม่สามารถคั้น "หัวกะทิ" ของแต่ละบันทึกได้เข้มข้นปานนี้เป็นแน่

ขอบคุณมากนะคะ ประทับใจมากๆค่ะ

ชื่นชมความพยายามอย่างสูงในการถอดบทเรียนครั้งนี้ ครับ

ตามมาอ่านต่อจากภาค 1 ค่ะ รวมเกือบ 50 เรื่องเลยนะคะ ชื่นชมในความทุ่มเทค่ะ

ขอบคุณนะคะที่อ้างอิงบันทึกของ "ไอดิน-กลิ่นไม้" คาถา "กินปลาเป็นหลัก กินผักเป็นยา..." นั้น "ไอดิน-กลิ่นไม้" ไม่ได้คิดเองนะคะ นำมาจากบันทึกของท่านวอญ่า ซึ่งท่านก็อ้างอิงมาจากคนอื่นอีกที


 

ปรบมือให้ดัง ๆ ได้ยินไหมคะ ความเพียรของคนเรายิ่งใหญ่มากนะคะ คุณ Tuknarak ได้พิสูจน์ให้เราได้เห็นค่ะ 

ขอบพระคุณคุณ tuknarak มากๆค่ะ ได้ประโยชน์จากความสุขท่วมท้นค่ะ

ขอมอบรางวัล  "กัลยาณมิตรนักอ่านในดวงใจของธิรัมภา"  ให้คุณตุ๊กนะคะ

แหม ๆ ๆ  หลงอ่าน  คุณ - ตั๊ก - น่า - รัก   มาตั้งนาน  ๕ ๕ ๕ ๕ ๕ ๕

ขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ

ตามมาอ่านบันทึกที่ทำให้เห็นความสุขของทุกๆ ท่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท