516. "พอ (Enough)"


ประสบการณ์การบวชที่วัดป่าธรรมอุทยานของข้าพเจ้า ตอนที่ 10

ผมเองชอบอ่านหนังสือครับ หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน แล้วตื่นเต้นมากๆ ก็คือหนังสือเรื่อง Enough (อีนาฟจ์)หนังสือเล่มนี้ เขียนดีมากๆ ครับ ผมว่าน่าจะนำเอาไปเป็นตำราเรียนได้เลย ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราว โดยสรุปว่าทำไมมนุษย์ ควรเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างพอเพียงมากกว่านี้ ด้วยการยกหลักฐานงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านสมอง และชีววิทยาวิวัฒนาการ รวมทั้งงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบอย่างดีเยี่ยม มีบทหนึ่งที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือเรื่อง “ความรู้จักพอ” คือผู้เขียนบอกว่ามนุษย์พอไม่เป็นครับ ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์คือ ระบบสมองของเราไม่ได้พัฒนาเรื่องความสามารถ ในการกะประมาณมาดีพอครับ จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติเองนั้น ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้ว การหาอาหารมาเลี้ยงท้องให้ได้ครบทั้งสามมื้อ เป็นงานที่ยากลำบากของมนุษยมากๆ จนกระทั่งถึงยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนี้ คนอังกฤษยังสูงเฉลี่ยไม่เกิน 160 ซม. เรียกว่าขนาดใช้รายได้ส่วนใหญ่ มาเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ก็ยังไม่พออยู่ดี    

                    

                   Cr: http://www.thailandexhibition.com/News/3201   (ภาษาไทยมีขายที่สำนักพิมพ์มติชน) 

จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงแม้การหาอาหารและการมีรายได้เพียงพอของมนุษย์จะดีขึ้นอย่างไม่เป็นมาก่อน แต่ก็ยังถือเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่มนุษย์เกิดมาบนโลกใบนี้ ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองจึงเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า กลไกทางชีววิทยาของมนุษย์นั้น ด้วยเหตุผลความขาดแคลนด้านอาหาร ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนแสวงหาอาหาร  สมองมนุษย์จึงเรียนรู้และฝังเป็นกลไก แบบสัญชาตญาณ ให้มนุษย์ต้องหาอาหารให้มากเข้าไว้ และเนื่องจากไม่เคยพอสักที สมองมนุษย์จึงไม่รู้จักคำว่า “พอ” ครับ และถึงแม้จะเริ่มพอและดิ้นรนน้อยลงกว่าเดิม (ไม่ต้องไปล่าสัตว์ทั้งสามมื้อ-สามารถซื้อเนื้อมาแช่ตู้ได้หลายๆ วัน แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่น) 

สมองเรื่อง “ความรู้จักพอ” ของมนุษย์ก็ยังไม่พัฒนามากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสมองด้าน“การรู้จักหา” 

ว่าแล้วนักวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์ครับ ด้วยการลองให้ผู้เข้าทดลอง ลองตักซุปทาน แต่ซุปชามนี้วิเศษกว่าปรกติครับ คือมีการต่อท่อ ประมาณว่าให้ผู้เข้าทดลองทานน้ำซุป พอทานไปก็แอบเติมน้ำซุปไปในถ้วย ปรากฏว่าเจอเหตุการณ์ประหลาด นักวิจัยค้นพบว่าคนทั้งหมดส่วนใหญ่ กินน้ำซุปเพิ่มขึ้น บางคนกินไปมากแบบไม่รู้สึกตัวก็มี นักวิทยาศาสตร์เลยได้ข้อสรุปครับ ว่าสมองมนุษย์ “หาเป็น” แต่ “พอไม่เป็น”

เรื่องนี้เลยทำให้เราเข้าใจคำว่า “ไม่รู้จักพอ” ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แล้วทำให้เข้าใจว่าทำไมคนจำนวนมาก ดูเหมือนจะไม่รู้จักพอ มีแล้วก็หาอีก หาอีก ทำให้เข้าใจความน่ากลัวของ “ทุนนิยม” ทำให้เห็นความแตกต่าง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เห็นเลยว่าทำไมคนมีอำนาจ ก็จะโกยเอาโกยเอา รวยแล้ว ตัดป่าไปมากแล้วก็ตัดไปเรื่อยๆ จนป่าหมด จนแล้ง ระบบนิเวศน์ ระบบเศรษฐกิจล่มสลายลงเรื่อยๆ 


                                            

              Cr: http://whatislistening.com/blog/inspirational-story-the-greedy-man.php

ทำให้เข้าใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ทำไมสมัยผมบวชที่วัดป่าธรรมอุทยาน หลวงพ่อกล้วยจึงต้องเน้นทุกวันให้ “ประมาณในการกิน ประมาณในการบริโภค” ตอนแรกผมก็ว่าทำไมต้องเน้นเรื่องนี้บ่อยๆ แต่ตอนบวชผมก็สามเดือน ผมก็พบว่าเรื่องนี้มันท้าทายที่สุด ท้าทายมากกว่าตอนผมไปนอนป่าช้าท่ามกลางหลุมศพห้าหลุม กว่าเก้าวันเสียอีก 

ผมย้อนกลับเห็นเลยครับ ว่ามันยาก เพราะใจเราจะพยายาสรรหาเหตุผลให้เรากินดีๆ อยู่เสมอ เราเหมือนกลัวตายกลัวอดจริงๆ มีวันหนึ่ง ผมตั้งใจกินแค่ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวชุบไข่แล้วปิ้ง) เพียงสามก้อน เพราะอยากประมาณในการกิน สักพักครับ เห็นช๊อกโกแลต ยี่ห้อโปรดใส่ถาดมาแต่ไกล ตอนแรกก็พยายามดูจิตครับ  โดยพยายามระงับความอยากก่อน ให้ความอยากหมดไปค่อยคิดว่าจะทานอะไร ที่สุดดูมันดับไปแล้ว จากนั้นผมก็หาเหตุผลเข้าข้างตนเองครับ  ว่า “..วันนี้ไม่เป็นไรน่ะ ปฏิบัติมาหลายวันแล้ว ทานไปเถอะจะได้ไม่เครียดไป ว่าแล้วก็หยิบช๊อกโกแล๊ต ฉันซะท้องกาง”...ผมเป็นอย่างนี้มาเกือบสามเดือนครับ ไม่น่าเชื่อว่าสมองเราจะสามารถค้นหาเหตุผล สารพัดเหตุผล เพื่อมาสนับสนุนความอยากของตนเอง ได้นับร้อยเหตุผล ไม่น่าเชื่อว่าการที่เราจะเริ่ม “พอ” กับอะไรสักอย่างมันจะยากมากมายขนาดนี้ ยากกว่าไปนอนในป่าช้าอีก  

สิ่งที่ผมค้นพบเรื่องการกินในครั้งนั้น ทำให้เห็นความน่ากลัวของกิเลสมนุษย์ ตอนนั้นพอผมเฝ้ามองเรื่อง “ความอยาก” อาหารของผมแล้ว ผมก็เริ่มตระหนักครับว่า หลายครั้งในอดีต ที่ชีวิตที่เราเดือดร้อน ไม่เป็นปรกติสุขนั้น หลายๆครั้งเกิดจาก “ความอยากเล็กๆน้อยๆ” นี่เอง เช่นอยากเด่น อยากดัง อยากได้ เรื่องนี้ทำให้หลายเรื่อง ที่ดีมาแต่ต้น มาพังตอนปลายได้ และก็เห็นครับ ว่าสมองของเรามันหลอกเราได้มากมายขนาดไหน มันหลอกให้เรา “งอ” หน่อยน่ะ ไม่เป็นไรหรอก พอเรางอเท่านั้นแหละ ไปเลย เหมือนปืนกระบอกตรง คุณลองไปทำให้มันงอตรงปลายสิ นิดเดียวเท่านั้น รับรองปืนแตกตายแน่

ไม่แปลกใจครับว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่อง “การประมาณในการกิน การบริโภค” ส่วนพระเถระอย่างหลวงพ่อกล้วย นี่ท่านก็เน้นทุกเช้าครับ พอมาดูการทดลองทางวิทยาศาสตร์นี่ถึงกับทึ่งเลยว่า สมองมนุษย์มัน “พอ” ไม่เป็นจริงๆนั่นเอง และก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวของเรา ที่สอนเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” 

ท่านมองการณ์ไกลครับ ท่านต้องเข้าใจมนุษย์จริงๆ และนี่แหละครับผมไม่เคยสงสัยเลยว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ ท่านเป็นจริงๆครับ ท่านพยายามนำเราเข้าสู่เส้นทางนี้มาตลอด

                                                

                                       Cr: http://sufficiencyeconomy.panyathai.or.th/


น่าทึ่งมากๆครับ และผมอยากบอกจริงๆครับ ว่าเราต้องปลูกฝังเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” กันอย่างจริงจังครับ ไม่งั้นประเทศชาติลงข้างทางแน่ๆ เพราะเราจะเจอ “สัตว์มนุษย์” ที่ยังไม่ฝึกสมองตนเองให้ดีพอเข้ามากอบโกย อย่างไม่เคยรู้สึกพอครับ และโชคดีที่เรามีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านสมองยืนยัน มีระบบการฝึกตนในพระพุทธศาสนา ที่สอนการประมาณในการกิน การบริโภคการอยู่อย่างพอเพียงมาช่วยครับ เพราะฝั่งอาจคิดได้ แต่ศาสนาเรามีเทคโนโลยีในการฝึก มีผู้ฝึกที่สุดยอดจริงๆอยู่แล้วครับ และองค์กรใด รับคนที่ไม่เคยฝึกตัวด้านนี้มามากพอ ก็เตรียม “หนัก” ใจได้เลยครับ เพราะให้เท่าใดก็ไม่พอหรอกครับ  (เคยไปสอนองค์กรต่างชาติ ที่ค่าแรงรวม OT ตกประมาณ 800 บาทต่อวัน ทำงานในห้องแอร์ ยังทะเลาะกันจนปิดโรงงาน) 

อนึ่งใครที่บวชตามประเพณี 7 วัน 15 วันก็ขอบอกครับ ว่าไม่น่าจะพอ ลองอยู่สักสามเดือนครับ จึงจะเริ่มเห็นครับ อย่าปล่อยเรื่องนี้ผ่านไปครับ  เพราะในโลกบริหารธุรกิจ ที่ว่าเรื่องการฝึกอบรมนี่สุดยอดมากๆ ก็หายากจริงๆครับ เรื่องการฝึกความ “พอเพียง” (เอาเป็นว่ามีน้อยมากๆ แต่มี) น่าตกใจหลักสูตร MBA มีแต่สอนหาเงินครับ ไม่มีหลักสูตรการรู้จักพอ น่ากลัวไหมครับ   เอาเป็นว่าวัดนี่แหละครับที่พึ่งที่ดีที่สุด ส่วนวัดไหน ก็ได้ครับที่เป็นวัดปฏิบัติครับ เพราะของอย่างนี้ท่องจำในตำราไม่ได้ ต้องฝึกเอง มีพระอาจารย์คอยดูแลจะดีมากๆ ครับ 

ส่วนพ่อแม่สอนลูก ถ้ารักลูกต้องสอนลูกเรื่อง "ความพอเพียง" ครับ มากๆ ด้วย ไม่ใช่เน้นแต่เปียโน กับจินตคณิต ไม่งั้นรับรองครับมันได้มาตะแง๊วๆ ขอซื้อเฟอร์บี้ทุกวัน พอซื้อมาก็ไม่พอ ก็ต้องหาอะไรให้มันอีก ถ้าไม่ทำไม่สอนเรื่องความพอเพียง ก็ตัวใครตัวมันครับ

                      

      Cr:  http://www.itv.com/news/2012-10-31/2012s-top-christmas-toys-go-back-to-the-future/

สุดท้ายอยากบอกว่า

เราเลือกได้ครับว่า

จะใช้ชีวิตเยี่ยง“สัตว์มนุษย์”  ที่ไม่รู้จักคำว่าพอ ด้วยเรายอมแพ้ต่อวิวัฒนาการด้านชีววิทยาของเราเอง 

หรือ ราจะใช้ชีวิตเยี่ยง “โพธิสัตว์” ที่รู้จักความพอเพียง (จริงๆ) ด้วยเราเลือกที่จะบ่มเพาะตนเอง เลือกที่จะเอาชนะวิวัฒนาการทางชีววิทยาของเรา จนมีสมองของ "ความพอ"  ในที่สุด


วันนี้เพียงเล่าให้ฟังครับ ลองพิจารณาดูนะครับ


หมายเลขบันทึก: 520788เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2013 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2013 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบคุณครับ

หลักของเศรษกิจพอเพียงเป็นแฝดฝาเดียวกันกับ  "ทางสายกลาง" ในพุทธศาสนาเลยครับ

โลกปัจจุบันแทบทุกประเทศรวมทั้งไทยด้วย เป็นสังคมของผู้บริโภค ผู้ผลิคก็ต่างหาวิธีต่างๆกระตุ้นให็เกิดความอยาก

ถ้าเราขาดสติก็จะหลุดเข้าในวงจร

แรกสุดก็ต้องฝึกสติก่อนให้มีภูมิต้านทานต่อกองกิเลสที่สังคมปลุกระดม ศึกษาทางสายกลางจากพุทธศาสนา

อาจยังพอมีหวังครับ

Maybe we should reflect on AI.

Are we choosing "(ROI) optimal" paths over "(minimal impact) sufficient paths?

<Usually, there are a lot of "local optimals" (traps or attractors) in any 'web of relations' (or systems).> 

;-)

ขอบคุณค่ะอาจารย์  ที่ทำให้เห็นความต่างของ

"สัตว์มนุษย์"  กับ "โพธิสัตว์"

^____^

ขอบคุณมากครับ ดร.ภิญโญ สำหรับบันทึกดีๆ ที่สะท้อนให้สมองของมนุษย์ค้นหาความพอเพียงอย่างเพียงพอ 

ขอบคุณบันทึกคุณภาพค่ะ  

พอเพียงเป็นอย่างไร วัดกันที่ความรู้สึกพึงพอใจของแต่ละคนค่ะ

ดิฉันเพิงกลับจากบรูไนน์ การเดินป่าและปีนภูเขาก็สนุกดีค่ะ แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้มันมากกว่าความสุขค่ะ

ป่าและธรรมชาติสอนเราได้มากมาย ... ความพอเพียง.. เป็นความสุขที่เราพอใจค่ะ

อมยิ้มเมื่อนึกถึงตอนที่สมองช่างหาเหตุอ้างความชอบทำในการกินเกินตั้งใจของอาจารย์..เพราะเป็นเหมือนกันและก็เคยทุกข์กับความล้มเหลวและผิดหวังที่ตั้งใจจะสำรวมในการบริโภคแต่ทำไม่ได้ตลอดต่อเนื่อง เมื่ออ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นและจะตั้งหลักใหม่สู้กับความไม่เคยชินต่อความพอให้รอดไปในแต่ละวันค่ะ..ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ

เห็นด้วยและเห็นจริงๆค่ะ ขอบพระคุณที่ย้ำให้เชื่อมั่นค่ะอาจารย์

บวช 15 วัน ก็ได้แค่การครองจีวรกลับติดตัวเท่านั้นแหละครับ สำหรับผมแล้ว 2 พรรษา กำลังดีเลยน่ะครับพี่ เพราะพรรษาแรกนี้เราจะเรียนรู้การปฎิบัติของพระ ปรับชีวิตเข้ากับพระ จำได้ว่าตอนผมกำลังจะสึก ช่วงนั้นแหละรู้สึกว่าตัวเองกำลังเข้าที่เข้าทางเลยพี่โย 5555

 สวัสดีครับอาจารย์  ผมมีคำถามนิดหน่อยนะครับจากบทความ 

ผมขอสมมุติว่า มีคนสองกลุ่ม กลุ่ม A คือ กลุ่มคนที่เรียนรู้ที่จะพอเพียง กลุ่ม B คือ กลุ่มที่ยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะพอเพียง

อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน มีทรัพยากรอย่างจำกัดขอจำลองว่ามีเค้กอยู่ 4 ชิ้นโดยจะได้เค้กหนึ่งชิ้นต้องวิ่งรอบหมู่บ้าน 1 รอบ ถ้าแบบทั่วไปทั้งสองกลุ่มคงวิ่งกันกลุ่มละ 2 รอบแบ่งกัน 50-50(ไม่ได้คิดถึงส่วนวิ่งเร็ววิ่งช้า เข้าเส้นชัยก่อนหลัง)  
 แต่เนื่องจากกลุ่ม A เข้าใจถึงความพอเพียง เค้กเพียงชิ้นเดียวสามารถทานได้ถึง 1 ปี หากกลุ่ม A เลือกจะวิ่งรอบเดียว(ไม่เหนื่อยเกินไป ทุกคนในกลุ่มมีเวลาให้ครอบครัวหลังวิ่ง) ผมเชื่อว่ากลุ่ม B ก็จะเลือกวิ่ง 3 รอบ(มีคนในกลุ่มบาดเจ็บล้มตายไปบ้างแต่คนที่เหลือพร้อมที่จะรับส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้น) และทานเค้กทั้ง 3 ชิ้นหมดในครึ่งปี

กลุ่ม A คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วน B ใช้ทรัพยากรหรือค้นหามาเก็บไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จะพอมีวิธีไหมครับที่จะหยุดกลุ่ม B (นอกเหนือวิธีให้กลุ่ม B วิ่งกันจนบาดเจ็บทั้งกลุ่ม)โดยมีสมมุติฐานว่ากลุ่ม B ไม่เชื่อในความพอเพียง และเมื่ออยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ทรัพยากรมาจากแหล่งเดียวกัน กลุ่ม A ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาที่เกิดจากกลุ่ม B สร้างขึ้น

ต้องขออภัยจริงๆนะครับที่ถามคำถามแบบนี้ แต่ผมคิดไม่ออกจริงๆว่าจะหยุดกลุ่ม B ยังไง เพราะผลกระทบมันเกิดขึ้นทั้งระบบ หากปล่อยเอาไว้ ทรัพยากรทั้งระบบก็หมดไม่ต่างกัน ต่างกันตรงที่ กลุ่ม A มีความสุขมากกว่ากลุ่ม B 

คุณลิงใหญ่ครับ ลองดูแนวคิดเรื่องนี้ครับ น่าจะไกล้เคียง ทำอะไรดีๆ แล้วลุยเลยเดี๋ยวคนเชื่อมาจากเรื่อง "Tribe" ของ Set Godin ครับ ผมเขียนไว้ที่นี่ครับ 

http://www.gotoknow.org/posts/488791


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท