"โอดี" ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้ "ดูดี"


เรากำลังทำ ๆ อยู่ แบบทำไป เรียนไป รู้ไป ปรับไป น่าจะเดินถูกทางแล้ว อันนี้ขอฝากบอกเพื่อให้ทีมนำฯพัฒนาสุขภาพ คปสอ.เขาชัยสนได้มั่นใจครับ

     OD Not DOOD กระบวนการทำ OD ในช่วงหลัง ๆ ถูกทำให้เข้าใจผิดไปมาก อันเนื่องมาจากอะไรบ้างผมคงตอบได้ไม่หมด เอาเฉพาะที่เคยมีประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรม เช่น ผู้จัดการประชุม/อบรม หรือวิทยากรกระบวนการใช้ช่วงเวลาที่มีกิจกรรมละลายพฤติกรรม ซึ่งสนุกสนาน เร้าใจ ได้ผ่อนคลาย เรียกว่า “ช่วง OD” ผู้เข้าร่วมก็ได้รับการปลูกฝังให้จำว่านี่คือ “OD” ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของ กระบวนการพัฒนาองค์การ หรือ Organization Development

     กระบวนการทำ OD ตามแนวคิดและตามขั้นตอนจริง ๆ มีส่วนดีเยอะมาก ดังที่เคยได้บันทึกไว้แล้วที่ การพัฒนาองค์การ (Organization Development - OD) จึงไม่ขอกล่าวซ้ำ เข้าไปอ่านดูได้ ผมคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้จะมองเป็นเชิงลบเมื่อได้รับรู้ว่ามีการนำงบประมาณครั้งละเยอะ ๆ ไปทำ OD ที่ได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า เพราะเป็นเพียงไปละลายพฤติกรรม แล้วไม่มีอะไรต่อเนื่องเลย กลับมาเพียงไม่กี่วันก็กลับเป็นเหมือนเดิม เพราะกลับมาที่บรรยากาศ บริบทเดิม ๆ ไม่มีอะไปเปลี่ยน สุดท้ายก็ตอบว่างบประมาณก้อนนั้นตกลงประชาชนได้อะไรบ้างไม่ได้

     ในตอนนั้นผมเองก็ไม่เคยคิดว่าจะทำให้เป็นเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างไร อาจจะเป็นเพราะความที่ตัวเราต้องอยู่ในกรอบคิดของกระแสหลักในระบบราชการจนเคยชิน ไม่กล้าที่จะแสดงอะไรออกไปที่เป็นนอกกรอบกระแสหลัก และเราก็ไม่เคยพบเพื่อนที่คิดเช่นเดียวกับเรา เช่นทุกวันนี้ที่ได้พบแล้ว จึงได้กล้าคิดและกล้าลงมือทำ อีกทั้งการได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก นพ.ยอร์น  จิระนคร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถือว่าสำคัญ ตัวอย่างที่ได้เริ่มให้ที่ คปสอ.เขาชัยสน ซึ่งมีบันทึกเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างต่อเนื่อง (คลิ้กดูเพิ่มเติมได้) และทุกวันนี้ที่นี่เขาทำ OD กันจนเป็นเรื่องปกติ ทำทุกวัน ยึดว่าทุกเรื่องที่ทำ เป็นการทำ OD และเป็นการทำ LO ไปด้วยเลย คือเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบนัก แต่ก็เหมือนที่เคยกล่าวอยู่บ่อย ๆ กำแพงเมืองจีนไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว อีกทั้งการทำ OD และ LO ไม่ใช่เป้าหมายหรือเป้าประสงค์ แต่เป็นเครื่องมือให้องค์การขับเคลื่อนไปเพื่อพัฒนาสุขภาพคน สู่สุขภาะชุมชน ตรงนี้คือเป้าประสงค์สูงสุดจริง ๆ

     กระบวนการทำ OD ไม่ใช่เพียงแค่การทำอะไรก็ได้เพื่อให้องค์การดูดีขึ้นในสายตาผู้ชม แต่คงต้องหมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (Planned Change) ที่ถูกกำหนด ถูกออกแบบขึ้นอย่างตั้งใจ ไม่ใช้ฟลุ้ค เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์สุดท้ายที่พึงประสงค์ ที่เรียกว่า Desirable คือต้องเป็นไปได้จริง ทั้งของคนภายในองค์การเอง และคนที่จะร่วมรับผลประโยชน์กับองค์การด้วย ในฐานะเป็นระบบราชการก็ต้องหมายถึงประชาชน ซึ่งตรงนี้สำคัญ

     ผมเห็นว่าที่เรากำลังทำ ๆ อยู่ แบบทำไป เรียนไป รู้ไป ปรับไป น่าจะเดินถูกทางแล้ว ยิ่งเมื่อได้ตรวจสอบกับแนวทางของอาจารย์สมบัติ  กุสุมาวลี แห่งโครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก็ยิ่งมั่นใจขึ้น อันนี้ขอฝากบอกเพื่อให้ทีมนำฯพัฒนาสุขภาพ คปสอ.เขาชัยสนได้มั่นใจครับ หรือองค์การอื่น ๆ จะได้นำไปขบคิดเพิ่มเติม และร่วม ลปรร.กันก็จะดีขึ้นอีกไม่น้อยเลย

หมายเลขบันทึก: 9933เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2005 04:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท