สองวันที่ผ่านมา
เลขาฯพาน้องสาว(ร่วมโลก)ชาวญี่ปุ่นไปทัศนศึกษาวัฒนธรรมไม้ไผ่ในเมืองไทยแถวจังหวัดเพชรบุรี
มีเจ้าภาพคือน้องเอ๊ะ เจ้าของแก่งกระจานริเวอร์ไซด์รีสอร์ทค่าย
ก่อนไปเลขาฯหวั่นใจเล็กน้อย
ไม่รู้ว่าตอนนี้ชาวเพชรบุรีจะยังใช้ไม้ไผ่กันมากแค่ไหน
เราแวะกันที่ตัวอำเภอท่ายางที่บ้านของน้องเอ๊ะก่อน
หลังจากไปกินผัดไทยท่ายางจนอิ่มท้องแล้ว
น้องเอ๊ะก็พาพวกเราควบมอเตอร์ไซค์สามล้อพ่วง พาหนะยอดนิยมประจำอำเภอ
วนเวียนดูบ้านเมืองกัน นั่นไง ไม้ไผ่ใช้ค้ำต้นไม้เป็นสิ่งแรกที่ได้พบ
พอแวะบ้านอาม่าก็เจอตอกไม้ไผ่สานเป็นตัวไก่เอาไว้ใส่ใข่ให้เป็นของขวัญ
ยังมีเครื่องใช้เล็กๆน้อยๆที่เป็นเครื่องจักสานที่ใช้ไผ่เป็นส่วนประกอบอีกมากมาย
เมื่อเข้าไปที่รีสอร์ท ยังมีของทำจากไม้ไผ่ให้ดูอีก
ทั้งศาลาพร้อมโต๊ะเก้าอี้ไม้ไผ่เอาไว้นั่งเล่นหย่อนใจ
จนถึงบ้านของเจ้าหน้าที่ ที่นอกจากเสาปูนและไม้แล้ว
ที่เหลือก็เป็นไม้ไผ่แทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นไม้ไผ่ ฝาขัดแตะ
หรือโครงหลังคา บ้านที่ดูเบาและโปร่งสบาย
ที่แม้แต่เจ้าของรีสอร์ทก็ไม่เคยเข้ามาพิจารณาดูใกล้ๆสักที
ป๊ะป๋าของน้องเอ๊ะยังพาเราไปเยี่ยมบ้านสองพี่น้อง
ที่มีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ ที่นี่เราได้เห็นฝาบ้านที่เป็นฟาก
ทำจากไม้ไผ่มาทุบให้แบน หลังคามุงหญ้า
ไปเยี่ยมบ้านถ้ำรงค์
นั่งดูและคุยกับป้าบุญส่งที่กำลังสานตะกร้าใบย่อมที่มีคนมาสั่งทำเอาไปใช้ในช่วงปีใหม่อยู่เป็นนาน
ระหว่างนั้นป้ากับลุงคอยหยิบผลไม้อย่างละเล็กละน้อยออกมาให้น้องญี่ปุ่นและพี่ไทยได้ลองชิมกันอย่างเอร็ดอร่อย
สลับกับพี่ไพโรจน์ ผู้กรุณานำเราจากที่ทำการ อบต.มาหาป้า
ทั้งๆที่เราโผล่ไปโดยไม่ได้นัดหมายมาก่อน
คอยไปหยิบอุปกรณ์ต่างๆที่ทำด้วยไม้ไผ่ออกมาให้พวกเราได้ดูกัน
น้องญี่ปุ่นถามป้าว่า มีใครทำงานจักสานต่อจากป้าอีกบ้างไหม ป้าบอกว่า
คนเดี๋ยวนี้เขาไม่ทำกัน
ถ้าคนรุ่นป้าตายไปความรู้นี้ก็คงหมดไปจากที่นี่
เพราะไม่มีคนใช้กันด้วย แค่ตอนนี้อุปกรณ์เก่าๆอย่างกระบุง กระด้ง
ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว
น้องญี่ปุ่นทำหน้าเสียดาย บอกว่า ของที่เป็นงานฝีมืออย่างนี้
ที่ญี่ปุ่นราคาแพงมาก ตะกร้าไม้ไผ่ที่ป้าทำอย่างดี
และน้องเอ๊ะคิดว่าถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นคนถือคงเป็นพวกคุณป้าที่ไปเดินจ่ายตลาดอยู่ทั่วไป
น้องญี่ปุ่นบอกว่าที่ญี่ปุ่นคนถือตะกร้าแบบนี้มีแต่เศรษฐีทั้งนั้น
คนธรรมดาไม่มีปัญญาซื้อ
เลขาฯเชื่อว่า ของที่อยู่ใกล้แต่มองไม่เห็นยังมีอยู่อีกมากมาย
เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถมองไกลไปเห็นถึงเรื่องราวในต่างถิ่นแดนไกลได้
แต่คงจะดียิ่งขึ้น ถ้าเรามีเวลาหันมามองใกล้
ให้เห็นถึงเรื่องราวรากเหง้าของเราเองควบคู่ไปด้วย