พริกมีบ้านเหนือ เกลือมีบ้านใต้


ติดตาม ย่ามใจ
พริกมีบ้านเหนือ  เกลือมีบ้านใต้
“ติดตาม  ย่ามใจ”
            เมื่อวันที่  15  กันยายน  2548  สถานีอนามัยป่าเหว  ตำบลทุ่งกว๋าว  อำเภอเมืองปาน  มีการพบปะของกลุ่มพ่อหมอเมือง  อำเภอเมืองปาน  เพื่อพูดคุยร่วมกันในการทำงานระยะที่  1  ของโครงการ  ที่เห็นสะดุดตามาแต่ไกล คือหมอเมืองแต่ละท่านสะพายย่ามเดินเข้ามาในเวทีเกือบทุกคน  ไม่ต้องเดาเลยว่าในย่ามใบน้อยนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจาก  ตำรายาสมุนไพร  หรือปั๊บสา  รวมถึงยาสมุนไพรที่ปรุงตามตำราด้วยตนเอง  พร้อมที่จะนำมาบรรยายสรรพคุณการรักษาโรค  พ่อหมอบางคนพกมีดมาด้วย คงเป็นพ่อหมอที่มีความชำนาญทางด้านพิธีกรรม  คาถาแน่นอน
            บรรยากาศ  การแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างอิ่มเอม  พ่อหมอแต่ละคนสาละวนกับการหยิบของดีในย่ามตนเองมาบรรยายสรรพคุณทางการรักษา  และที่มาที่ไปของการสืบทอดภูมิปัญญาเหล่านั้นอย่างมีความสุข  ในช่วงแรกทีมวิจัยได้ปล่อยให้พ่อหมอได้คุยกันอย่างออกรส  และค่อยๆ ตะล่อมต้อมความคิดที่หลากหลายเข้ามาในวงสนทนา  พ่อหมอเมืองรีบเก็บของดีของตนเองใส่ “ย่าม” อย่างหวงแหน  และตรวจดูว่าครบถ้วนดีหรือไม่  เหมือนกลัวว่าของดีเหล่านั้นจะอยู่ห่างตัวไม่ได้
            สาระในการติดตามงานครั้งนี้จึงเต็มไปด้วยความชื่นชมในพลังความรู้  และภูมิปัญญาของพ่อหมอเมืองที่มีความสำคัญต่อการดูแลรักษาโรคทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย  รวมถึงการสร้างศรัทธาจากการยึดถือและปฏิบัติตนของพ่อหมอแต่ละท่านที่สั่งสมมาเนิ่นนาน
            ความรู้และสูตรยาจากปั๊บสาถูกจำแนกออกมาเพื่อจัดหมวดหมู่  แยกโรค  แยกประเภท  แยกวิธีการ  ทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกันไป  เพื่อค้นหาสูตรยากลางที่มาจากการยอมรับของหมอเมืองทั้งหมด  ขั้นตอนนี้นับว่ายากพอสมควรเพราะพ่อหมอเมืองแต่ละคนได้รับการสืบทอดมาแตกต่างกัน  มีการดัดแปลงสูตรยาเพื่อปรับใช้ในเหมาะสม  ทีมวิจัยจึงต้องรวบรวมสูตรยาทั้งหมดก่อนแล้วจึงทำการคัดเลือกสูตรยาตามโรคที่สอดคล้องกับอาการป่วยในปัจจุบัน
            “ย่ามใจ” ใบน้อยเริ่มมองเห็นแนวทางของงานวิจัยที่ชัดเจนขึ้น  มีการตั้งคำถาม  มีข้อสงสัย  เสนอวิธีการและแนวคิดอย่างไม่ปิดบัง  พ่อหมอท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “การที่มีความรู้และรักษาคนป่วยให้หายได้นั้นไม่ได้คาดหวังเรื่องของเงินทอง  แต่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้และขอให้ครอบครัว  ลูก  เมีย  อยู่เย็นเป็นสุข  เท่านี้ก็ทำให้เราสุขใจแล้ว  ตนเองได้สืบทอดความรู้มาจากบิดา  มีทั้งปั๊บสา และคาถา  ที่จะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้  และตนเองต้องประพฤติตนให้อยู่ในกรอบศีลธรรมอย่างเคร่งครัด  ห้ามไปกินข้าวงานปอย (งานศพ) ห้ามลอดราวตากผ้า เป็นต้น”
            “การทำวิจัยทำให้หมอเมืองมองเห็นศักยภาพของตนเอง  มีการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมองค์ความรู้  ภูมิปัญญา  และไม่ทำให้สูญหาย  มีการสืบทอดและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน”  หัวหน้าสถานีอนามัยหนึ่งในทีมวิจัยได้ให้ความเห็น
            “ย่ามใจ” ใบน้อย  เดินทางกลับบ้านอย่างมีความสุขพร้อมที่จะกลับมาเจอกันอีกครั้ง  หรือหลายๆ ครั้งบนความรู้สึกที่คล้ายคลึงกันต่อการสร้างทางเลือกในการรักษาร่วมกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอำเภอเมืองปาน  สำคัญที่สุดคือความรู้ยังคงอยู่ไม่สูญหาย  จะหยิบขึ้นมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้  เหมือน “ย่ามใจ” ใบน้อยที่มีแต่สิ่งดีๆ และมีติดตัวไว้ตลอดเวลา
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9779เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท