เวทีวันที่ 10 พลังแห่งการเรียนรู้สู่ผลที่ได้ใจที่หว่าน


เวทีวันที่ 10  : พลังแห่งการเรียนสู่ผลที่ได้ใจที่หว่าน


ภัทรา มาน้อย
ศูนย์ประสานงานวิจัย จ.ลำปาง (สกว.ลำปาง)

                “เงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้ คือความใคร่รู้  ใคร่ลอง  ใคร่เห็น เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์”  กลไกสำคัญของการทำงานวิจัยของศูนย์ประสานงานวิจัยจังหวัดลำปางที่เริ่มใช้ตั้งแต่การมีเพียงคนทำงานเพียงคนเดียวเพราะไม่รู้ว่าในขณะนั้นกระแสของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปางจะถูกตอบรับจากคนในชุมชนมากน้อยเพียงใด จึงต้องใช้เงื่อนไขของวันที่สามารถมาเจอกันโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์  จึงเป็นที่มาของเวทีวันที่ 10 ภายใต้เงื่อนไขของการเสนอโครงการวิจัยในระยะแรก ๆ จากความกังวลว่ากระแสตอบรับในเวทีวันที่ 10 จะไปในทิศทางไหน? ซึ่งส่งผลที่เกินความคาดหมายของความตั้งใจที่ได้ลงทุนไป  จำนวนโครงการและผู้เข้าร่วมมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  และก็ลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน เนื่องจากในระยะแรกผู้ที่เข้ามาเสนอโครงการเองยังไม่เข้าใจความหมายว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคืออะไร งบประมาณที่สนับสนุนก็แตกต่างจากงบประมาณอื่น ๆ ตรงที่สามารถเอาไปใช้เกี่ยวกับงานด้านการเรียนรู้เพื่อค้นหาคำตอบจากโจทย์ที่ตั้งไว้  หรือพูดง่าย ๆ ถ้าเปรียบงานวิจัยเหมือนการชกมวยเพื่อให้ได้รางวัล งบประมาณของงานวิจัยก็คงคงเปรียบได้กับการส่งให้นักมวยไปเรียนเรื่องทักษะการต่อสู้ เตะ ต่อย หมัด   ศอก  เพื่อที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้และได้รางวัล  แต่ไม่ได้เอาไปเพื่อให้นักมวยนำไปซื้อรางวัลโดยไม่ได้ต่อสู้แต่อย่างใด (อ.นพพร ผู้ประสานงานพูดไว้ว่าอย่างนั้น)  ตรงนี้เองเป็นส่วนช่วยทำให้ระยะหลังมีจำนวนโครงการที่เข้าพิจารณาลดลงเพราะสะดุดกับเงื่อนไขการนำงบประมาณไปใช้ เหลือเพียงโครงการที่ต้องการศึกษาเรียนรู้จริง ๆ

                เวทีวันที่ 10 ถูกควบคุมโดยเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้วในระยะหนึ่งซึ่งแต่เดิมเวทีวันที่ 10 มีเพียงช่วงเดียวคือตอนบ่าย แต่เนื่องจากข้อจำกัดของจำนวนโครงการและผู้เข้าร่วมมีมาก ระยะเวลาในการพิจารณาโครงการในแต่ครั้งใช้เวลานาน  บางครั้งบางโครงการไม่สามารถหาข้อสรุปในเวทีเดียว ต้องกลับไปทบทวนโจทย์วิจัยและค้นหาเงื่อนไขที่สำคัญจากเวทีตามข้อเสนอแนะที่ได้รับไปและกลับมาในครั้งต่อไป  บางโครงการรับในเงื่อนไขของงานวิจัยที่กำหนดไว้ไม่ได้ก็ล่าถอยไป  บางโครงการที่เห็นแววของความตั้งใจก็ถูกพัฒนาจนได้รับการอนุมัติ ซึ่งบางโครงการใช้เวลาในการพัฒนาถึง 9 เดือน (โดยส่วนตัวNODE เองยังไม่เคย ตัดสัมพันธ์โครงการใด ๆ เลยนอกจากโครงการจะแพ้ภัยไปเอง)

                เวทีวันที่ 10 ถูกตั้งไว้เพื่อการพิจารณาโครงการและติดตามโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วไปพร้อม ๆ กัน (ที่นอกเหนือจากการติดตามในพื้นที่)  ทาง NODE จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อสนองต่อจำนวนโครงการที่เกิดขึ้น โดยกำหนดรูปแบบของเวทีให้ช่วงเช้าเป็นโครงการที่จะเข้าพิจารณา (โครงการใหม่) ซึ่งจะต้องส่งโครงร่างให้ NODE ก่อนเข้าเวทีวันที่ 10 (แต่ไม่เคยมีโครงการใดส่งมาเลยแม้แต่โครงการเดียว การควบคุมจำนวนโครงการจึงเป็นไปค่อนข้างยาก)  ขั้นตอนที่ทาง NODE ใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณา คือ ความตั้งใจ ใคร่ลองเรียนรู้ ใคร่ลองแก้ปัญหา ซึ่งอาจไม่ใช่บนพื้นฐานของปัญหาที่เกิด  แต่อาจเป็นความใฝ่ฝันที่อยากให้เกิดก็ได้ โดยวัดจากพัฒนาการของการเข้าร่วมเวที ประเด็นที่กลับไปพูดคุยในชุมชนและได้ข้อสรุป นำมาพูดคุยในเวทีวันที่ 10 อีกครั้งซึ่งบางโครงการ NODE ต้องเข้าไปตรวจสอบความคิดของชุมชนในพื้นที่ด้วย  ส่วนความถี่ในการเข้าร่วมเวทีก็ถือว่าสามารถวัดความตั้งใจได้ในระดับหนึ่ง  รองลงมาคือกรอบการวิจัยที่ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน  วิธีการดำเนินงานเป็นอย่างไร ใครเป็นคนทำ  จะใช้งบประมาณในการทำงานเท่าไหร่ ฯลฯ ซึ่งคำถามเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากผ่านเวทีวันที่ 10 ไปแล้ว 4-5 ครั้ง  ในช่วงเช้านี้เองก็จะมีโครงการพี่เลี้ยงคอยเป็นกำลังใจ ขัดเกลาประเด็นวิจัยให้คมชัดจนสามารถดำเนินการได้ โครงการพี่เลี้ยงจะร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะต่อการเคลื่อนงานวิจัย บทเรียนที่ได้รับ ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นเป็นความงดงามในเวทีที่ได้เห็นชุมชนร่วมกันหาทางออก ถึงแม้จะมิใช่ชุมชนเดียวกันก็ตาม ก็มีความพยายามในการถ่ายทอดประสบการณ์และปัญหาที่คาดว่าจะเกิดให้กับโครงการใหม่ได้ฟัง ดั่งนิยามการก่อเกิดความเป็น NODEว่า “ปี้ฮู้สอง  น้องฮู้หนึ่ง  พริกมีบ้านเหนือ  เกลือมีบ้านใต้”  จนกลายเป็นความสัมพันธ์และการสร้างพันธมิตรโดยไม่รู้ตัว

                เวทีในช่วงบ่ายจะเป็นโครงการที่ว่าด้วยการติดตามงานวิจัย (โครงการเก่า) ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญว่าต้องเข้าร่วมทุกครั้ง โดยการเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความก้าวหน้าในกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนให้โครงการอื่น ๆ ฟัง ซึ่งข้อมูลที่ได้มานี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ NODE ต้องเก็บไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลเชื่อมโยงการพูดคุยในเวทีพื้นที่  เงื่อนไขการเข้าร่วมในเวทีวันที่ 10 นั้นมีที่มาจากการที่โครงการวิจัยไม่สามารถเขียนรายงานความก้าวหน้าให้กับทาง NODE ได้ เพราะในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งไม่สามารถเรียบเรียงเป็นภาษาเขียน (ชาวบ้านบอกว่ายากยิ่งกว่าบีบแกลบให้เป็นน้ำมันเสียอีก)  ซึ่ง NODE เองก็ไม่สามารถเข้าร่วมเวทีในพื้นที่ได้ทุกพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลกิจกรรมที่เกิดขึ้น  แนวทางที่จะสามารถทำงานร่วมกันได้คือโครงการวิจัยต้องเล่าถึงพัฒนาการของจนเอง  ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน  ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นต่าง ๆ (ส่วนนี้จะมีมากที่สุด )  แล้วทาง NODE จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลให้ ในที่นี้หมายถึงวิธีคิดที่โครงการจะนำไปเชื่อมต่อในชุมชน  ถึงกระนั้นการใช้วิธีการเล่าความก้าวหน้าก็ใช้ไม่ได้กับทุกโครงการ  บางโครงการเล่าไม่ได้  เขียนก็ไม่ได้ แต่กิจกรรมชัดเจนว่าจะต้องทำอะไร  กรณีตัวอย่างโครงการการลดต้นทุนการผลิตบ้านทุ่งกล้วยใต้ อ.เมือง  จ.ลำปาง นักวิจัยทุกคนเป็นชาวบ้านล้วนๆ ไม่มีแม้แต่แกนนำที่เป็นผู้นำชุมชนเลย มีเพียงความเชื่อมั่นที่ต้องการลดต้นทุนในการผลิตทางด้านการเกษตรเท่านั้น ทำให้ NODE เองต้องหาวิธีการรองรับต่อกรณีข้อจำกัดที่เกิดขึ้น โดยสร้างเงื่อนไขให้กับทีมวิจัยว่าทุกวันที่ 10 ต้องมีสมุดบันทึกมาส่งทุกคน ซึ่งจะต้องเขียนงานที่ตนเองได้ทำลงไป ตามที่ตนเองคิด  อาจจะวาดรูปหรือเขียนระบายความรู้สึก หรืออะไรก็ได้ และมาตีความกันในวันที่ 10           ความหลากหลายของวิธีการและกลยุทธ์ที่ NODE ต้องสร้างขึ้นนั้นมิใช่เพื่อตอบสนองเป้าหมายการทำงานของ NODE แต่เป็นไปเพื่อเป้าหมายที่ได้วางไว้ร่วมกันของโครงการวิจัยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น NODE เป็นเพียงผู้ที่เข้าไปหนุนเสริมกระบวนการและกระตุ้นวิธีคิดให้กับชุมชน  และเลือกวิธีการที่เหมาะสมสำหรับตนเองเท่านั้น  ซึ่งเชื่อว่าชุมชนเองมีวิธีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้เองตามวิธีที่เหมาะสม เพียงแต่ไม่ได้ถูกรวบรวมไว้เป็นระบบเท่านั้นเอง  ซึ่ง NODE เองก็ทำงานภายใต้ความเชื่อนั้นมาโดยตลอด  ท้ายที่สุดแล้ว NODE  หรือ สกว. ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะของแหล่งทุนอีกต่อไป  แต่ต้องทำให้แหล่งทุนนั้นกลายเป็นสมบัติของชุมชน ที่ชุมชนสามารถนำมาใช้เพื่อเกิดผลประโยชน์สูงสุดสำหรับคนในชุมชนได้   NODE จะกลายเป็นเพียงศูนย์ประสานงานที่คอยประสานคน/ชุมชน ได้มาพูดคุยและลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาร่วมกัน  คนทำงานก็คือชาวบ้านหรือนักวิจัยที่สามารถกำหนดทิศทาง  ควบคุม และสร้างรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้ในอนาคต   เวทีวันที่ 10 ของ NODE ลำปางถูกวางแนวทางให้ดำเนินและเป็นไปอย่างเชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วชาวบ้านจะขึ้นมาควบคุมบังเหียน สร้างสถาบันที่ว่าด้วยการจัดการโดยชุมชนภายใต้ชื่อ “แสนผญ๋า ปุ๋มปัญญาชาวบ้าน” และเป็นสัญลักษณ์ทางด้านการเรียนรู้ภายใต้ชื่องานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของคนลำปางต่อไป  

                “เงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้ คือความใคร่รู้  ใคร่ลอง  ใคร่เห็น เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์  เพียงมีโอกาสให้มนุษย์ได้เรียนรู้  ได้ลอง   ได้เห็น  ตามธรรมชาติที่เป็นไป ก็จะส่งผลถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งจริตและวิถีชีวิตของชุมชน”

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9777เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2005 12:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท