กลิ่นปากของคนเรา (halitosis; bad breath) เกิดจากแบคทีเรียในช่องปากย่อยสลายเศษอาหาร และเศษเซลล์จากเยื่อบุช่องปากและริมฝีปาก
เรื่องกลิ่นปากก็คล้ายกับเรื่องอื่นๆ ของชีวิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ความผิดของคนอื่นเห็นง่าย ความผิดของเราเห็นยาก จากการศึกษาพบว่า จมูกคนเราได้กลิ่น(ที่ไม่ดี)คนอื่นง่าย แต่กลับไม่ค่อยได้กลิ่นของตัวเอง
คลินิกทันตแพทย์บางแห่งมีเครื่องดมกลิ่นซัลเฟอร์หรือแก๊สไข่เน่า แต่ก็ยังมีความไวในการดมต่ำ อาจารย์โคชิจิ มิตซึบายาชิ มหาวิทยาลับโตเกียวเมดิคอลแอนด์เดนทิส (Tokyu medical and dental university) จึงพัฒนาเครื่องดมกลิ่นปากขึ้นใหม่
เครื่องดมกลิ่นปากชนิดใหม่มีเอนไซม์สำหรับย่อยสลาย และตรวจจับเมธิล เมอร์แคพแทน ทำให้มีความไวสูงกว่าจมูกถึง 2 เท่า เรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสารดิอะนาลิสต์ (The Analyst) ฉบับเดือนตุลาคม 2548
อาจารย์ ดร.ริชาร์ด ไพรซ์แห่งสมาคมทันตแพทย์สหรัฐฯ (ADA) แนะนำว่า ภาวะเลือดออกจากเหงือก เช่น หินปูนจับจนเกิดปริทนต์อักเสบเรื้อรัง ฯลฯ ทำให้ปัญหากลิ่นปากแย่ลง จึงควรตรวจช่องปากกับทันตแพทย์ทุกปี
ท่านแนะนำให้ใช้ที่ขูดลิ้น แปรงลิ้นเบาๆ ทุกเช้า(หลังตื่นนอน) และก่อนนอน การแปรงลิ้นช่วยลดเศษอาหาร และเศษเยื่อบุช่องปาก ทำให้ปริมาณแบคทีเรียในช่องปากลดลง ถ้าไม่มีที่ขูดลิ้นให้ใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้นเบาๆ
ผู้เขียนขอแนะนำให้แปรงฟันและแปรงลิ้นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง(เช้า-เย็น) ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ กินน้ำให้มากทั้งวัน วิธีดูว่ากินน้ำมากพอหรือไม่ ให้ดูสีน้ำปัสสาวะ ถ้ากินน้ำมากพอ...ปัสสาวะจะมีสีเหลืองจาง ถ้าขาดน้ำ...ปัสสาวะจะมีสีเหลืองเข้ม
ภาวะขาดน้ำจะทำให้น้ำลายออกน้อย ธรรมชาติของร่างกายประการหนึ่งคือ “นิ่งแล้วอาจจะเน่า” ถ้าส่วนใดของร่างกายมีน้ำไหลเวียนน้อยจะเริ่มเน่าและมีกลิ่น เช่น ถ้ามีนิ่วอุดตันท่อไตทำให้น้ำปัสสาวะในกรวยไตไม่ไหลเวียน น้ำปัสสาวะนั้นอาจจะติดเชื้อ(เน่า) และเกิดภาวะกรวยไตอักเสบได้ ฯลฯ
ช่องปากที่มีน้ำไหลผ่านน้อยลง เช่น ภาวะขาดน้ำ อายุมากขึ้น อากาศแห้ง(ฤดูหนาวหรือห้องแอร์) ฯลฯ จะเสี่ยงต่อภาวะบูดเน่า และส่งกลิ่นปาก วิธีป้องกันง่ายๆ คือ กินน้ำให้มากพอ รักษาอนามัยช่องปากให้ดี และบ้วนปากบ่อยๆ
ถ้าต้องการทำน้ำยาบ้วนปากเองให้ใช้ผงฟูสำหรับทำขนมปัง (โซเดียมไบคาร์บอเนต) 1 ช้อนชาพูน ผสมกับน้ำสะอาด 1 ขวด (700 มล. หรือประมาณ 3 ใน 4 ลิตร) บ้วนปากบ่อยๆ อย่าลืมเขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง
ผู้ที่ต้องการรักษาช่องปากให้ไม่เหม็นง่ายไปนานๆ ควรสำรวมระวังวาจา ไม่กล่าวคำเท็จ กล่าวแต่คำจริง ไม่กล่าวคำหยาบ กล่าวคำสุภาพ ไม่กล่าวคำส่อเสียดให้คนแตกกัน กล่าวคำส่งเสริมสามัคคี ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อ กล่าวคำที่มีประโยชน์ ถูกกาละเทศะ และประกอบด้วยเมตตา (โปรดดูในพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มอิติวุตตกะ อรรถกถาปุตตสูตร และควรอ่านฎีกาประกอบ)
แหล่งข้อมูล:
- Karen Barrow. Can you smell now? > http://www.healthology.com/focus_article.asp?f=dental_health&c=dental_smellme&spg=NWL&b=healthology > December 15, 2005
- นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘.
-
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๘.