ผลพวงของระบบแอดมิดชั่นกับเกรดของนักเรียนนักศึกษา


เกรด...มันก็เป็นตัวเลขตัวหนึ่ง...อย่านำมาใช้ตัดสินคนในทุกเรื่อง...มันใช้ได้เฉพาะบางเรื่อง บางเวลา เท่านั้นค่ะ..

วันนี้อ่านข่าวมติชนออนไลน์ ก็เจอปัญหาอุดมศึกษาไทยอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวเองก็เล็งเห็นมาตั้งแต่ปีแรกๆ ที่จะมีการใช้ระบบแอดมิดชั่นแล้ว นั่นคือปัญหาเกรดเฟ้อ

ผู้เขียนบทความ อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน ได้สรุปเนื้อหาปัญหาเรื่องการปล่อยเกรดของโรงเรียนเพราะการคิด GPA ที่เพิ่มขึ้นทุกปีในระบบแอดมิดชั่น

"...ผลของการประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อธิการบดีหลายท่านให้สัมภาษณ์เชิงห่วงใยว่า ระยะ 4-5 ปีมานี้ ผลการเรียนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย หรือ GPAX สูงขึ้นทุกปี จากเกรดเฉลี่ย 2.50 มาเป็น 3.01 แต่ละปีเกรดเฉลี่ยสูงขึ้นปีละ 0.1

สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2549 โรงเรียน 1,200 โรง จาก 2,500 โรง มีคะแนนสูงเกรดเฟ้อขึ้นเป็นความชันแนวดิ่งถึงร้อยละ 47...."

ดังนั้นนักเรียนและผู้ปกครองก็จะมีภาพลวงตาว่าตนเองเป็นนักเรียนเรียนดีมีผลการเรียนไม่เคยต่ำกว่า ๓.๐ แต่พอสอบได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย เกรดนักศึกษาบางคนก็จะตกฮวบเนื่องจาก

  • วิธีการเรียนที่เปลี่ยนไป

  • วิธีการทำข้อสอบที่เปลี่ยนไป (ไม่ค่อยมีปรนัยให้ตอบ)

  • วิธีการตัดเกรดของอุดมศึกษา

  • การเป็นนักศึกษามือใหม่ ปี ๑ ที่ยังวุ่นวายอยู่กับการรับน้องและความรื่นเริงต่างๆ

  • ความประมาทของนักศึกษา ที่คิดว่าตัวเองเรียนดีและเรียนได้มาตลอด

  • ฯลฯ

พอเกรดต่ำ ผลกระทบอื่นๆ ก็อาจจะตามมา บางคนอาจจะ panic และปรับตัว กลายเป็นคนบ้าเกรด ไม่ได้อยากเรียนเพื่อรู้แต่อยากได้เกรด      แต่บางคนก็ท้อถอย บอกที่บ้านก็ไม่ได้ กลัวพ่อแม่จะว่า หรือผิดหวัง         บางคนก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะเพื่อนๆ พี่ๆ ก็เป็นเหมือนกันอย่างนี้แหละ ได้เกรดน้อยเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จะมีฐานเกรดปี ๑ ที่ค่อนข้างต่ำ เกียรตินิยมไม่ต้องคิดเลย...ดึงเกรดขึ้นไม่ถึง เพราะยิ่งเรียนตัวหารมันมากขึ้นเรื่อยๆ

อาจารย์ที่ปรึกษาควรจะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในการดูแลนักศึกษาปี ๑ แต่ก็อีกนั่นแหละ พอนักศึกษาเยอะแถมเพิ่งเข้ามา ก็ไม่รู้จักกัน แค่เดินมาภาควิชาฯ ยังอาจมาไม่ถูก...  แถมเดี๋ยวนี้เวลาลงทะเบียนก็ออนไลน์ จ่ายเงินก็หักบัญชีเอา เพราะฉะนั้นอาจารย์แทบไม่มีโอกาสได้เห็นหน้านักศึกษาปี ๑ ที่ตัวเองได้ชื่อว่าดูแลอยู่   จะเจอกันก็ตอนโน่น...มา drop วิชา หรือตอนมีปัญหา  หรือจะได้รู้จักหน้าตาคุ้นเคยกันบ้างก็ตอนมาเรียนวิชาของภาควิชาตอนนักศึกษาอยู่ปี ๒ แล้ว เพราะปี ๑ นักศึกษาจะเรียนวิชาพื้นฐานของส่วนกลางเช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และก็บังคับลงตามหลักสูตรอยู่แล้ว...

เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่มีเด็กซิ่ล (มาจากฟอสซิ่ล ท่านคงรู้ว่าแปลว่าอะไร..) ออกไปหาที่เรียนใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะเข้ามาเรียนปีแรกก็เกรดต่ำ หรือรีไทร์ รู้สึกว่าอยากเริ่มใหม่ อ้างว่าเป็นสาขาที่ไม่อยากเรียนเสียแล้ว....

ความสูญเสียเกิดขึ้นในระบบการศึกษา ตั้งแต่ระบบการศึกษาพื้นฐานจนกระทั่งอุดมศึกษา  ที่ยกมาในบันทึกนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างความเป็นจริงอันหนึ่งเท่านั้น  การแก้ก็คงต้องแก้กันทั้งระบบ แต่ก็นั่นแหละ เขาก็แก้ระบบการสอบเอ็นทรานซ์มาเป็นแอดมิดชั่นแล้วไงคะ..

ขอฝากให้ท่านทั้งหลายที่มีบุตรหลานที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา ช่วยกันทำความเข้าใจระบบที่มีอยู่ ทั้งระบบการศึกษาพื้นฐานและระบบอุดมศึกษา ดูจากตัวอย่างประสบการณ์ที่นำเสนอในที่นี้ หรือจากประสบการณ์เรื่องการศึกษาของท่านอื่นๆ ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ เราก็สามารถหาทางแก้ไขปรับปรุงในส่วนของตัวเองได้ หรือถ้าเราเข้าใจในเหตุ เราสามารถแก้ที่เหตุได้นั่นเอง...

เปรียบเทียบการศึกษาบ้านเราเป็นรถยนต์ ตอนนี้ประชาชนคนไทยก็คงขับรถที่เก่า ปะผุ ซ่อมเครื่องมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ยังวิ่งได้อยู่ เพียงแต่มันช้า ไม่ทันใจ ไม่ได้ประสิทธิภาพ แต่ถ้าเราเข้าใจรถคันนี้ รู้จักขับมัน ใช้งานมัน มีอะไรก็ซ่อมไป ไม่ให้ความเก่าและไม่มีประสิทธิภาพของมันมาทำลายจุดมุ่งหมายของเรา ยังไงซะเราก็ถึงเป้าหมายได้  อาจจะช้าหน่อย แต่ก็ถึง...  ถ้าเรารู้จักใช้มันค่ะ..

อีกอย่างนะคะ...เกรด...มันก็เป็นตัวเลขตัวหนึ่ง...อย่านำมาใช้ตัดสินคนในทุกเรื่อง...มันใช้ได้เฉพาะบางเรื่อง บางเวลา เท่านั้นค่ะ..

หมายเลขบันทึก: 96581เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2007 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • นี่ก็เหมือนเรื่องดอกเตอร์กล้วย สังคมไทยให้ความสำคัญกับภาพลวงตามาก..
  • ป้าเจี๊ยบเคยรับเด็กเกรดเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์มาเรียนในโปรแกรมวิชาของตัวเอง (แบบว่าต้องมีเรื่องกับผู้บริหารกันนิดหน่อย)   เพราะได้พูดคุยสัมภาษณ์ แล้วมองเห็นสิ่งดีๆ ในตัวเด็กเหล่านั้น คิดว่าพวกเขาสมควรจะได้รับ"โอกาส"
  • เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีเด็กคนไหนทำให้ผิดหวังเลย และบางคนโดดเด่นกว่าพวกที่เข้ามาแบบ 3 ขึ้นไปซะอีก
  • จริงอย่างที่คุณกมลวัลย์บอกว่า "...เกรด...มันก็เป็นตัวเลขตัวหนึ่ง...อย่านำมาใช้ตัดสินคนในทุกเรื่อง"

สวัสดีค่ะอาจารย์

P

หลายวันนี้กวาดตาไปทางไหนก็เห็นแต่ข่าวการศึกษาค่ะ พอได้ประเด็นมาก็เลยมาเขียนบันทึกเป็นอนุสรณ์ไว้ กำลังรอดูว่าเรื่องนี้จะมีทิศทางปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้างในปีหน้า หรือในอนาคตต่อๆ ไป

ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเกรดตั้งแต่ ป.ตรีแล้วค่ะ (ถึงแม้ตัวเองจะเรียนดี) เพราะนับถือเพื่อนบางคนมากที่ทั้งเรียนและเล่น มีความสุขกับการเรียนและใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย

ตอนนั้นยังไม่รู้จัก EQ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าเพื่อนบางคนมี EQ ดีมาก และเกรดไม่ใช่ประเด็น เขาทำงานสำเร็จและทำได้ดีด้วย..

เขียนบันทึกเรื่องนี้มา ใจก็นึกอยากให้ผู้ปกครองกับตัวเด็กนักศึกษาอ่านและทำความเข้าใจ...เผื่อเขาจะรู้บ้างว่าระบบมันเป็นอย่างไร และหน้าที่ของนักเรียนก็คือมาหาความรู้ ไม่ใช่มาทำเกรด ส่วนหน้าที่ของครูก็คือสอน ไม่ใช่ตัดสินคน..

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามา ลปรร นะคะ

  • มาทักทายอาจารย์ครับผม
  • สบายดีไหม
สบายดีค่ะ ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะ ; )
เห็นด้วยเลยค่ะ ว่าเกรดเป็นเพียงตัวเลขหนึ่ง (เหมือนอายุ...อิอิอิ เกี่ยวกันมั้ยค่ะ) แต่ นศ. อาจารย์ ผู้ใช้บัณฑิต ก็ใช้เกรดเป็นตัวประเมิน นศ ค่ะ ...ไม่เฉพาะเท่านี้นะค่ะ โดยระบบยังมีการกำหนดเกรดด้วยว่า เกรดเท่าจึงจะจบ เกรดวิชา major ต้องเฉลี่ยเท่าไหร่จึงจะจบ...ทุกอย่างอิงเกรดหมด ดังนั้น นศ หลายคนจึงเรียนเพิ่อเกรด สอบเพื่อเกรด ... ความรู้ไม่สน... สอนเสร็จ ปิดคอร์ส คำถามที่นักเรียนถามอาจารย์คือ... ออกข้อสอบแบบไหนค่ะ?

สวัสดีค่ะอ.paew

เห็นด้วยค่ะ ว่าอายุก็เป็นเพียงตัวเลข....อิอิ 

แต่เราก็จำเป็นต้องใช้ตัวเลขเป็นบางครั้งบางเวลา เท่านั้น โดยเฉพาะตัวเลขอายุ เรามักจะหลีกเลี่ยงการใช้งาน 5555

เหมือนกับเราที่ต้องประเมินและวัดความรู้ความสามารถของนักศึกษาออกเป็นสเกล เพื่อให้เขาเทียบกันได้ในกลุ่ม แล้วก็เอาไว้ใช้วัดอย่างที่อาจารย์ว่าไว้แหละค่ะ

เห็นด้วยเลยค่ะว่านักศึกษาสมัยนี้ ไม่ได้เป็น นัก"ศึกษา" แต่เป็นนักทำ"เกรด" เสียมากกว่า อาจเป็นได้ว่าระบบกับค่านิยมที่มีอยู่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ..

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ที่แวะเข้ามา ลปรร เสมอนะคะ

สวัสดีครับ อาจารย์

P

ตอนสอนหนังสือผมพยายามไม่ให้นักศึกษากังวลมากเกี่ยวกับเกรด...อยากให้ได้วิชาความรู้มากกว่า..."เกรดเป็นผลพลอยได้ของการเรียน" นะครับ

แต่มีหลายคนไม่เข้าใจนะครับ...และยังทำใจไม่ได้ อยากได้แต่ A โดยไม่ทำอะไร...(ไม่เรียนไม่รู้)

โอชกร

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์

P

จริงค่ะอาจารย์..."เกรดเป็นผลพลอยได้ของการเรียน" แต่ก็คงเหมือนๆ กันหมดค่ะที่เจอนักศึกษาที่คิดว่าเกรดคือเป้าหมาย แต่ความรู้คือผลพลอยได้เท่านั้น เขาไม่ค่อยอยากเรียนอยากรู้เท่าไหร่ อยากได้แต่เกรด

ดูแล้วทัศนคติจะเป็นคล้ายอยากได้ อยากเป็นในสิ่งที่ตัวเองคิดไว้ แต่ไม่อยากลงมือทำ หรือทำแล้วลงทุนให้น้อยที่สุดประมาณนั้น ... 

ตอนนี้ก็พยายามให้ความรู้ และลดความสำคัญในการให้เกรดอยู่ดี แต่คงหลีกไม่ได้ เพราะเขาถูกวัดผลด้วยเกรด จึงหลงประเด็นไปจับแต่เรื่องเกรดได้ง่าย อีกทั้งเกรดเป็นสิ่งที่เขาจะเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ได้ง่ายที่สุดอีกด้วย คนที่ฝังใจกับเกรด ก็จะฝังใจจริงๆ จะถามตลอด บางคนที่เกรดไม่ดี ก็จะหลบหน้าเลยก็มีค่ะ..ต้องค่อยๆ ปรับแต่ละคนซึ่งยากพอควรค่ะ อาจารย์คงทราบดี..

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ กมลวัลย์

ดิฉันก็เจอแนวๆเดียวกันเลยค่ะ  เรื่องเกรดที่มีผลต่อความรู้สึกของนักศึกษา    ยิ่งเด็กเรียนเก่งยิ่งคาดหวังมาก  เมื่อไหร่เด็กๆจะ "รู้เท่าทันคะแนน" ก็ไม่รู้  ถ้าชี้ให้เห็นวิธีการให้คะแนนด้วย   ไม่ทราบว่าจะช่วยได้แค่ไหน   การวัดคน เป็นพลวัตร  แม้จะมีมาตรฐาน แต่มันก็ไม่เสถียร  โดยเฉพาะศาสตร์ที่เน้นแนวคิดและคำถามปลายเปิด    รวมถึงการวัดและประเมินที่ไม่ครบมิติ  และทำอย่างไรก็ไม่มีวันครบ

ดิฉันรู้สึกว่าบางที เด็กๆเอาเกณฑ์ที่สร้างไว้วัดแค่มิติเดียว มาตัดสินทุกมิติชีวิต  แถมมาตัดสิน(เหมารวม)วิธีคิดของครูที่มีต่อตัวเขาด้วย   ปวดใจอยู่เหมือนกันอะค่ะ 

ดูเหมือนว่าดิฉันจะเข้ามาขอบ่นด้วยคน โดยไม่มีข้อสรุปนะคะ  : )

ปล. เรื่องอาจารย์ที่ปรึกษา น่าสนใจมากค่ะอาจารย์ ดิฉันเห็นด้วยว่าในระดับอุดมศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษามีความสำคัญมากสำหรับเด็กปีหนึ่ง ที่เหมือนนกน้อยถูกปล่อยจากกรงมัธยมแล้วปล่อยให้เขาบินลั้นลันลาในโลกกว้างของอุดมศึกษา   
......เพียงเพราะว่าเขาเปลี่ยนชุดที่ใส่  เราก็คิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว......

ดิฉันอาจพูดเหมารวมและฟันธงผิดที่ยังไงก็ไม่รู้...  แต่ที่เจอมา  เด็กปีหนึ่งยังงงๆกับชีวิตอยู่มาก  หลายคนหลุดจากระบบ  และหลายคนวางหมากชีวิตผิดทิศผิดทางไปเลย  อาจารย์ที่ปรึกษา มีบทบาทสำคัญยิ่งในการ "ชี้" ให้เขาเห็น และ "บอก"สิ่งที่ควรเป็น  แต่รักษาระยะให้พอเหมาะ  เป็นศิลปะที่ต้องฝึกกันอย่างเข้มข้น   แต่เฉพาะที่ดิฉันเห็น  รู้สึกว่าเรายังให้ความสำคัญน้อยไปนิด

ถ้ามีโฮมรูมสำหรับปีหนึ่ง จะเชยไปรึปล่าวก็ไม่ทราบนะคะ  แต่ทราบว่าหลายๆที่ก็ใช้อยู่   ส่วนของดิฉัน  หลังจากเห็นตัวอย่างจากอาจารย์ที่มีคุณสมบัติเป็นที่ปรึกษาดีๆ  ก็ทำให้มีกำลังใจ ตั้งใจทำอย่างเขาบ้าง  ค่อยๆปรับค่อยๆเรียนรู้ไป   

 เลยได้เห็นว่าเจตคติในการเป็นที่ปรึกษานี่ก็เรื่องใหญ่อยู่เหมือนกัน  แต่ก็ต้องว่ากันไปตามสภาพจริง  และครอบครัวก็ต้องตระหนัก  เหมือนที่อาจารย์ว่ามังคะ  คอยปรับคอยแก้กันไป    ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย   

.....ว่าแล้วก็ยาวไปห้ากิโลเช่นเคยอะค่ะ.......  : )

สวัสดีค่ะ อาจารย์

P

เชิญบ่นได้ตามสบายเลยค่ะ : ) ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มองเวที G2K นี้เป็น therapy ค่ะ 5555 ประมาณว่าเป็นจิตบำบัดของตัวเองผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนพี่น้องทั้งหลาย บางทีคิดบ่นๆ เขียนไปเขียนมาก็นึกออกว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง ได้ประโยชน์ดีค่ะ

เรื่องเกรดกับความคิดนักศึกษาก็คงต้องค่อยๆ ปรับไป พูดให้เขาฟังบ่อยๆ เท่าที่จะทำได้ค่ะ มันน่าจะเข้าหัวจำได้บ้างแหละ แต่ก็คงไม่ทันที และก็ไม่ทุกคน ดิฉันเชื่อว่านักศึกษาแต่ละคนจะมี timing ในการเป็นผู้ใหญ่ไม่เท่ากัน บางคนเร็ว บางคนช้า แล้วแต่ปัจจัยแวดล้อมของเขาค่ะ แต่ที่แน่ๆ คือนศ.ปี ๑ เนี่ย..ยังเด็กจริงๆ ค่ะ มองยังไง ดูพฤติกรรมยังไงก็ยังไม่ค่อยโต บางคนเป็นเด็กเลย...ก็สอนง่าย แต่บางคนเป็นแบบกึ่งสุกกึ่งห่าม พวกนี้สอนยากหน่อย เพราะเหมือนมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ทุกเรื่อง

เรื่องโฮมรูมนี้น่าสนใจค่ะ ตอนนี้คิดว่ากำลังจะเรียกเด็กมาประชุมและคุยกับตัวเองบ่อยขึ้น อย่างน้อยเรียกมาถามไถ่ ฯลฯ และตอบคำถามที่เด็กอาจมีในเรื่องต่างๆค่ะ ยังไม่รู้จะเป็นยังไงเหมือนกัน หวังว่าน่าจะดีขึ้นค่ะ.. ต้องลองดูก่อน ได้ผลอย่างไรแล้วค่อยๆ ปรับแก้กันอีกที..

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะ อาจารย์
P

อยากจะให้คะแนนแบบคะแนนชีวิตเหมือนกันแหละค่ะ ถ้าจะไกล้เคียงที่สุดกับการให้คะแนนชีวิตก็คือการรับนศ.โควต้า แบบความสามารถพิเศษ ที่ผ่านมาก็มีโควต้านักกีฬา โควต้านักดนตรีค่ะ แต่น่าสนใจนะคะถ้ามีโควต้าเด็กกตัญญู.. แต่โควต้าเด็กกตัญญูคงต้องให้เรียนใกล้บ้าน ไม่งั้นจะเป็นการดึงเด็กคนนี้ออกมาจากครอบครัวซึ่งต้องการเขาดูแลหรือเปล่าก็ไม่รู้.. น่าคิดค่ะ น่าคิด..

ขอบคุณนะคะ ที่แวะเข้ามาลปรร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท