บ้านสามขาในแง่มุมของนักจัดการทรัพยากร


              เช้าตรู่ของวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ไปโพล่ที่เมืองรถม้า จังหวัดลำปาง เพราะมีนัดไปติดตามสถานการณ์องค์กรการเงินบ้านสามขา  มีจ่าชัย หนานชาญ และอาจารย์ศรีนวล ซึ่งเป็นแกนนำขององค์กรมาต้อนรับอย่างเป็นมิตร ในวงได้สนทนาถึงข้อค้นพบจากงานวิจัยองค์กรการเงินบ้านสามขาที่ผ่านมา และแนวทางการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับชาวบ้าน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งฝ่ายนักวิจัย และชุมชนบ้านสามขา

                 เรื่องราวของบ้านสามขาแตกต่างไปจากที่คิดไว้  ตอนแรกคิดเพียงว่ามาฟังเรื่องกระบวนการ องค์ความรู้จากการจัดการองค์กรการเงิน แต่สิ่งที่ฟังแล้วสะดุด กลับเป็นเรื่องราวอีกมุมหนึ่ง คนที่ไม่ได้มีมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมอาจมองข้าม นั่นคือ ความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการป่าชุมชน หากมองในแง่ศาสตร์การจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ (ที่เพิ่งเรียนจบมา) นับเป็นการค้นพบองค์ความรู้ที่ใช้ในการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน พื้นที่ป่าของบ้านสามขามีจำนวนประมาณ 12,000 ไร่ ใช้ภูมิปัญญา ความเชื่อ (การบวชป่า  การเคารพเจ้าพ่อ) กฎ ระเบียบของชุมชนในการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม เช่น ทุกคนต้องช่วยกันทำแนวกันไฟ  สร้างฝายชะลอน้ำ  ดับไฟป่า ห้ามตัดต้นไม้หรือแม้แต่นำต้นไม้ที่ตายแล้วออกจากป่า  เป็นต้น  หากผู้ใดไม่เข้าร่วม/ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษของชุมชน  ด้วยเครื่องมือทางสังคม เช่น การไม่ไปร่วมงานทุกงานที่ครัวเรือนนั้นจัดขึ้น  ไม่ให้เข้ารวมกลุ่มที่ชุมชนก่อตั้งขึ้น เป็นต้น ชาวบ้านทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในป่าได้ตามขอบเขตที่กำหนดไว้ เช่น การเก็บหาของป่าได้ตลอดปี  แต่ทั้งนี้ข้อกำหนดทุกอย่างอาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกที่เสมอไป แต่ที่บ้านสามขาใช้ได้ผลเนื่องจากผู้นำมีความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง อีกทั้งชาวบ้านมีจิตสำนึกรักป่าของตนเอง ถือว่าเป็นการสืบทอดผืนป่าจากบรรพบุรุษ

             ความเข้มแข็งของบ้านสามขาในการจัดการป่าชุมชน  นับว่าเป็นทุนที่สำคัญของชุมชนในการสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคีในชุมชน  ดังนั้นการก่อตั้งองค์กรการเงินของบ้านสามขา  จึงเป็นเสมือนการต่อยอดความร่วมมือมาจากการจัดการป่าชุมชนนั่นเอง  จึงไม่น่าแปลกใจที่องค์กรการเงินบ้านสามขามีความเข้มแข็ง          

             ถึงแม้ว่าในปัจจุบันองค์กรการเงินบ้านสามขา มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องสู้กับกระแสของโลกภายนอกที่ถาโถมเข้ามาอยู่ทุกขณะ  ชุมชนจึงต้องปรับกระบวนในการจัดการองค์กรเพิ่มเติม  จากเดิมมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียน อย่างสม่ำเสมอ งานที่ชุมชนทำเพิ่มเติม คือ การวิจัยชุมชนแบบบูรณาการ  ด้วยการร่วมมือกับนักวิจัยจากภายนอก (ทีมงานอาจารย์อ้อม: วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ) ทีมงานของชุมชนประกอบด้วย เยาวชน พระ ครู แกนนำชุมชน เป็นการมองหาจุดอ่อน จุดแข็ง และปัญหาของชุมชนอย่างรอบด้าน รวมทั้งการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน     

หมายเลขบันทึก: 96384เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท