มรสุมงานที่กำลังจะผ่านพ้นไป (อีกปีหนึ่ง!...)


ปีหน้าก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับปีนี้.....
ทุกเดือนเมษา  พฤษภา และ ตุลา ของทุกๆปีเป็นช่วง "ปิดเทอม" ของบรรดานักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้น  เป็นที่รู้กันในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานบริการสุขภาพค่ะว่าในเดือนเหล่านี้จะมีผู้ใช้บริการมากเป็นพิเศษ  ปริมาณงานจะ "ขึ้นพีค" กันถ้วนหน้าทุกหน่วยงาน และเป็นอย่างนี้มาทุกๆปี ที่สำคัญยอดของพีคก็จะสูงขึ้น สูงขึ้น  จนในที่สุด ปีนี้ก็เป็นปีที่ยอดของพีคสูงขึ้นจนพวกเราปรารภกันว่า "รับมือไม่ไหวแล้วจ้า..."
เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา หน่วยฮีมาโตก็ต้องเผชิญกับมรสุมของงานที่รุนแรงที่สุดในรอบยี่สิบห้าปี (หลังจากเปิดโรงพยาบาลมา) ก็ว่าได้  จากปริมาณงานเฉลี่ยประมาณวันละ 500 ราย และเราเคยรับมือกับงานที่สูงสุดถึง 700 รายก็เริ่มบ่นโอดโอยกันแล้ว....
ในวันนั้นปริมาณงานทั้งหมด 903 ราย แถมพ่วงกับการที่ระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายขัดข้องในช่วงเริ่มปฏิบัติงานถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะแก้ไขจนทำงานได้ตามปกติ....
สถานการณ์ประมาณ 11.00 น. ของวันนั้น พวกเราก็เริ่มรู้สึกถึงพลังมรสุมงานที่เริ่มถาโถมเข้ามา  มองเห็นหลอดเลือดมาวางอยู่บนเคาน์เตอร์เป็นร้อยสองร้อยรายพร้อมๆกัน  ในขณะที่เริ่มมีโทรศัพท์มาติดตามผลเลือดเนื่องจากระบบเครือข่ายรายงานผล "ไม่ได้"
พี่เม่ยประเมินสถานการณ์ แล้วตั้งคำถามกับผู้ปฏิบัติงานหลายๆท่านที่มากประสบการณ์ว่า "คิดว่าทำเสร็จทันไหมเนี่ย?....ทุกคนส่ายหน้าและมีสีหน้าวิตกกังวล  อย่างนี้ต้องพยายามหาวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบาเสียแล้ว.....
  • เริ่มต้นแก้ปัญหา ด้วยการติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ให้เพจแจ้งผู้ใช้บริการทุกท่าน ว่าผลการทดสอบจะล่าช้า เนื่องจากปริมาณงานมากและระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้องกำลังทำการแก้ไขอยู่   การเพจแจ้งเตือนนี้จะช่วยให้ลดจำนวนโทรศัพท์สอบถามลงได้บ้าง
  • จากนั้นก็โทรศัพท์รายงานหัวหน้าภาค  พร้อมกับขออนุมัติเบิกค่าล่วงเวลา หากเราต้องยืดเยื้อกับงานต่อไปอีกหลายชั่วโมง พอท่านรับทราบและโอเค ก็ประกาศให้ทุกคนรับทราบ ตรงนี้ช่วยให้ขวัญและกำลังใจของพวกเราดีขึ้นมากค่ะ 
  • เราต้องยอมเสียกำลังคน 1 คนไปสำหรับทำหน้าที่รับโทรศัพท์ ตอบคำถามการติดตามผลตลอดเวลาทั้งๆที่เราพยายามเพจแจ้งทุกๆ  1 ชั่วโมง งานนี้คนถามก็เครียด คนตอบก็เครียดกว่าอีก.....แต่ทุกคนในหน่วยก็ "ระดมพลัง" ช่วยกันจัดการกับงานที่กองอยู่ตรงหน้าจนสำเร็จค่ะ  แน่นอนที่สุด พวกเราได้กลับบ้านกันหลัง 18.30 น. ในวันนั้น
  • วันรุ่งขึ้นพี่เม่ยทำบันทึกข้อความรายงานสถานการณ์พร้อมกับเบิกค่าล่วงเวลาให้กับทุกคนที่ช่วยกันทำงานตามความเป็นจริงส่งภาควิชาทันที....(วัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อต้องการค่าตอบแทน แต่เป็นการให้ความสำคัญกับปัญหาที่เราได้ประสบ....)
ทีนี้ก็มานั่งทบทวนว่าปีหน้าเราจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรดี?.....
  • ความจริงเราก็วางแผนป้องกันปัญหาเหล่านี้บ้างแล้วด้วยการขอเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่ แต่เนื่องจากความไม่สม่ำเสมอของปริมาณงานทำให้เราเกลี่ยงานได้ลำบาก
  • อีกแผนหนึ่งที่มองเห็นได้ก็คือ พึ่งกำลังขอน้องๆ"นักศึกษาฝึกงาน" ค่ะ  เพราะในช่วงปิดเทอมจะมีนักศึกษาหลายกลุ่มมาขอฝึกงานในภาควิชาหลายคน (ใช้เวลาประมาณเดือนถึงสองเดือน)  ภาคฯก็จะจัดระบบให้น้องๆได้เข้าไปดูตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ...สังเกตว่าการจัดระบบอย่างนี้ทำให้เราไม่ได้อะไรจากเขา  และเขามาฝึกก็ไม่ได้อะไรกลับไปมากนัก
เอ...ถ้าเราแบ่งกลุ่มน้องๆออกมาตั้งแต่เริ่มแรก  ส่งให้ไปฝึกงานแต่ละหน่วยโดยเฉพาะ  หน่วยละคนสองคนแล้วแต่ต้องการ  พอใกล้จบการฝึกงานก็จัดเวทีให้เขามาแลกเปลี่ยนกันเองว่าไปทำงานในหน่วยใด ได้อะไรบ้าง (ประมาณว่า AAR น้องๆไปในตัว....)
  • เราก็ได้ประโยชน์แน่นอนค่ะ เพราะน้องคงเป็นกำลังในการช่วยรับมรสุมงานเราในช่วงเดือนนั้นได้บ้างไม่มากก็น้อย 
  • ส่วนน้องก็ได้ประโยชน์ เพราะมีเวลาได้ฝึกทักษะที่เฉพาะของแต่ละหน่วยได้  แต่อาจมีข้อเสียคือฝึกได้ไม่ครบทุกหน่วยซึ่งต้องปิดจุดอ่อนตรงนี้ด้วยการหาเวลาให้เขาได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองด้วย....แบบนี้ก็น่าจะ win win ทั้งสองฝ่าย  คิดได้แล้วจึงรีบบันทึกไว้ก่อนกันลืมค่ะ  เพราะไม่เช่นนั้น......
ปีหน้าและปีไหนๆก็คงเป็นเช่นเดียวกับปีนี้....
คำสำคัญ (Tags): #fa#hematoหรรษา
หมายเลขบันทึก: 96261เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2012 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยและเห็นดีอย่างยิ่งกับปฏิบัติการในวันที่ 23 เมษาที่ผ่านมาที่พี่เม่ยเล่าให้ฟัง  เรื่องทำงานล่วงเวลา บอกกับทุกคนเสมอว่า ไม่ต้องเกรงใจผู้บริหาร ขอมาได้เลย 

ช่วงปิดเทอมนี้ คนไข้พรุ่งพรวดเป็นพิเศษ (ที่จริงเพิ่มก่อนหน้านี้แล้ว)  ทาง clinician เองก็บ่นกันอุบ อาจารย์บางท่านกว่าจะได้ทานข้าวก็บ่ายแก่หรือเย็นไปเลย  คณบดีแซวในที่ประชุมคณะฯว่า สงสัยเพราะท่าน ผอ.รพ.คนขยันของเรา ท่านออกทีวีบ่อย  คนไข้เลยแห่มา มอ.!!

เรื่องน้องนักศึกษาที่มาฝึกงาน เป็นเรื่องที่หมอไม่ค่อยชอบมานานแล้ว กับการเวียนหน่วยละเล็กละน้อย แต่ทางต้นสังกัดเขาและนักศึกษาเองต้องการได้ทักษะจากหลายแล็บ  เราอาจจะต้องทบทวนเรื่องนี้  ข้อเสนอเรื่อง AAR ร่วมกัน น่าสนใจมากๆ ค่ะ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท