(2) ความประทับใจในพิธีทำขวัญนาค


แหล่กลอนสด เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสะกดความรู้สึก อารมณ์ผู้ฟังให้ได้คิดและติดตาม

ความประทับใจ

ในพิธีทำขวัญนาค

         ประเทศไทยมีขนบธรรมเนียม  ประเพณีวัฒนธรรมที่เก่าแก่มานาน ประเพณีบวชนาคมีการสืบทอดมานานนับร้อยปี ตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์ ผู้ชายไทยที่มีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ พ่อ แม่จะพาลูกไปฝากวัด เพื่อท่องขานนาค เตรียมตัวที่จะบวช ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่นก่อนวันบวช  1 วัน จะเป็นวันทำขวัญนาค ในอดีตที่ผ่านมา พ่อแม่นิยมที่จะให้ผู้สูงอายุและเป็นผู้ที่ทรงศีล เป็นผู้สอนนาคให้ได้รู้ถึงความสำคัญของการบวช เรียกว่า พิธีทำขวัญนาค

          ในระยะที่ผมเริ่มต้นทำขวัญนาค ในยุคเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2513 โดยเฉพาะแถบจังหวัดสุพรรณบุรี จะนิยมทำขวัญนาคในเวลาบ่าย ประมาณ บ่าย 2 โมง (14.00 น.) หมอขวัญจะใช้เวลาในการร้อง พูดสอนนาคและประกอบพิธี เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ผู้คนที่มานั่งฟังหมอทำขวัญ จะขอให้หมอขวัญร้องเรื่องราวในตำนาน ที่เป็นเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยประกอบความรู้มากมาย และมีการตอบแทนด้วยการให้รางวัลเป็นเงิน 20 บาท จนถึง 100 บาทต่อเพลง เพลงที่ถูกขอให้ร้องในช่วงตอนสอนนาค ได้แก่ แหล่สำเภาทอง  แหล่โล้สำเภา  สี่กษัตริย์เดินดง  แหล่มัทรีสลบ แหล่แกะบายศรี เป็นต้น รวมทั้งมีคำถามจากผู้ที่มานั่งฟัง ถามหมอขวัญว่า ทำไมจึงเรียกว่านาค”  บาปบุญคุณโทษของการครองตนในการบวชมีอะไรบ้าง  เรียกขวัญแบบทำนองให้ด้วย  บางท่านก็ขอเพลงกล่อมตอนร้องเรื่อง ปฏิสนธิ และขอให้ร้องแหล่ลา อวยพร  เป็นความประทับใจที่ได้รับจากผู้ฟังในยุคนั้น

           เวลาต่อมาหลังจาก ปี พ.ศ. 2525 ดูเหมือนว่าความนิยมในพิธีทำขวัญนาคจางลงไปบ้าง สังเกตได้จากงานบาชนาค มีการนิมนต์พระคุณเจ้า (พระที่มีชื่อเสียง พระเจ้าอาวาส พระนักเทศน์) มาสอนนาคแทนที่การทำขวัญนาค จึงเกิดเป็นความนิยม 2 แบบ สุดแล้วแต่บ้านใด มีความประสงค์ที่จะได้รับประโยชน์จากใครเป็นผู้สอนนาค ในห้วงเวลานี้ ผมมีงานทำขวัญนาคไปไกล ได้ไปทำขวัญนาคที่บ้านพักโรงไฟฟ้า อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ผมเดินทางโดยรถทัวร์  โดยนั่งรถ บ.ข.ส. จากสุพรรณบุรี ไปต่อรถทัวร์ที่จังหวัดนครสวรรค์ ไปถึงบ้านงานประมาณ 18.00 น. ที่นั่นเขาจะเริ่มพิธีทำขวัญนาคประมาณ 20.00 น. ผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก มีญาติของนาคมาฟังทำขวัญจำนวนเกินหนึ่งร้อย  แม้ว่าในวันนั้นการร้องส่งจะไม่เข้ากับดนตรี (วงตนตรีสากลเครื่องเป่าของท้องถิ่น) แต่เขาก็ช่วยในเรื่องของจังหวะได้ดีมาก  เสียงรับอาจจะไม่ลงตัว แต่จังหวะไปกันได้เป็นอย่างดี  มีคนมาขอที่อยู่ผมหลายราย  พอรู้ว่าเดินทางมาจากสุพรรณ ขากลับผมต้องหิ้วของฝากกลับบ้านจนตัวเอียงไปเลย 

         

        หลังจากปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา งานบวชนาคมีการพัฒนาไปเป็น การจัดงานอย่างประหยัด และมีการจัดเลี้ยงแบบโต๊ะจีนจนถือว่า  เป็นประเพณีส่วนหนึ่งไปเลย  และการจัดงานรวบรัด  บางบ้านจัดงานเพียงวันเดียว จัดให้มีการทำขวัญนาคแต่จะต้องใช้เวลา 30 นที ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อที่จะนำนาคไปเข้าโบสถ์ บวชให้ทันฉลองพระบวชใหม่ก่อนเพล  แต่ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงยึดถือประเพณีเดิม คือ จัดงานบวชนาค 2 วัน ในวันที่ผมไปทำขวัญนาค (เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2550) เห็นมีผู้คนมาร่วมงานนับพันคน ตำกว่าพันก็ไม่มาก คนมากจริง ๆ และได้ทราบจากผู้สูงอายุในงานว่า ญาติ ๆ ของเจ้าภาพมากันตั้งแต่ก่อนวันทำขวัญนาค จึงต้องมีการจัดอาหารเลี้ยงดูกันอย่างมาก ส่วนในบริเวณพิธีทำขวัญนาค มีญาติผู้ใหญ่ และเพื่อน ๆ ของนาคมาร่วมพิธีนั่งฟังทำขวัญเต็มพื้นที่นับจำนวนกว่าสองร้อยคน

         เมื่อเริ่มทำขวัญ ได้ยินเสียงปรบมือจากผู้คนที่นั่งฟัง บางคนขอร้องให้ผมร้องเพลงฉ่อย และเพลงอีแซวกล่อมนาคด้วย ส่วนนาค เป็นคนที่นั่งไม่ทน ตอนเป็นนักเรียน เกเรบ้าง ปัจจุบันเรียนจบมีงานทำแล้ว ผมรู้พื้นฐานดี จึงร้องแหล่ด้นสด ๆ ด้วยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันยกย่องในความดี และชื่นชมในกุศลผลบูญที่ปรากฏแก่สายตาในวันนี้ ขอบคุณเจ้าภาพ และผู้ที่มาร่วมงานทุกท่าน แลัวจึงเข้าสู่พิธีตามขั้นตอน ผมใช้เวลาในการทำขวัญนาคประมาณ 2 ชั่วโมง นาคนั่งฟังอย่างสงบจนเสร็จพิธี

          ดังนั้น แหล่กลอนสด จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสะกดความรู้สึก และอารมณ์ผู้ฟังให้ได้คิดติดตามหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านำเข้าสู่บทเรียนหรือสร้างแรงจูงใจก่อนนำเสนอเนื้อหานั่นเอง

 (ชำเลือง  มณีวงษ์ / 2550 / โทร. 084-976-3799)

หมายเลขบันทึก: 95886เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2007 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท